เส้นทางสู่การช่วยเหลือ กรณีเหยื่อความรุนแรงในประเทศไทย

‘เมื่อปัญหาของเหยื่อถูกมองว่าไม่สำคัญสำหรับทุกคน ท้ายที่สุดความเจ็บปวดของเหยื่อก็จะถูกลืมและถูกมองเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพียงจากสายตาคนภายนอก แต่ในความรู้สึกของเหยื่อเองด้วย’

 

         ‘ความรุนแรง’ เป็นเรื่องที่คนในสังคมเข้าใจขีดจำกัดของมันแตกต่างกันออกไป ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งนั้นอาจมีอีกหลายคนที่มองมันเป็นเพียงเรื่องธรรมดา มีเหยื่อจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ถูกกระทำแต่ไม่รู้ตัวเพียงเพราะไม่เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเผชิญว่าเป็นปัญหา สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความเข้าใจและประสบการณ์ และอีกส่วนมาจากการที่สังคมเพิกเฉยปัญหาของเหยื่อเพียงเพราะความเคยชินจากการประกอบสร้างวาทะกรรมหล่อหลอมว่า ‘เป็นเรื่องปกติ…ใคร ๆ ก็เคยโดน’

‘ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เลือดตกยางออกตรงไหน จะเรียกว่าความรุนแรงได้อย่างไร…ฉันสบายดี’

         คนในสังคมไทยจำนวนมากนั้นยังเข้าใจว่าผลของ ‘ความรุนแรง’ จำเป็นต้องเห็นเลือด รอยฟกช้ำ รอยแผล หรือความเสียหายที่เป็นรูปธรรม แต่ผู้คนมักมองข้ามบาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น บาดแผลที่ถูกหลงลืมซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้และส่งผลกระทบต่อเหยื่อไม่แพ้ความเจ็บปวดทางร่างกาย

         องค์กรอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) นิยามความหมายของการใช้ความรุนแรงไว้ว่า “การกระทำที่มีเจตนาแสดงออกมาทางร่างกาย การขู่บังคับ การแสดงอำนาจ ต่อตนเอง บุคคลอื่น กลุ่มบุคคล หรือชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต ความสะเทือนใจ ความสูญเสีย หรือการถูกทอดทิ้ง” โดยความรุนแรงทางเพศเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เจตนาของผู้กระทำนั้นมีจุดประสงค์เฉพาะในการคุกคามทางเพศบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าการคุกคามทางเพศนั้นจะสร้างผลเป็นความบาดเจ็บ การเสียชีวิต ความสะเทือนใจ ความสูญเสีย หรือการถูกทอดทิ้งก็ตาม ล้วนถือเป็น ‘ความรุนแรงทางเพศ’ ทั้งสิ้น

         ดังนั้น การสร้างความเข้าใจในปัญหาของความรุนแรงและกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันกระจายความรู้ต่อ เพื่อให้ทุกคนทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับความรุนแรงทางเพศนั้นรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะป้องกันตัว และมีเสรีภาพที่จะต่อสู้กลับต่อผู้กระทำ

 

กระบวนการแจ้งความและเข้าสู่กฎหมาย

         ปกติแล้วผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศนั้นสามารถเอาผิดผู้กระทำได้ตามกฎหมาย โดยโทษที่ผู้กระทำจะได้รับเมื่อมีการนำเรื่องไปดำเนินคดีนั้นขึ้นอยู่กับว่าการกระทำเกิดขึ้นในกรณีใด

         หากถูกกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ สามารถแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสองที่ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวรรคสาม ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

         หรือเมื่อความรุนแรงทางเพศนั้นร้ายแรงไปถึงการ ‘กระทำชำเรา’ หรือ ‘ข่มขืน’ เหยื่อสามารถเอาผิดผู้กระทำได้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

         การข่มขืน คือ การบังคับ การขู่เข็ญหรือขืนใจ ส่วนคำว่า ‘กระทำชำเรา’ ในทางกฎหมายที่ประกาศแก้ไขตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ให้ความหมายว่า ‘กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น’ ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้ว การข่มขืนกระทำชำเราจึงหมายถึง ‘การบังคับให้ถูกกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น’ นอกจากนี้ตามที่ประกาศใหม่ฉบับที่ 27 ยังเพิ่มโทษกรณีการข่มขืนที่อ้างว่าไม่ได้สอดใส่อวัยวะเพศล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายของเหยื่อ แต่เพียงแค่ ‘แหย่’ ด้วยอวัยวะอื่นหรือสิ่งของใด ๆ ก็ตามเข้าไปในทวารหนัก ช่องปาก หรืออวัยวะเพศของเหยื่อก็ถือว่าเป็นความผิดข้อหากระทำชำเราได้เช่นกัน

         ความผิดฐานกระทำชำเราฉบับแก้ไข โทษของผู้กระทำจะมากหรือน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับคู่กรณีว่าเป็นใคร ไม่ว่าเหยื่อจะเป็นผู้เยาว์ คู่สมรส ญาติพี่น้องร่วมสายเลือด ลูกน้องใต้บังคับบัญชา คนป่วย บุคคลทุพลภาพ ประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งกับศพก็ล้วนถือเป็นการข่มขืนได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเหยื่อเป็นเด็ก ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โทษจะหนักเป็นพิเศษ และหนักขึ้นตามอายุที่น้อยลงของเหยื่อ โดยโทษที่หนักสุดอาจถึงขั้นประหารชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ยังพิจารณาโทษจากขั้นตอนในการก่อเหตุร่วมด้วยว่ามีการข่มขู่ด้วยอาวุธหรือเป็นการรุมโทรมหรือไม่ หากเข้าข่าย โทษที่ได้รับก็จะมากกว่าการข่มขืนแบบปกติ รวมถึงเพิ่มโทษกรณี ‘กระทำอนาจารเด็ก’ ขึ้นมา โดยกำหนดว่าถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีโดนกระทำอนาจาร ซึ่งมีขอบเขตว่าเป็น ‘การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ ซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย’ ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ ก็จะโดนดำเนินคดีทั้งสิ้น แม้การกระทำจะไม่ได้เข้าข่ายการข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม

         โดยอีกข้อสำคัญซึ่งถูกแก้ไขในมาตรา 280 ฉบับที่ 27 ในกรณีหากเหยื่อถูกข่มขืนกระทำชำเราจนถึงขั้นเสียชีวิต ผู้กระทำจะได้รับโทษสูงสุดคือประหารชีวิต และโทษต่ำสุดคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น

         ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการคุ้มครองด้วยกฎหมายของเหยื่อที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราให้เสียหายทางด้านร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน แต่นอกจากการข่มขืนทางกายแล้ว เหยื่อความรุนแรงทางเพศยังได้รับการข่มขืนทางใจได้อีกด้วย ซึ่งกรณีที่จะพูดถึงนี้จะกล่าวถึงความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นได้ผ่านทางโลกออนไลน์ อย่างเช่น กรณีที่พบได้บ่อยและมีเหยื่อได้รับความเสียหายเยอะพอสมควรอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ที่มีไว้เพื่อคุ้มครองการเผยแพร่สื่อลามก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการค้าขายหรือช่วยให้เกิดการแพร่หลายโดยไม่หวังกำไรก็ตาม ถ้าเกิดกรณีการถูกแอบถ่ายหรือแบล็คเมล์ขึ้นแล้วนำไปเผยแพร่ส่งต่อในโลกออนไลน์ ตัวกฎหมายข้อนี้จะช่วยคุ้มครองอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กหรือผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

         ซึ่งถ้าหากได้รับความเสียหายจากการถูกคุกคามทางเพศในกรณีใดกรณีหนึ่งข้างต้น ผู้เสียหายสามารถรวบรวมหลักฐานหรือพยานพบเห็นในเหตุการณ์เพื่อเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตัวเองได้เลยทันที จากนั้นทำการบันทึกลงใน ‘รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี’ โดยต้องระบุอย่างชัดเจนว่าประสงค์ที่จะ ‘ดำเนินคดีทางกฎหมาย’ ต่อผู้กระทำผิด เพื่อให้เกิดการสอบสวนขึ้นในขั้นตอนต่อ ๆ ไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

 

 

การเข้าช่วยเหลือและการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ตกเป็นเหยื่อ

         เมื่อเผชิญความรุนแรงทางเพศ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือการหาทางรอดจากเหตุการณ์อันตรายจนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยในระดับหนึ่งก่อน โดยทำอย่างไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยง การป้องกันตัว หรือจะเป็นการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐหรือองค์กรช่วยเหลืออิสระ

         หน่วยงานภายใต้กำกับการดูแลของรัฐบาลอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับผู้ประสบปัญหาสังคมทุกประเภท บริการทั่วประเทศไทยและผู้ประสบปัญหาสังคมชาวไทยในต่างประเทศ โดยเมื่อรับเรื่องแล้วจะช่วยประสานงานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังมีหน้าที่ช่วยเฝ้าระวังปัญหาสังคมผ่านสื่อ พัฒนาองค์ความรู้ให้ประชาชน รวมทั้งให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์อย่างมีมาตรฐานโดยนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา

         และความรุนแรงทางเพศเองก็เป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมซึ่งสามารถร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน ซึ่งพม.มีหน่วยงานสำหรับรับเรื่องร้องเรียนที่เรียกกันว่า ‘ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300’  โดยนอกจากรับเรื่องแล้วจะมีการช่วยเหลือเป็นขั้นตอนต่อไปจนกว่าปัญหาของผู้ร้องเรียนจะยุติลง

 

 

ขั้นตอนการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300

 

  1.       การรับแจ้งเรื่อง
  • ผู้ต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าร้องเรียนทางพม.ได้ 3 ช่องทาง
  • ช่องทางที่ 1 คือ โทร.ติดต่อสายด่วนหมายเลข 1300 (Hotline) ซึ่งสามารถทำได้ทันทีที่เกิดเหตุขึ้น
  • ช่องทางที่ 2 คือ เข้าแจ้งเรื่องด้วยตัวเอง ณ จุดรับบริการศูนย์ช่วยเหลือสังคม (Walk in)
  • ช่องทางสุดท้าย แจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ของพม. ซึ่งมีดังต่อไปนี้

 

  1.       การประเมินสภาพ / คัดกรองปัญหาเบื้องต้น

         จะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับร้องเรียน จะเป็นการสอบถามและแสวงหาข้อเท็จจริงที่เหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบเผชิญ จากนั้นจะเป็นการประเมินเพื่อคัดกรองว่าจะส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหน่วยงานใดช่วยเหลือต่อ แต่หากเป็นปัญหาที่เป็นการสอบถามเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลสิทธิสวัสดิภาพสังคม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่พม.มีข้อมูลอยู่แล้วก็จะสามารถให้คำปรึกษาได้เลย จากนั้นจะเป็นการบันทึกข้อมูลและทำการยุติเรื่องร้องเรียน

 

 

  1.       นักสังคมสงเคราะห์พิจารณาให้ความช่วยเหลือ

         เป็นขั้นตอนหลังจากการประเมินสภาพปัญหาและถูกพิจารณาว่าเป็นกรณีที่ต้องการมากกว่าคำปรึกษา ทางนักสังคมสงเคราะห์จะรับเรื่องเข้าช่วยเหลือต่อ ขั้นตอนจะแตกต่างกันระหว่างเหตุปกติกับเหตุเร่งด่วน

 

  • เหตุการณ์ปกติ ถ้าเกิดในกรุงเทพฯ จะประสานเรื่องภายใน พม. กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเป็นกรณีเหตุความรุนแรงทางเพศก็จะพิจารณาว่าเป็นความรุนแรงในเหยื่อประเภทใด และต้องการความช่วยเหลือเรื่องใด เพื่อที่จะประสานงานต่อให้เหมาะสมกับประเภทของปัญหา / ถ้าเกิดในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ จะประสานงานไปยังหน่วยงานภายในพื้นที่ และจะมีการช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันคือเลือกประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของผู้ร้องเรียน

 

  • เหตุการณ์เร่งด่วน จะมีลักษณะการประสานงานและให้ความช่วยเหลือคล้ายกับเหตุการณ์ปกติ แต่จะเน้นประสานงานกับหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อให้สามารถลงพื้นที่ได้เร็วที่สุด เพราะกรณีนี้ถือเป็นกรณีที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุดก่อนจะเกิดอันตรายต่อเหยื่อ

         ตามกระบวนการช่วยเหลือที่กล่าวไปนั้นเป็นช่องทางการช่วยเหลือหลักของเหยื่อความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงเหยื่อความรุนแรงทางเพศด้วยเช่นกัน แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีช่องทางร้องเรียนอื่น ๆ ที่พร้อมให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือที่ไม่ใช่หน่วยงานภายใต้กำกับการดูแลของรัฐบาลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ องค์กร หรือสมาคมที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานเอกชนหรือการรวมตัวของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งท มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำงานเพื่อสังคม ให้ความช่วยเหลือและดูแลเหยื่อจากเหตุความรุนแรงหรือกรณีที่เหยื่อถูกลิดรอนสิทธิในด้านต่าง ๆ อาจเป็นหน่วยงานที่ดูแลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะเจาะจง เช่น เพื่อเด็ก เพื่อผู้หญิง เพื่อเครือข่ายกลุ่มคนผู้ให้บริการทางเพศ หรือเพื่อคนพิการ เป็นต้น แต่กระบวนการทำงานของกลุ่ม องค์กร หรือมูลนิธิเหล่านี้จะคล้ายกันและมีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกัน

 

 

หน่วยงานอิสระนอกเหนือจากหน่วยงานรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือในความปลอดภัยต่อความรุนแรงและด้านสิทธิมนุษยชน

  • มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเพศหญิง เพศชาย หรือคนพิการ ติดต่อ 0-2513-2889
  • องค์กร Shero Thailand ทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวและรณรงค์การลดวัฒนธรรมนิยมความรุนแรงในสังคมประเทศไทย ติดต่อ sherothailand.org / www.facebook.com/SHeroThailand/
  • โครงการฮัก (The HUG project) ทำงานด้านการป้องกัน คุ้มครอง และฟื้นฟูเยียวยาเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการค้ามนุษย์ ติดต่อ +66-053-920-588 / connect@hugproject.org
  • มูลนิธิ SWING มูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ ก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือพนักงานขายบริการทางเพศชาย แต่เป้าหมายการช่วยเหลือนั้นเพื่อทุกเพศในสังคม ติดต่อ 081-626-6538
  • มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี สายด่วน 1134
  • มูลนิธิเพื่อนหญิง ติดต่อ 02-513-2780 , 02-513-1001
  • มูลนิธิพิทักษ์สตรี ติดต่อ 02-214-5157 , 094-403-7037 , Line ID : aatteam
  • โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้หญิงในชุมชนแออัด ติดต่อ 02-731-5218

         ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านสุขภาพของผู้ได้รับความรุนแรงทางเพศ จะเป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาจากหน่วยงานที่ขอเข้ารับความช่วยเหลือ การประเมินเบื้องต้นจะบ่งบอกตามสภาพของเหยื่อว่าควรได้รับการเยียวยาในขั้นตอนใด หากเกิดผลกระทบทางด้านร่างกายมากที่สุด ควรรักษาร่างกายแล้วกลับเข้ามารับการรักษาทางสภาพจิตใจ โดยผลกระทบทางจิตใจไม่เพียงเกิดขึ้นกับเหยื่อเท่านั้น บางครั้งอาจส่งผลกระทบไปถึงคนรอบข้าง ซึ่งส่วนนี้นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาจะต้องประเมินตามสถานการณ์จริง

 

 

 การช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอต่อปัญหาของเหยื่อความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย

‘ปัญหาหลักของกระบวนการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศ นอกจากการถูกตีตราด้วยสังคมแล้ว โครงสร้างกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเองก็ไม่เอื้อต่อการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ซ้ำยังถูกละเลยปัญหาจากหน่วยงานรัฐอีกด้วย’

 

 

 

กฎหมายที่พิกลพิการ และการคุ้มครองที่ไม่ทันต่อยุค Digital

         ในปัจจุบันการถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ออนไลน์บน Social Media แต่ละช่องทางเองก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นไม่น้อย ด้วยความที่เป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถซ่อนตัวตนได้รวมถึงง่ายและรวดเร็วต่อการตอบโต้ จึงถือเป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิของกันและกันได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

         การกระทำความรุนแรงทางเพศบนโลกออนไลน์นั้นมักถูกละเลย ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจปัญหามากนัก ไม่เพียงแต่ในผู้กระทำ แต่บางครั้งเหยื่อก็เลือกที่จะละทิ้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะการจัดการที่ยุ่งยากทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์นั้นไม่ต่างจากการกระทำรุนแรงทางเพศในพื้นที่ออฟไลน์เลย ไม่ว่าจะกระบวนการเกิดความรุนแรงหรือผลกระทบต่อเหยื่อ เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกถึงความไม่สบายใจหรือความอึดอัดในการรับสาร เหยื่อถูกล่วงละเมิดด้วยคำพูดหรือการกระทำทางเพศที่สร้างผลกระทบทางกายหรือจิตใจจนกระทบต่อตัวเอง กระทบต่อคนรอบข้างในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้แต่สาเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำไปสู่อาชญากรรมทางเพศได้ทั้งสิ้น

         แต่ปัญหาเรื่องกฎหมายคุ้มครองเรื่องการคุกคามทางเพศนั้นยังมีความล้าหลังและ ‘มีความพิการในการปรับใช้’ ดังที่คุณบุษยาภา ผู้ก่อตั้งองค์กร Shero Thailand ให้ความเห็นไว้ผ่านบทสัมภาษณ์ของประชาไท ซึ่งตีความจากข้อความที่ปรากฎในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 และเปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้าหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ผู้ถูกกระทำมักจะเอาผิดได้ยาก หากหลักฐานมีความชัดเจนไม่เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อถูกกระทำบนโลกออนไลน์นั้นสามารถทำลายหลักฐานได้ง่ายมาก อาจเกิดเหตุการณ์หลักฐานหายหรือถูกทำลายก่อนจะนำไปเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งความได้

         อีกทั้งเรื่องของความหละหลวมในด้านอื่น ๆ ที่ข้อกฎหมายไม่สามารถตีความได้ ดังเช่นในกรณีของของการถูกคุมคามด้วยสายตาหรือคำพูดที่ตีความได้หลายแง่ แต่เมื่อประกอบบริบทถึงเห็นชัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศ แต่เหยื่อกลับไม่สามารถเอาผิดเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ได้ เพราะในทางกฎหมาย กรณีแบบนี้ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด

         ยังไม่รวมถึงโทษของผู้กระทำที่ไม่เป็นธรรมเพียงพอต่อการสูญเสียของเหยื่อในบางข้อ อย่างกรณีของกฎหมายประมวลอาญามาตรา 397 วรรคสุดท้ายที่คุ้มครองเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศกรณีถูกกระทำจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า มีความสัมพันธ์กับเหยื่อในฐานะผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือการอื่น โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งโทษที่กำหนดตามกฎหมายนั้นยังถือว่าน้อยเกินกว่าจะเป็นโทษของผู้ที่คุกคามทางเพศผู้อื่น ซ้ำยังใช้อำนาจที่เหนือกว่าในการบังคับหรือข่มขู่เหยื่อ

         ความหมายของการ ‘กระทำชำเรา’ ในทางกฎหมาย คือ ‘การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น’ โดยคำสำคัญคือคำว่า ‘ล่วงล้ำ’ ซึ่งถูกตีความว่าการข่มขืนนั้นหมายถึงต้องล่วงล้ำเข้าไปแล้วเท่านั้น ซึ่งในทางกายภาพ การกระทำทางเพศบางอย่างที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางกายและจิตใจของเหยื่อนั้นไม่จำเป็นต้องล่วงล้ำเข้าไปเลยก็ได้ อย่างเช่นการใช้ลิ้นเลียภายนอกที่อวัยวะเพศของเหยื่อ กรณีนี้ถึงแม้จะรู้สึกว่าถูกคุกคามทางเพศ แต่ในทางกฎหมายสามารถถูกตีความว่าไม่ผิดได้

หรือในกรณีที่ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในคู่สมรสสามี – ภรรยา ถ้าหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วประสงค์จะอยู่ร่วมกันต่อโดยไม่มีการฟ้องหย่า ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้ หมายถึงผู้ที่กระทำจะไม่ได้รับโทษเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นไปแบบนั้น เพื่อลดความยุ่งยากในกระบวนการศาล

 

 

 

 

พนักงานบริการทางเพศ (Sex workers) กับการถูกละเลยการคุ้มครองและความรุนแรงที่ต้องเจอ (online – onsite)

         อาชีพของกลุ่มพนักงานบริการทางเพศเป็นอาชีพหนึ่งที่ถูกตีตราจากสังคม มีภาพประกอบสร้างจากคนในสังคมว่าเป็นกลุ่มคนที่ต่างไปจากคนอื่น กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเพิกเฉย ถูกกีดกัน ถูกละเลยไม่เว้นแม้กระทั่งกฎหมายคุ้มครองในฐานะมนุษย์ที่ประกอบอาชีพ กฎหมายแรงงานไม่รองรับอาชีพนี้เข้าสู่ระบบ ซ้ำยังถือเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมายทางอาญาในเรื่องของการค้าประเวณี

         ซึ่งผลเสียที่ตามมาของการที่กลุ่มพนักงานบริการทางเพศถูกกฎหมายละเลยและตีตรา คือการที่คนเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิการเข้าถึงในด้านสวัสดิการ ด้านผลประโยชน์ ด้านสิทธิการรักษา นอกจากนั้นยังไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในระหว่างประกอบอาชีพ ไม่สามารถแจ้งความเอาผิดผู้กระทำได้ หรือทำได้แต่โอกาสที่จะสำเร็จน้อย เพราะปัญหาจะติดตรงที่ความรุนแรงนั้นเกิดระหว่างที่พวกเขาประกอบอาชีพผิดกฎหมาย

         ความเสี่ยงของกลุ่มพนักงานบริการทางเพศ ไม่เพียงเกิดขึ้นในกลุ่มที่ให้บริการภาคสนาม แต่ในหมู่ผู้ให้บริการทาง Online เองก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นได้เช่นกัน ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่นับรวมกลุ่มที่ให้บริการแบบติดต่อซื้อ-ขายผ่านออนไลน์ แต่มีการนัดเจอเพื่อบริการ เพราะกลุ่มนี้ได้รับความเสี่ยงในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับกลุ่มที่ทำงานภาคสนามตั้งแต่ต้น แต่จะกล่าวถึงกลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งความรุนแรงหรือการถูกล่วงละเมิดที่คนกลุ่มนี้จะได้รับนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการถูกแบล็กเมล์ด้วยคลิป ด้วยภาพถ่าย มักจะถูกข่มขู่ด้วยข้อมูลส่วนตัว ถูกเผยแพร่คลิปหรือรูปภาพเปลือยของตัวเองโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม หรือในบางครั้งก็ไม่รู้ตัวเลยว่าถูกนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้เกิดความเสียหาย โดยเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ความรุนแรงจะมาในรูปแบบของการถูกทำร้ายทางจิตใจ ในบางคนกระทบถึงชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อมีคนรอบข้างรับรู้อาจถูกปฏิบัติต่างจากเดิม หรือถูกตีตราจากสังคมที่อยู่ เกิดเป็นแผลทางจิตใจของเหยื่อ

         กรณีที่กล่าวมานั้น เหยื่อสามารถเอาผิดได้เมื่อผู้กระทำมีการเผยแพร่คลิปอนาจารโดยที่ผู้ที่อยู่ในคลิปหรือผู้เสียหายไม่สมยอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้เสียหายเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่อาจเป็นดาบสองคมทำให้ผู้เสียหายได้รับความผิดด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ค้าประเวณี อีกทั้งยังผิดในข้อหาเผยแพร่คลิปลามกอนาจาร ซึ่งกฎหมายนี้ถึงผู้อยู่ในคลิปจะเผยแพร่เองก็มีความผิด แม้ว่าจะเผยแพร่เพื่อการค้าหรือไม่ก็ตาม

 

 

 

การทำงานอย่าง ขอ – ไป – ที ของหน่วยงานรัฐ

         หลายกรณีที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือและติดต่อไปยังหน่วยงานของรัฐ แต่กลับประสบปัญหาในการขอความช่วยเหลือ ทั้งที่ก่อตั้งเพื่อรองรับปัญหาของประชาชนโดยตรงแต่ก็มีเรื่องของความล่าช้าในกระบวนการรับเรื่อง ในบางกรณีเมื่อส่งเรื่องไปแล้วกลับรู้สึกว่าปัญหาของผู้ร้องเรียนไม่ได้ถูกใส่ใจเท่าที่ควร แก้ไขพอให้เสร็จสิ้นไปโดยที่ไม่ตรงจุด หรือแย่ที่สุดคือการไม่รับเรื่องมาแก้ไขเลย

         โดยส่วนมาก หน่วยงานแรกที่จะได้รับร้องเรียนเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตามคือตำรวจ ก่อนที่เรื่องราวจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมายในขั้นต่อไป แต่หลายครั้งที่ผู้ร้องเรียนถูกปัดปัญหาให้กลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ ตำรวจไม่รับร้องเรียนและเน้นให้มีการไกล่เกลี่ยแทน ซึ่งในบางกรณีอาจละเลยได้หากไม่ใช่กรณีที่เป็นอาชญากรรม ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงต่อเหยื่อทางร่างกายหรืออารมณ์ แต่ในบางกรณีไม่ควรจะเพิกเฉยก็กลับถูกมองข้าม เช่น กรณีที่ผู้เสียหายได้รับการคุกคาม – ความรุนแรงทางเพศบนโลกออนไลน์มักจะไม่ถูกรับเรื่องเพราะยากต่อการจัดการ หรือกรณีที่ผู้กระทำมีสถานะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับเหยื่อไม่ถูกดำเนินการต่อ เพราะมักจบที่การไกล่เกลี่ย

         แต่เมื่อบางเรื่องผ่านขั้นตอนแรกมาได้จนมาถึงกระบวนการของศาล เหยื่อหลายคนรู้สึกมีข้อกังขาในผลการตัดสินของศาล เหยื่อหลายคนไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นศาล ด้วยหลักฐานที่ไม่เพียงพอส่วนหนึ่ง และอีกส่วนที่สำคัญคือการตีความของข้อกฎหมาย ดังที่กล่าวกันว่ากฎหมายไทยนั้นเป็นกฎหมายตีความ เนื้อความอาจบิดพลิ้วไปตามช่องว่างของภาษาที่กฎหมายเขียนกำหนดไม่ครอบคลุม ผลของการตัดสินอาจเกิดอย่างไม่เป็นธรรมได้ในบางกรณีเมื่อถึงกระบวนการในชั้นศาล

         นอกจากหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของกฎหมายให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ยังมีหน่วยงานรัฐหน่วยอื่นที่มีหน้าที่ให้บริการอีก และในขณะเดียวกันผู้ร้องเรียนบางกรณีก็รู้สึกถึงการละเลยปัญหาของตัวเองจากหน่วยงานนั้นทั้งที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยเฉพาะ เช่นกันกับกรณีร้องเรียนทางกฎหมาย หน่วยงานรัฐบาลของประเทศเน้นเรื่องของการไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างเหยื่อกับคู่กรณีเป็นอันดับแรก ยิ่งความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำใกล้กันมากเท่าไหร่ ยิ่งดูเป็นปัญหาที่เล็กต่อผู้ที่ทำงานรับร้องเรียนมากเท่านั้น ปัญหาของเหยื่อถูกแก้ไขอย่างไม่ตรงจุด ปล่อยให้เรื่องยุติแค่เพียงเอกสาร แต่บางครั้งบาดแผลทางใจหรือแม้กระทั่งทางกายของผู้ร้องเรียนยังคงอยู่โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย

 

 

 

แนวทางแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เหยื่อความรุนแรงทางเพศ

         จากการมองเรื่องของกระบวนการแก้ปัญหา หน่วยงานรัฐมักเป็นหน่วยงานแรกที่ประชาชนส่วนใหญ่นึกถึงและติดต่อขอความช่วยเหลือ แต่คุณภาพของการช่วยเหลือยังตกหล่นอีกมากในหลายกรณี ในขณะเดียวกันก็ยังมีหน่วยงานช่วยเหลือซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งโดยเอกชนหรือกลุ่มคนที่มีจิตอาสาทำงาน โครงสร้างองค์กรไม่ต่างจากหน่วยงานรัฐที่สามารถรับเรื่อง คัดกรองปัญหา ช่วยเหลือในเรื่องกระบวนการทางกฎหมายรวมทั้งการเข้าถึงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจเหยื่อและคนรอบข้างได้

         แต่ปัญหาในการทำงานของกลุ่มองค์กรช่วยเหลืออิสระ คือจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้นทุกวันเพราะคนเริ่มหันมาพึ่งพากลุ่มที่ช่วยเหลือพวกเขาได้จริง แทนที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้งานภายในองค์กรเริ่มหนักขึ้น ทรัพยากรก็เริ่มที่จะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือที่ติดต่อเข้ามาทุกวัน ทั้งทรัพยากรคนและทรัพยากรเงินหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงบประมาณที่ต้องแบกรับ ทั้งเพื่อหล่อเลี้ยงผู้ทำงานในองค์กรและเพื่อเป็นปัจจัยในการช่วยเหลือเหยื่อ

         ในเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ก่อตั้งองค์กรด้วยความสมัครใจและกระบวนการทำงานก็มีความเต็มที่กับผู้ที่ติดต่อขอความช่วยเหลือ ประชาชนมีความไว้ใจที่จะเข้าติดต่อ อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่แบ่งเบาการทำงานของรัฐ ลดขั้นตอนต่าง ๆ ในการติดต่อระหว่างกันของหน่วยงานรัฐได้ จึงคิดว่าเป็นข้อเสนอที่ดีถ้าหากว่ารัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือองค์กรเหล่านี้ เอื้อทรัพยากรในส่วนที่พอจัดสรรได้และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรที่มีความกระทัดรัดกว่าเพื่อความทั่วถึงในการควบคุมที่เหมาะสม โดยงบประมาณและทรัพยากรที่จัดสรรมานั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเป็นงบก้อนใหม่ก็ได้

 

         วิธีการแก้ไขนี้ หากเกิดขึ้นจริงจะช่วยแก้ปัญหาให้กับทั้งภาครัฐและประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกลุ่มคนที่มีจิตอาสาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มกำลัง ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ที่เป็นธรรม และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ

 


 

ที่มาของข้อมูล :

 

 

ผู้เขียน มานิตา คิดนุนาม

นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้นปีที่ 2

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เขียน ณ วันที่ 18/04/2021- 15/05/2021

ติดต่อ

เบอร์ : 087-987-0178

Email : bawbeau@gmail.com

บรรณาธิการโดย ดาราณี ทองสิริ