เราเคยถูกที่บ้านบังคับให้คบหาดูตัวกับหนุ่มฝรั่ง เรื่องมีอยู่ว่า ตอนนี้เราอายุ 25 ปีพอเราเรียนจบปริญญาแล้วก็เข้ามาทำงานที่กรุงเทพ เราสนุกกับชีวิตและพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งเราตัดสินใจสอบเข้าเรียนปริญญาโทที่มหาลัยแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคณะและสาขาที่เราใฝ่ฝันอยากเรียนมานาน และในเย็นวันหนึ่งที่เรากำลังมีความสุขกับชีวิตของเราอยู่นั้น พ่อก็โทรมาหาบอกเราว่า ป้าของเราซึ่งแต่งงานกับคนเยอรมัน ได้นัดแนะฝรั่งซึ่งเป็นเพื่อนของลุงมาที่ไทย พวกเขามีลูกชายมาด้วยอายุราวๆ ฉัน เขาอยากให้มาเจอกันและเป็นเพื่อนกัน แต่มันคือการดูตัวแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
.
.
เรามีแฟนแล้ว ซึ่งเรากับแฟนมีความสุขกันดีมาหลายปี โดยที่ที่บ้านก็รู้ว่าเราเองมีแฟนด้วยนะ – เราไม่อยากทำแบบนั้น เลยบอกปฏิเสธไป และหาเรื่องไม่กลับบ้าน จนกระทั่งวันสุดท้ายที่พวกเขาอยู่ในไทย เรากำลังนั่งรถกลับบ้าน พ่อมาดักรอเราที่กลางทาง โทรหาเรา บังคับให้เราลงจากรถทัวร์ และบึ่งพาเราเข้าเมืองเพื่อไปเจอครอบครัวฝรั่งนั้นที่บ้านป้า
.
.
ตลอดทางเราตะโกนทะเลาะกันพ่อเสียงดัง และโมโหมากที่พ่อทำแบบนี้ เราว่าพ่อว่า ทำไมพ่อถึงทำเหมือนเราเป็นแค่สิ่งของ ที่จะเอาไปไหนมาไหนก็ได้ เราเหนื่อยกับการทะเลาะและการเดินทางมาก จนในที่สุดเราก็เงียบไปเอง พ่อที่เห็นว่า เราหยุดตะโกนโวยวายแล้ว เลยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ร้อยแปดมาเพื่อโน้มน้าวให้เราเปลี่ยนใจ ซึ่งเหตุผลก็มีดังต่อไปนี้
.
.
“เป็นผู้หญิงน่ะ มันก็ต้องแต่งงาน มีครอบครัว มีคนดูแลสิ อยู่คนเดียวน่ะมันอันตราย แถมฝรั่งก็ดีกว่าคนไทย โอกาสที่หนูจะได้ไปต่างประเทศน่ะมันก็สูงกว่า ชีวิตก็จะได้ดีกว่าใคร ๆ อีกอย่าง ดูตัวนี่มันก็ไม่ได้เสียหาย ผู้ใหญ่เขาคิดกันมาดีแล้ว เขาอาบน้ำร้อนมาก่อน เขารู้ว่าคนแบบไหนถึงจะอยู่กันยืด อยู่กันนาน ป้ากับพ่อเป็นห่วงนะเลยจะหาคนมาให้ ผู้หญิงน่ะ ถ้าเลือกคู่ผิด ชีวิตพังเลยนะ เอ้า จะเริ่มต้นใหม่ก็ยากอีก หนูจะเอาไง คิดเลือกดี ๆ นะ คิดให้ฉลาดเข้าไว้”
.
.
“อย่าโง่สิลูก“
.
.
เราได้แต่ตะโกนก้องในใจ ร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้า เหนื่อยกับ วาทกรรม “ชายเป็นใหญ่ ยังไงผู้หญิงก็มีหน้าที่เป็นเมีย” “ลูกที่ดีต้องเชื่อฟัง” และ “ความอาวุโส” ที่กดทับสิทธิ์เสียงของเราเอาไว้อย่างมาก โดยเฉพาะกับการที่มีคนในครอบครัวที่คิดแบบนี้ เรารู้สึกล้าและละอายใจมาก ๆ เกินกว่าจะอ้างคำใด ๆ มาอธิบายต่อล้อต่อเถียง.
.
.
ต้องบอกก่อนว่า ครอบครัวของปู่ย่านั้น ทำไร่ไถนาไปตามมีตามเกิด ปู่ย่าลำบาก หาเลี้ยงชีวิตและลูกๆ สี่คน โดยพ่อเราเป็นน้องชายคนสุดท้อง ในบรรดาพี่สาวทั้งสามคน และมีแค่ป้าคนโตและพ่อเราเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือ หนึ่งในป้าของเราฮึดสู้ ไปตายเอาดาบหน้าโดยการไปเป็นแม่บ้านที่เยอรมัน ทำความสะอาดเป็นรายชั่วโมง และสุดท้าย ก็ได้พบกับลุงฝรั่งที่เป็นคู่ชีวิตสุดท้ายที่ดี ซึ่งเป็นโชคชะตาที่ดีของป้าและเราก็ยินดีกับป้ามาก
.
.
แต่ว่า ในยุคนี้ เรากำลังพยายามที่จะมีชีวิตที่ดีด้วยตัวเราเองน่ะ
.
.
เราเลยอยากจะเน้นเรื่องความสำคัญของการศึกษาสำหรับผู้หญิง ซึ่งจริงอยู่ที่การศึกษาอาจจะไม่ได้ทำให้เราเป็นคนดีมากขึ้น แต่อย่างน้อยการศึกษาก็ทำให้ผู้หญิงอย่างเรามีทางเลือกในการเลี้ยงชีพและการตัดสินใจในชีวิต
.
.
เราก็เข้าใจคนในครอบครัวของเรา ว่าคนทุกคนไม่ได้มีโอกาสและทางเลือกมากนัก พวกเขาก็คงเป็นห่วงชีวิตในวันข้างหน้าของเราจริง ๆ แต่เพราะกรอบคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ (ที่มองว่าผู้หญิงเรียนไปก็เท่านั้น สุดท้ายหน้าที่หลักคือแต่งงานมีครอบครัว) ที่ครอบพวกเขาเอาไว้นี่เอง ทำให้พวกเขาคิดว่า ไม่ว่ายุคไหน ผู้หญิงก็ต้องแต่งงานกับ “คนที่มีปัญญาดูแลเธอได้” แม้มันจะฝืนความต้องการของเราเองก็ตาม
.
.
เหตุผลข้อนี้เราเลยเริ่มเข้าใจพ่อและป้ามากขึ้น และโกรธพวกเขาน้อยลง เพราะถ้าเราโตมาอย่างพวกเขา “การแต่งงานกับฝรั่ง” อาจจะเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลจริงๆ
.
.
สุดท้ายเรายอมก็ไปเจอครอบครัวนั้น และพูดคุยกันตามมารยาท มันเป็นสามชั่วโมงที่น่าอึดอัดสุดๆ หลังจากนั้นเราก็เขียนอีเมลไปปฏิเสธ ขอโทษพวกเขา พร้อมบอกเล่าเรื่องราวความจริงทั้งหมดว่าพ่อและป้าเตี๊ยมกันมาโดยที่เราไม่ยินยอม ซึ่งหนุ่มฝรั่งและครอบครัวเขาก็ได้แสดงความเข้าใจและขอโทษที่ไม่รู้เรื่องราวที่แท้จริงของเรา
.
.
พ่อไม่พูดกับเราหลายวัน เรารอให้เขาอารมณ์ดีขึ้นและอธิบายเหตุผลไป เราไม่รู้ว่าพ่อเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ยอมฟังเราบ้าง เรื่องราวก็จบลงไปได้ด้วยดี เราเลยได้ข้อสรุปว่า สุดท้ายแล้ว มันไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อชาติ ภาษา หรือวัฒนธรรมเลยว่าใครจะดีกว่าใครยังไง มันอยู่ที่จิตใจคนล้วน ๆ เวลาจะพิสูจน์ความจริงให้ได้เห็นเองว่าใครที่รักเราจริงอย่างที่เราเป็น
.
.
ถ้ามีคนเถียงว่าสิ่งที่เราเจอมันไม่เกี่ยวกับเพศ ฉันว่ามันเกี่ยวกับเพศจริงๆ (อย่างน้อยก็ความคิดที่ว่าผู้หญิงเรียนสูงไปก็เท่านั้น) คุณไม่เคยเจอ คุณก็ไม่มีทางรู้หรอกว่ามันเป็นยังไง ชีวิตมันมั่วซั่วจะตาย จะเกิดอะไรกับชีวิตเรา ไม่มีทางรู้หรอก แถมอะไรในประเทศนี้ก็ช่วยเราไม่ได้เท่าตัวเราเองใครจะอยากโดนคุกคาม ข่มขืน หรือบังคับใจล่ะ แต่เพราะสังคมเราถูกบ่มเพาะให้มองว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งมันไม่ใช่เลย
.
.
ฉันอยากให้สังคมช่วยกันปลูกฝังค่านิยมใหม่ ๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้มาก ๆ และให้การศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพกับเด็ก ๆ อย่างเท่าเทียมกันค่ะ
.
.
เรื่องทางบ้านจาก Cherry Bomb อายุ 25 ปี
—————
เดือนมีนาคม 2020 ทั้งเดือนเป็นเดือนเฉลิมฉลองวันสตรีสากล Thaiconsent ขอเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวการสู้เพื่อสิทธิ, เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ วันละหนึ่งเรื่องค่ะ ☀️ #IWD2020 #GenerationEquality #Imheretoo