เพศ – การเมือง – ศาสนา … กับ “นาดา ไชยจิตต์”

คุณนาดา ไชยจิตต์ – นักเคลื่อนไหวชาวไทยผู้ร่วมขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศ – ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโททุนรัฐบาลด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ University of Essex ประเทศอังกฤษ โดยคุณนาดานั้นมักได้รับผิดชอบในส่วนของการรณรงค์บังคับใช้กฎหมายเรื่องการเลือกปฏิบัติเป็นหลัก แม้ว่า ณ เวลานี้จะไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย แต่คุณนาดาก็ยังคงร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของคุณนาดาที่เราเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นทำให้เราเลือกใช้โอกาสนี้สัมภาษณ์คุณนาดาในประเด็น “เรื่องเพศ” ที่เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่ถูกพูดถึงอยู่แทบจะตลอดเวลา

 

ก่อนอื่นเลยต้องถามว่า… ทำไมคุณนาดาถึงตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวเรื่องเพศ?

             จริง ๆ ก็โดนเองแหละ สมัยก่อนเนี่ยก็ต้องยอมรับว่า ด้วยเพศสภาพของตัวเองก็ จริง ๆ เพศกำเนิดก็เป็น intersex เนาะ แล้วก็ถูกเลือกให้เป็นผู้ชาย เพราะพ่อเห็นว่าเรามีจู๋ จู๋เป็นหลัก ก็ไม่คิดว่าโตมาจะเป็นแบบนี้ รูปร่างหน้าตาก็พัฒนาเป็นผู้หญิงซะส่วนใหญ่ไม่มีหนวดไม่มีเครา ไม่มีอะไรยังเงี้ย แต่เรากลับมีคำนำหน้านามเป็นชายไปตลอดชีวิต แล้วเราก็รู้สึกว่าเราก็แชร์ประสบการณ์ส่วนนึงร่วมกับชุมชนคนข้ามเพศด้วย”

ตอนที่ตัวเองเรียนจบกฎหมายใหม่ ๆ เราเป็นคนเดียวในห้องที่ไม่สามารถมีใบรับรองคุณวุฒิได้ คนอื่นเขาเอาใบรับรองคุณวุฒิไปสมัครตั๋วทนาย ไปทำอะไรกันหมดแล้ว อีนี่ไม่ได้เพราะว่ามหา’ลัยบอกว่าไม่สามารถติดรูปถ่ายให้ได้ เพราะว่าปกติใบรับรองคุณวุฒิน่ะ มันจะ recognize ความเป็นหลักฐานทางการศึกษา อ้างว่าเป็นเอกสารทางกฎหมายถ้าปลอมแปลงมีความผิดติดคุก เราไปดีลกับเขาหลายรอบมาก เขาบอก ‘ไม่ได้จริง ๆ พี่เข้าใจน้องมากเลยแต่ว่ากฎก็คือกฎ’ เขาก็เลยถามเราคำนึงว่า ‘แล้วทำไม มันเป็นอะไรเหรอ ช่วยอธิบายให้พี่เข้าใจหน่อยได้มั้ย ถ้าพี่เก็ทเดี๋ยวพี่จะช่วยน้อง’ 

เราเลยบอกว่า “หนูไม่ใช้รูปถ่ายได้มั้ยคะ” ปรากฎว่า ไม่ได้ค่ะ มันเป็นหลักฐานประจำตัวของหนูว่าหนูเป็นคนจบการศึกษา ร่ำเรียนพากเพียรเขียนอ่านจนได้คุณวุฒินี้มา 

เราเลยบอกเขาไปอีกว่า “นั่นไงคะ คนที่อยู่ในรูปไม่ใช่ดิฉันค่ะ คนที่อยู่ในรูปต้องตัดผมสั้น มัดผมสั้น แต่งเนคไท ทำตัวเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ดิฉันค่ะ ดิฉันคือนาดา ไชยจิตต์ คนที่เป็นกะเทย คนที่ร่ำเรียนพากเพียรเขียนอ่านมาสามปีกว่าเกือบสี่ปีเพื่อได้ปริญญาฉบับนี้มาเป็นของนาดา ไชยจิตต์ ไม่ใช่ของผู้ชาย ใครก็ไม่รู้ คนที่ระบบกฎหมายบังคับให้กูเป็น” 

พี่เขาถึงบางอ้อ บรรลุธรรม เขาก็เลยช่วยประสานงานให้เราเนี่ย จากสำนักทะเบียน

 

หลังจากนั้นเราไลฟ์สดแล้วเราร้องไห้ว่าเราจะเอาไงดีวะ เพราะเราเป็นนักสู้ใช่มั้ย แล้วเราก็แบบว่า เป็น human rights defender แต่พอมาถึงเรื่องตัวเอง กูจะยอมแพ้เว้ย กูจะยอมแพ้ ก็เลยแบบมาร้องไห้ออกหน้าไมค์ … แล้วเราก็พูดถ่ายทอดออกมาจากข้างในเราว่ามันสำคัญกับเรายังไง แล้วเขาก็เลยถึงบางอ้อกันทั้งทีม เขาบอกว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันมีหลักการไร้เหตุผลอะไร เพราะว่าก่อนหน้าเนี้ยเด็ก ๆ น้อง ๆ ที่เป็น transgender เวลาจะร้องเรียนอะไร เขาก็ไปรวมตัวกัน แล้วก็เขียนชื่อลงในกระดาษ แล้วก็ไปจะโกนแหกแตก ไปอะไรยังเงี้ย ฉันว่าเขาทำ advocacy ไม่เป็นน่ะ  คือไม่รู้จะทำอะไรแล้ว แล้วเราก็เลยตัดสินใจว่าเรา โอเค เราเรียนจบพอดี เราก็เลยต้องทำ

และเนื่องจากเราเรียนกฎหมายมาเราก็เลยทดลองเขียนคำร้อง แล้วเราก็เขียนคำร้องออกมาได้ดีมากจนเขาไม่เรียกเราไปสัมภาษณ์เพิ่มอะไรเลย คำร้องดีชัดเจนปุ๊บ พิจารณาเลยค่ะ สำเร็จเป็นเป็นเคสแรกของพรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศเลย

 

———

 

จะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ ครั้ง บุคคลที่ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวใน “เรื่องเพศ” นั้นมักเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เผชิญกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศเอง จนทำให้ไม่สามารถทนอยู่เฉยได้อีกต่อไป และเลือกที่จะออกมาเรียกร้องทั้งเพื่อตนเองและเพื่อบุคคลกลุ่มเดียวกับตนเองที่อาจจะกำลังเผชิญปัญหาที่ใกล้เคียงกัน

 

การเป็น “คนข้ามเพศ (Transgender)” และการเป็น “intersex” ดูจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันมากนัก เพราะเป็นคนละอัตลักษณ์ในความเข้าใจของคนทั่วไป แต่โดยแท้จริงแล้วตามบริบทของภาษาไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปรึเปล่า…?

             จะเป็นคนข้ามเพศก็ดีหรือจะเป็น intersex ก็ดีมันใช้คำเดียวกันก็คือคำว่ากะเทยไง เราก็รู้สึกว่าเราเป็นกะเทยคนนึง เราอาจจะว่าเราเป็นกะเทยกับเพื่อน แต่เวลามีใครบอกว่าเราไม่ใช่ผู้หญิงเราจะโกรธมากเลย อันนี้เป็นจุดพีคที่สุดที่ทำให้รู้ว่ากูน่ะเป็นผู้หญิง เพราะเวลาใครมาบอกว่ามึงไม่ใช่ผู้หญิงเนี่ยเราจะของขึ้นทุกครั้งเลย  คือมึงไม่ใช่กะเทยเนี่ยเรายังของไม่ขึ้นไง หรือด่าเราว่าอีกะเทยเราก็ อืม ก็กูเป็นกะเทยไง แต่พอบอกว่าเราไม่ใช่ผู้หญิงปุ๊บเนี่ยเราจะแบบ ชั้นเป็นผู้หญิง!

 

แต่คุณนาดาเองก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Non-Binary Thailand ด้วย – การมีอัตลักษณ์เป็น “Transgender” มีความเกี่ยวข้องอะไรกับอัตลักษณ์ “Non-Binary” หรือไม่?

             พยายามจะเข้าไปอยู่ในมูฟเมนท์ non-binary แต่ก็รู้สึกแบบว่า กูไม่ได้เป็น non-binary เลย กูเป็นได้แค่ great ally เท่านั้นแหละ เพราะว่าเวลาใครมาจี้ใจดำกูกูก็จะเป็นผู้หญิงเท่านั้น อันนี้ก็เลยรู้สึกว่า โอเค บางมูฟเมนท์เราก็เป็นพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ของขาได้ แต่ว่าอัตลักษณ์ของเราคือ ไม่น่าจะใช่

คือคนข้ามเพศมันจะมีภาวะนึงที่ ตอนที่เรากระโดดออกจากกล่องมา เราจะพบว่าช่วงภาวะที่เรากระโดดอยู่ตรงกลางอากาศเนี่ย มันเป็นภาวะที่เป็น pseudo non-binary มันเป็นภาวะจำลองของการเป็น non-binary ถ้าเกิด binary คือความจริงแท้ในโลกของชายเป็นใหญ่ เราจะพบว่ามันห้ามขยับเลยนะ คนข้ามเพศเนี่ยไม่สามารถ exist ได้เลย เพราะว่าการมีภาวะของคนข้ามเพศเนี่ยคือเป็นภาวะที่เป็น non-binary เพราะว่าถ้า binary จริง ๆ น่ะห้าม ห้ามออกจากกล่องนี้เลย ขั้วหญิงขั้วชาย ทำอะไรไม่ได้

แล้วภาวะช่วงนี้คือ experience ช่วงกระโดดไปเนี่ย ทำให้เรามีความเข้าใจว่าคนที่เขาเป็น non-binary เนี่ย เขาเผชิญกับปัญหาอะไร ก็เลยกลายเป็นว่า ทำให้เป็นแรงบันดาลใจว่า ไม่ว่าเราจะนิยามตัวเองว่าเป็นอะไรหรือว่าเราจะหลุดพ้น เหมือนกระโดดข้ามมาสำเร็จ แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ มันคือความเหลื่อมล้ำ มันเป็น oppression อย่างนึง มันเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มันเป็น power dynamic ที่แม่งไม่แฟร์เลย เพราะสุดท้ายแล้วเนี่ย คนที่อยู่ในกล่องชายเท่านั้นเนี่ยที่แม่งอภิสิทธิ์ที่สุด

 

ซึ่งการที่คนที่เป็นเพศชายมีอภิสิทธิ์เหนือกว่านั้นมันก็ยังคงเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ใช่ไหม? เช่นภาพเหตุการณ์ประท้วงที่มีการเขียนป้ายด้วยถ้อยคำที่สื่อไปในนัยยะที่เหยียดเพศอยู่?

             ง่าย ๆ ก็คือตอนนี้เราจะเห็นกันชัดที่สุดแล้วไม่ต้องอะไรเลยค่ะ พี่คิดว่าสังคมไทยเดินมาถึงจุดที่ดีที่สุดแล้ว พีคที่สุดแล้ว คือมูฟเมนท์ของประชาธิปไตย มันเป็นมูฟเมนท์ของผู้ชายเป็นใหญ่จริง ๆ อีสัส ขอด่าหน่อย เรามาถึงจุดนี้ เมื่อก่อนนี้ยังแอ๊บ ๆ ไม่จริง ๆ อะไรยังงี้ป้ะ ตอนนี้คือชัดมาก เราสามารถขุดลงไปรากลึกสุดแล้วว่า เสรีภาพ การแสดงออกประชาธิปไตยเป็นของผู้ชายเท่านั้นจริง ๆ  แม่ง น่ากลัวที่สุดพี่ว่าประชาธิปไตยเป็นร่ม แล้วก็ความหลากหลายทางเพศหรือความเท่าเทียมทางเพศเป็น subset สำคัญ เป็นก้อนที่ใหญ่มาก มันเป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้เลยโดยทุก ๆ กรณีค่ะ ประชาธิปไตยก็คือการที่ทำให้เสียงของทุกเสียงมีความหมาย เสียงทุกเสียงที่สะท้อนตัวตน ชีวิต ปัญหาของเขามีความหมาย เพราะฉะนั้นเนี่ยประชาธิปไตย อย่าว่าแต่เรื่องของอันนี้เลย ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสีผิว ประชาธิปไตยเป็นเรื่องเชื้อชาติ ชนชาติ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของชนชั้น ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเรื่องของชนชั้นล่าง แล้วชนชั้นบนมึงต้องถูกถีบออก ไม่ใช่ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องคนที่มีที่มาที่ไปที่หลากหลายแล้วสามารถที่จะส่องแสงในตัวเองได้ในพื้นที่พื้นที่นั้นได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกบังคับให้เขาต้องหรี่แสงลง เขาอาจจะมีกำลังไฟในการเปล่งแสง กำลังวัตต์น้อย แต่เขาจะต้องไม่ถูกทำให้กำลังวัตต์ที่น้อยนั้นน่ะถูกกลบโดยสป็อตไลท์อันใหญ่ ๆ คือมันถึงมันเป็นเรื่องโครงสร้างเชิงอำนาจ เพราะฉะนั้นเนี่ยมันทิ้งกันไม่ได้เลย

พี่ขอยกตัวอย่างประเทศเยอรมันเนื่องจากมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่เยอรมันมา เยอรมันก็มีปัญหา – เขามีการกำหนด gender disparity ในกฎหมายรัฐธรรมนูญของเขา แต่เนื่องจากว่าการเมืองบ้านเขาเนี่ยมันมีภาวะชายเป็นพิษมากๆ (toxic masculinity) ผู้หญิงเขาก็เลยไม่ค่อยอยากจะเข้ามาอยู่ในวงการการเมืองหรอก เพราะฉะนั้นอัตราส่วนความหลากหลายทางเพศในภาคการเมือง (gender disparity) ตอนนี้แตะที่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เอง และถ้าดูการเมืองท้องถิ่นนะ เนื่องจากเขาทำเรื่องกระจายอำนาจ เธอจะตกใจมาก เพราะว่าในการเมืองท้องถิ่นมีผู้หญิงเข้ามาเล่นต่ำมาก ต่ำประมาณหลักสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เพราะมัน toxic สุดๆ แล้ว gender disparity ก็มีปัญหาจากว่าเป็นการทำ gender disparity แบบ binary บังคับให้ 50-50 ตัวอย่างชัดเจนก็คือ intersex เนี่ยเลือกเพศได้ – เลือกเป็น intersex ได้ เลือกเป็น x ได้ แต่ตอนที่จะต้องลงสัดส่วน เพราะว่าเวลาไปโหวตเงี้ย คุณต้องบอกว่าคุณใช้ gender disparity ไหน male หรือ female”

สุดท้ายนอกจากว่าเพศชายจะเป็นใหญ่แล้ว Intersex หรือ Non-Binary ก็ยังถูกบังคับให้อยู่ในกรอบเพศใดเพศหนึ่งด้วยเช่นกัน?

             ใช่ จะบอกว่าโลกของ non-binary เนี่ยจะต้องทำงานอีกเยอะมากเพราะว่าประชาคมโลกเนี่ยคุ้นเคยกับระบบสองเพศ ระบบสองเพศที่ยึดจากเพศสรีระเนี่ยเป็นเรื่องที่หนักหนามาก ที่ทำจนตายห่าก็ไม่รู้จะได้รึเปล่า เพราะฉะนั้นก็อย่างที่บอกอะค่ะว่าเป็นเรื่องที่หนีกันไม่พ้นจริง ๆ

 

ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว กฎหมายมีความ inclusive ต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากน้อยเพียงใด หรือว่าเอื้อประโยชน์ให้แต่บุคคลที่เพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด (cisgender) เป็นหลัก?

            เมื่อก่อนเนี่ย ผู้หญิงจะเป็น goddess of fertility ผู้หญิงให้กำเนิดชีวิต เขาก็ ศาสนาเอกเทวนิยมก็เข้ามามีบทบาทแล้วก็ค่อย ๆ เขาเรียกว่า institutionalization ก็คือการทำให้เป็น — กระบวนการทำให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ — ภาพจำของเชิงสถาบัน มันก็ค่อย ๆ มาลบออก เมื่อก่อนเนี่ย เพราะว่ามีมดลูกจึงก่อกำเนิดมนุษย์ขึ้นมาได้ ตอนหลังเนี่ยมดลูกถูกทำให้อยู่ในฐานะเป็นอู่ ไม่มีเมล็ดพันธุ์ก็ไม่โต เมล็ดพันธุ์น่ะคืออสุจิ มันเป็นรากเหง้าของการถูกทำให้เป็นกฎหมายขึ้นมา มันยกระดับเป็นจารีต เป็นประเพณี เป็นระเบียบ แล้วก็มาเป็นตัวบทกฎหมาย พอมันเป็นตัวบทกฎหมายเนี่ยก็ต้องยอมรับว่าตอนออกตอนนั้น ในยุคนั้นคนออกก็เป็นผู้ชายออกโดยผู้ชาย แล้วก็ยังคงออกโดยผู้ชายมาโดยตลอด โดยเฉพาะในสมัยที่อังกฤษเป็นต้นแบบระบบกฎหมายหนึ่งของโลก สมัยที่แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร ตอนนั้นยุคโรมันรุ่งเรืองก็มาตีมายึดเอาอังกฤษด้วยนะ แล้วเขาก็เริ่มแยกว่าศาสนจักรต้องออกจากอาณาจักร ถึงได้มี secular state ไง ถึงได้มีเรื่องรัฐฆราวาสขึ้นมา ก็คือศาสนาแยกออกจากกัน – กฎหมายสิบสองโต๊ะเนี่ยแหละ – ก็เริ่มแยก คือเราต้องให้เห็นนะว่าผู้ชาย แม้กระทั่งแยกมาแล้วเขาก็ไม่ได้ involve ผู้หญิง มันก็จะมีแต่ผู้ชายนั่ง แล้วเขาก็จะใช้ scale ที่หยาบที่สุดในการวัด  ก็คือกายภาพ

รู้กันไหมว่า ในอดีตนั้น เวลาจดทะเบียนสมรส ผู้หญิงมีฐานะเป็นอะไร … คือหญิงนั้นเป็นสมบัติของสามีจ้า นอกใจเนี่ยให้ผูกกับม้าลากได้ ให้ตายห่าไปเลยเพราะฉะนั้นแนวคิดนี้ก็สืบทอดมากระทั่งปัจจุบัน มันดีขึ้น ก่อนหน้าเนี่ยพอหญิงแต่งงานปุ๊บใช้นามสกุลสามี พอใช้นามสกุลสามีเสร็จปุ๊บเจะทำนิติกรรมอะไรก็ตาม ต้องขออนุญาตสามีก่อน เสมอ แม้ว่าเวลาแต่งงานแล้วเนี่ยจะมีสิทธิ์ในสินสมรสร่วมกันหรืออะไรก็ตามที่หามาได้ แต่หญิงทำอะไรแล้วต้องขออนุญาตสามีก่อน ตอนหลังกฎหมายก็แก้เพราะว่าประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญา CEDAW ใช่มั้ยล่ะ ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ มันก็มีผลในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต่อมาผู้หญิงก็ไม่ต้องขออนุญาตแล้ว คือเมื่อก่อนจะได้ยินแบบ ผู้ชายกินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ผู้ชายเอาบ้านไปจำนองจำนำ ไม่ต้องขออนุญาตใครไง”

สมัยก่อนเนี่ยเราทำมาหากินเนี่ย สร้างบ้านแปงเมืองปลูกบ้านทำกับข้าวดูแลกันในครอบครัว เริ่มสร้างหน่วย unity ของครอบครัวกับชุมชนเนาะ โปรตีนคืออาหารหลัก เขาจะเชื่อกันแบบนั้น ผู้ชายเนี่ยเขาจะไปล่าสัตว์ เขาก็จะได้เนื้อมาส่วนนึง ได้เนื้อได้กวางได้ห่าได้เหวอะไรมาก็ตาม แต่เขาลืมไปเลยว่าเนื้ออย่างเดียวมันต้องกินกับคาร์โบไฮเดรต ต้องกินกับข้าว ต้องกินกับผัก ต้องมีน้ำสะอาด ต้องมีบลา ๆๆๆๆๆ เนื้อสัตว์นมไข่ ผู้หญิงกับเด็กในครอบครัวเป็นคนทำหมดเลย ทุกอย่าง แต่ว่ามันไม่ใช่เนื้อ

 

แต่คุณนาดาก็ยังเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงมันไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในอนาคต?

         พี่เลยสนใจศึกษากฎหมายเพราะว่าพี่อยากจะทำให้ วันนึงเราสามารถที่จะทำให้กฎหมายมันมีพลวัตไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ เขาบอกว่านักกฎหมาย นักนิติศาสตร์เนี่ยเป็นเหมือนวิศวกรของสังคม อันนี้เป็นแนวคิดของทางนิติปรัชญาว่าเราสามารถดีไซน์สังคม การเป็นวิศวกรของสังคมหมายความว่า ตรงไหนที่เราสร้างได้ เราซ่อมได้ เราเสริมได้ หลักการของมันคือยังงี้ อะไรที่ไม่มีเราก็สร้างได้ อะไรที่มันมีและไม่ดีเราก็รื้อ เราก็รื้อ เราก็สร้าง เราก็ซ่อมได้ พี่อะมาเรียนเพราะพี่มีความเชื่อว่าพี่อยากจะเปลี่ยน สะพาน Golden gate ทั้งอันน่ะยกทิ้งไปไม่ได้ พี่ไม่ใช่ X-Men แต่พี่น่าจะสามารถขันน็อตทีละตัว ๆ แล้วก็เปลี่ยนมันได้ ทีละอัน ๆๆๆ นี่คือสิ่งที่พี่ทำ คำร้องที่พี่ทำ ไปรณรงค์ให้ชุมชนหลากหลายทางเพศเนี่ยลุกขึ้นมาปกป้อง พี่เชื่อว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรง เนี้ย วันนึงเราจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างสะพานได้ทั้งหลังเลย นี่ก็คือความเชื่อของพี่

 

แล้วแบบนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับ Intersex ล่ะ มีกฎหมายอะไรคุ้มครองไหม?

         กฎหมายเรื่อง intersex ไม่มีเลยค่ะ ที่มีบังคับใช้อยู่นั้นเนี่ยมันเป็นกฎหมายเชิงจารีต ไม่มีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เนื่องจากว่าเคยมีเคสเมื่อปี 2514 เนี่ย มี intersex คนนึงเขาไปยื่นคำร้องที่กระทวงมหาดไทย ว่าเขาขอแก้ไขประวัติในทะเบียนราษฎร์ของเขา ก็คือตัวทะเบียนบ้านใช่มั้ย เมื่อก่อนทะเบียนบ้านสำคัญมากกว่าบัตรประจำตัวประชาชนซะอีก ทะเบียนบ้านก็จะบอกหมดเลยใช่ป่ะ ลูกเต้าเหล่าใคร พ่อมึงเป็นใคร แม่มึงเป็นใคร พี่น้องมึงเป็นใคร อะไรยังงี้ มึงย้ายเข้าย้ายออกเมื่อไหร่ บ้านมึงอยู่ไหน คำนำหน้าชื่ออะไรต่าง ๆ มีหมด เขาไปขอแก้ไข โดยเขาบอกว่าเขาไม่ใช่กะเทยนะ เขาไม่ใช่กะเทยข้ามเพศนะ เขามีเพศกำกวม เขาก็เลยยื่นขอ ทีเนี้ยพอมีคำเหมือนกับวินิจฉัยของแพทย์มาประกอบรับรอง ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองเนี่ยเขาเลยออกหนังสือเวียน หลังจากนั้นมาหนังสือเวียนเนี้ยมันถูกใช้เป็นกฎหมายปกครอง ในทางปกครองมันถือเป็นกฎหมาย เป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐใช่ปะ ที่บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พูดง่าย ๆ ก่อให้เกิดสิทธิ์ ก่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ แปลว่ามีค่าบังคับเป็นกฎหมาย เพราะเดิมทีไม่มี

แต่ว่ากฎหมายในทางปกครองมันจะมีอย่างนึงเลย เป็นสิ่งที่ทุกคนเขาก็ไม่ชอบหรอก แต่มันคือสิ่งที่เป็นช่องว่างที่ถูกให้ไว้ในทุก ๆ กฎหมายฝ่ายปกครอง ก็คืออำนาจดุลพินิจ ถ้าใช้เป็นบวกก็บวก ใช้เป็นลบก็ลบ อำนาจดุลพินิจเนี่ยใช้ในทางที่มิชอบก็มิชอบ แต่ว่าพอมันเข้ากรอบลักษณะกฎหมายไทย เมื่อใช้ครั้งนึงแล้วมันใช้มาตลอดมันส่งผลให้เป็นจารีต จารีตเนี่ยก็เป็นกฎหมายได้ เหมือนประกาศพระบรมราชโองการน่ะ เพราะฉะนั้นเนี่ย intersex ก็จะมีแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่บังคับใช้เป็นกฎหมาย กฎหมายปกครองแต่ไม่ใช่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่กฎหมายแท้ นักกฎหมายจะบอกว่ากฎหมายแบบนี้ไม่ใช่กฎหมายแท้ กฎหมายแท้ต้องออกผ่านสภา ต้องออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

 

แบบนี้ก็แปลว่า ไม่ใช่ intersex ทุกคนที่จะสามารถแก้ไขเพศของตนเองในเอกสารได้ใช่ไหม?

         ใช่ เพราะว่าบังคับให้ intersex จะต้องเป็น intersex ในรูปแบบเฉพาะมากเลยก็คือต้องมีจู๋กับจิ๋มที่ชัดเจนแล้วก็ต้องไปตัดออกให้เลือกอันใดอันนึงถึงจะสามารถมาใช้ช่องทางในการขอของกฎหมายจากฝ่ายปกครองนี้ได้ พี่ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีมดลูก ต่อให้คุณเหมือนผู้หญิง มีฮอร์โมนเพศหญิงมากเท่าไหร่ก็ตามในโลกหล้า ร่างกายดูเหมือนผู้หญิงขนาดไหนก็ตามแต่ถ้าคุณไม่ได้มีลักษณะตามเนี้ย เขาก็ให้คุณไม่ได้

แม้กระทั่ง intersex กลุ่มที่เป็นโครโมโซมเช่น XXY อะ มึงจะมี X อีกสิบตัวก็ได้ แต่ถ้ามึงมี Y มึงก็ต้องเป็นผู้ชาย เพราะ Y คือผู้ชาย เราจะเห็นว่าอำนาจชายเป็นใหญ่เนี่ยมันสร้างวาทกรรมที่แบ่งแยกเพศเนี่ยชัดมากเพราะเมื่อก่อนเนี่ย white privilege white masculinity เนี่ย ความเป็นชายผิวขาวเนี่ย เป็นเจ้าขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เขาเป็นคนกรอกเรื่องพวกนี้มา กฎหมาย วิทยาศาสตร์ ศาสนาอะไรก็ตามเป็นเรื่องของเขา เขากรอกความรู้นี้มา เพราฉะนั้นเนี่ย เขามี power ในการที่จะบอก เขาสร้าง standardization  เขาทำให้เกิดมาตรฐาน

_______

นอกจากคำตอบในข้อนี้ที่คุณนาดาให้กับเราแล้ว เรายังจับใจความได้อีกว่า … ความเป็นผู้ชายมันช่างเป็นสิ่งที่สำคัญในสายตาของผู้มีอำนาจในการสร้างมาตรฐานที่ว่าเสียเหลือเกิน ทำให้ไม่ว่าจะเป็นใคร แต่หากมีลักษณะของ “ความเป็นผู้ชาย” แม้เพียงน้อยนิดก็จะยังคงถูกยัดเยียดให้เป็นผู้ชายต่อไป … แม้ว่าความเป็นผู้ชายที่ว่านั้นจะเป็นเพียงตัวอักษรหนึ่งในโครโมโซมเพศก็ตาม

 _____

 

แล้วกฎหมายรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition) ล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง? การรับรองจากเพศกำเนิดแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้มันมากพอแล้วหรือยัง? คนข้ามเพศ “เรียกร้อง” มากเกินไปหรือเปล่า?

         ถ้าจะพูดเรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าไอ้ระบบการรับรองเพศเนี้ย conventional เลยก็คือแบบ  ยุคดั้งเดิม การรับรองเพศสภาพของมนุษย์ก็จะมีอยู่หลัก ๆ เนี่ยคือรับรองจากเพศกำเนิดเนอะ เขาก็จะดูจากอวัยวะเพศที่อยู่ตรงหว่างขาเราเป็นหลักใช่ป่ะ ถ้ากำกวมก็ดูจากโครโมโซม ตรวจเลือดตรวจโครโมโซมอะไรก็ว่าไป ก็ยังคงยึดหลักอันนี้เป็นหลักสากลนะ จะบอกว่าการรับรองเพศโดยที่ดูจากเพศสรีระโดยเฉพาะอวัยวะเพศเนี่ย ไม่ใช่สิ่งที่โบราณนะ มันเป็นหลักสากล เพียงแต่ว่ามันมีพลวัต ประเทศที่เขาเริ่มมีการ recognize recognition ตัว gender ตามกฎหมายใหม่ มันก็เป็นการพลวัตของกฎหมายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงไปของบริบทสังคมเนาะ สังคมมันไม่ได้มีแต่ cis ใช่ป่ะ มันไม่ได้มีแต่ cis person (บุคคลที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด) อย่างเดียว มันมี trans person ด้วย เมื่อมันมี trans person เนี่ย จะทำยังไงให้ระบบกฎหมายมันก้าวหน้าพอที่จะรับรองเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลได้ เขาก็เลยต้องมีการทำกฎหมายรับรองเพศสภาพขึ้นมา

“แต่เดิมทีวิวัฒนาการของมันก็คือกฎหมายรับรองเพศสภาพนั้น รับรองเพศสภาพตามเพศที่เปลี่ยนแปลงไป คือก่อนหน้านั้นน่ะมีความเชื่อว่าเฉพาะคนที่ผ่าตัดเปลี่ยนเพศแล้วเพราะว่ายังคงยึดหลักอวัยวะเพศอยู่ ในเมื่อคนไม่มีสภาพของเพศเดิมอยู่แล้ว แล้วก็ได้ปรุงแต่งให้อวัยวะเพศหรือเพสสรีระมันไปเสมือนกับเพศ(ที่เปลี่ยนไป)โดยกำเนิดได้ ก็สมควรที่จะได้รับการรับรองเพศได้ เพราะว่าจะให้เขาเป็นเพศเดิมก็ไม่ได้ เขาไม่ได้มีเพศเดิมแล้ว เขาไม่มีสภาพของเพศเดิมโดยกำเนิดนี้แล้วก็ต้องรับรองเพศสภาพที่เขาข้ามมา กฎหมายก็เลยมีพลวัตแบบนี้ จนกระทั่งเขาก็เริ่มยกระดับว่า เฮ้ย การเป็นคนข้ามเพศอะ มันไม่ใช่ทุกคนนะที่จะสามารถที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้ มันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ อะไรยังเงี้ยตามมาหลายอย่างมาก เพราะฉะนั้นภาวะการข้ามเพศเนี่ยจุติแรกมันเป็นเรื่องของสำนึก เพราะฉะนั้นเนี่ยในเมื่อมันเป็นสำนึกก็ต้องให้เขาแต่แรก

 

ความกลัวที่ว่าคนข้ามเพศจะไปหลอกผู้อื่น หลอกแต่งงาน หรือผู้อื่นจะปลอมแปลงและทำการข้ามเพศเพื่อหลบหนีคดีเป็นสิ่งที่ต้องกลัวไหม?

         เราหลอกหรือไม่หลอก มันมีข้อที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับสังคมอยู่ในระดับนึงเลยก็คือว่า จะต้องพูดถึงเรื่อง privacy rights กับ data protection rights ก็คือสิทธิความเป็นส่วนตัวกับสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองข้อมูลที่เป็นส่วนบุคคล ใช่ป้ะ ปกติแล้วถ้ามีกรณีอาชญากรรมหรือว่าต้องไปทำนิติกรรมอะไรก็ตามที่เราต้องไปทำในลักษณะที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิบางอย่างที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ที่มีความสัมพันธ์กันเช่นเรื่องการแต่งงาน เอาตามหลักแล้วเนี่ย การแต่งงานเนี่ย คู่ชีวิตคือสาระสำคัญของเรา คนที่จะมาเป็นคู่กับเรา คนที่เราจะกินอยู่หลับนอน ลงลายมือชื่อผูกสัญญากันเป็นผัวเป็นเมียเนี่ยนะ เป็นผัวเป็นเมียเป็นเมียเป็นเมียเป็นผัวเป็นผัวเป็นอะไรก็ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้เนี่ย สาระสำคัญคือตัวบุคล เพราะฉะนั้นเนี่ย คู่ของตัวเองมีสิทธิ์ที่จะรู้

แต่ทีนี้พอมันเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือว่ามันเป็นเรื่องอะไรที่มันมีนิติสัมพันธ์กัน มีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายที่ต้องเกี่ยวข้องกับลักษณะที่เป็นตัวตนของเขาอะ อันเนี้ยในกฎหมายมันก็มีการพูดไว้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ไอ้เรื่อง data protection เช่น กฎหมายดั้งเดิมเลย คำนำหน้านามเราก็ดี สถานะการแต่งสมรสของเราก็ดี เราเป็นลูกเต้าเหล่าใครก็ดี เปลี่ยนชื่อกี่ครั้งแล้วก็ดี มันได้รับการคุ้มครองตาม data protection อยู่แล้ว กฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐถ้าไม่ใช่คนที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น ไม่ใช่นายทะเบียน ที่ดูแลเรื่องประวัติทะเบียนราษฎร์ เขาจะเข้าไปดูไม่ได้เลย

 

แปลว่าเขามีกระบวนการป้องกันการหลอกลวง สวมรอย หลบหนีอยู่แล้วใช่ไหม?

“ตอนที่พี่ไปทำบัตรประชาชนก่อนที่จะมีช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาไม่เชื่อแต่เขาต้อง – เขารู้ว่ากฎหมายมันออกมาคุ้มครองแล้ว เขาต้องปฏิบัติกับพี่ดีมาก เขาก็มีวิธีการเช็ค ไหนอยากรู้จังเลย เด็กรุ่นใหม่เนี่ยจะจำสาแหรกของตัวเองได้รึเปล่า สาแหรกก็คือโคตรเหง้าศักราชเรา ให้เราไล่ พ่อชื่ออะไร ปู่ชื่ออะไร… จริง ๆ ไม่มีอะไรเลย เขาต้องการดูว่าเราเป็นคนคนนั้นจริงรึเปล่า เพราะว่าเราเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน”

อันเนี้ยเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจได้ อยู่ที่ว่าเขามี sensitivity รึเปล่า ดังนั้นสิ่งที่เขาจะดู นอกเหนือจากเรื่องของหลักสากล ก็คือเขาจะดู biometrics ใช่มั้ย ข้อมูลชีวสมมาตร เขาก็จะดูหน้าตาของเรา คิ้ว หู ตา ปาก จมูก แล้วเขาก็ดูลายนิ้วมือ เพราะฉะนั้นเนี่ยจะบอกว่าเราจะไปหลอกใครหรือไม่หลอกใคร ถ้าเป็นในเชิงคดีนะไม่ต้องกลัวเลย เพราะว่าตำรวจน่ะตอนทำวิจัย ตำรวจบอกเองเลยว่า ดูบัตรประชาชนอย่างเดียวไม่ได้เลยครับ เพราะว่าคนที่เขาไม่ได้เปลี่ยนเพศเขาก็ไม่เหมือนเดิมเลย เปลี่ยนไปหมดเลยตั้งแต่…โอ๊ย อายุ 7 ขวบ 15 เปลี่ยนบัตรทุก 6 ปี 21 27 อะไรก็ตาม เขาเปลี่ยนกันตามกาลเวลาหมด สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ก็คือข้อมูลชีวสมมาตร เขาก็จะดูว่าใบหูเป็นยังไง ลูกกะตาเป็นยังไง คิ้วเป็นยังไง คิ้วเวลาเหี่ยวย่นมันก็ตก หูอะไม่ตก ลายนิ้วมือไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นเนี่ยข้ออ้างตรงเนี้ยมันเป็นข้ออ้างที่สะท้อนความกลัว transphobia เออ มันเป็น phobia ไม่ต้องอื่นไกลเลย

แต่เงื่อนไขเรื่องเพศเนี่ย จะต้องยอมรับว่าเป็นสาระสำคัญอย่างนึง เพราะฉะนั้นเนี่ยเราก็ต้องตอบคำถามเนี้ยให้ชัดให้ได้ แต่ไม่ใช่แบบ ด้วยการมาบังคับให้ใส่ดอกจัน กูจะได้รู้ ไม่ใช่ เพราะมันเป็น personal data ตราบใดก็ตามที่มึงจีบกับกูอยู่เนี่ย มึงไม่ได้จะมาร่วมหัวจมท้ายกับกูเนี่ย มึงมีสิทธิ์ที่จะรู้ชีวิตกูเท่าที่กูให้มึงรู้นะ

 

ผู้ชายกลัว กะเทยหลอก ???

         กูเนี่ยถูกพวกมึงหลอกมาเท่าไหร่แล้ว กูเนี่ยต้องกลัว ไม่ใช่มึงกลัวกูนี่

 

แล้วที่ผู้หญิงกลัวว่าผู้ชายจะปลอมเป็นกะเทยแต่งหญิงไปเข้าห้องน้ำหญิงเพื่อทำมิดีมิร้าย หรือการจงใจเปลี่ยนเพศเพื่อหนีคดีล่ะ?

         อันนั้นก็ต้องโฟกัสที่การจับผู้ชายที่ปลอมเป็นกะเทยใช่มั้ย ไม่ใช่ไปกีดกันกะเทยออกจากห้องน้ำ คือคนละ factor กันเลย ไม่ยังงั้นก็คือเมืองนอกก็พังน่ะสิ เขาก็อยู่กันไม่ได้น่ะสิ เขาก็อยู่กันได้ เขาจับโจรได้ จับขโมยได้ สุดท้ายแล้วก็คือตำรวจก็ต้องมีหน้าที่ในการเท่าทัน ว่าประชาชนทุกหมู่เหล่ามันรวมคนข้ามเพศด้วย เวลามีข้อสังเกตยูก็ต้องเพิ่ม prospect ลงไปในลิสต์ของยูว่าโจรผู้ร้ายหรือผู้ต้องหาในคดีที่ยูที่ต้องตามจับ ระลึกเสมอว่าเขาอาจจะเป็นคนข้ามเพศ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยูต้องทำก็คือว่ายูก็ต้องสแกน หาให้เจอให้ได้ แล้วระบบเนี้ย ระบบการรับรองเพศใหม่เนี่ย จะมีส่วนช่วยอย่างมากเลย เพราะมันจะถูกบันทึกไว้ในประวัติทะเบียนราษฎร์ของยูว่ายูเป็นคนข้ามเพศ เวลามีการสืบหาคดี สมมุติว่าแบบผู้ต้องหาเนี่ย ยูหาได้ ยูคีย์เข้าไปได้เลยว่าใครเป็นคนข้ามเพศบ้าง แล้วยูก็เทียบลายนิ้วมือเอา ก็เจอเพราะมันไม่เปลี่ยน

 

เพราะสุดท้ายระบบการรับรองเพศที่เปลี่ยนข้อมูลในสูติบัตรมันจะถูกบันทึกเอาไว้อยู่แล้ว จึงจะทำให้ง่ายขึ้นไปอีก?

         เราอาจจะเปลี่ยนสูติบัตรได้ แต่ว่าเราเปลี่ยนไทม์ไลน์ไม่ได้ เพราะสูติบัตรของเรามันก็จะขึ้น record ในประวัติทะเบียนราษฎร์ ขึ้นเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเราว่าสูติบัตรนี้ออกโดย … สมมุติว่าเราใช้ระบบกฎหมายรับรองเพศแบบนี้นะ สูติบัตรของเรามันจะได้รับการแก้ไขเพราะว่าเราได้ข้ามเพศไปแล้ว

ดังนั้นข้อโต้แย้งเหล่านี้จึงจัดได้ว่าเป็นอคติทางเพศที่มีต่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะ หรือ Transphobia นั่นเอง

 

 

ขอถามในอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่นาน – ในฐานะที่คุณนาดาเองก็นับถือศาสนาอิสลาม คุณนาดามีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่ฝ่ายศาสนาออกมาต่อต้านการเรียกร้อง #สมรสเท่าเทียม ?

 

         พี่เชื่อในอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกัน มนุษย์มีอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกัน มี identity status ที่ทับซ้อนกัน แล้วมนุษย์เนี่ยก็ต้องเรียนรู้ที่จะต่อรองแล้วก็ยอมรับมัน มันไม่ใช่แต่ว่าเราเป็น LGBT หรอก – ศาสนาอิสลามถ้าเราดูคัมภีร์ เราจะพบว่าในคัมภีร์เนี่ยจะมีแนวทางเป็นคู่ขนาน คู่ขนานอยู่กันไปตั้งแต่เกิดจนกระทั่งชีวิตดับสูญ มันคู่ขนาน ก็คือเป็น binary ค่อนข้างเยอะ แต่ว่าในภาวะคู่ขนานเนี้ยก็คือพระเจ้าจะพูดถึงเรื่องความรักความเมตตาอย่างมหาศาล แล้วพระเจ้าจะพูดถึงบทลงโทษ กฎที่ … มากขนาดนี้เลยเหรอ ถ้าเธอเป็นคนที่มีปัญญาเธอจะคิดได้ว่า ศาสนาทำให้คนมีปัญญานะ เพราะฉะนั้นเนี่ย คนที่ออกมาบ้าบอคอแตก พี่คิดว่าเขาปัญญา…ไม่มีพอที่จะเข้าใจ

ถ้าเราเอามาตีความจริง ๆ มันหมายความว่ามนุษย์เรา พระเจ้าบอกเลยว่า ยกเว้นศาสดาคนเดียวเท่านั้นน่ะที่เป็นต้นแบบ จะไม่มีมนุษย์หน้าไหนในแผ่นดินนี้อีกที่ทำได้เหมือนศาสดา หมายความว่ามนุษย์ทำบาปเป็นอาจิณอยู่แล้วทุกวัน เพราะฉะนั้นเนี่ย ถ้าจะต้องเอาเกณฑ์เนี้ยมาวัดว่าใครผิดใครชอบใครชั่วใครดีในเรื่องเพศนี่นะ พี่บอกตรง ๆ เลยว่า เผลอ ๆ เนี่ย แถวแรกที่ต้องโดนยิงเป้าก่อนเนี่ยนะ คือพวกโต๊ะอิหม่ามทั้งนั้นเลย

แค่อยากจะบอกว่า ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมเนี่ย ในเมื่อเรามีดอกไม้กับดาบอาญาสิทธิ์ จะทำให้สังคมมันมีความสงบสุข เธอคิดว่าเขาควรจะใช้อะไรมากกว่ากัน คำถามมันก็ชัดมากเลย แล้วการยื่นดอกไม้ให้ก็ไม่ใช่ยื่นนอกกรอบศาสนา ก็ยื่นในกรอบศาสนา เขาบอกว่ามนุษย์มีลิมิตในการทำความดีความชั่วแต่ละคนเนี่ย เป็น tailor-made เนี่ย พระเจ้าเนี่ย tailor-made ให้แต่ละคนเลย ทำความดีได้ maximum ทำความชั่วได้ maximum เท่าไหร่

แล้วพระเจ้าบอกว่า มนุษย์ ความเมตตาของพระเจ้ามากขนาดไหนรู้ป้ะ มากขนาดที่ว่าทำชั่วเนี่ย ความชั่วเนี่ยนะ ทำจนท่วมผืนโลกเลยนะ มันต้องชั่วขนาดไหนอะ ทุกตารางนิ้วของโลกเนี่ย ท่วมไปหมดเลยนะ แล้วเลยไปถึงชั้นฟ้าน่ะ นู้น…ทะลุอวกาศน่ะ พระเจ้าเนี่ยท่านจะทรงแสดงความเมตตา ในการที่จะให้อภัยนะ พระองค์ล้างให้หมดเลย เกลี้ยงกริ๊บ มันบอกอะไร มันบอกว่า จงให้มนุษย์มีชีวิตอยู่เถิด เพื่อให้เขาได้สร้างสรรค์ความดี ตามความคิดความเชื่อของเขา สุดท้ายแล้วเนี่ย เวลาเรากลับไปสู่พระองค์เนี่ย เราก็จะต้องเอาทุกสิ่งทุกอย่าง การงานที่เราทำทั้งหมดไปขึ้นตาชั่งอยู่ดี แล้วมันก็จะชั่งเอง แม้เราจะรู้หลักศาสนาว่าเราทำความผิด ตามหลักศาสนานะ เราไม่ได้บอกทำความผิดตามหลักสิทธิมนุษยชนนะ หรือเราพูดว่า เรามีความผิดตามหลักศาสนา ทุกคนก็มีความผิดตามหลักศาสนา เม้ามอยเพื่อนบ้าน แอบจิ๊กตังค์แม่ นินทาแม่ โมโหพ่อโมโหแม่ ด่าทอลูก ทำผิดกับลูกก็ไม่ยอมรับอีก กูเป็นพ่อแม่มึง ก็มีความผิด ถูกมั้ย ความผิดที่มนุษย์ทำบ่อยสุดเลยคือนินทากาเล พูดกันทุกวัน ต้องตัดลิ้นนะ เอาตรง ๆ นะ ผู้นำศาสนาเนี่ย ตัดลิ้นมึงก่อนเลย

สุดท้ายแล้วเนี่ยเราเอาการงานของเรา ไม่ว่าจะดี จะร้าย จะอะไรยังไงก็ตาม จะประสบความสำเร็จจะอะไรก็ตามเนี่ย ไปกองไว้ที่ตาชั่งรวมกันในวันที่เราจะต้องไปพบกับพระองค์ ซึ่งมันเป็นเอกานุภาพของพระองค์เท่านั้น มันเป็นเอกสิทธิ์ของพระเจ้าเท่านั้น ไม่ – ต้อง – ไป – ยุ่ง ศาสนาคือการเตือนกัน คุณเตือนเราแล้ว เราขอบคุณ เพราะคุณห่วงเรา คุณเตือนแล้ว คุณได้ทำหน้าที่ของคุณแล้ว คุณไม่ต้องกลัว คุณไม่บาปละ จะบาปจะบุญจะอะไรก็ตาม จะให้อภัยจะไม่ให้อภัยอะไรก็ตามเป็นเรื่องของเรากับพระเจ้าเท่านั้นพอ แล้วต่อให้มีคน LGBT แต่งงานกันได้เนี่ย ก็ไม่กระเทือนเดชานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเลย ถ้าคุณเชื่อว่าจะพังเนี่ย แปลว่าคุณเนี่ย derogate อำนาจของพระเจ้านะ

 

สุดท้ายนี้… คุณนาดามีแผนที่จะขับเคลื่อนประเด็นใดต่อไปบ้าง? หรือมีเป้าหมายอะไรในชีวิตข้างหน้าอีกบ้าง?

             ก่อนมาเรียนก็ได้มีโอกาสทดลองไปลงสนามการเมืองเนาะ กับพรรคพรรคนึงชื่อพรรคมหาชน ซี่งตอนนี้ก็มีพระราชกฤษฎีกายุบยกเลิกกิจการพรรคการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว เลือกที่จะเข้ามาทำงานในพรรคนี้เองเพราะว่าพี่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก พี่มีแนวคิดทางการเมืองแบบ … เขาเรียกว่าอะไร … ยืนยันหลักการแต่ว่าไม่ประหัตประหารใคร เพราะฉะนั้นพี่ก็เลยคิดว่าตอนนั้นพรรคมหาชนเนี่ยก็มีจุดยืนในเรื่องของการไม่เอาเผด็จการ … คนอื่นอาจจะไม่พูดแต่พี่พูดก็คือว่า หน้าที่ของผู้แทนราษฎร สส.เนี่ย คือการเป็นผู้รักษาประตู เป็น gatekeeper ที่ผ่านมาเนี่ย ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนน่ะ สส.จะเป็นคนสกรีนว่าเขาจะเปิดประตูหรือเขาจะปิดประตูเว้ย เพราฉะนั้นหน้าที่ของเราเนี่ยเป็น gatekeeper เราต้องเปิดประตูให้กว้างที่สุด ปัญหาความเดือดร้อนมันถึงจะเข้าไปรับการแก้ไขในเชิงนโยบายได้ ถ้าเราเป็นสส.ด้วยแล้วเราเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลด้วย โอกาสในการที่จะแก้ไขปัญหานั้นก็จะเยอะกว่า

แคมเปญเรื่อง LGBT กับสถานศึกษาเนี่ยพี่ก็คือทำมาตั้งแต่เริ่มต้น ที่เคสพี่เองก็ความสำเร็จก็มาหนักหน่วงมาก แล้วพี่ก็ทำผ่านทั้งชั้นสส.แล้วก็ผ่านทั้งในส่วนของสมาคมฟ้าสีรุ้ง กับเครือข่ายของกิจกรรมที่เข้ามามีส่วนร่วมอะไรยังเงี้ยค่ะ ก็ทำอยู่ ก็ยังทำต่อไป … พี่ก็แอบฝันลึก ๆ ว่า เป้าหมายปลายทางตอนที่พี่พรีเซนท์เพื่อจะชิงทุนมาเนี่ย พี่บอกว่า อีกสิบปีข้างหน้าพี่จะไปเป็นผู้พิพากษา intersex trans พี่ไม่ได้บอกว่าพี่จะเป็นคนแรกรึเปล่าเพราะมีคนแรกก่อนกูได้ก็จะเป็นพระคุณกับกู It doesn’t matter who comes first. It matters that we exist.

แต่ว่าถ้ามีโอกาส พี่ก็อยากจะนั่ง – ถ้ามีโอกาสนะ – นั่งเป็นกรรมการสิทธิฯ ค่ะ เป็นกสม. แล้วถ้าเกิดว่ามุ่งมั่นมากก็อาจจะถึงขั้นขอชิงตำแหน่งประธานกรรมการสิทธิฯ เลย แต่พี่ก็ต้องทำงานหนักกว่านี้เลยล่ะ ถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าเป็นกรรมการสิทธิฯ ด้านนี้พี่อาจจะได้ … แล้วก็ในสนามการเมืองถ้ามีโอกาส บอกตรง ๆ พี่อยากไปนั่งเป็นรมต. ไม่อยากเป็นนายกอะไรนะ เพราะพี่รู้สึกว่ามันปวดหัวเกินไป พี่อยากนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. เพราะพี่คิดว่าความมั่นคงของมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่สุด ถ้ามีโอกาสค่ะ พี่ก็จะลองดูว่าพี่จะไปถึงรึเปล่า

 

การคุย – สัมภาษณ์คุณนาดาในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะด้านกฎหมายที่ตัวเราเองอาจจะไม่มีโอกาสได้ศึกษา และยังได้รับรู้ประสบการณ์ของบุคคลที่ทำงานขับเคลื่อนจริง ๆ ที่เห็นผลงานจับต้องได้จริง ๆ อีกด้วย

และเราก็หวังว่าผู้อ่านจะได้ความรู้ดี ๆ กลับไปจากการอ่านบทความนี้เช่นเดียวกันกับเราในฐานะผู้สัมภาษณ์ที่ได้ความรู้มากมายที่สามารถนำไปต่อยอดในการเคลื่อนไหวประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างเช่นเดียวกันกับ “เรื่องเพศ” และ “ความหลากหลายทางเพศ”

สุดท้ายนี้ … เราก็หวังว่าผู้อ่านจะมองเห็นถึงความทับซ้อนกันของอัตลักษณ์ในมิติที่แตกต่างกันออกไป – มองเห็นถึง Intersectionality ที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์แทบทุกคน – และมองเห็นถึงความเชื่อมโยงในประเด็นเรื่องเพศกับการเมืองอย่างที่เราเองก็ได้เปิดตาตัวเองให้กว้างขึ้นจากการคุยกับคุณนาดาเช่นเดียวกัน

 

ผู้เขียน Parkers Argasnoum