Young Activists, Fem-twits and Gender Equality : นักกิจกรรม-เฟมทวิต ความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่การเรียกร้องประชาธิปไตย
ในช่วงที่ผ่านมา เรื่องราวของความเท่าเทียมทางเพศได้รับการหยิบหยกมาพูดคุย แลกเปลี่ยน และถกเถียงเป็นอย่างมากในโลกสังคมออนไลน์ โดยเริ่มตั้งแต่การต่อสู้ของกลุ่ม “เฟมทวิต” ในสังคมทวิตเตอร์และปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ การผลักดันและสนับสนุนให้กฎหมายการสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นมากกว่าจะเป็น พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ตอกย้ำภาพความเป็นพลเมืองชั้นสองของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการต่อสู้กับแนวคิดที่โจมตีว่าการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตยเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ความน่าเศร้าใจคือแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นและได้รับการสมาทานจากกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย — ทว่าประชาธิปไตยของพวกเขา เอากลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ เอากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไปไว้ตรงไหนกัน?
ความคิดเช่นนี้ถูกโต้กลับอย่างมากจากกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศ เพราะพวกเราเชื่อมั่นเสมอว่าประชาธิปไตยที่จะผลิบานต้องไม่กีดกันใครออกไปจากสังคม และเป็นสังคมที่โอบรับความเท่าเทียมในทุกมิติ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ — หาใช่สังคมประชาธิปไตยที่ปราศจากรถถังแต่เต็มไปด้วยอคติทางเพศและอุดมด้วยแนวคิดแห่งปิตาธิปไตย
ความคิดในลักษณะที่โจมตีว่า ผู้หญิงและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศออกมาต่อสู้เรียกร้องเมื่อต้องการ #สมรสเท่าเทียม เท่านั้น โดยมากแล้วมาจากวาทกรรมของกลุ่ม “ซ้าย-ชาย-ไทย” แต่ข้อโจมตีดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง พวกเราไม่ได้ต่อสู้ยามที่เราต้องการ #สมรสเท่าเทียม เท่านั้น แต่เราต้องการมีส่วนร่วมในทุกการเรียกร้องเพื่อสังคมประชาธิปไตย
อะไรทำให้พวกเขาคิดอย่างนั้น? หรือเพราะในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแทบจะไม่มีการกล่าวถึงความเท่าเทียมทางเพศเลย ที่ผ่านมาการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไร้รถถังเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ต้องไขว่คว้าเอามาก่อน แล้วปัดเรื่องอื่น ๆ ไว้ข้างหลัง ทั้งที่จริง ๆ แล้วการเรียกร้องร้องความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นเนื้อเดียวกันกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
เพื่อที่จะทำให้เรารู้จักมุมมองและการเรียกร้องของนักกิจกรรมมากยิ่งขึ้น บทความฉบับนี้จะพาไปรู้จักกับเหล่า Young activists ทั้ง 3 คนจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทั้ง 3 เป็นนักกิจกรรมรุ่นเยาว์ และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการต่าง ๆ ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมเช่นกัน
ขอให้ทั้ง 3 คนแนะนำตัว ชื่ออะไร เรียนอยู่ที่ไหน
- (สมายด์) สุธิดา บัวคอม เรียนอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีที่ 2
- (เอลก้า) ชื่อเอลก้า ดิเลโอ เรียนอยู่ปี 2 คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- (ฟิล์ม) ชื่อนันทชา ชูช่วยค่ะ ขึ้นปี 1 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพค้าบ
อัตลักษณ์ทางเพศ : ตัวฉัน คือฉัน
“นิยามว่าตัวเองคือ Pansexual ที่สามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย” สมายด์ สุธิดาอธิบายให้เราฟังเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเธอเอง ซึ่งหมายถึงเป็นบุคคลที่มีความรู้สึกทั้งเรื่องเพศและเรื่องโรแมนติกได้กับทุกเพศสภาพ แน่นอนว่าการเป็น pansexual หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพราะไม่ได้ดำเนินรอยตามขนบสังคมว่าด้วยเรื่องความคิดเรื่องขั้วของเพศ (gender binary)
เช่นเดียวกับเอลก้าและฟิล์ม นันทชา เธอทั้งสองต่างก็เป็นสมาชิกของชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยนิยามของเอลก้าที่เล่าให้เราฟังว่าเธอคือเลสเบี้ยน เพราะเป็นเพศหญิงที่สนใจและชอบผู้หญิง ในขณะที่ฟิล์ม นันทชา ตัวเธอเอง แม้จะไม่ได้นิยามว่าเธอคือ pansexual แต่มองว่าตัวเธอเองคือผู้หญิงที่ชอบได้ทุกเพศ ดังนั้นเธอจึงเลือกที่จะนิยามว่าเธอมีความลื่นไหลทางเพศ หรือ gender-fluid มากกว่า
ไม่ว่าทั้ง 3 คนจะนิยามว่าตัวเองมีอัตลักษณ์แบบใดก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นร่วมกันคือการเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTIQ+ เพราะนั้นจึงเกิดเป็นมิติที่ทับซ้อนที่ทั้งสามต้องเผชิญในฐานะนักกิจกรรม เนื่องจากว่าพวกเธอไม่ได้ต่อสู้เพื่อเห็นสังคมประชาธิปไตยเต็มใบเท่านั้น หากแต่ยังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศด้วยเช่นกัน
ก่อนที่ฉันจะมาเป็นนักกิจกรรม : ภูมิหลังและความสนใจ
สมายด์ สุธิดาเล่าให้เราฟังเรื่องภูมิหลังก่อนที่เธอจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาคีนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า เธอเริ่มต้นจากการติดตามข่าวสารด้วยความสนใจประเด็นทางสังคม และเมื่อเรื่องการเมืองขึ้นมาอยู่ที่หน้าหนึ่ง เธอเลยเริ่มมาติดตามประเด็นการเมือง และกลายเป็นความสนใจ ในขณะที่เอลก้าเล่าว่าเธอเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเธอเอง เช่นประเด็นเรื่องทรงผมกับนักเรียน เธอจึงไปศึกษาเพิ่มเติม และตกผลึกความเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน และเรากำลังเจอกับการลิดรอนสิทธิของพวกเราอยู่ ส่วนฟิล์ม นันทชาอธิบายให้ฟังว่าเธอเริ่มมีบทบาทและมีความสนใจประเด็นการเมืองมานานมากแล้ว เป็นต้นว่าเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่มีการจัดแฟลชม็อบของนิสิต นักศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ตอนนั้นเธอก็ยังเป็นนักเรียนม.ปลายอยู่ แต่ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดแฟลชม็อบดังกล่าวที่จังหวัดตรังซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเอง
แล้วทำไมถึงมาเป็นส่วนหนึ่งของภาคีนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เอลก้าบอกเราว่า “มัน [กิจกรรมแฟลชม็อบเมื่อช่วงต้นปี] ไม่มีทีมงานทำ มันเป็นแค่กลุ่มคนรวมตัวแล้วมานัดกัน” โดยที่เธอกำลังบอกให้เราฟังว่าเธอเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบดังกล่าวตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย ซึ่งหมายความว่าเธอเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งภาคีนักศึกษาแห่งนี้ นับตั้งแต่วันนั้นเธอกับกลุ่มแรก ๆ ที่ริเริ่มกันก็ได้คุยกัน และเกิดขึ้นเป็นภาคีนักศึกษาแห่งนี้เพื่อเป็นพื้นที่อีกแห่งที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ทั้งเหล่านักศึกษาและคนในสังคม
เช่นเดียวกับสมายด์ สุธิดา เธอเล่าว่า เนื่องด้วยความมีอภิสิทธิ์ที่คนจำนวนมากถือครองอยู่ ทำให้ก่อนหน้านี้เธอไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าที่มหาวิทยาลัยของเธอจะมีกลุ่มของนักศึกษามาผลักดันประเด็นการเมือง แต่ภายหลังจากมีแฟลชม็อบเกิดขึ้น เธอเริ่มเห็นข่าวสารของภาคีนักศึกษา เธอเลยตัดสินใจเข้าร่วม สมายด์เล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้นว่าเป็น “ปรากฎการณ์ใหม่” อย่างยิ่งสำหรับสถาบันศึกษาของเอกชนที่จะเปิดพื้นที่ให้นักกิจกรรมเข้าไปรวมตัวกัน เพราะเธอคิดว่าภาพเหมารวม (stereotype) ที่คนในสังคมมองว่านักศึกษาเอกชนมี ignorance สูงกว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐนั้น ไม่เป็นจริง นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนก็มีความสนใจที่จะสร้างความเคลื่อนไหวต่างๆ เพียงแต่ไม่มีพื้นที่ให้ฝั่งเอกชนรวมตัวทำกิจกรรม
ส่วนฟิล์ม นันทชาบอกเล่าประสบการณ์การทำแฟลชม็อบที่บ้านเกิดของเธอ และได้มีโอกาสรู้จักคนคนหนึ่งและรุ่นพี่ที่เป็นนักศึกษา เธอเล่าว่ามีพี่ที่ร่วมทำแฟลชม็อบก็พาไปรู้จักกับกลุ่มพี่นักศึกษาที่ทำแฟลชม็อบอีกทอดหนึ่ง คราวนี้รุ่นพี่จากมศว ก็แนะนำฟิล์มให้รู้จักกับพี่ภาคีนักศึกษาของม.กรุงเทพ
จากภูมิหลังและความสนใจของนักกิจกรรมทั้ง 3 คน ต่างก็มีความสนใจร่วมในประเด็นของการเมืองและสังคมที่ต้องการเห็นความเป็นธรรมและสังคมประชาธิปไตย โดยที่ไม่จำเป็นเลยว่านักกิจกรรมที่มีความหลายหลายทางเพศจะเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวเพียงแค่ประเด็นเพศ แต่พวกเขาเหล่านั้นมีความสนใจและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อทำให้เห็นว่านักกิจกรรมชาว LGBTIQ+ ก็ทำงานเพื่อประชาธิปไตยไม่ต่างจากนักคิดหรือผู้สมาทานตนว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยแต่ผูกการเรียกร้องและพื้นที่ไว้เพียงแต่กลุ่มของตน
ขอให้เล่าให้ฟังว่าแต่ละคนขับเคลื่อนหรือทำงานกับประเด็นอะไรบ้าง
สมายด์เล่าให้เราฟังว่า ตัวเธอสนใจเรื่องการอุ้มหายกับความปลอดภัยของนักกิจกรรมที่มาเรียกร้องหรืออิสระในการเรียกร้องของประชาชน และเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือการต่อสู้และการเรียกร้องจากมหาวิทยาลัย โดยทำเรื่องกับมหาวิทยาลัยให้มีการคืนค่าเทอม ด้วยความที่เป็นเอกชน ทุกอย่างมันแพง และพอเกิดโควิด ก็ไม่มีการเยียวยานักศึกษาเกิดขึ้น เขาพยายามใช้ข้ออ้างก็ปัดว่าไม่คืนค่าเทอมตรงนี้ไป ส่วนค่าแล็ปซึ่งเป็นเทอมที่เรียนหลังโควิดแล้ว เรียนเป็นออนไลน์หมดเลย แต่เขาก็เก็บค่าแล็ปอยู่ดี ราคาก็หลักหมื่นเต็มจำนวนนอกจากนี้ในภาคีเราจะคุยหลายอย่าง เพราะประเด็นการเมืองก็มีหลายอย่าง หน้าที่ของเราคือพยายามทำ Content เผยแพร่ออกไปตามกระแสสังคม ตีแผ่ออกไป
ในขณะที่เอลก้าเองสนใจประเด็นเรื่อง Sex Work อย่างมาก เธอเล่าจากประสบการณ์ของเธอที่ได้รู้จักกับ sex workers ที่เยอรมนี และพวกเขาได้รับสวัสดิการที่ดี แต่ในไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น สำหรับเมืองไทยมันคืออาชีพที่ไม่มีการรองรับความปลอดภัยให้เขา ไม่มีสวัสดิการที่มาดูแลเขา เช่นเด็กอายุ 14-15 ปีในพัทยาก็มาทำงานแล้ว แต่ไม่มีใครมาตรวจจริงจัง ส่วนมากเป็นคนมาจากต่างจังหวัด เวลาเค้าจะอาศัยอยู่ก็อยู่ในผับ ในบาร์ และรู้สึกว่าราคาค่าจ้างก็ไม่คุ้มและไม่ยุติธรรม เงินที่พวกเขาจะอยู่ได้คือเงินจากการได้รับ tips เวลาไปนอนกับแขกต่างชาติ เราอยากทำให้มันถูกกฎหมาย
สำหรับฟิล์ม นันทชา ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์อย่างภาคภูมิ เล่าว่าเธอสนใจเรื่องเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศเพราะเราต่างก็อยู่ในระบบคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ เธอบอกว่าเธอเคยโดนคุกคาม เลยต้องออกมาขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักว่าสิ่งนี้คือปัญหา และตอนนี้กำลังขับเคลื่อนเรื่องทะเลจะนะ อย่างเรื่องจะนะที่ไปลงพื้นที่มา เธอเล่าว่าเธอเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่ในระบบสังคมครอบครัว อาศัยอยู่รวมกัน และเธอเข้าใจความรู้สึกของคนที่ต้องย้ายที่ทำกิน เพราะพื้นที่ทำกินมีแค่ที่เดียว และเป็นแหล่งอาหารสำคัญทั้งของคนไทยและของเขา และคนตรงนั้นคือสังคมหนึ่ง คือชีวิตหนึ่ง คืออนาคตหนึ่ง แต่รัฐกลับใช้พื้นที่หาประโยชน์และพวกพ้อง
แล้วอะไรทำให้นิยามว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์
“เราโกรธ เราโกรธมาก ตอนนี้เราโกรธมาก” สมายด์ สุธิดาระบายความรู้สึกของเธอเมื่อถามถึงตัวตนของเธอในฐานะที่เป็นเฟมินิสต์ซึ่งต่อสู้กับความเท่าเทียมทางเพศในสังคมปิตาธิปไตย สมายด์ เล่าให้เราฟังว่าเมื่อก่อนเธอไม่เรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์นะ เพราะไม่ค่อยมีข้อมูลที่มากพอ และคนรอบตัวเราเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศ แต่เราเชื่อในความเท่าเทียมทางเพศ หรือ gender equality นะ
คำบอกเล่าของสมายด์ที่ว่าเธอไม่มีข้อมูลมากพอเรื่องเฟมินิสต์ ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่ได้เป็นเฟมินิสต์ สำหรับผู้เขียน เรามองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดและหลักการเฟมินิสม์ถูกผูกขาดไว้กับนักคิดและทฤษฎีอย่างยาวนาน[1] ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากเธอออกมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศและต่อต้านอคติทางเพศ เธอก็เป็นเฟมินิสต์แล้ว
สมายด์เสริมต่อว่า พอนานวันเข้า เธอรู้สึกว่าตอนนี้เธอเป็นเฟมินิสต์แล้วนะ เพราะ “เราโกรธ เราโกรธมาก ตอนนี้เราโกรธมาก” มันมากพอที่ทำให้เราจะเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์นะ ก่อนหน้านั้นเธอประสบกับเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศมาแล้ว และมันเป็นปัญหานะ ตั้งแต่เรื่องการถูกคุกคาม หรือการข่มขืน เธอเคยผ่านมันมาแล้ว พอมาเคลื่อนไหวใน movement #เยาวชนปลดแอก กับเพื่อน ๆ ทำให้เธอยิ่งโกรธ มันทำให้เธอยิ่งเห็นชัดว่าที่มึงทำมันผิด มึงต้องขอโทษกู ได้!
ส่วนเอลก้าบอกเราว่าเธอเป็นเฟมินิสต์มานานแล้ว ตั้งแต่รู้จักคำนี้ เพราะทุกอย่างคือสิ่งที่เธอตั้งคำถามมาตลอด โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับสิ่งที่เธอสงสัย เอลก้าบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องการแต่งกายว่าเธอเป็นคนตัวใหญ่ พอไปอยู่ต่างประเทศ เธอรู้สึกเป็นอิสระมากกว่าในไทย ที่ไทยเสื้อผ้าก็เป็นประเด็น เวลาแต่งตัว เธอจะโดนหลาย ๆ สายตาจับจ้องมอง รู้สึกว่าโดนตัดสินจากหุ่น และบุคลิกภายนอก แต่ต่างประเทศไม่มีใครมาโจมตีการแต่งกาย หรือตัดสินเธอจากการแต่งกาย ทุกอย่างปกติ
สำหรับฟิล์ม นันทชาบอกเราว่าในตอนแรกเธอไม่ได้รู้จัก แต่โลกออนไลน์อย่างทวิตเตอร์เป็นตัวเปิดโลกอะไรหลาย ๆ อย่างให้เธอเห็นสังคมที่กว้างมากขึ้น เช่น ผ้าอนามัยทำไมผู้หญิงต้องจ่าย มันไม่ใช่โรคหวัดอ่ะ เธอบอกว่าไม่สามารถไปห้ามประจำเดือนว่าห้ามมาเดือนนี้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าผ้าอนามัยแล้ว หรือการจัดสรรพื้นที่ในบ้านให้เป็นของผู้หญิง คำถามคือทำไมต้องอยู่แต่ในบ้าน ฟิล์มอธิบายว่ามีการตีแผ่การที่ผู้หญิงเป็นแม่บ้านทำให้สภาพจิตใจผู้หญิงย่ำแย่ขนาดไหนให้เราฟัง ทั้งความกดดันจากการอยู่ติดบ้าน เลี้ยงลูก เป็นแม่บ้าน แบะการสูญเสียความเป็นตัวเอง แล้วพวกเธอทำอะไรไม่ได้เลย เพราะสังคมมองว่าเราต้องทำ หรือการตีแผ่หนังโป๊ เช่นที่ผู้หญิงต้องครางดัง ๆ ไม่งั้นผู้ชายไม่เสียว คำถามคือทำไมภาระไปอยู่ที่ผู้หญิงหมดเลย
นันทชาเสริมต่อว่าการเป็นเฟมินิสต์ของเธอกลายเป็นว่าเธอต่อสู้เพื่อผู้หญิงก่อน ซึ่งมองว่าได้รับความไม่ยุติธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ แล้วค่อยมาต่อสู้เรื่องผู้ชาย เช่นทำไมผู้ชายห้ามร้องไห้ ทำไมการร้องไห้ถึงไม่ ‘แมน’ มันเลยกลายเป็นคำว่าทำไม ๆ ในหัวเยอะมาก จนวันที่เธอไปเจอคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ เขาต่อสู้เหมือนเธอ ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนกันและขับเคลื่อนเรื่องเดียวกัน แล้วทำไมเธอจะไม่เรียกล่ะ เธอเลยเรียกตัวเองมา น่าจะประมาณ 2 ปีที่แล้ว ส่วนเหตุผลที่นันทชามาเป็นเฟมินิสต์เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลาย ๆ มิติ ผู้ชายเอง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเอง ก็มีผลกระทบมาก ยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ผู้หญิงเจอแต่เรื่องแย่ ๆ แต่หลาย ๆ อย่างผู้ชายเองก็อภิสิทธิ์มากกว่า
ตอนที่ตัดสินใจแต่งตัวใส่เสื้อสายเดี่ยว และเขียนคำประท้วงบนเรือนร่างของตัวเอง ไปม็อบ #เยาวชนปลดแอก ตอนนั้นคิดอะไรอยู่
“เราตกใจว่าประเทศไทยยังไม่ไปไหนอีกเหรอ” คำบอกเล่าจากสมายด์ สุธิดาที่ทำให้เธอเองนึกทบทวนจากการถูกโจมตีทางออนไลน์ เนื่องมาจากการแต่งตัวของเธอในการเข้าร่วมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก
สมายด์เล่าว่าเธอคิดว่าสิ่งที่เธอและเพื่อนจะทำ [การแต่งกาย] มันปกติ ไม่ว่าจะจะใส่สายเดี่ยวออกไป หรือแต่งตัวแบบไหน เธอคิดว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะแต่งตัวแบบไหนไปม็อบ มันไม่น่าจะมีคนมาตัดสินตัวตนแล้วในสังคมที่เธออยู่ เพราะมันเป็นจุดที่เราไม่ได้อยู่กับที่โรงเรียน หรือครอบครัว แต่พอเธอโดนกระแสสังคมตีกลับ เธอก็ตกใจมาก
ความคิดของสมายด์ในเริ่มแรกคือความรู้สึกว่าเมื่อเธอใส่สายเดี่ยว เขียนข้อความบนสายเดี่ยว ตรงหน้าอก เธอเลยรู้สึกว่าเออเท่ดี และเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของเรือนร่าง เราถามเธอต่อไปว่าแล้วทำไมต้องเลือกเขียนตรงหน้าอก
“ก็เพราะตรงนั้นมันเห็นชัดสุดยังไงล่ะ เขียนบนหน้ามันก็เล็กไง เราไม่มีกระดาษ แล้วตรงนั้นมันเห็นชัด” นี่คือคำตอบที่สมายด์บอกกับพวกเรา เพราะเธอมองว่าประเด็นที่คนกำลังตั้งคำถามไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความเหมาะสมหรือความไม่เหมาะสม เพราะสำหรับตัวเธอเองมองว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย
ส่วนเอลก้าบอกเราว่า เธอนึกถึงคลิปรายการของดาราชายฝ่ายประชาธิปไตยคนหนึ่งที่สนับสนุนให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่บอกว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศออกมาส่งเสียง “เย้ว ๆ” แค่เรื่องของตัวเอง เธอต้องการส่งสารออกมาว่าบอกว่าเธอไม่ได้เย้วอย่างเดียว แต่เธอทำตลอด ประกอบกับเห็นโพสต์ของอั้ม เนโกะที่ไปประท้วงและเขียนหลังด้วยลิปสติกว่าจะไม่อม***[อวัยวะเพศชาย]ของเผด็จการ (โพสต์ต้นฉบับจากเฟซบุ๊ก Aum Neko คือ Pas de pipe pour les fâchons) เธอเลยคุยกับเพื่อน ๆ ว่าจะใส่สายเดี่ยวกันไปเลยมั้ย เขียนลิปสติกด้วย ไปเรียกร้อง เพราะเป็นพื้นที่ของเราด้วย
ในขณะที่ฟิล์ม นันทชาเล่าว่าที่ไปม็อบเพราะคิดว่าจะไปทำ movement แต่ว่าเธอเองก็อยากนำเสนอในมุมมองของเฟมินิสต์เหมือนกันว่าการต่อสู้ทั้งต่อฝ่ายแนวคิดอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเดียวกันมันก็แย่พอกันคราวนี้ เอลก้าจึงเสนอไอเดีย และเธอเห็นว่าเป็นความคิดที่ดีเลยที่เธอจะนำเสนอในมุมมอง Don’t tell me how to dress และสามารถนำเสนอสิทธิ์ในเรือนร่างของตัวเธอเอง โดยที่คุณไม่มีสิทธิ์มาตัดสิน คราวนี้เรามองว่าถ้าพวกเธอจะโดนโจมตีในเรื่องนี้ ทั้งแต่งตัวโป๊ะ เห็นนม เขียนลิปสติก เธอมองว่ามันจะเป็น movement ที่แรงมากต่อสังคม มันก็ตีแผ่ความจริงเหมือนกันว่าจริง ๆ แล้วทั้งฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายซ้ายไทยตกม้าตายเรื่องเพศ (gender) แค่ไหน
เฟมินิสต์คือคำห้ามพูด…เหรอ
เราขอให้นักกิจกรรมเล่าให้เราฟังว่าในแวดวงนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย ได้เจอความยากลำบากอะไรจากมิติที่ทับซ้อนกันในฐานะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เฟมินิสต์ และนักกิจกรรมประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง
ฟิล์ม นันทชาเล่าให้เราฟังว่าในฐานะที่เป็นผู้หญิงและขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเพศ เมื่อพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยหรือแนวคิดเสรีนิยม ทุกคนต่างปรบมือและเห็นด้วย แต่เมื่อเธอพูดถึงประเด็นเพศและความเท่าเทียมทางเพศ คำตอบที่เธอได้รับคือ “มันเท่าเทียมกันไม่ได้” ซึ่งสำหรับฟิล์มเองก็มองว่าสิ่งที่พวกเรากำลังเรียกร้องอยู่คือความเท่าเทียมในสังคมประชาธิปไตย
ในฐานะเฟมินิสต์ ฟิล์มยกประเด็นดังกล่าวมาเล่าให้เราฟังว่าเมื่อเธอบอกคนอื่น ๆ ว่าเธอคือเฟมินิสต์ เธอจะได้รับการตอบกลับมาที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังถูกลดทอนคุณค่า เช่นคำพูดว่า “เป็นเฟม[เหรอวะ] เป็นเฟมทวิตป่ะ” ทั้งที่เธอเองก็อยากจะบอกให้ทุกคนรู้ว่าเฟมินิสต์ก็คือคนที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย เฟมทวิตก็เช่นกัน
“ความยากลำยากที่ต้องเจอคือไม่สามารถออกตัวได้อย่าง “เต็มปาก” ว่าฟิล์มคือเฟมินิสต์ เพราะจะไม่มีใครรับฟังสิ่งที่เราพูด เราต้องใช้วิธีพูดเพื่ออธิบายว่าอีกฝ่ายได้รับผลกระทบในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างไรบ้าง ต้องอธิบายว่าทั้งเราและเขาต่างประสบปัญหาจากความไม่เป็นธรรมทางเพศและการถูกกดทับจากเหตุแห่งเพศอย่างไรบ้าง แต่ฟิล์มไม่สามารถพูดออกไปได้ว่าฟิล์มคือนักกิจกรรมที่เป็นเฟมินิสต์ เพราะคู่สนทนาจะไม่(พยายาม)เข้าใจสิ่งที่ฟิล์มพูด และไม่ฟังเราในที่สุด” ฟิล์มกล่าวส่งท้าย
นอกจากนี้ผู้เขียนคิดเห็นว่าตราบใดที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นไปเช่นเดียวกัน เพราะขบวนการทั้ง 2 อย่างคือเนื้อเดียวกันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และคง “ตลกร้าย” สิ้นดี หากบอกว่าคุณสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเพราะคุณเชื่อมั่นในความเท่าเทียมและความเสมอภาคของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แต่คุณกลับกลบเสียงกลุ่มคนที่ถูกทำให้กลายเป็นชายขอบอย่างผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยการปฏิเสธเสียงของเขา ปฏิเสธการมีอยู่ และข้อเรียกร้องของพวกเขาไป
สุดท้ายนี้การที่กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือชาว LGBTIQ+ เข้าไปมีส่วนร่วมและสมาทานตนว่าเป็นนักกิจกรรมก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเคลื่อนไหวเพียงแค่ประเด็นสิทธิของพวกเขาเอง (คิดแล้วก็ “ขำ ขำมาก” เมื่อการที่พวกเราเรียกร้องสิทธิของเราที่เป็นพื้นฐานสิทธิมนุษยชนกลับกลายเป็นเป้าล่อที่ถูกโจมตี) แต่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในทุกการเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกับ “พวกคุณ” เพียงแต่คุณไม่ “เห็น” (recognize) พวกเรามาก่อน? แล้วเพราะอะไรเล่า?
เพราะตราบใดที่การสมาทานความคิดแบบสังคมชายเป็นใหญ่ยังถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อย ๆ ต่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราท่านทั้งหลายใฝ่ฝัน, แต่ความเท่าเทียมทางเพศก็คงเป็นแค่ความฝันต่อไป.
In solidarity and Long live our Pride
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ณัฐชนนท์ ทองใส
ภาพประกอบโดย กมลชนก มณีไพโรจน์
[1] อ้างถึงในบทความสัมภาษณ์ Feminista Interview: เสียงของเฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และแนวคิดแบบ Intersectionality ในสังคมไทย (Accessed July 2020)