เฟมินิสต้า (Feminista) เป็นหนึ่งในองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักในสังคม ทั้งบทความสร้างแรงบันดาลใจ บทความให้ความรู้ในด้านความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงการส่งต่อความรู้ให้เฟมินิสต์รุ่นใหม่ในคอร์ส School of Feminists – วันนี้เราเลยอยากชวนมาสำรวจมุมมองและฟังประสบการณ์ในเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิของคุณปลา ดาราณี ทองศิริ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเฟมินิสต้าที่มีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม
รบกวนช่วยแนะนำตัวนิดนึงได้ไหมคะ ว่าเริ่มมาทำงานตรงนี้เป็นเฟมินิสต้าได้ยังไง
ก่อนที่จะมาทำเฟมินิสต้า เราเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรที่ชื่อว่าอัญจารี ก็ทำประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยเน้นเรื่องของหญิงรักหญิง ซึ่งก็มีโอกาสได้ไปช่วยรณรงค์เรื่องสมรสเท่าเทียมอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้รู้จักเรื่องสิทธิมนุษยชน เห็นว่าเขาทำงานด้านนี้กัน ก็ไปช่วยเขาบ้าง แต่ว่าไม่ได้เข้าไปเต็มตัว
ทีนี้มันก็จะมีช่วงที่ย้ายไปอยู่กับอดีตคู่ชีวิต ใช้ชีวิตร่วมกันแล้วก็มีปัญหาเรื่องของความรุนแรงจากอดีตสามีของคู่ชีวิต เราก็เลยไปขอคำปรึกษากับพี่ที่มูลนิธิ For-sogi สิทธิเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ เขาก็ให้คำปรึกษามาว่าเราควรทำยังไงบ้างในเรื่องการถูกทำร้ายร่างกาย แล้วเราที่เป็นหญิงรักหญิงด้วยเนี่ย จะไปบอกสังคมยังไงว่าเราถูกอดีตสามีของคู่ชีวิตเราทำร้าย มันมีเรื่องของความซับซ้อนอยู่ ทำให้เราเริ่มสนใจว่า เออ มันมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBT มาโดยตลอด แต่ว่าเราเองเพิ่งจะมาเจอกับตัว ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้สนใจ ก็ยังรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมกลุ่ม LGBT ถึงได้ต้องออกมาเรียกร้อง ทำไมต้องมาเดินขบวนนั่นนี่นู่น ก็คิดแบบชนชั้นกลางทั่วไป แต่พอมาเจอปัญหาเองกับตัวเนี่ย กฎหมายไม่คุ้มครอง สังคมไม่ยอมรับ ไปบอกเพื่อนฝูงเขาก็ด่าซ้ำมาเลย เขาก็ไม่ได้ยอมรับที่เราเป็น LGBT
พอได้เรียนรู้การทำงานครั้งแรกจากประสบการณ์ของตัวเอง เลยเริ่มสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ทีนี้พอย้ายจากกรุงเทพฯ ลงไปอยู่กับอดีตคู่ชีวิตที่ปัตตานี ก็เริ่มคิดว่าเราต้องทำงานเรื่องเพศ เพราะว่าที่โน่นมันก็มีความซับซ้อนด้วยความเป็นชุมชนมุสลิม แล้วก็มีน้อง ๆ ที่เป็น LGBT มุสลิมเยอะมาก แต่ว่ามันไม่มีองค์ความรู้ให้เขาเข้าใจว่า เขาถูกกระทำแบบนี้แล้วมันไม่เป็นธรรมยังไง ก็เลยเริ่มต้นทำองค์กรของตัวเองครั้งแรก ชื่อห้องเรียนเพศวิถีค่ะ แล้วพอดีเราเปิดร้านหนังสือกับอดีตคู่ชีวิต ชื่อร้านหนังสือบูคู เราเริ่มจากการจัดคอร์สเล็ก ๆ อธิบายว่าอะไรคือเรื่อง Gender บทบาททางเพศ อะไรคือเรื่อง LGBT ให้คนได้เข้าใจคนที่เป็น LGBT แล้วก็ให้คนที่เป็น LGBT สามารถที่จะปกป้องตัวเองได้ เข้าใจตัวเอง ไม่ลงโทษตัวเอง
เราก็เริ่มทำมาตั้งแต่ประมาณปี 2015 ถ้าจำไม่ผิด ทำอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด ซักประมาณ 6 ปีได้ค่ะ พอไปเรียนต่อ 2 ปี เรียนจบกลับมาประมาณสิงหาคมปีที่แล้ว ก็ตัดสินใจว่าอยากจะย้ายพื้นที่ทำงาน รู้สึกว่าพอแล้วกับงานชุมชน คือที่ผ่านมาทำงานกับคนเยอะมาก ลงไปทำ workshop กับกลุ่มผู้หญิง กลุ่ม LGBT ทำทีมฟุตบอล พอเรียนจบกลับมาก็เลยคุยกับเพื่อนรุ่นพี่คนนึงว่า อยากจะทำด้านสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น ก็เลยมาร่วมกันก่อตั้งเฟมินิสต้าโดยมีความตั้งใจว่าอยากจะทำสื่อออนไลน์ให้ข้อมูลความรู้ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศผ่านเพจ Facebook และเว็บไซต์ มีการสัมภาษณ์เฟมินิสต์ ข่าว ข้อมูลความรู้ หรือว่าการรีวิวหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แล้วก็ Project อื่น ๆ เช่นการทำคอร์ส Feminist ออนไลน์ที่ร่วมงานกับ Thaiconsent แล้วก็องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
นอกจากนี้ เราก็มีโปรเจคที่กำลังแปลหนังสือเฟมินิสต์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย หรือตีพิมพ์งานของคนไทยด้วย แล้วก็จะมีเรื่องของการรวบรวมข้อมูลพวกบทความ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง gender และ sexuality ทำเป็นห้องสมุดออนไลน์ขึ้นมา แต่ละเดือนเราก็จะรวบรวมข่าวหรือบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้คนเข้าไปเปิดหาอ่านได้ว่า เดือนที่ผ่านมามันมีเรื่องอะไรบ้าง เลือกอ่านได้ตามความสนใจ แต่งานหลัก ๆ ก็จะเป็นการเขียนบทความ edit บทความของคนอื่น สัมภาษณ์ แล้วก็เอามาลงใน website ส่วนหนังสือก็อยู่ในระหว่างการแปล การทำคอร์สต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไป collaborate กับใคร
ในช่วงหลัง ๆ นี้เราเริ่มเห็น community ของ incels ก่อตัวมากขึ้น มีกลุ่มก้อนที่ชัดเจนขึ้น คิดว่ายังไงบ้างคะ
จริง ๆ มันก็คงมีมานานแล้ว เราไม่ได้อยากจะไปนิยามว่าคนกลุ่มนี้เขาเลวร้ายมาตั้งแต่ต้น คิดว่ามันคงมีที่มาที่ไปที่เขามารวมตัวกันแบบนี้ แต่ถึงเราจะเข้าใจก็ไม่ได้แปลว่าเราจะยอมรับได้ ก็รู้สึกว่าหลัง ๆ มานี้ ด้วยความที่พื้นที่ออนไลน์มันทำให้คนกล้าออกมาพูดมากขึ้น มีการออกมา call out วิจารณ์ ออกมาบอกว่าคุณทำแบบนี้ไม่ได้ อย่างเช่น มามองนมคนอื่น พูดมุกตลกล้อเลียนการข่มขืน คือมันมีเสียงที่มาจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ในสังคมเยอะขึ้น ทีนี้มันก็ไปรบกวนคนที่เขาเคยทำมา คนที่เขาเคยเล่นมุกตลกล้อเลียน พูดจาเหยียดเพศ มันก็เหมือนกับการที่สองฝ่ายเห็นไม่ตรงกันน่ะแล้วอีกฝ่ายนึงก็มองว่าทำไมเขาจะทำไม่ได้ พอมีฝ่ายหนึ่งไปท้าทายเขา ไปด่าเขา หรือว่าไปบอกว่าอันนี้มันไม่ถูกต้อง แทนที่เขาจะยอมรับ เขาก็เอาสิ่งนี้มาโจมตีกลับว่า พวกเฟมทวิตมันเป็นพวกประสาทแดก ยิ่งแพลตฟอร์มออนไลน์มันเปิดมากเท่าไร การคิดการแสดงออกมันก็จะยิ่งมากขึ้น พอมันมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เลยทำให้คนรู้สึกว่ามีพวก
ซึ่งทีนี้ ถ้าเราเชื่อในแนวคิดแบบไหน เราจะก็ทำแบบนั้น สมมุติว่าเราไปอยู่ในกลุ่ม incels กลุ่มเบียว แล้วทุกคนก็คือผู้ชายเหยียดเพศกันหมด ล้อคนลาวล้อคนอีสาน คนที่เขาเข้ามาเขาก็สนุกอะสนุกกับการได้มีพวก ได้ทำแบบนี้ ได้พูดแบบนี้ พากันไปรุมถล่มเพจต่าง ๆ มันก็เป็นดาบสองคมของแพลตฟอร์มออนไลน์เหมือนกัน คือถ้าใช้ดีมันก็ดี อย่างการเคลื่อนไหวทางการเมือง การออกมา call out คนล่วงละเมิดทางเพศ หรือการออกมาขอความช่วยเหลือ มันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเอามาใช้เพื่อที่จะกดขี่คนอื่นหรือด่ากันไปกันมา เราว่ามันก็เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงลบ
เห็นว่าเฟมินิสต้าเคลื่อนไหวออนไลน์ค่อนข้างเยอะ เจอการโจมตีคุกคามโดยตรงบ้างไหมคะ
เคยเจอในลักษณะแคปบทความเราไปโพสเลยค่ะ อย่างเช่นล่าสุดที่มีประเด็นเรื่องเฟมทวิต ซึ่งเฟมินิสต้าน่าจะเป็นคนเขียนบทความแรก ๆ ก่อนที่ BBC ไทยจะลง กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มเบียวเขาก็เริ่มเอาข้อมูลของน้องผู้หญิงบางคน ที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย เอาไปโพสต์ในลักษณะการคุกคามทางเพศ, Body shaming, Slut shaming ทำให้เราเห็นว่า มันมีความพยายามที่จะทำให้ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นแค่ตัวตลก แค่พวกประสาทแดก เราก็เลยเขียนบทความเรื่องนี้ มีคนเอาบทความนั้นไปโจมตีในกลุ่มเบียวว่าบทความขยะบ้าง อคติบ้าง มีการแคปชื่อคนเขียนไปเหมือนกัน เพราะเราใช้ชื่อจริง พอเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น เพจการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มเอาไปล้อเลียน ที่นี้ตอนที่เราจะจัดเสวนาในคอร์ส Feminist กลุ่มนี้เขาก็เตรียมตัวจะมาถล่มใน Facebook Live ทำให้เราต้องปรึกษากับทีมงาน ยุติการเผยแพร่รายการสด เพื่อปกป้องคนที่มาพูด เพราะหนึ่งในนั้นก็มีน้องที่ถูกโจมตีอยู่ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็คือมีการเข้าไปโพสในเพจ Thaiconsent ที่เขาแชร์งานเสวนานี้ไป กลุ่มนี้เขาก็เข้ามาโจมตีตัวบุคคล มีการแคปรูปเราไปด้วยว่า จัดการคนนี้ด้วยสิ อะไรอย่างงี้ พยายามที่จะล่าแม่มด เราก็จะเจอแบบนี้เป็นพัก ๆ หรือบางทีในเพจเขาก็จะเข้ามาก่อกวนอยู่เรื่อย ๆ บางคนเราก็บล็อกไป
โดยส่วนตัว ยังไม่เจอคุกคาม inbox เข้ามาถึงตัวเพราะว่าในทวิตเตอร์เราไม่ได้ใช้ชื่อจริง และไม่ได้ออกหน้าเหมือนนักกิจกรรมอีกหลายคน เพราะรู้ว่าถ้าออกหน้าไปเนี่ยมันจะต้องโดนแน่ ๆ เราก็ระวังในเรื่องของข้อมูลส่วนตัวพอสมควร แต่ในการเขียนบทความบางครั้งก็ต้องใช้ชื่อจริงเพื่อให้มันโปร่งใส เขาอาจจะยังเข้าไม่ถึงตัวเราเพราะเราเลี่ยงการโพสต์รูปภาพตัวเองลงไปใน Twitter ไม่ได้โพสต์ลงไปตรงนั้นค่ะ แต่ก็ถูกต่อต้านอยู่ในหลาย ๆ ที่เพราะเขาก็มองว่าเฟมินิสต้าเข้าข้างพวกเฟมทวิต จะสถาปนาสถาบันเฟมินิสต์ขึ้นมา มีข้อครหาต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าทำงานเรื่องนี้ก็จะถูกต่อต้าน
คิดว่ากลุ่มแบบนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลงในระยะยาวไหมคะ ถ้าเราอยู่เฉย ๆ
เราคิดว่าถ้ายิ่งให้ท้าย บอกว่าเขาทำได้ เขาไม่มีอำนาจอะไร มันก็จะยิ่งเผยแพร่แนวคิด Misogyny ไปเรื่อย ๆ ตอนที่เรามาทำเฟมินิสต้า เราเห็นแล้วว่ากระแสของความเกลียดชังผู้หญิง ความ sexist ที่แพร่กระจายไปทางออนไลน์มันหนักมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย สิ่งที่เรียนรู้มาจากการไปเรียนต่อที่อินเดีย เราเห็นว่าเขาทำงานออนไลน์กันหนักมาก คือตอนนี้โลกมันเปลี่ยนมาอยู่ออนไลน์เยอะมากนะคะ เด็กรุ่นใหม่ ๆ โตมาเป็น Digital native กันเยอะมาก รูปแบบความรุนแรงก็เปลี่ยนไป มันไม่ใช่แค่เอาอะไรมาตีเราหรือมาข่มขืนเรา ไม่ใช่แค่ physical harm (การทำร้ายทางกาย) แต่ว่ามันเป็น virtual (การทำร้ายในโลกเสมือน) ด้วย
อยากให้ลองคิดว่า เราอยู่ในห้องนึงที่เต็มไปด้วยคำด่าผู้หญิง การล้อเลียน LGBT ด่าคนดำ ด่าคนอีสาน ทุกคนพูดเรื่องนี้กันหมด คนที่เข้าไปในห้องนั้นก็ได้รับสารแบบนี้ ในที่สุดเขาก็จะค่อย ๆ ซึมซับไป เหมือนการที่เราโตมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วถูกบอกว่าผู้หญิงต้องเป็นยังไงผู้ชายต้องเป็นยังไง LGBT เป็นความผิดปกติ เราก็โตมาแบบนั้น ฝังเข้าไปในตัวเราแบบนั้น ในโลกออนไลน์ก็ไม่ต่างกัน ถ้าเราปล่อยให้ข้อความพวกนี้ออกไปโดยที่ไม่มีการบอกว่ามันผิด เขาก็จะรับสารต่อไปเรื่อย ๆ ผู้ชายรุ่นใหม่ ๆ อายุ 13-14 มาเจอข้อความแบบนี้ เหยียดมันเข้าไป พวกลาว พวกอีสาน พวกคนจีน พวกผู้หญิง พวกกะเทย อนาคตจะเป็นอย่างไร
เราก็เลยคิดว่ามันสำคัญมากที่เราจะต้องมี Message จากอีกฝั่งหนึ่งขึ้นไป เพื่อที่จะไปกระจายแล้วก็บอกว่า คุณค่าแบบนี้มันควรจะเป็นคุณค่าที่สังคมยึดถือ ไม่ใช่คุณค่าแบบที่คุณอยากจะเหยียดใครอยากล้อเลียนใครก็ได้ เป็นงานหลักของเฟมินิสต้าด้วยว่าเราจะทำพื้นที่ออนไลน์ให้มีข้อมูล เรื่องเล่า มีเสียงคนที่ถูกกดขี่ให้ได้เยอะ ๆ เพื่อที่จะไป Balance กับเสียงที่มาจากคนเหยียดเพศ เสียงจากคนที่เกลียดชังผู้หญิง
ตอนนี้เห็นว่าเฟมินิสต้ากำลังแปลหนังสืออยู่ คิดว่าพวก Resources การเข้าถึงความรู้เรื่องเฟมินิสต์ในไทยมีค่อนข้างน้อย คิดว่ายังไงบ้างคะ
ที่ตั้งใจตอนแรกเนี่ยเพราะว่าตอนที่เราไปเรียนต่อ เราก็ต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษทั้งหมด พอเรากลับมาไทยแล้วก็รู้สึกว่า เวลาเราจะนึกถึงหนังสือที่พูดเรื่องแนวคิดทฤษฎีเฟมินิสต์สักเล่มนึง มันยังนึกไม่ออก เพราะว่าก่อนเราไปก็ไม่เคยได้อ่านตำราเฟมินิสต์เป็นภาษาไทย คือเราเรียนรู้จากการทำงาน จากการไปคอร์สอบรมในและต่างประเทศ แต่ว่ามันเป็นการอบรมสำหรับคนทำงานแล้ว ไม่มีใครมานั่งให้หนังสือเราแล้วบอกว่าเอาเล่มนี้ไปอ่านสิ พูดเรื่องเฟมินิสต์นะ มีตำราที่เป็นวิชาการแล้วก็เก่ามากแล้ว เรื่องสตรีศึกษาเบื้องต้นของอาจารย์ฉลาดชาย ศูนย์ศึกษามช. เป็นงานวิชาการมาก เป็นตำราเรียนเลย หรืองานของอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ เรื่องอิตถีศาสตร์ เรายังไม่เคยอ่านเลย มันตั้งแต่ปี 2534 แล้วมั้ง อีกเล่มนึงก็ของอาจารย์วารุณี คือมันมีอยู่ในรูปแบบงานวิชาการจัดๆ ถ้าคุณไม่ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยกับศูนย์สตรีศึกษาคุณก็จะไม่เจอของพวกนี้ไง ก็เลยคิดว่ามันมีหนังสือหลายเล่มมาก ๆ ในรูปแบบภาษาอังกฤษที่เราอยากจะแปลให้คนไทยได้อ่าน แล้วก็มีงานที่เป็นภาษาไทย อาจจะเป็นงานวิทยานิพนธ์หรืองานเขียนของคนไทยนี่แหละ งานเขียนที่อาจจะไม่ใช่วิชาการจัดแต่เป็นเสียงคนชายขอบ เสียงคนทำงานทางเพศ เราก็อยากจะเอามาตีพิมพ์ด้วย อยากทำทั้ง 2 ทาง
หนังสือภาษาอังกฤษมีเยอะมากที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เล่มนี้ต้องแปลว่ะ อย่างเล่มที่กำลังแปลอยู่เป็น introduction ของเฟมินิสม์ อ่านง่ายมาก เป็นเหมือน introduction สำหรับเฟมินิสต์ มันพิมพ์มาประมาณ 20 ปีแล้ว แต่เราเพิ่งเคยได้อ่านปี 2017 แล้วเราคิดว่าคนไทยหลายคนก็ยังไม่ได้อ่าน มันค่อนข้างสำคัญที่เราจะเผยแพร่ความรู้เรื่องเฟมินิสต์ให้สังคมไทย คุณจะเลือกอ่านอะไรก็ได้แต่มันควรจะมีให้เลือก แต่ตอนนี้มันไม่มีให้เลือกเลย คนที่จะรู้แนวคิดเฟมินิสต์จริง ๆ ก็ต้องไปอ่านภาษาอังกฤษเท่านั้น
เราคิดว่ามันจำกัดโอกาสในการเข้าถึงความรู้ ทำให้สังคมไทยวนเวียนอยู่กับการเถียงกันว่าเฟมินิสต์คือพวกที่เรียกร้องให้ผู้ชายลุกให้ผู้หญิงนั่ง ซึ่งมันไม่ใช่ไง แต่ว่าคนก็จำอะไรไปแบบนี้ตลอดเลย เป็นปณิธานอันนึงของเฟมินิสต้าว่าจะค่อย ๆ ทำ Resource อะไรพวกนี้ออกมา สมมติคนมาถามเราว่าอ่านหนังสือเล่มไหนเป็นพื้นฐานดี ก็จะแนะนำได้ในภาษาไทย ถ้าเขาไม่เก่งภาษาอังกฤษก็จะให้มีภาษาไทยรับรองเขาได้
รู้สึกไหมคะว่าในวงการวิชาการมักมีการกีดกันเฟมินิสต์ อย่างเราจะไม่ค่อยเห็นนักวิชาการมาพูดเรื่องเฟมินิสต์จริง ๆ จัง ๆ หรือให้ความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป
ปัญหาของนักวิชาการ (ไม่ต้องเฟมินิสต์ก็ได้) มันมีลักษณะของการไม่เชื่อมโยงกับสังคม ในที่นี้คือเราศึกษา เรารู้ทฤษฎี เราอธิบายสังคมได้เป็นฉาก ๆ แต่ว่าเอาเข้าจริงอาจจะไม่ได้เข้าใจประสบการณ์ของคนที่อยู่ในสังคม ในหลาย ๆ ครั้ง เราคิดว่าคนที่ทำงานวิชาการก็ไม่ได้มีความเข้าใจประสบการณ์ของคนที่อยู่ในปัญหานั้นจริง ๆ อย่างนักวิชาการเฟมินิสต์หลาย ๆ คน ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับเฟมินิสต์ที่ไม่ใช่นักวิชาการ เฟมินิสต์ที่เป็นนักวิชาการเขาอาจจะเรียนหนังสือ ศึกษาด้านนี้มาโดยตรง แต่ตัวเองอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองถูกละเมิดหรือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการถูกกดขี่ก็ได้ คือมองมันพ้นไปจากตัวเรา เหมือนเราเรียนมาก็จริงแต่เราพูดถึงคนอื่น มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ชีวิตเรา เราคิดว่านักวิชาการมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ อธิบายคนอื่นเป็นคุ้งเป็นแควเลย แต่ถามว่าเอาตัวเองเป็นส่วนหนึ่งไหม อาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็ทำให้ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ ว่าคนที่เขาอยู่ในประสบการณ์นั้นหรือปัญหานั้นมันลึกขนาดไหน
อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ไม่มีพื้นที่สำหรับนักวิชาการเฟมินิสต์ เพราะว่าในพื้นที่ของนักวิชาการก็เป็นพื้นที่ของผู้ชาย แม้กระทั่งประเด็นเฟมินิสต์เองก็มีนักวิชาการชายจำนวนมากออกมาบอกว่า เฟมินิสต์ไม่ได้สำคัญอะไรกับโลกนี้ ไม่ได้เป็นศาสตร์ที่จำเป็นจะต้องเอามาใช้ในการแก้ปัญหาแล้ว คือนอกจากจะไม่พูดถึงแล้วก็พยายามจะกันมันออกจากบริบทของงานวิชาการด้วย เราเจอค่อนข้างเยอะเพราะว่าเราอยู่ในวงวิชาการมาพอสมควร เรามีเพื่อนที่เป็นนักวิชาการในหลากหลายสาขา เวลาคุยกับเขาเนี่ยแต่ละคนก็จะมองไม่เห็นปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศ แล้วเขาก็จะมองว่าพวกเฟมินิสต์ไม่ใช้เหตุผล พูดแต่เรื่องอารมณ์ เรื่องประสบการณ์ ในวงการวิชาการมีลักษณะการดูถูกดูแคลนประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึกอยู่สูง เป็นที่มาจากวิธีคิดแบบหนึ่ง ว่าเหตุผลเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นความรู้ ส่วนประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ถูกทำให้ด้อยค่ากว่า
เฟมินิสต์เนี่ยเชื่อในเรื่องของประสบการณ์ความรู้สึก เชื่อในเสียงของคนที่ถูกด้อยอำนาจ เพราะฉะนั้นเฟมินิสต์ก็พยายามให้ความสำคัญตรงนี้ ในขณะที่นักวิชาการตะวันตกจำนวนมากที่เป็นผู้ชายไม่เอาตรงนี้เลย อย่างเช่น นักวิชาการชายบางคนบอกว่าเราไม่ต้อง pc เราต้อง non-pc ต้องเหยียดทุกคนได้เท่า ๆ กันแล้วเราจะใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ถามว่าในความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้นไหม พอทุกคนเอา non-pc กันหมดก็มานั่งเหยียดตุ๊ด เหยียดกะเทย เหยียดผู้หญิง นอกจากจะไม่ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นแล้วยังทำให้เราไปกดทับคนอื่นในสังคมอีก เราก็เลยไม่เห็นด้วยกับการที่นักวิชาการหลายคนมายึดถือ non-pc ก็เป็นสิ่งที่ปะทะกันอยู่ระหว่างฝ่ายที่ยึดแต่เหตุผลกับฝ่ายที่บอกว่าอารมณ์มันก็สำคัญนะ เราว่ามันเป็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ในงานวิชาการพอสมควร สิ่งที่เราเห็นก็คือ มันยังเป็นพื้นที่ของผู้ชายและการใช้เหตุผลเท่านั้น
เห็นพูดถึงเรื่องการเข้าถึงข้อมูลเรื่องเฟมินิสต์ เกี่ยวไหมกับการที่เฟมินิสต์จะถูกจำกัดให้เป็นเรื่องของชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ส่วนชนชั้นแรงงานก็มักถูกมองว่าไม่มีความรู้
เฟมินิสต์มันถูกเขียน ถูกจำกัดความโดยนักวิชาการ แต่จริง ๆ แล้วเขาเป็นเฟมินิสต์มาตั้งแต่ตอนที่เขาลุกขึ้นมาสู้กับความไม่เป็นธรรมแล้ว สมมติว่ามีแรงงานข้ามชาติคนนึงที่เป็นผู้หญิงแล้วถูกนายจ้างข่มขืน วันที่เขารู้ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาลุกขึ้นมาฟ้องนายจ้าง ลุกขึ้นมาบอกคนอื่น ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เขาเป็นเฟมินิสต์แล้วนะ แต่ว่าเขาอาจจะไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อนเลย คนอาจจะไม่นับว่าเขาเป็นเฟมินิสต์เพราะว่าเขาไม่รู้จัก คือปัญหาเรื่องการผูกขาดคำนิยามเฟมินิสต์ของนักวิชาการ นี่ก็เป็นปัญหาอันนึงที่เราพยายามจะทลายมันออกมาให้ได้ เพราะว่าอย่างล่าสุด ประเด็นเฟมินิสต์แท้ เฟมินิสต์ปลอม มันก็เหมือนบอกว่า ถ้าคุณไม่เป็นแบบนี้คุณก็เป็นเฟมินิสต์ปลอม ไล่ไปอ่านหนังสือมาก่อน รู้จักเฟมินิสต์ดีแค่ไหนแล้วมาบอกว่าเป็นเฟมินิสต์เขาไม่ทำแบบนี้กัน เราคิดว่ามันเป็นการผูกขาดความรู้นะคะ เฟมินิสต์หลาย ๆ คนที่เขาเป็นโดยตัวเขาก็ถูกด้อยค่าลงไป เราไม่เห็นด้วย
เฟมินิสต์คือคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความเป็นธรรมทางเพศ ทางสังคม ถ้าเขารู้ว่าเขาต้องต่อสู้กับอะไร เขาก็เป็นเฟมินิสต์แล้ว มันเป็นเรื่องของสำนึกด้วยไม่ใช่แค่ Action อย่างเดียว มันคือเรื่องของ Consciousness ด้วย ในทางกลับกันถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นเฟมินิสต์แต่คุณไม่มีสำนึกของการถูกกดขี่แล้วลุกขึ้นสู้ แค่คุณไปเรียนหนังสือแล้วบอกว่าฉันเป็นเฟมินิสต์เพราะฉันรู้ทฤษฎีหลักการทุกอย่าง อันนี้มันมีปัญหา เราจะเห็นเยอะมาก อย่างดีเบทล่าสุดเรื่องเฟมทวิต เราก็เห็นบางคนที่เรียนสูง เป็นนักวิชาการนักเขียน ออกมาบอกว่าพวกเฟมทวิตมันประสาทแดก มันไม่อ่านหนังสือหรอกแค่ฉอดไปวัน ๆ ในขณะที่ตัวเขาเป็น Feminist จริงๆ เรารู้สึกว่าถ้าเฟมินิสต์ยังต้องมานั่งแบ่งแยกว่าฉันเป็นเฟมินิสต์ที่ดี คนอื่นเป็นเฟมินิสต์ที่เลว วิธีคิดแบบนี้มีปัญหา มันไม่ใช่เฟมินิสต์ที่เราอยากจะเป็น
หากมุมมองของชนชั้นกลางตอนนี้มีความเข้าใจโดยรวม ๆ ว่าคนเราต้องเข้าถึงหนังสือและสื่อความรู้ถึงจะเป็นเฟมินิสต์ได้ ปัญหาคือ เราอาจจะมีพื้นฐานความคิดร่วมกัน แต่ว่าเราไม่มี solidarity ชื่อเรียกมันไม่ตรงกัน อย่างนี้จะทำยังไงถึงจะเอามารวมกันได้คะ
สิ่งที่เรากำลังเรียกร้องและต่อสู้อยู่ตอนนี้ก็คือ พยายามที่จะสื่อสารว่าถ้าคุณเห็นว่าเขายังไม่เป็นเฟมินิสต์ในแบบที่คุณต้องการ เขาไม่รู้จักทฤษฎีหลักการ ก็ทำให้มันเกิดสิ่งนั้น เช่น ที่เราทำคอร์สเฟมินิสต์ออนไลน์ เพราะเห็นว่าเฟมทวิตกำลังต่อสู้อยู่กับอะไรบางอย่าง แล้วเขาไม่มีเครื่องมือในการไปโต้แย้งถกเถียง เขาอาจจะเข้าไม่ถึงการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสไปดูว่าเล่มไหนที่จะพูดเรื่องเฟมินิสต์ให้เขาเข้าใจได้ สิ่งที่ทำในคอร์สเฟมินิสต์ก็คือ ทำยังไงให้คนที่มีความรู้เพียงพอที่จะไปอธิบายเรื่องเฟมินิสต์ ทำยังไงให้ความคิดไอเดียที่เขามีอยู่แล้ว ประสบการณ์ชีวิตที่เขามีอยู่แล้ว มันชัดขึ้นด้วยการเอาหลักการอธิบายเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำ ถ้าเฟมินิสต์ที่บอกว่าตัวเองดีงาม รู้ทุกอย่าง แล้วมองว่าอีกฝ่ายนึงเป็นเฟมินิสต์ไม่พอ หรือไม่ดี สิ่งที่คุณต้องทำคือ empower เขา ทำให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ตรงนี้ ไม่ใช่ไปบอกเขาว่ามึงประสาทแดก มึงไม่ต้องมายุ่งกับกู
เรามาจากพื้นฐานของคนที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ จากคนที่ไม่รู้และมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ ได้เข้าอบรมเรื่องความเป็นธรรมทางเพศฟรี เราถูกส่งไปเรียนในช่วงแรก ตั้งแต่อายุประมาณ 25 ที่เรียนรู้ครั้งแรกที่ไทย แล้วก็ได้รับการอบรมเรื่องนี้ เราก็คิดว่า เออ ดีจัง มันมีของพวกนี้ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าไม่มีใครมาบอก ไม่มีใครให้โอกาส ก็จะไม่รู้อยู่อย่างนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเฟมินิสต์ชนชั้นกลางรู้สึกว่าเฟมินิสต์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ คุณก็ต้องสร้างของพวกนี้ คุณก็ต้อง support เขา สนับสนุนเขาให้มาเป็นเฟมินิสต์อย่างที่คุณบอกว่ามันดีงามได้ เป็นเฟมินิสต์ที่รู้หลักการ อธิบายประสบการณ์ของตัวเองแล้วอธิบายข้อโต้แย้งได้ แต่ถ้าคุณไม่มีของพวกนั้นให้เขาเลยแล้วชี้หน้าด่าเขาเป็นเฟมินิสต์ปลอม เป็น Fake fem มันก็จะไม่ต่างอะไรจากคนที่กดขี่เขา ด้วยเรื่องของชนชั้น เรื่องของความรู้ที่มันไม่เท่าเทียมกัน เพราะเฟมินิสต์พยายามที่จะทำให้คนขึ้นมาเท่ากันโดยที่มองทุกด้าน เรื่องของเพศ การศึกษา ชนชั้น สถานะทางสังคมเศรษฐกิจ เราทำยังไงที่จะให้คนที่ด้อยกว่า ไม่ใช่แค่ผู้หญิงนะคะ เพศหลากหลาย ผู้ชายที่มีอำนาจน้อย ขึ้นมามีศักยภาพที่เข้าถึงอะไรได้เท่าเทียมกัน ถ้าคุณมองว่าเขายังขาดอะไร คุณก็ไปเติมตรงนั้น แต่ไม่ใช่การผูกขาดความรู้ว่า เฟมินิสต์ที่ดีคือบรรทัดนี้ แล้วถ้าพวกมึงมาไม่ถึงบรรทัดนี้มึงไม่ใช่เฟมินิสต์ เราคิดว่าแบบนี้มันเป็นวิธีคิดแบบ Top down มาก ๆ เป็นวิธีคิดแบ่งแยกชนชั้นมาก ๆ
สิ่งนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น ตอนที่ black feminist ในอเมริกาเคลื่อนไหว มันก็มีลักษณะแบบนี้ คือมีชนชั้นกลางผิวขาวเฟมินิสต์ที่ผูกขาดว่าผู้หญิงควรจะเรียกร้องเรื่องอะไร ในขณะที่ผู้หญิงผิวดำบอกว่า สิ่งที่คุณเรียกร้องมันกดให้เราไปอยู่อีกชั้นนึง เราก็จะต้องมีแนวทางของเราเพื่อที่เราจะได้เข้าถึงความรู้ สถาปนาความรู้ขึ้นมาได้เท่าเทียมกัน งานที่เราแปลอยู่มันก็พูดเรื่องนี้ คือเป็นเฟมินิสต์ผิวดำที่ถูกบอกว่า ความรู้ของคุณมันไม่ valid มันต้องพวกฉันที่มีการศึกษา ผิวขาว เฟมินิสต์ของฉันจึง valid กว่า ได้รับการเชิดชูกว่า ในขณะที่เฟมินิสต์ผิวดำเรียกร้องแทบตายแต่ก็ไม่เคยได้รับการสนใจ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของชนชั้นอยู่นะ ในเรื่องของการเข้าถึงความรู้
ถ้าเราไม่ควรไปบอกใครว่าเป็นเฟมแท้ เฟมเทียม แล้วอย่าง J.K. Rowling ที่เขาบอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ แต่ตัวเองก็เป็น Homophobe ด้วย เคสแบบนี้เราควรทำยังไงคะ
ถ้าเขานิยามตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ เราก็ไม่มีสิทธิ์จะไปกระชากคำนิยามนั้นออกมานะ แต่ว่าเราก็จะวิจารณ์วิธีคิดของเขาว่ามีปัญหา อย่างเช่น เจเคไม่ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง แล้วสิ่งที่เจเคออกมาพูดนั้นส่งผลยังไงกับผู้หญิงข้ามเพศบ้าง ก็คือโต้แย้งไปว่าสิ่งที่เจเคคิดและและกระทำเนี่ยมันส่งผลยังไงกับคนเหล่านี้ และเราไม่เห็นด้วยยังไง เป้าหมายของเราไม่ใช่ไปบอกว่าใครควรนิยามอะไร ไม่นิยามอะไร อย่างนี้มันไม่ใช่การแก้ปัญหา การไปบอกว่าคนนี้เป็นเฟมแท้เฟมปลอมไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การที่เราตีไปที่ความคิดของเขาว่าเราไม่เห็นด้วย อันนี้มันคือมันคือจุดประสงค์ของเรา แล้วเราจะไม่มาบอกว่าคนนี้ไม่ใช่เฟม คนนี้เป็นเฟมปลอม เราไม่มีหน้าที่ไปตัดสินใคร แต่ละคนมีวิธีคิดของตัวเอง มีคำนิยามของตัวเอง ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับเขา เราจะไม่สนับสนุนเขา แล้วเราจะบอกว่าเราไม่สนับสนุนเขาเพราะอะไร
อย่างบุ๋มปนัดดาหรือกาละแมร์ หรือใครก็แล้วแต่ที่ออกมาบอกว่าสนับสนุนข่มขืนต้องประหาร หรือข่มขืนแล้วฉีดไข่ฝ่อ เราจะไม่ไปบอกเขาว่ามันไม่ใช่เฟมินิสต์ แต่เราจะบอกเขาว่าเราไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเฟมินิสต์กลุ่มนี้ เพราะเราไม่คิดว่าโทษประหารจะช่วยลดอัตราการข่มขืนได้ เราคิดว่ามันต้องไปแก้ที่รากของความคิด วัฒนธรรม และกฎหมาย ที่ปกป้องคุ้มครองเหยื่อ แต่ไม่ใช่การไปตัดวงจรด้วยการฆ่าคน เพราะคุณก็จะฆ่าคนไปเรื่อย ๆ หรือการฉีดไข่ฝ่อก็เหมือนกัน ถ้าคุณเชื่อว่าความรุนแรงจากการข่มขืนคือความรุนแรง การที่ทำให้คน ๆ หนึ่งมีความบกพร่องทางร่างกายก็คือความรุนแรงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเฟมินิสต์ต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ เฟมินิสต์ก็ต้องไม่เอาความรุนแรงนั้นมาใช้ซะเอง เราก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้ จะไม่สนับสนุน แล้วจะโต้แย้งด้วยว่าไม่เห็นด้วยกับบุ๋มปนัดดายังไง แต่จะไม่ไปชี้หน้าบอกเขาว่า มึงไม่ใช่เฟมินิสต์ ถ้าใครจะทำอย่างนั้นก็แล้วแต่ แต่เราจะไม่ทำแบบนั้นนะคะ
การทำงานด้านเฟมินิสต์มาเจอกันได้ยังไงบ้างคะ ใช้ network ให้เป็นประโยชน์ยังไง
สำหรับเรา Network ออนไลน์สำคัญมาก ออฟไลน์ก็สำคัญ แต่ว่ามันมีลักษณะของการที่เราเริ่มหากันเจอมากขึ้น เมื่อก่อนกว่าจะเจอกัน กว่าเฟมินิสต์จะมานั่งคุยกันเรื่องเพศ ต้องไปเจอกันตามงานอบรมหรืองานเสวนาอะไรสักอย่าง มาคุยกัน มาทำงานร่วมกัน องค์กรนั้นองค์กรนี้ แต่ถามว่าองค์กรที่ทำเรื่องเพศจะมีสักกี่องค์กรในไทย เอาที่ทำงานร่วมกันได้ด้วยนะ เพราะว่าบางคนที่ทำงานเรื่องเพศก็อาจจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม บางคนเน้นเรื่องชนเผ่า มันจะไม่ได้มาเชื่อมกัน ต่างคนต่างทำ
ทีนี้ network ออนไลน์มันเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะว่ามันเชื่อมเราถึงกัน แล้วเราไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรก็ได้ เราเป็นคนทำงานศิลปะ เป็นนักเขียน แต่ว่าเรามีแนวคิดแบบเดียวกันก็คือเชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราก็หากันเจอได้บนทวิตเตอร์ ตอนที่เริ่มเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เราเจอคนในหลากหลายสาขามาก แล้วเขาเป็นเฟมินิสต์ ไม่ใช่แค่ในกลุ่มนักกิจกรรม มีนักเขียนนิยาย มีคนทำไอที มีผู้หญิง มีผู้ชาย มี LGBT ก็เลยคิดว่าการเชื่อมต่อ Network ในอินเทอร์เน็ตเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เราถึงต้องคิดต่อว่า พอหากันเจอแล้วเราจะช่วยสนับสนุนกันต่อไปยังไง
ยกตัวอย่างน้องคนนึงในทวิตเตอร์ที่กำลังอยู่ใน domestic violence การที่เขาเล่นทวิตเตอร์บอกใครสักคนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ทำให้เขามีกรุ๊ป support อย่างน้อย ๆ ในแง่ของสภาวะจิตใจ การที่มีใครสักคนฟังเรา คิดว่านี่คือเครือข่ายเฟมินิสต์แล้วนะ หลักสำคัญของเฟมินิสต์คือการฟังประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่ การที่เขามีใครสักคนที่จะทวิตบอกได้ มีคนมา support ให้กำลังใจเขา เราว่านี่มันคือเครือข่ายแล้ว แล้วเครือข่ายนี้อาจจะทำอย่างอื่นได้อีก ก็คือติดต่อองค์กรไปช่วยน้อง แท็กหาองค์กร ทำแท็ก หาสื่อมาทำข่าว หรือแม้กระทั่ง support ทางจิตใจ เพียงแต่ว่าถ้าเราอยากจะให้มันออกมาที่ออฟไลน์ ก็ต้องมาดูว่าเราจะเคลื่อนไหวยังไงได้อีก อย่างเช่น จะตั้งเป็นองค์กรไหม อย่างที่ทำเฟมินิสต้าเราก็ทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์นะ ทางออฟไลน์ก็ไปเสวนาที่งานฉายหนัง ไปบรรยายในมหาลัย มันก็มีความหลากหลายของการเคลื่อนไหวอยู่ ในแง่ของออนไลน์มันมีความกว้าง มีความเป็นไปได้สูงที่มันจะกลายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่และกลายเป็นแคมเปญ แบบแคมเปญทางการเมืองแบบนี้ แบบระบอบประชาธิปไตยที่คนติดแท็กกันจนออกไปชุมนุมกันได้เป็นพัน ๆ คน เราคิดว่า Twitter ในเรื่องเพศก็จะไม่ต่างกัน ในวันนึงอาจจะเห็นคนรุ่นใหม่ออกไปลงถนนแล้วก็บอกว่า เราไม่เอาการถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกแล้ว แก้กฎหมายอะไรอย่างนี้
เราจะทำยังไงได้บ้าง ที่จะทำให้ network ตรงนี้มันแข็งแรงมากขึ้น
ต้องทำให้คนมั่นใจก่อน ว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราทำอะไรได้จริง ๆ ก็คือถ้าเราไม่มีความมั่นใจคนจะไม่กล้าออกมา คนจะไม่กล้าร่วมมือกันทำอะไร คือประชาธิปไตยมันใช้เวลาใช่ไหม กว่าเด็กรุ่นใหม่จะหล่อหลอมกันมา กว่าเราจะพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา มันใช้เวลานะ ใช้เวลาเป็นหลายปีกว่าที่เราจะเห็นว่าในทวิตเตอร์มีเด็กรุ่นใหม่ออกมาติดแท็กอะไรมากมายแล้วก็ออกไปในม็อบได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กระบวนการประชาธิปไตยทำคืออะไร ก็คือการเอาความรู้เข้าไป การปลูกฝังเรื่องของคุณค่าของความเท่าเทียมกัน เอาเรื่องพวกนี้เข้าไปเป็นพื้นฐานให้เราสามารถที่จะเชื่อมั่นได้ว่า สิ่งนี้คือคุณค่าที่ดีงาม เราเห็นตรงกันว่าคุณค่านี้ถูกต้องแล้ว
เราคิดว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยมันกำลังอยู่ในจุดที่กำลังต่อสู้ว่า คุณค่านี้จะต้องเป็นคุณค่าหลักในสังคมไทย แต่ตอนนี้คนยังเห็นไม่ตรงกันเลย บางคนยังมองอยู่เลยว่า พวกที่ออกมาเย้ว ๆ เป็นพวกเห็นแก่ตัว เป็นพวกที่ไม่ทำอะไรในชีวิตจริง แค่เราจะฟอร์มเรื่องคุณค่าร่วมกันยังยากเลย เราเผชิญการต่อต้านของฝ่ายที่ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม หรือคิดว่ามันไม่มีปัญหาอะไร คือพอคิดว่ามันไม่มีปัญหาซะแล้ว มันก็คุยกันลำบาก
ถ้าจะให้ Network นี้ค่อย ๆ ขยับเขยื่อน ค่อย ๆ แข็งแรง มันก็คงเป็นอย่างที่กำลังทำอยู่ คือทำให้คนมีเครื่องมือมากขึ้น มั่นใจที่จะออกมาทำงานเรื่องนี้มากขึ้น จนเขาลงมือทำอะไรสักอย่าง ตอนนี้มันอยู่ใน level ที่เราอาจจะกล้าพูดออกไปในทวิตเตอร์ แต่เราอาจจะไม่กล้าไปยืนอยู่กลางถนน ตัวอย่างที่เห็นชัดมากเลยคือ น้อง ๆ เฟมทวิตที่ออกตัวแล้วไปร่วมม็อบก็ถูกไซเบอร์บูลลี่ ถูกเอารูปไปโพสในทุก ๆ กลุ่ม ถูก body shaming การแต่งตัวโป๊ คือการที่ผู้หญิงคนนึงจะลุกขึ้นต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศมันมีด่านหลายด่านนะ ถ้าเป็นเรื่องประชาธิปไตย พอคุณค่ามันเห็นร่วมกันในระดับนึงคนก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ว่าพอเป็นคนที่ออกไปพูดเรื่อง gender มันมีคนที่พร้อมจะรุมถล่มด้วยความที่คุณเป็นผู้หญิง แต่งตัวโป๊ทำไม ออกมาพูดทำไม เป็นผู้หญิงก็อยู่บ้าน หรือว่าเจอผู้ชายฝ่ายซ้ายบอกว่า จะมาพูดเรื่องเพศทำไมมันเท่าเทียมกันหมดแล้ว อะไรอย่างนี้ เราจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่น มีพลังภายในที่จะไปสู้ แล้วก็มีเครื่องมือด้วยนะ การที่ไล่เขาออกไปลงถนนแล้วเขาถูก harass ถูกเอารูปไปโพสตามกลุ่มต่าง ๆ เราจะช่วยเหลือเขายังไง มันไม่ใช่แค่การผลักเขาออกไปต่อสู้ จะต้องเตรียมความพร้อม มี เครื่องมือให้เขาปกป้องตัวเองด้วย สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็คือการสร้างฐานให้เขาขึ้นไป เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แล้วเราคิดว่ามันจะค่อย ๆ ดีขึ้นในรุ่นต่อ ๆ ไป
ในเรื่องของ gender/ความเท่าเทียมทางเพศ ฝ่ายขวาก็มักไม่สนับสนุนอยู่แล้ว แต่ทำไมในฝ่ายซ้าย วงการประชาธิปไตยของไทยก็ไม่ค่อยยอมรับเช่นกัน
ถ้าความเห็นเรานะ เราไม่คิดว่าฝ่ายขวาจะต่อต้านเรื่อง gender ทุกคน หรือมีความเข้าใจเรื่อง gender น้อยกว่าหรือมากกว่าฝ่ายซ้าย เรื่อง gender นี้มีปัญหาทุกฝ่าย แล้วทำไมเราถึงเห็นฝ่ายซ้ายเด่นชัด เพราะว่าเราคาดหวังว่าฝ่ายซ้ายจะต้องเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมใช่ไหม เพราะว่าสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีนิยมประชาธิปไตย ทุกวันนี้ที่ต่อสู้อยู่กับเรื่องความไม่เท่าเทียมทางสังคม ต่อสู้กับเรื่องการกดขี่ของรัฐที่ทำต่อประชาชน สถาบันกษัตริย์ใช่ไหมคะ ที่เป็นโครงสร้างใหญ่ ๆ แต่พอเราคิดว่าเขาต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมแล้วเขาไม่เข้าใจเรื่อง gender เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ยทำไมมันเป็นแบบนั้น ในขณะที่ฝ่ายขวาน่ะ เราเข้าใจว่าเขาไม่เอาความเท่าเทียมอยู่แล้วแต่ต้น พอเขาไม่เอาความเท่าเทียมทางเพศเลยรู้สึกเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วความไม่เข้าใจเรื่องเพศเกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเท่า ๆ กัน เราไม่คิดว่ามันจะมีใครที่ enlighten เรื่องเพศมากกว่ากันนะคะ แม้ว่าเขาจะเรียกร้องประชาธิปไตย
เราไปดูคอมเม้นของฝ่ายขวาที่ไม่เอาเรื่องประชาธิปไตยเนี่ย ในประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียม ก็เห็นฝ่ายขวาเยอะแยะที่สนับสนุน แล้วเขาไม่ได้มี mindset ของเรื่องคนเท่ากันด้วยนะ เขาแค่มี mindset ว่ารักกันไม่จำกัดเพศ ทำไมเราถึงไม่เปิดกว้างให้เขารักกัน ซึ่งไม่ได้มองเรื่องความเท่าเทียมนะ เราเห็นฝ่ายขวาเข้าใจเรื่องนี้เยอะมาก ในขณะที่ฝ่ายซ้ายซะอีกที่กลับมาบอกว่า มาเรียกร้องสิทธิสมรสทำไม ยังไม่มีประชาธิปไตยเลย
เราคิดว่ามันเป็นมายาคติเหมือนกันที่เราเข้าใจว่าฝ่ายซ้ายจะเข้าใจเรื่อง gender ได้ดีกว่าฝ่ายขวา เราคิดว่าไม่จริง คนทุก ๆ ฝ่ายมีโอกาสที่จะไม่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้พอ ๆ กัน เพราะตราบใดที่คนนั้นได้รับประโยชน์จากระบบเพศ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการกดขี่ทางเพศ หรือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ระบอบชายเป็นใหญ่ มีโอกาสที่จะไม่เข้าใจเรื่องนี้ได้พอ ๆ กันเลยนะคะ แล้วมันอยู่ที่ว่าเขาสมาทานแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่มาแบบไหน ต่อให้ฟากการเมืองเขาจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ แต่ถ้าเขาโตมากับสำนึกทางเพศแบบชายเป็นใหญ่ ก็แสดงออกได้เหมือนกันว่าเหยียดเพศ มันก็เลยเป็นปัญหาที่เรื่องของการหล่อหลอมทางความคิด เป็นเรื่องของการเติบโต ความเข้าใจบางอย่างที่มันลึกมาก เรื่องเพศเนี่ยว่ากันจริง ๆ อาจจะลึกกว่าเรื่องอื่นด้วยซ้ำ
คิดยังไงบ้างคะกับเรื่องที่บอกว่า เราไม่ควรรับกฎหมายที่มาจากเผด็จการ เท่าที่เห็นก็จะมี LGBT บางคนเหมือนกันที่เขาต่อต้านการแก้ป.ป.พ. เขาบอกว่าในนายกเผด็จการ เราไม่ควรรับกฎหมายอะไรเลย
เรื่องนี้มองว่า ถ้าบริบทเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อนที่เกิดรัฐประหารแล้วไม่มีการเลือกตั้ง คสช.อยู่ในอำนาจ แต่งตั้ง สนช. ขึ้นมา แล้วมีช่วงที่เขาจะออกกฎหมายพรบ.คู่ชีวิต LGBT จำนวนมากก็ดีใจ เราไม่เห็นด้วยนะคะ แล้วก็จะไม่ใช้กฎหมายนี้ ถ้ามันออกมา ณ เวลานั้นนะ เรามองว่าเราไม่มีกระบวนการอะไรเลย ณ เวลานั้นที่เราจะมีส่วนร่วม พรบ.คู่ชีวิตอันนั้นประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วมเลยนะ คือมันมีคนไม่กี่คนที่มีส่วนร่วมแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ประชาชนไม่มีโอกาสได้เห็นร่างด้วยซ้ำ อีกอย่างนึง ช่วงเวลานั้นมีเพื่อน ๆ นักกิจกรรม นักสิทธิของเราหลายคน ถูกไล่ล่า ต้องลี้ภัย เพราะฉะนั้นเราไม่เห็นด้วยถ้าเราจะผ่านกฎหมายในช่วงเวลานั้น เราก็เป็นหนึ่งคนที่ประท้วง ประท้วงเพื่อนด้วยกันนี่แหละ ส่วนในตอนนี้ เราผ่านการเลือกตั้งมา เรามี ส.ส.ที่ไปทำหน้าที่ในสภา ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ว่า ป.พ.พ. นี้ผ่านตาคนที่เข้าไปแสดงความเห็น ผ่านการพูดคุยมาโดยตลอด ตัวร่างนี้สุดท้ายก็จะไปสู่การอภิปรายในสภา ว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยยังไง มีอะไรที่ต้องแก้ไข คือมีกระบวนการเกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่มากก็น้อย
แล้วไม่ใช่แค่กฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียวที่เข้าสภา ที่มีความพยายามที่จะเข้าสภานะ ยังมีพรบ.เหล้าสุราก้าวหน้า มี พรบ.เกณฑ์ทหาร มี พรบ.ซ้อมทรมาน มี พรบ.ที่พยายามจะให้แก้กฎหมายทำแท้งยกเลิกการเอาผิดผู้หญิง ทุกคนใช้กระบวนการทางกฎหมายหมด แต่พอมันเป็น LGBT ปุ๊บเกิดอะไรขึ้น ทำไมพรบ.ตัวอื่น ๆ ที่เสนอเข้าสภาในช่วงเวลานี้ไม่มีการต่อต้าน นอกจากว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องการเมืองที่คุณเองก็ไม่ได้สนับสนุน LGBT อยู่แล้ว พอ LGBT จะมาได้กฎหมายอะไรในช่วงนี้ก็เลยกลายเป็นความไม่พอใจ ว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงได้ก่อน ขณะที่คนกลุ่มตัวเองยังเรียกร้องไม่สำเร็จเลย เป็นเรื่องของการมองไม่เห็นว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา เขาก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบภายใต้รัฐบาลนี้เหมือนกัน และในฐานะ LGBT เขาก็อยากจะได้กฎหมายคุ้มครองชีวิตเขาเหมือนกัน
เราคิดว่าเวลาพูดเรื่อง LGBT กับกฎหมายสมรสเนี่ยมันมีเรื่องของชนชั้นเข้ามาด้วย เช่น LGBT ที่เป็นชนชั้นกลางแล้วไม่อยากได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมและไม่เอาประชาธิปไตย ก็จะเฉย ๆ กับมัน แต่ถ้า LGBT ชนชั้นกลาง สนับสนุนประชาธิปไตยแต่ไม่ได้อยากได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเพราะไม่มีผลอะไรกับตัวเอง ก็จะบอกว่า พวกมึงอย่ามาเรียกร้องสิทธิส่วนตัว ไปเรียกร้องประชาธิปไตยก่อน เพราะเขาจะไม่ต้องใช้กฎหมายนี้ไง เขาอยู่ได้สบายดี เขาไม่เคยต้องถูกไล่ออกจากบ้าน แต่ก็จะมี LGBT จำนวนหนึ่งที่กำลังมีความสัมพันธ์ กำลังจะถูกนั่นถูกนี่ มีปัญหาเฉพาะหน้า เขาต้องการกฎหมายนี้ ก็จะมีแยกไปอีกว่าต้องการกฎหมายนี้แบบที่รัฐบาลไหนก็ได้เอาให้เขา หรือต้องการกฎหมายนี้นะ แต่ว่าอยากให้มันมีความเป็นประชาธิปไตยนิดนึง เพราะฉะนั้นถ้าออกมาจากรัฐบาลคสช. ฉันไม่เอา แต่ถ้าออกมาจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ฉันเอา เช่นถ้าป.ป.พ.ของพรรคก้าวไกลผ่าน มาจากส.ส. ฝ่ายค้าน ประชาชนได้เข้าไปลงความเห็น เขาเอา แต่ว่าถ้าเป็นพรบคู่ชีวิตที่มาจากกระทรวงยุติธรรมแล้วฝ่ายรัฐบาลยกมือสนับสนุน เขาไม่เอา คือมันมีความหลากหลายอยู่ในกลุ่ม LGBT
เราคิดว่าคนที่ออกมาพูดว่า เรียกร้องสิทธิ LGBT ทำไม ทำไมไม่เอาประชาธิปไตยก่อน อันนี้ก็มีปัญหา เพราะเขาก็จะมองไม่เห็นกลุ่ม LGBT ที่ต้องการการแก้ไขปัญหาจริง ๆ แล้วกระบวนการที่มีส่วนร่วมกับพรรคก้าวไกลมันก็โอเคในระดับนึง เพราะไม่อย่างนั้นถ้าเราบอกว่าต้องรอให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบก่อน ฝ่ายค้านไม่ต้องทำหน้าที่เสนอกฎหมายอะไรเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นแก้พรก.ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นซ้อมทรมาน คุณก็ห้ามเสนออะไรเลยนะ ถ้าจะด่า LGBT เรื่องนี้ก็ด่าให้ครบทุกกลุ่ม ไม่งั้นมันจะกลายเป็นเลือกปฏิบัติ คุณก็มานั่งด่า LGBT กลุ่มเดียวแต่คุณไม่ไปด่าพวกซ้อมทรมาน คุณไม่ไปด่าพวกสุราก้าวหน้า ทำไมอยากจะกินเหล้าเสรีตอนนี้ล่ะ รัฐบาลยังเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลย เราก็พูดอย่างนี้ได้ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องกินสุราช่วงนี้ ไม่ต้องกินเหล้าช่วงนี้เพราะว่ารอให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบก่อน
เห็นพี่ปลาได้มีโอกาสเข้าไปเรียนที่อินเดียอยู่หลายปี เรื่องเพศกับการเมืองในอินเดียมีปัญหาเหมือนไทยไหมคะ เพราะในอินเดียก็มีปัญหาเรื่องเพศอยู่เยอะเหมือนกัน
เรื่องเพศมันมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่แล้วค่ะ ที่ไหนก็ตามที่ระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย หรือ มีลักษณะของการอิงกับศาสนา จารีต ประเพณี มันก็จะส่งผลต่อเรื่องเพศหมด ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ถ้าออกกฎหมายพรบ.คู่ชีวิต สมรมเท่าเทียมมาใช้ ฉบับไหนก็แล้วแต่ที่ให้ LGBT สมรสกันได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือคนมุสลิมไม่ยอมรับ ก็จะเห็นว่าออกมาต่อต้านกัน เพราะมีการเอาศาสนามาใช้ มันก็ส่งผลต่อเรื่องเพศ การเมืองของอินเดียก็เหมือนกัน มันมีลักษณะความเป็นศาสนาฮินดูสูง เวลาที่การเมืองมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ไปมีผลกับนโยบายรัฐด้วยนะคะ อย่างเช่นค่านิยมเรื่องของลูกชายก็มาจากศาสนาด้วยเหมือนกัน
อย่างของไทยเราก็มีเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ลูกชายเนี่ยดี แต่ถ้าเป็นลูกผู้หญิงปุ๊บมันจะมีปัญหา สังคมอินเดียพอมีลูกชายปุ๊บเนี่ย ฉลองกัน 7 วัน 7 คืนเลยนะ เพราะเขาเชื่อว่าลูกชายมันมีความหมาย สืบต่อตระกูล สืบต่อศาสนาได้ด้วย รอรับสินสอดผู้หญิงตอนแต่งงาน คือมัน proud มาก เพราะฉะนั้นพอรัฐออกนโยบายควบคุมประชากรมาก็มีการทำแท้งเด็กผู้หญิง ที่เรียกว่า selected abortion ก็คือเลือกที่จะทำแท้งผู้หญิงตั้งแต่ในท้อง การอนุญาตให้ทำแท้งของรัฐบาลอินเดียกลายเป็นดาบสองคม คือแทนที่มันจะช่วยผู้หญิงในการตัดสินใจทำแท้งถ้าไม่พร้อม มันกลับตาลปัตร ก็คือในครอบครัวของสามี พอรู้ว่าสะใภ้มีเด็กผู้หญิงอยู่ในครรภ์ เขาก็มากดดันลูกชายให้บอกให้ลูกสะใภ้ทำแท้งเพราะไม่เอาเด็กผู้หญิง ลูกสะใภ้ก็ต้องไปทำแท้งโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้อยากทำ แต่ถ้าปล่อยให้เด็กผู้หญิงออกมาเขาก็จะถูกกดขี่ ถูกรังเกียจ ลูกเขาก็จะลำบาก
มันเลยกลายเป็นว่าการเมือง ศาสนา มันทำให้ทุกอย่างรวมกันแล้วก็มากระทบกับเรื่องเพศ เรื่องค่านิยมในการควบคุมประชากรส่งผลกับการสนับสนุนค่านิยมลูกผู้ชาย และส่งผลให้เกิดการทำแท้งเด็กผู้หญิง มันเชื่อมโยงกันเป็นระบบ เป็นเรื่องของศาสนาด้วย พอมีลูกผู้หญิงก็ต้องจ่ายสินสอด มันทับซ้อนกันหลายเรื่องมาก ตราบใดที่การเมืองของประเทศนั้น ๆ ไม่เป็นประชาธิปไตย มองไม่เห็นความเท่าเทียมทางเพศ มองไม่เห็นคนเท่ากัน มีโอกาสสูงที่ผู้หญิงหรือเพศหลากหลายจะถูกกดขี่จากระบบการเมือง จากนโยบายกฎหมายของรัฐ
พี่ปลาก็ทำงานเรื่องนี้มานานแล้วตั้งแต่อนที่ยังไม่ได้มีกลุ่มเฟมินิสต์ให้เห็นเยอะขนาดนี้ มีช่วงที่ท้อ เสียสุขภาพจิตบ้างหรือเปล่ากับกระแสแอนตี้ที่มีมาเรื่อย ๆ มีวิธีรักษาสุขภาพจิตยังไง
ตั้งแต่ทำงานมาก็เจอต่อต้านมาโดยตลอดนะ แต่ครั้งที่หนักที่สุดก็คือตอนที่อยู่ต่างจังหวัดแล้วเราออกรายการสารคดีไทยพีบีเอส พูดถึงการทำงานของเรา เราก็เจอการต่อต้านจากคนมุสลิมจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม ชาวบ้านทั่วไป เจอคุกคามออนไลน์ เจอขู่ฆ่า นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราเกิดภาวะ trauma มีปัญหาทางจิตใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เกิดภาวะความเครียด ความกลัว กลัวจะถูกทำร้าย ต้องรับมือกับการถูกคุกคามออนไลน์ที่เอารูปเราไปโพสต์ด่าอะไรต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถที่จะกลับไปทำงานในพื้นที่ได้อย่างสบายใจ รู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวมันไม่มีความสบายใจอีกต่อไป เพราะเราไม่รู้ว่าออกไปข้างนอกเราจะเจอใครบ้าง
ช่วงนั้นเป็นคนรู้จักเราทั้งหมด นักกิจกรรมทางการเมืองมุสลิมที่เราเคยสนับสนุน ที่เคยร่วมงาน ที่เคยเปิดร้านให้เขามาจัดงาน พอเป็นเรื่องเพศปุ๊บเขาก็เปลี่ยนเป็นศัตรูเราไปเลย เขามองว่าเราเป็นศัตรูเขาไปเลย มีทั้งเอาไปด่า มีทั้งด่าลับหลัง มันเลยทำให้เราผิดหวัง รู้สึกว่าเศร้าจัง อะไรอย่างนี้ คือเพื่อนเราทั้งนั้นเลยที่แบบรุมด่าเรา ทำให้ราเกิดอาการ ptsd อาการ trauma หวาดระแวง จนเราต้องออกจากพื้นที่ไปช่วงนั้น ไปอยู่ที่อื่น เราต้องไปเรียนต่อเพราะรู้สึกว่าทำงานต่อที่นั้นไม่ได้แล้ว จนทุกวันนี้ก็ยังมีความรู้สึกเสียใจ โกรธที่เราถูกกระทำแบบนั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงด้วยกันเอง นักวิชาการมุสลิมชื่อดังที่เคยเขียนอะไรเลวร้ายเอาไว้กับเรา เขาไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย มาเขียนโจมตีเราว่าเราทำลายศาสนาอิสลาม เราทำให้เด็กกลายเป็น LGBT ในขณะที่เราต้องเก็บหลักฐาน คุยกับนักสิทธิ ติดต่อกับองค์กรสิทธิ หาความคุ้มครอง เพราะมันเป็นเรื่องถึงชีวิต ถูกขู่ฆ่า เรารู้สึกว่าเราต่อสู้อยู่ลำพังมาก ๆ เพราะว่าเรื่องเพศมันเป็นเรื่องที่นักกิจกรรมทางการเมืองแทบจะไม่ support เลย
ณ เวลานี้กระแสต่อต้านเฟมินิสต์ก็วนกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้ง คือตอนนี้เปลี่ยนจากนักกิจกรรมทางการเมืองมุสลิมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองประชาธิปไตยที่เขาไม่เข้าใจเรื่อง gender เลย พอเราเอาไปพูดกับเพื่อน ไปโต้แย้งเรื่องที่เขาด่าเฟมทวิต คนเหล่านี้ก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการมองเรื่อง gender กลับมาว่าเรา sensitive เกินไป เราเรื่องเยอะ เราไปเข้าข้างฝ่ายที่ประสาทแดกทำไม ทำไมไม่เอาตัวเองออกมา มันเป็นความรู้สึกแบบสะเทือนใจ ความรู้สึกเสียใจว่า คุณต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางสังคม เรื่องประชาธิปไตยคนเท่ากันแต่คุณไม่เอาเรื่องเพศ
มีอยู่ช่วงนึงที่เราโต้แย้งกับเพื่อนนักเขียนนักวิชาการหลายคนมากที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แม้กระทั่งเพื่อนนักสิทธิด้วยกันเอง เขาไม่เอาเรื่อง gender เลย ไปรุมด่าเฟมทวิตกันในสเตตัสใครสักคนนึง เป็นเพื่อนของเพื่อนกันในวงการนักเขียนนี่แหละ เราก็ไปโต้แย้งว่าเฟมทวิตมันมีที่มายังไง แล้วทำไมเราไม่ควรไปด่าเขาแบบนั้น เขาก็มารุมเถียงกัน แล้วมีเราคนเดียวเถียงในนั้น ในขณะที่เพื่อนเขาทั้งหมด ฝ่ายประชาธิปไตยก็ด่า เรารู้สึกผิดหวังมากว่า เออ ทำไมการที่จะออกมาพูดเรื่องเพศมันยากเย็นซะจริง ๆ
เราเคยอยากฆ่าตัวตายเลยนะ อยากเขียนจดหมาย call out นักวิชาการผู้ชายที่เขียนเรื่อง pedo callout นักสิทธิ คือเขียนถึงทุกคนที่เคยด่าเฟมทวิต อยากจะเขียนถึงคนเหล่านี้ลงใน Facebook แล้วก็ฆ่าตัวตาย เพื่อทำให้เขาเห็นว่า สิ่งที่คุณทำกับพวกเรามันส่งผลถึงขนาดนี้ ไม่งั้นเขาก็จะไม่เชื่อว่าเรื่องเพศมันทำไมนักหนา ทำไมต้องออกมาพูด มันไม่สำคัญ ประชาธิปไตยสำคัญกว่า เพราะเรารู้สึกว่ามันต้องทำให้ถึงขนาดนั้นใช่ไหมคุณถึงจะฟังเรา แต่พอได้สติ มีคนมาให้กำลังใจข้างหลังหลายคน เพื่อนๆเรา แม้กระทั่งคนที่ไม่รู้จัก แม้กระทั่งคนที่อยู่ในวงการวรรณกรรม วิชาการ ที่ไม่เคยคุยกับเขาตรง ๆ มาก่อน เขาก็มาหลังไมค์ บอกว่าเขาเข้าใจสิ่งที่เราทำ เขาอยากจะเล่าประสบการณ์ว่าเขาก็โดนมาเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าแทนที่เราจะทำแบบนั้นเราก็มาทำงานกับคนรุ่นใหม่ดีกว่า เรามาทำให้มันมีพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เราทำให้เฟมทวิตที่ถูกด่าว่าประสาทแดกได้มีเครื่องมือดีกว่า
เราถึงได้ฮึดตัวเองขึ้นมา ว่าโอเค เราจะไม่คุยกับคนเหล่านี้ละ คนที่เขาต่อต้านเราก็จะพยายามไม่ไปคุย ต่อให้เขาเป็นเพื่อนเราก็คงต้องตัดใจ ปล่อยไป เราก็หันมาทำงานกับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ คนที่พร้อมจะ support เรา พร้อมจะฟังเรา ก็เลยผ่านมาได้ สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือ group support จากคนที่เข้าใจเรา ถ้าเขามาคุยกับเรา ให้กำลังใจเรา เราก็พร้อมที่จะไปต่อ แต่ถ้ามีแต่คนที่ต่อต้านเราแล้วเราไปอยู่ในวงนั้น เราก็รู้สึกดาวน์ เป็นความผิดหวังเสียใจว่าทำไมเขาถึงมองปัญหาเรื่องนี้ว่ามันงี่เง่าไร้สาระ พอมีคนให้กำลังใจก็มีความหวัง ได้ทำคอร์สเฟมินิสต์ กับคนรุ่นใหม่ ๆ ก็มีความหวังมากขึ้น ส่วนคนรุ่นเก่า ถ้าเขาจะไม่เข้าใจก็ต้องปล่อยเขาไป เหมือนเรื่องประชาธิปไตย คนรุ่นพ่อแม่เราอาจจะไม่เข้าใจแล้วไม่ว่าจะพูดยังไง แต่เรามีคนรุ่นใหม่ที่ต้องทำงานด้วย ก็ช่วยเราขึ้นมาได้ ก็หลาย ๆ อย่างนะ เราก็ทำอย่างอื่นด้วย พักบ้าง ไปเล่นกีต้าร์ ไปเที่ยว มันก็ช่วยได้ แต่ก็จะมีมาเป็นช่วง ๆ อยู่แล้วในการทำงานเรื่องที่ท้าทายความคิดคน พวกภาวะดิ่ง ดาวน์ อะไรอย่างนี้
อยากฝากอะไรไว้ท้ายบทความไหมคะ
ถ้าใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้วไม่เห็นด้วยกับคนที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ เราอยากให้เขาฟังมากขึ้นว่า คนที่ออกมาเขาพูดอะไร เจออะไรมาบ้าง อยากให้ทำความเข้าใจ ฟังมากขึ้นก่อนที่จะด่าว่าพวกนี้มันประสาทแดก ฟังว่าทำไมเขาถึงต้องออกมาพูดเรื่องพวกนี้ ทำไมคนต้องออกมาพูด men are trash ทำไมคนต้องออกมาพูดว่าผู้ชายเป็นเครื่องจักรข่มขืน ฟังลึก ๆ ว่าผู้หญิงเหล่านี้เจออะไรมาบ้าง แล้วทำไมถึงต้องพูดแบบนี้
แทนที่จะเห็นคำถามว่ามึงพูดแบบนี้ทำไม ทำไมถึงมาพูดแบบนี้ ทำไมไม่พูดแบบนี้ล่ะ พูดดี ๆ หน่อย สุภาพหน่อย เราอยากเห็นคนถามว่า อยากให้ช่วยอะไร การที่เธอเจ็บปวดแบบนี้เราจะช่วยให้อะไรดีขึ้นได้บ้าง อยากเห็นคำถามแบบนี้ในสังคมเยอะ ๆ ค่ะ
บทความโดย นภหทัย สิทธิฤทธิ์
ภาพประกอบโดย พัชราคำ นพเคราะห์