จากการติตดามความเคลื่อนไหวทางอินเตอร์เน็ตในหลายๆแพลทฟอร์ม เช่น เฟซบุค ทวิตเตอร์ รวมไปถึงใต้โพสต์ของสื่อออนไลน์บางสื่อ เพจเฟซบุคขององค์กรและนักเคลื่อนไหวที่ทำงานเรื่อความเป็นธรรมทางเพศ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2021 พบว่ามีความพยายามในการสร้างความเกลียดชังต่อใครก็ตามที่พูดเรื่องสิทธิทางเพศ (ไม่ว่าจะโดยนิยามว่าเป็นเฟมินิสต์หรือไม่ – และไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมหรือเป็นบุคคลทั่วไปก็ตาม) โดยลักษณะของความเกลียดชังที่เกิดขึ้นมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมว่ามีความรุนแรงอะไรบ้างที่เกิดขึ้นและชี้ให้เห็นผลเสียของการแสดงออกด้วยวิธีการดังกล่าว ไม่ว่าผู้แสดงออกจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเฟมินิสต์ก็ตาม
(คำเตือน : เนื้อหาต่อจากนี้มีการยกตัวอย่างถ้อยคำที่ใช้ความรุนแรง การขู่ฆ่า ฯลฯ / Trigger Warning)
—–
รูปแบบที่ 1 : มุกตลกขู่ฆ่า
ในเดือน สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา มีแอคเคาท์ทวิตเตอร์หนึ่งเชิญชวนให้สังคมแบนนักร้องที่มีแนวคิดสนับสนุนการ์ตูนขู่ฆ่าเฟมินิสต์ โดยในทวิตเตอร์ที่เกิดเหตุ มีคนเข้ามาแสดงความเห็นมากกว่าหนึ่งพันคอมเม้นท์ และแชร์สเตตัสไปมากกว่าหนึ่งพันแชร์ โดยส่วนหนึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำที่แสดงออกถึงการสนับสนุนมุกตลกฆ่าเฟมินิสต์ ไม่ว่าจะเป็น
“ก็ถูกแล้วที่ยิงเฟมทวิต”
“ยิงแล้วเอาถุงดำรองด้วย”
“เจองูกับเจอเฟมทวิต ตีเฟมทวิตก่อน”
“เจอโจรกับเฟมทวิต ยืมปืนโจรมายิงเฟมทวิต”
ซึ่งการแสดงออกรูปแบบนี้ถือว่า “ล้ำเส้น” โดย ทั้งด้วยประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่ซึ่งอาจมีโทษจำคุก (เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392) หรือถ้าหากเราเลือกที่จะไม่เชื่อในความเป็นธรรมของกฎหมายไทย กฎหมายของประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในด้านประชาธิปไตย ก็ไม่มีที่ไหนให้ความชอบธรรมกับแนวคิดขู่ฆ่าทั้งสิ้น (อาจจะยอมรับได้ในกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายศาสนาแบบสุดโต่ง)
และในกรณีที่ไม่ได้ขู่ฆ่า แต่มีการนำภาพของบุคคลมาเผยแพร่ต่อเพื่อชวนให้คนอื่นๆ เข้ามาแสดงความเห็น หากสื่อถึงเจตจำนงที่จะละเมิดทางเพศ (เช่น ขู่ข่มขืน ขู่ลวนลาม คุกคามทางเพศ) กฎหมายไทยยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง อาจเข้าข่ายความผิดจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
—–
รูปแบบที่ 2 : การก่อกวนอย่างต่อเนื่องไปที่บุคคลใดหรือองค์กรใดอย่างเฉพาะเจาะจง
ในปลายปี 2021 ที่ผ่านมานี้ เราพบการก่อที่นำไปสู่การบั่นทอนไม่ให้ผู้ถูกก่อกวนดำเนินงานต่อไปได้ โดยมีระดับความรุนแรงตั้งแต่ การทำเพจเลียนแบบเพจที่ทำงานเรื่องเฟมินิสต์และความหลากหลายทางเพศ โดยตั้งชื่อให้คล้ายๆ กัน และนำเอาเนื้อหาต้นฉบับมาดัดแปลงให้เกิดความขำขันในผู้ชมกลุ่มที่คิดคล้ายๆ กัน รวมไปถึงแท็กเพจเฟมินิสต์มาอ่าน (จงใจให้เห็น) เพื่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ
ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อกวนในรูปแบบนี้ อาจเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำ ด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของศาล)
นอกจากนี้กลางปี 2021 ยังมีกรณีที่กลุ่มผู้มีอคติต่อเฟมินิสต์เข้าไปรุมโทรศัพท์ก่อก่วนมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ทำเรื่องช่วยเหลือเยาวชนที่ถูกไล่ออกจากบ้านโดยอ้างว่า “ต้องการทราบข้อเท็จจริง” จนมูลนิธิต้องปิดการให้บริการอื่นๆ
—–
รูปแบบที่ 3 : การแกล้งเป็นเฟมินิสต์ (Straw feminism)
รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ไม่ได้พบแค่ในสังคมไทย แต่พบได้ในสังคมโลก โดยผู้แกล้งเป็นเฟมินิสต์จะสร้างบัญชีใหม่เพื่อเลียนแบบวิธีการพูดของเฟมินิสต์ และสร้างเนื้อหาเพื่อปั่นหรือดักให้มีคนเข้ามาตอบสนองเป็นจำนวนมาก โดยการแสดงออกรูปแบบนี้แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายเป็นรายบุคคล แต่ก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแนวคิดเฟมินิสต์โดยรวม รวมถึงบางครั้งก็เป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังที่นำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้แสดงออกตามข้อ 1 และ 2
—–
ในขณะเดียวกันนั้น ปี 2021 ยังเป็นปีที่การขับเคลื่อนเพื่อความเป็นธรรมในด้านประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นในไทม์ไลน์เดียวกัน เป็นเรื่องตลกร้ายที่ผู้ถูกข่มขู่ คุกคาม ก่อกวน ขู่ฆ่า ที่เป็น “นักกิจกรรมประชาธิปไตย” กลับยิ่งมีโอกาสได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายน้อยกว่าคนทั่วไป เพราะนอกจากจะมีโอกาสที่ระบบยุติธรรมของรัฐจะไม่ให้ความร่วมมือแล้ว คนกลุ่มดังกล่าวยังมีโอกาสที่จะตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้เกลียดชังเฟมินิสต์มากขึ้นไปอีกเพราะเป็นบุคคลที่มีคนรู้จัก
และว่าด้วยความเป็นประชาธิปไตย – หากติดตามดูโพรไฟล์ของคนที่ข่มขู่ คุกคาม ก่อกวน ขู่ฆ่า มีทั้งผู้ที่แสดงออกว่าเกลียดชังนักประชาธิปไตย และมีทั้งผู้แสดงออกว่าสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย รวมถึงในช่วงกลางปี การแพร่หลายของแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ในกลุ่มวัยทำงานยังมีไม่มากมากเท่าช่วงปลายปี (ซึ่งเป็นช่วงที่มีเพจหรือแอคเคาท์แกล้งเป็นเฟมินิสต์เยอะขึ้น)
ทั้งนี้ การขู่ฆ่านักประชาธิปไตย นักรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วในพื้นที่ที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือจารีตประเพณีอย่างเข้มแข็ง เพียงแต่ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการข่มขู่รบกวนต่อหน้าเป็นการขู่ผ่านคีย์บอร์ดตามพัฒนาการของการสื่อสารที่เปลี่ยนไป
การจัดทำข้อมูลเพื่อยืนยันว่าความรุนแรงมีจริง จึงมีความสำคัญที่จะทำความเข้าใจพลวัตรทางสังคมที่เกิดขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงเป็นการสืบไป
—-
บทความนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ThaiConsent และ Femnimitr