บันทึกฝึกงานไทยคอนเซนท์ : ประสบการณ์ศึกษาเทคโนโลยีดิสรัปชันเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ

Internship Program Overview

เทคโนโลยีดิสรัปชันเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ (Technological Disruption for Gender Justice) คือหัวข้อสำหรับการฝึกงานที่ทีม B ได้รับมอบหมายจาก Thaiconsent เนื่องจากในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยียังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์ขาดไม่ได้ แต่กลับมีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเรื่องความเป็นธรรมทางเพศไม่มากเท่าที่ควร ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศยังคงถูกพบในทุกมุมทั่วโลกอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแทบจะไม่มีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศเลย

จึงเป็นที่มาของหัวข้อฝึกงานดังกล่าวที่ทีม B จะได้ศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อหาทางช่วยให้ความเป็นธรรมทางเพศสามารถเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 โดยในแต่ละเดือนงานที่ได้รับมอบหมายจะแตกต่างกันไป ดังนี้

  • เมษายน: เรียนรู้และเข้าใจจักรวาลงานเพศ ค้นคว้าและสำรวจเรื่อง Intimate Partner Violence in Students ในประเทศไทย
  • พฤษภาคม: ทำความเข้าใจอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ขัดขวางไม่ให้คนที่เจอความรุนแรงได้เข้าถึงความช่วยเหลือ
  • มิถุนายน: พัฒนาเครื่องมือทำความเข้าใจและหารือเรื่องความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก
  • กรกฎาคม: วิจัยพฤติกรรมผู้ใช้งาน Chatbot ที่ต้องการคำแนะนำปรึกษาด้านความสัมพันธ์หรือความรุนแรงทางเพศ (UX Research) และสรุปงานออกมาในรูปแบบ Report
  • สิงหาคม: สรุปงานออกมาในรูปแบบ Report และพอร์ตโฟลิโอ จัดเสวนาเพื่อนำเสนอ Report แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไป

APRIL: Group/Free Research for Design Sprint

 

บทสรุปของเดือนนี้ เราเลือกที่จะพัฒนาการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เป็นมิตรและสบายใจแก่คนในสังคมที่จะเข้ามาพูดคุย ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันได้ และเพื่อเป็นโมเดลการออกแบบพื้นที่ปลอดภัยต่อพื้นที่กลุ่มอื่น ๆ ที่มีอยู่ในไทยได้ไปปรับใช้ต่อทางทางทีมเราได้เริ่มศึกษาค้นคว้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 โดยในเดือนแรกทีมฝึกงาน Thaiconsent ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับความรุนแรงระหว่างคู่รัก (Intimate Partner Violence) ในกลุ่มวัยรุ่นไทยระดับมหาวิทยาลัย จากแบบสอบถามออนไลน์ผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ทั้ง Instragram, Facebook, Twitter ของ Thaiconsent และองค์กรพันธมิตร โดยมีผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 154 คน และการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายจำนวน 25 คน เพื่อหาแนวทางแก้ไขความรุนแรงต่อไป

จากผลสำรวจพบว่า 35.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าตัวเอง ‘เคย’ ประสบกับความรุนแรงขณะอยู่ในความสัมพันธ์ และอีก 24.2% ตอบว่า ‘ไม่แน่ใจ’ เมื่อถามว่าเคยประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์เชิงคู่รักหรือไม่ โดยอายุเฉลี่ยที่ประสบความรุนแรงนั้น อยู่ระหว่าง 18-19 ปี และพบว่าจากข้อมูลของผู้ที่เคยตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรงนั้น กว่า 78.3% ของผู้กระทำเป็นผู้ชาย ซึ่งแม้จะมีจำนวนผู้เข้ามาตอบแบบสำรวจค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร แต่ผลจากการสำรวจเหล่านี้บ่งชี้ว่า จากประสบการณ์โดยตรงของผู้ที่มาให้ข้อมูลในแบบสอบถาม ความรุนแรงในความสัมพันธ์เชิงคู่รักนั้น กล่าวได้ว่าเป็น Gender-Based Violence อีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่กลับไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงในสังคมไทยถึงแม้การศึกษาผ่านแบบสอบถามยังมีผู้ร่วมตอบ

หลังจากเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ เราได้เห็นภาพรวมของปัญหานี้ เป็นรูปแบบความรุนแรงที่มีส่วนคล้าย ๆ กัน นั่นคือ มีผู้ประสบปัญหาความรุนแรงไม่ทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความรุนแรง หลายคนยอมอดทนอยู่ในความสัมพันธ์ต่อไป เพราะมองว่ามันจะต้องดีขึ้น หรือเพราะคำว่ารัก ผู้กระทำไม่รู้ถึงความร้ายแรงของการกระทำของตัวเอง และผู้ประสบปัญหาความรุนแรงอาจจะอยากออกมาแต่ไม่สามารถทำได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่นอาจไม่มีอำนาจมากพอ ไม่มีการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

เราได้มีการคิดทางออก (solution) ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ

  1. แพลตฟอร์มสร้างความตระหนักรู้ผ่านการ Reflect สื่อ
  2. แอปพื้นที่ชุมชนสำหรับพูดคุยเรื่องเพศและความสัมพันธ์
  3. แอปติดต่อขอความช่วยเหลือยามฉุกเฉิน

 

MAY: Thaiconsent Forum

Counseling and Exchange Platform

ในเดือนพฤษภาคมเราจึงเน้นไปที่การออกแบบแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับปรึกษา แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ เรื่องเพศ เนื่องจากมีผู้ประสบความรุนแรงหลายรายที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้เพราะไม่ทราบว่าการกระทำและสถานการณ์แบบใดบ้างที่นับว่าเป็นความรุนแรง ทำให้พวกเขาติดอยู่ในวังวนความรุนแรงต่อไปเรื่อย ๆ หรือบางรายที่รู้ตัวแล้วว่าอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงแต่ก็ไม่มีข้อมูลที่จะติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ ดังนั้นแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวจึงมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

โดย design sprint เป็นสิ่งแรกที่เราทำในเดือนนี้เพื่อร่วมกันออกแบบ prototype ในการพัฒนาต่อยอดจากฟอรัมที่มีอยู่แล้วของ Thaiconsent ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เราออกแบบ prototype โดยเน้นไปที่ความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลักซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจากการนำ prototype ไปทดสอบจริงกับผู้ทดลองจำนวน 12 คน เราได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทดลองทั้งหมดมาปรับแก้ตัว prototype จนสรุปออกมาได้ว่าฟอรัมจะเน้นไปในเชิงการศึกษา คือการศึกษาและเพิ่มความตระหนักรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ อย่างบทความและพอดแคสต์ เป็นพื้นที่ระบายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนเคยเจอมาเพื่อเรียนรู้วิธีการรับมือจากสถานการณ์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการตอบคำถามจากผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ

เพื่อให้สมาชิกในทีมเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น เราจึงได้ศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติมผ่านกระบวนการ

  • User Empathy Map: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งาน ผู้เชี่ยวชาญ และ Thaiconsent ว่าผู้ใช้งานคาดหวังอะไร คิดแบบไหน มีส่วนร่วมกับฟอรัมอย่างไร และรู้สึกอย่างไรหลังจากใช้งาน
  • Business Ecosystem: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งาน Thaiconsent และพาร์ทเนอร์ ว่าแต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสิ่งใดแก่กันบ้าง
  • Brand Identity and Design Guidelines: การกำหนดตัวตนและภาพลักษณ์ของ Thaiconsent ที่เปิดกว้างแต่ก็ยังน่าเชื่อถือ ซึ่งก็เพื่อให้ผู้ใช้งานและพาร์ทเนอร์เข้าใจบทบาทของแบรนด์และสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้งานหรือร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ รวมถึงแนวทางการออกแบบดีไซน์สำหรับฟอรัมที่เราได้นำ UI trends 2021 มาปรับใช้ด้วยเพื่อให้ดีไซน์ออกมาเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากที่สุด และเรายังคงเน้นไปที่การเข้าถึงง่ายอยู่ แม้จะออกแบบเรียบ ๆ แต่ทุกองค์ประกอบจะนึกถึงผู้ใช้ง่ายเป็นหลักเช่นเคย

สุดท้ายในช่วงปลายเดือนก่อนสิ้นสุดการทำงานในเดือนพฤษภาคม เราได้เข้าร่วม workshop กับคุณจอมเทียน จันสมรัก นักขับเคลื่อนประเด็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและสุขภาวะทางใจ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มกล้าเล่า (Speaking Out Thailand) และคุณบุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายขับเคลื่อนประเด็นยุติความรุนแรงในครอบครัว ผู้ก่อตั้งองค์กรชีโร่ (SHero Thailand) จุดประสงค์คือศึกษากระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงและการดูแลเคส (case management) เพื่อให้เข้าใจถึงอุปสรรคที่ผู้ประสบความรุนแรงต้องเจอในระหว่างกระบวนการช่วยเหลือ และทำอย่างไรให้ฟอรัม Thaiconsent สามารถช่วยลดภาระงานของ NGO ได้ จากคำแนะนำของวิทยากรทั้งสองท่านสามารถสรุปได้ว่าฟอรัมควรเน้นไปในทาง educational เพื่อให้ผู้ใช้งานเรียนรู้และเกิดทักษะ self-help โดยควรสร้างบรรยากาศให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัย ไม่รู้สึกกังวลว่าจะถูกตัดสินจากพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งต้องกำหนดนโยบายการใช้งานให้ชัดเจน เช่น เป็นการใช้งานแบบไม่ระบุตัวตนและมีการคัดกรองผู้ใช้งานก่อนที่จะเข้าถึงฟอรัมได้ นอกจากนี้สิ่งที่วิทยากรแนะนำสำหรับแนวทางที่ Thaiconsent จะสามารถลดภาระงานของ NGO ได้ก็คือการส่งต่อเคส ซึ่งต้องออกแบบเครื่องมือสำหรับการส่งต่อให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่ NGO ต้องการ คือการเก็บข้อมูลสำคัญเบื้องต้นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยได้ก็คือช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้จากแบบประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ว่าตัวเองมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนจะได้สามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้

JUNE: Forum Style Guide and Chatbot Development

ในเดือนมิถุนายน ทางทีมเริ่มการทำงานโดยการสรุปงาน Forum ในเดือนก่อนหน้าให้เสร็จสิ้นโดยได้เริ่มพัฒนา Brand Identity และ Style Guide สำหรับการนำไปพัฒนาแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ของ Thaiconsent ผ่าน BuddyBoss ในองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  • Logo and Logo Icon
  • Color Palette
  • Font
  • App Icon
  • Launch/Splash Screens
  • Log-in screen

 

โดยเราได้ใช้กระบวนการทำงานที่คล้ายกับ Design Sprint ในเดือนที่ผ่าน ๆ มา โดยเริ่มลิสต์องค์ประกอบและจุดประสงค์ของตัว Forums ว่าอยากให้มีลักษณะแบบไหน สอบถามกลุ่มเป้าหมาย และหา Selling Point ให้กับ Forum เราจึงสรุปว่าอยากที่จะให้ทิศทางของการออกแบบออกมาให้เข้าถึงได้ทุกเพศ มีความ Gender-Neutral, Modern, และเข้าถึงง่าย สมาชิกในทีมจึงได้ลองพัฒนาเป็น Style Guide ของตัวเองด้วยเวลาที่จำกัด ผ่านการหา palette สี การเอาตัวอย่างที่มีอยู่แล้วมาอ้างอิง และการวาดเว็บจำลอง (Mock-up) ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเราก็ได้นำมาแชร์กันและนำองค์ประกอบที่โดดเด่นมารวมเป็นอันเดียวกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะใช้สีโทน ส้ม-ขาว-ม่วงแบบไล่ระดับ (Gradient)  และเน้นไปในทางโค้งมน มากกว่าแบบที่มีขอบแหลม โดยส่งต่อให้ทาง Social Designer ของทีมนำไปพัฒนาต่อและส่งให้ Buddy Boss ในที่สุด

ในช่วงต่อมาของเดือน ทางทีมได้รับโจทย์ในการศึกษาและออกแบบ Chatbot เพื่อคัดกรองและส่งต่อเคสด้านความรุนแรงทางเพศ สำหรับ NGO ที่ทำงานด้านความเป็นธรรมทางเพศและความรุนแรงทางเพศ โดยมีจุดประสงค์ที่จะลดภาระงานของ NGO และเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น โดยเราได้เริ่มจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้งาน และกรณีศึกษาของ Chabot ทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งนี้เรายังได้มีโอกาสขอคำปรึกษาจากคุณจอมเทียน จันสมรัก ซึ่งผู้ดูแลเคสด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่มีอยู่ ความต้องการของผู้ใช้ ไปจนถึงบริบทของการใช้งาน Chatbot การปรึกษาครั้งนี้ทำให้เราได้ทำความเข้าใจกับข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้นและได้นำมาพัฒนาการออกแบบต่อจนได้ Flow ของ Chatbot ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

  • การระบาย
  • การกรอกข้อมูลเพื่อรับความช่วยเหลือและส่งต่อให้กับ NGO หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องการข้อมูลในหลายด้าน ได้แก่
    • อายุตอนเกิดเหตุ อายุปัจจุบัน
    • วันที่เกิดเหตุ
    • ผู้กระทำคือใคร เกี่ยวข้องกันอย่างไร
    • ความรุนแรงประเภทไหน (เป็นคำถามปลายเปิด)
    • พื้นที่เกิดเหตุ
    • ต้องการความช่วยเหลือเรื่องอะไร
    • ตอนนี้อยู่กับ Abuser หรือเปล่า
    • สามารถติดต่อกับครอบครัว เพื่อนหรือคนรู้จักได้ไหม
    • มีใครที่ไว้ใจรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ไหม
  • การประเมินความเสี่ยงออนไลน์
  • ความช่วยเหลือด้านข้อมูลเบื้องต้น

นอกเหนือจากนี้เราได้มีโอกาสได้รับข้อมูลและพูดคุยด้านหลักการออกแบบ User Experience (UX) และ User Interface (UI) เบื้องต้นกับคุณอภิชญา พิทักษ์มงคล (เก่ง) คุณเมธาพร เปรมไสย (เมย์) และคุณสุดารัตน์ บำรุงศักดิ์ศิลป์ (ดาลัด) สำหรับการออกแบบ Chatbot และเทคโนโลยีให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากที่สุด


JULY: Automation for Gender Justice

July Report Summary

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงท้ายของการฝึกงานกับ Thaiconsent งานที่ได้รับมอบหมายในเดือนนี้จึงเน้นไปที่การเก็บงานเก่าให้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่เสียมากกว่า หลังจากที่ทีมฝึกงานได้ตัดสินใจยุติการพัฒนา Chatbot เพื่อนำมาคัดกรองเคสแล้ว เราจึงเลือกที่จะใช้เวลาเดือนนี้ไปกับการทำ Report เพื่อรวบรวมสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากการออกแบบและพัฒนา Chatbot มาเขียนลง Report ซึ่งเราตั้งใจให้รายงานนั้นออกมามีรูปแบบคล้ายนิตยสารที่ให้ทั้งข้อมูล ภาพประกอบ และการจัดรูปแบบ layout ที่ทำให้เนื้อหาอ่านง่ายและมีความน่าสนใจขึ้น  โดยเราได้เพิ่มบทความ ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้ที่เป็นสาเหตุให้เราเลือกทำ Chatbot ในตอนแรกด้วย

เนื้อหาใน Report จะประกอบไปด้วย สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศของประเทศไทยในปัจจุบัน ปัญหาของ Gender Justice ในประเทศไทยและการจัดการเคสความรุนแรง ซึ่งการจัดการดูแลเคสที่ทางเราใช้อ้างอิงจะมี 6 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ รายงาน ระบุปัญหา ช่วยเหลือ ส่งต่อ รักษาและติดตาม ซึ่งการจัดการเคสในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ เนื่องจากทรัพยากรช่วยเหลือที่มีจำกัด ทั้งในด้านบุคลากร ด้านการเข้าถึง และขอบเขตงาน ซึ่งนำไปสู่การนำ Chatbot ที่ทีมฝึกงานได้ออกแบบในตอนแรกมาลดปัญหาจุดนี้ นอกจากนี้ ทางทีมงานยังเขียนบทความว่าด้วยการนำ automation มาใช้เพื่อความเป็นธรรมทางเพศด้วยเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงบทบาท automation ในการลดความรุนแรง

จากนั้น ทีมฝึกงานได้บอกเล่าถึงพัฒนาการของ Chatbot ของเรา ทั้งจุดเริ่มต้น ความเป็นมา และการทำงานในแต่ละเดือนที่นำไปสู่การออกแบบ ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เราได้จากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจาก NGO ที่มีประสบการณ์จัดการเคส และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ UX UI design จนถึงการศึกษากรณีศึกษาอื่น ๆ ที่สร้างมาเพื่อความเป็นธรรมทางเพศเช่นเดียวกับของเรา ที่เราได้ค้นคว้าจนเข้าใจถึงข้อผิดพลาด และข้อจำกัดที่ทำให้ Chatbot เหล่านี้ล้มเหลว ทั้งหมดนี้เพื่อเกิดเป็น flow บทสนทนาของ Chatbot เรา และบทความ ข้อแนะนำเกี่ยวกับข้อจำกัดของ Chatbot ที่ทางทีมได้เรียนรู้และรวบรวมไว้เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาแก่ผู้ที่สนใจจะพัฒนาต่อไป นอกจากนี้เรายังมีสกูปพิเศษที่นำเทคนิค self-help ที่เราศึกษามาเพื่อใส่ใน Chatbot มาใส่ใน Report ด้วย โดยหวังว่าหากมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือที่ไม่เร่งด่วนได้อ่าน Report นี้ จะนำ self-help ที่เราทำไว้ไปใช้ประโยชน์ได้

แม้เราจะไม่ได้เผยแพร่ Chatbot ของเราออกสู่สาธารณะ แต่เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต chatbot รวมถึง automation อื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะสามารถนำมาใช้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาความรุนแรงระหว่างคู่รักที่เกิดขึ้นในสังคมได้ และหวังเช่นกันว่ารายงาน Chatbot Case Study ของเราจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

What We Learned from this Project

ในตอนที่ทางทีมงานได้ร่วมกันออกแบบ พัฒนา และสร้าง prototype ของ Chatbot โดยคำนึงถึงผู้ใช้ที่อาจต้องการความช่วยเหลือจากความรุนแรงเป็นหลัก และพิจารณาถึงข้อมูลเบื้องต้นที่ NGO จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการจัดการเคสมาประกอบการออกแบบ เราได้พูดคุยและหารือกันถึงความเสี่ยง ประโยชน์ ข้อดีข้อเสียของ Chatbot ที่เรากำลังทำอยู่ ณ ขณะนั้น และเราก็ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องกันว่า ข้อจำกัดที่ส่งผลเสียได้มากที่สุดของ Chatbot ที่ใช้งานเพื่อความเป็นธรรมทางเพศคือ Chatbot ไม่สามารถตรวจจับอารมณ์ ความอ่อนไหวของอารมณ์มนุษย์ได้อย่างแท้จริง Chatbot ไม่สามารถรับรู้ได้ทันทีหากผู้ใช้เริ่มเกิดการ trigger จากการให้ข้อมูล ไม่สามารถแยกความเร่งด่วนของเคสได้อย่างแท้จริง

ดังเช่นในกรณีศึกษา Chatbot จาก failed cases ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปใน Report  สุดท้ายแล้ว ด้วยข้อกำจัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน มนุษย์ยังเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการใช้ตรวจจับ คัดกรอง และปลอบโยนอารมณ์ของมนุษย์ด้วยกัน

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่า Chatbot ไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานเพื่อลดปัญหาความรุนแรงได้เลย Chatbot สามารถถูกนำมาช่วยในด้านการบันทึกข้อมูล ส่วนที่ต้องกรอกฟอร์ม ให้ตัวเลือก ให้เวลาผู้ใช้อยู่กับตัวเองและทบทวนสิ่งที่เผชิญเมื่อต้องกรอกข้อมูลตามสิ่งที่ Chatbot ถาม หรือกระทั่งใช้ Chatbot ในการคัดกรองผู้ที่เข้ามาใช้โดยที่ไม่ได้ต้องการขอความช่วยเหลือหรือดำเนินคดี เพียงแค่อยากระบายหรือทำความเข้าใจเท่านั้น หากมีการพัฒนาอย่างเหมาะสม ระบบอัตโนมัตินี้สามารถเป็นประโยชน์ให้ทั้งกับผู้ใช้งานที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ และกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ NGO ที่ต้องการลดภาระเวลาในการคัดกรองข้อมูลบางส่วน

 


Acknowledgments

รายงานจากการศึกษาค้นคว้าและโครงการฝึกงานฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยความรู้ความช่วยเหลือของหลาย ๆ ท่าน ซึ่งไม่อาจจะนำมากล่าวได้ทั้งหมด  ทางทีมจึงอยากขอบคุณคุณนานา – วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้งและทีมงาน Thaiconsent ทุก ๆ ท่านในการริเริ่มโครงการฝึกงานและให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาฝึกงานทั้ง 5 เดือน และขอขอบคุณผู้ที่มาให้ความรู้ คำปรึกษา และข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ทำงาน ผ่าน Workshop และ Consulting Session ได้แก่คุณจอมเทียน จันสมรัก คุณเบส-บุษยาภา ศรีสมพงษ์ คุณเก่ง-อภิชญา พิทักษ์มงคล คุณเมย์-เมธาพร เปรมไสย และคุณดาลัด-สุดารัตน์ บำรุงศักดิ์ศิลป์

สุดท้ายนี้ทางทีมอยากขอบคุณผู้ร่วมทำแบบสอบถามทุกท่านที่สละเวลาในการตอบแบบสอบถาม และการให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ความรุนแรงระหว่างคู่รัก ขอขอบคุณทีมฝึกงาน Thaiconsent ทีม A และทีมฝึกงานรุ่นก่อน ๆ ที่ได้เข้ามาติชม ให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำทีมฝึกงานของเราเสมอมา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าและศึกษาครั้งนี้

 

สมาชิกทีมฝึกงานทีม B

  • ชนิตรา           ชื่นเปรมปรีดิ        (Journalist)
  • ชวิศา              นาคศิลป์             (Journalist)
  • ธีธัช                ทิพย์โสดา           (Project Manager)
  • ปัณณฉัตร        ประดับพงศ์       (Journalist)
  • มัชฌิมา            ชุติจิรวงศ์          (Social Designer)

ระยะเวลา: เมษายน – สิงหาคม 2564

Supervisor: วิภาพรรณ วงษ์สว่าง (นานา)

 

Thaiconsent Internship – Study of Online Platform and Automation for Gender Justice (2021)