แม้ปัจจุบันโลกของเราจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านการแพทย์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความสามารถตามวัตถุประสงค์ของมัน เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ แต่มีปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีนวัตกรรมใดสามารถแก้ไขได้ 100% เป็นปัญหาที่มีมายาวนานและพบได้ทั่วโลก นั่นคือ ปัญหาความรุนแรงทางเพศ
“นวัตกรรม” หมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น [1]
ความรุนแรงทางเพศ คือ อะไร?
เมื่อพูดถึงความรุนแรงทางเพศหลาย ๆ คนคงนึกถึงการที่ผู้ถูกกระทำถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกข่มขืน และส่วนใหญ่คงนึกถึงการกระทำระหว่างเพศชายและเพศหญิง
แต่ในความเป็นจริง ความรุนแรงทางเพศ คือ พฤติกรรมทางเพศที่กระทำต่อบุคคลหนึ่ง โดยบุคคลนั้นไม่ยินยอม และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
รูปแบบความรุนแรงมีหลากหลายตั้งแต่ การใช้วาจาลวนลามโดยไม่มีการสัมผัส การตามตื๊อ โทรศัพท์ลามก การอวดอวัยวะเพศ กระทำการสำเร็จความใคร่ รวมถึงการแสดงภาพโป๊ สื่อลามก และการลวนลามทางเพศโดยการสัมผัสจนถึงความพยายามที่จะข่มขืนและการข่มขืน [2]
กล่าวโดยสรุปแล้วความรุนแรงทางเพศจึงหมายถึงพฤติกรรมทางเพศหรือการกระทำทางเพศที่ฝ่ายหนึ่งได้กระทำกับอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ได้เกิดขึ้นจากการยินยอมพร้อมใจ ความรุนแรงทางเพศที่มีระดับรุนแรงที่สุดนั่นคือการข่มขืน
นวัตกรรมที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขความรุนแรงทางเพศ
เมื่อมองไปรอบตัวเราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวันผ่านสื่อออนไลน์ หรือโฆษณาตามที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันเราก็ยังได้ยินข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นทุกวันทั่วโลกเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า
ปัจจุบัน มีนวัตกรรมอะไรบ้างที่ช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคม?
จากคำถามนี้ ผู้เขียนได้หาข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และพบว่ามีข้อมูลน้อยมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ทั้งนี้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในระดับนานาชาติที่น่าสนใจ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
อุปกรณ์พกพาที่ใช้กันทั่วโลก
อุปกรณ์พกพาที่ใช้กันทั่วโลกในที่นี้ หมายถึงอุปกรณ์พื้นฐานที่เรารู้จักกันดี สามารถพกติดตัวและใช้ได้จริงในยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์พริกไทย เครื่องช็อตไฟฟ้า แหวนที่มีลักษณะแหลมคม ข้อมือ สร้อย หรือพวงกุญแจที่สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้
แม้จะเป็นอุปกรณ์ที่พกพาสะดวกแต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายในบางประเทศ นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่อุปกรณ์เหล่านี้จะกลายเป็นอาวุธที่คนร้ายนำมาใช้ในการทำร้ายร่างกายเหยื่อ หรือแม้แต่สัญญาณขอความช่วยเหลือ หากเหยื่อตกอยู่ในสถานที่เปลี่ยวหรือสถานที่แวดล้อมไปด้วยคนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ ไม่รู้จักสัญญาณขอความช่วยเหลือ อุปกรณ์เหล่านี้ก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรในการป้องกันเหยื่อก็เป็นได้
นอกจากนั้นยังมีแผ่นตรวจยาเสียสาวที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการถูกข่มขืน ซึ่งแผ่นตรวจยาเสียสาวนี้เป็นผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง โดยมีวิธีการง่าย ๆ คือ การหยดน้ำดื่มลงไปบนแผ่นนี้แล้วรอดูผล หรือการใช้ยาทาเล็บที่สามารถเปลี่ยนสีได้หากนำนิ้วจุ่มลงไปในแก้วที่เราสงสัยว่ามียาเสียสาวอยู่หรือไม่
โดยคำว่า “ยาเสียสาว” นั้นมาจากยาชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ผู้ที่ใช้ยานี้จะรู้สึกตื่นตัว สนุก รวมถึงมีความรู้สึกอยากมีเพศสัมพันธ์ ยาตัวนี้มีลักษณะเหลวใส ใช้ง่ายเพราะมีรสเค็มเล็กน้อยกลมกลืนกับเครื่องดื่ม ในตลาดมืดจะเรียกว่า Liquid X หรือ Liquid E สามารถผสมกับเครื่องดื่มได้โดยที่เราไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของยาชนิดนี้อยู่
ภาพซ้าย คือ ริสต์แบนด์ Xantus Drinkcheck Band วิธีใช้คือ เพียงคนเครื่องดื่มแล้วนำไปหยดลงบนจุดทดสอบบนริสต์แบนด์แล้วรอ 2 นาที หากจุดทดสอบเปลี่ยนเป็นสีฟ้าแสดงว่าเครื่องดื่มนั้นไม่ปลอดภัย
ภาพขวา คือ ชุดตรวจชิ้นเล็ก ๆ ขนาดประมาณเหรียญสิบบาท คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์แบบย่อส่วน ชื่อว่า SipChip เพื่อให้ใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และยังมีหลักการใช้งานเหมือนชุดตรวจการตั้งครรภ์ หากหยดเครื่องดื่มแล้วขึ้น 1 ขีด แปลว่าเครื่องดื่มมียาเสียสาว ขึ้น 2 ขีด แปลว่าปลอดภัย [4]
เดิมการตรวจสอบยาเสียสาวนี้เป็นที่นิยมในแถบยุโรปและอเมริกา เพราะมีอาชญากรรมข่มขืนโดยใช้ยาเสียสาวเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันการตรวจสอบยาเสียสาวนี้ยังเป็นที่นิยมในเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะในสถานบันเทิงต่าง ๆ
Smartphone กับการเตือนภัย
ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์การสื่อสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้ใช้งานสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันที่ตอบสนองการใช้ชีวิตของตนเอง ดังนั้น จึงมีการคิดค้นแอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศในหลายประเทศ ดังนี้
App-Elles ถูกคิดค้นโดย Resonantes ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์กรรับฟังช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงแล้วก็ยังเป็นสตาร์ทอัปทำแอปเตือนภัยที่เชื่อมกับสายรัดข้อมืออีกด้วย โดยผู้ใช้งานของแอปนี้จะมีสายรัดข้อมือติดตัว ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ใช้เพื่อส่งโลเคชั่นให้ เพื่อน ครอบครัว หรือคนรู้จัก รับทราบว่าตนกำลังอยู่ที่ไหน หรือกลับถึงบ้านปลอดภัยหรือไม่
นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชันที่เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างการเรียกตำรวจหรือบันทึกเสียงระหว่างสนทนาเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานหลายคนคิดว่าอุปกรณ์นี้ ยังมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือเหยื่อไม่เต็มที่เท่าที่ควร เพราะเหยื่อหลายคนถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากในบ้านมากกว่าพื้นที่สาธารณะ ทางผู้ผลิตจึงนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปปรับปรุงและพัฒนาอุปกรณ์ต่อไป
และในอนาคตทางผู้ผลิตก็มีความคิดว่า App-Elles® จะทำงานกับการรถไฟ RATP เพื่อช่วยให้คนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้ขนส่งสาธารณะ สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ทันที
เมื่อหันมามองทางฝั่งเอเชียก็มีการนำประโยชน์จากสมาร์ทโฟนมาใช้ในการป้องกันการเกิดความรุนแรงทางเพศเช่นกัน
เริ่มจากประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมทางเพศที่ค่อนข้างสูงอย่างญี่ปุ่น ได้ออกแบบแอปพลิเคชันช่วยป้องกันผู้หญิงและเด็กจากการเกิดอาชญากรรมทางเพศ โดยมีจีพีเอสสำหรับการติดตามโลเคชันผู้ใช้งาน และจะส่งข้อมูลอัตโนมัติ หากผู้ใช้เดินเข้าเขตที่เข้าข่ายเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “มิมาโมตชิ (Mimamotchi)”
เป้าหมายของผู้พัฒนาแอปมิมาโมตชิ คือ การให้คนในสังคมตระหนักว่าปัญหาอาชญากรรมทางเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ผ่านการทำให้ผู้คนรับรู้ถึงสถิติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
ขณะเดียวกันประเทศไทยของเราก็ได้เกิดแคมเปญ #teamเผือก และแอปพลิเคชัน #icanplan โดยเป็นโครงการที่คล้ายกับแอปมิมาโมตชิของญี่ปุ่น
#teamเผือก คือ แคมเปญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อในคนในสังคมเป็นหูเป็นตาให้กัน ผ่านการปักหมุดรายงานจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมในกรุงเทพฯ การรณรงค์ให้หยุดการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ
ในช่วงปี 2563 ที่มีการ work from home ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น และเหยื่อส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะทวิตเตอร์เพื่อช่วยกระจายข่าวและหาหนทางช่วยเหลือผู้เสียหาย
เมื่อปัญหาดังกล่าวมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมี #ทีมเผือกชุมชม และ #icanplan ที่เริ่มจัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนสามารถประเมินสถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัว รวมถึงมีคำแนะนำให้ผู้ประสบปัญหาในครอบครัว นอกจากนั้น ทีมเผือกชุมชน ไม่ได้จำกัดแค่คนในชุมชน แต่หมายถึงคนใกล้ตัวของเราไม่ว่าจะเป็นเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง หรือใครก็ได้ที่เรารู้จัก โดยให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาสำรวจความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว
จากตัวอย่างทั้งสามที่ผู้เขียนเลือกมานำเสนอนั้น จะเห็นได้ว่ามีทั้งจุดร่วมที่เหมือนกันและจุดที่แตกต่างกัน
โดยสายรัดข้อมือ App-Elles และมิมาโมตชินั้น มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ การใช้แอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนต่อผู้ใช้งานเมื่ออยู่ในสถานที่เกิดเหตุและสามารถเชื่อมต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที ขณะที่ทีมเผือกของไทยนั้นใช้วิธีรณรงค์ให้คนในสังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตามากกว่า
ผู้เขียนคิดว่าวิธีการของทีมเผือกและ icanplan นั้น ช่วยอุดช่องว่างของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีนี้ก็มีช่องว่างในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ หรือบางครั้งคนไทยอาจรู้สึกว่าเรื่องของครอบครัวอื่นไม่ใช่เรื่องของตัวเอง (ความจริงแนวคิดนี้มีอยู่ในทุกสังคม) ซึ่งหากนำไปปรับใช้กับทางฝั่งตะวันตกหรือทางตะวันออกอย่างญี่ปุ่น ผู้เขียนคิดว่าวิธีการนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะได้เปรียบในเรื่องของความรวดเร็วในการทำงานของเจ้าหน้าที่
ปรับปรุงทางเปลี่ยวให้น่าเดินมากขึ้น
จากหัวข้อก่อนหน้าที่มีการออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อใช้แจ้งเตือนเมื่อเหยื่ออยู่ในพื้นที่เปลี่ยวหรือพื้นที่ที่เคยเกิดอาชญากรรม ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวิธีการหนึ่งที่นอกจากจะช่วยลดอาชญากรรมแล้วยังส่งผลต่อความรู้สึกและการใช้ชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย
ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากประเทศที่ถือว่ามาแรงมาก ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นประเทศที่สามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นแนวหน้าของโลกในเวลาไม่กี่สิบปี คือประเทศเกาหลีใต้นั่นเอง
เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ผู้เขียนยกย่องในด้านการพัฒนาเมืองไปพร้อม ๆ กับการให้ความสำคัญกับศิลปะอยู่เสมอ และผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนที่คอยติดตามและเสพงานศิลปะผ่านสื่อออนไลน์อยู่ตลอดหลายปี และสิ่งที่ผู้เขียนสนใจที่สุดคือ โครงการ “Root out Crime by Design”
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองจากนโยบาย ‘Seoul Designs to Solve Social Issues’ ผ่านการนำความรู้ในด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อมและการออกแบบชุมชนมาใช้ เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีตรอกและซอยเยอะมากทำให้เกิดอาชญากรรมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเพศ
การปรับปรุงสภาพแวดล้อมนี้เริ่มต้นโดยการติดไฟเพิ่มและมีระยะที่ถี่มากขึ้น ติดกล้องวงจรปิดมากขึ้น ติดตั้งแผนที่เพื่อบอกว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงไหน การใช้รั้วที่โปร่งเพื่อลดมุมอับ การทาสีทางเดินให้เกิดกิจกรรมระหว่างทางเดินและช่วยให้ผู้เดินไม่รู้สึกว่าไกลมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการปรับภูมิทัศน์รอบ ๆ ผ่านการทาสีกำแพงให้เป็นภาพน่ารัก ๆ หรือการวางกระถางต้นไม้เล็ก ๆ ให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
เมื่อเห็นภาพและข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงทางเดินนี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่สามารถนำมาใช้ได้จริง สามารถทำได้ทุกประเทศ และไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ใช้ทางเดินมากไป และนอกจากจะช่วยลดอาชญากรรมตามซอยเปลี่ยวแล้ว ยังช่วยให้ผู้อาศัยในชุมชนเหล่านั้นได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ผ่านการช่วยดูแลชุมชนของตน และสภาพแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลต่อสภาพจิตของคนในสังคม
ชุดชั้นในกันภัย
สาเหตุที่ผู้เขียนตั้งชื่อหัวข้อนี้ว่า “ชุดชั้นในกันภัย” เนื่องจาก ระหว่างการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมป้องกันความรุนแรงทางเพศนั้น ผู้เขียนได้ข้อมูลเกี่ยวกับกางเกงในล็อกจิ๋มจากบทความที่เคยถูกเขียนขึ้นโดย thaipublica [6]
โดยในบทความ “ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม” นั้นได้พูดถึงการออกแบบกางเกงในที่ทำให้ถูกถอดยากขึ้น ซึ่งการออกแบบนี้มีในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา เยอรมนี อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศไทยของเรา
ซึ่งการออกแบบเหล่านี้ ได้พัฒนาจากกางเกงในธรรมดาให้มีลักษณะพิเศษมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำเนื้อผ้าให้ยากต่อการฉีกขาด การเพิ่มตัวล็อกทั้งแบบอะนาล็อกและแบบดิจิทัล
นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้พบ “บราพิสูจน์รักแท้” หรือ True Love Tester ถูกผลิตขึ้นจากบริษัท Ravijour ประเทศญี่ปุ่น บรานี้มีกระบวนการทำงานคล้ายกับกางเกงในล็อกจิ๋ม คือ ป้องกันการถอดจากผู้ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย หรือคนที่เราไม่เต็มใจมีเซ็กส์ ผ่านการจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสามารถส่งสัญญาณไปที่สมาร์ทโฟน หากผู้สวมใส่รู้สึกปลอดภัยและเต็มใจมีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่าย บรานี้จะถูกถอดออกโดยอัติโนมัติ แต่บราพิสูจน์รักแท้นี้เป็นเพียงนวัตกรรมที่ออกมาเพื่อฉลอง 10 ปีของบริษัท ไม่ได้มีวางจำหน่ายให้คนทั่วไป [7]
จากการสำรวจชุดชั้นในกันภัยทั้งกางเกงในและบรา ผู้เขียนสังเกตได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบโดยจุดประสงค์เดียวกันคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ถอดยากและช่วยถ่วงเวลาให้เหยื่อให้ได้มากที่สุด
แต่ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจแต่ไม่น่านำมาใช้จริง เพราะการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเหมือนการผลักภาระให้กับเหยื่อ เพราะหากต้องการชุดชั้นในที่ช่วยป้องกันความรุนแรงทางเพศได้ดี แน่นอนว่าราคาของผลิตภัณฑ์น่าจะสูงขึ้นไปด้วย
โดยเฉพาะบราพิสูจน์รักแท้ (ที่แม้จะไม่ได้ผลิตออกมาขายอย่างจริงจัง) แต่หากมีการนำมาขายในท้องตลาด ผู้เขียนคิดว่าอาจทำให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้การพิจารณาคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศยากมากขึ้น เพราะหากผู้กระทำนำบรานี้มาอ้างว่ามันปลดออกเองแล้ว เหยื่อจะถูกมองว่าเต็มใจมีเพศสัมพันธ์หรือไม่
และสุดท้ายผู้เขียนคิดว่า อุปกรณ์เหล่านี้อาจช่วยแค่ป้องกันจิ๋มหรือหน้าอกแต่ไม่สามารถป้องกันส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย และความรุนแรงทางเพศนั้นหากไม่สอดใส่ ผู้ถูกกระทำก็สามารถรู้สึกแย่ต่อการกระทำอื่นได้อยู่ดี เช่น การแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่เต็มใจ หรือการจูบ เป็นต้น
การออกแบบที่พัฒนาจากอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วให้เข้าถึงง่ายขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันปัญหาการข่มขืนยังเป็นปัญหาที่พบอยู่ในทุกสังคมทั่วโลก และเหยื่อต้องไปแจ้งความหรือไปโรงพยาบาลเพื่อเก็บหลักฐานการข่มขืน ภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “Rape kit”
เมื่อความรุนแรงทางเพศยังเป็นปัญหาที่สังคมยังแก้ไขไม่ได้ จึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายขึ้น และพยายามผลักดันให้เข้าถึงง่ายขึ้น โดยเป็นการออกแบบที่พัฒนาจาก rape kit ที่มีอยู่แล้ว
เริ่มจากโครงการ Hark [8] จากอเมริกา ที่มีเป้าหมายคือ ชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงง่ายขึ้น โดยการวางขายในร้านขายยา และลดการถูกตีตราทางสังคม เพื่อช่วยให้ผู้ที่ถูกข่มขืนมีชุดเก็บหลักฐานที่บ้าน และหากจำเป็นต้องใช้ก็โทรเรียกพยาบาลมาช่วยเก็บตัวอย่างที่บ้าน
RN Advocate [9] คือ โครงการออกแบบชุดเก็บหลักฐานใหม่ด้วยเหตุผลว่า โรงพยาบาลเพียง 1 ใน 4 ของสหรัฐ จะมีนางพยาบาลที่เคยฝึกฝนการใช้ชุดเก็บหลักฐาน ซึ่งใช้ยากและมีเอกสารอธิบายแบบเอกสารราชการ โครงการนี้จึงคิดวิธีที่ช่วยปรับการใช้งานและแนบวิดีโอสอนขั้นตอนการใช้งานเพื่อให้พยาบาลและผู้ใช้งานคนอื่น ๆ เข้าถึงการใช้เครื่องมือนี้มากขึ้น
Data Rape Kit Box [10] โดย Sarah Addy และ Ryan Manauis มีแนวคิดที่ต่างออกไป ทั้งสองได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวปี 2009 ที่ออกมาแฉว่า พบชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนที่ “ไม่ถูกส่งตรวจ” ดองอยู่ 11,000 ชุด ในเมืองดีทรอยท์พอเรื่องแดงขึ้นมา ทางการถึงได้ไล่เอาชุดหลักฐานมาตรวจ ใช้เวลาสิบปี และพบว่ามี “ผู้ที่มีโอกาสเป็นนักข่มขืนต่อเนื่องถึง 821 คน”
ผลงานชิ้นนี้ ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้สังคมเห็นถึงปัญหาและความไม่เป็นธรรมที่เหยื่อได้รับ ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่พึ่งรู้ว่ามีชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนอยู่บนโลก
และจากกระแส #MeToo ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากการที่เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ หลังจากนั้นก็มีผู้คิดค้นชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนภายใต้ชื่อ Metoo Rape Kit โดยมีแนวคิดว่า
“นี่คือชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนประจำบ้าน – ประสบการณ์ของคุณ – เรื่องราวของคุณ – คุณเป็นผู้กำหนดเอง”
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเปิดตัวออกมาในขั้นตอนการเสนอไอเดีย แต่กลับได้ผลตอบรับในแง่ลบจากนักวิชาการ เนื่องจากหลักฐานจากเหยื่อที่ใช้ชุดตรวจการข่มขืนด้วยตัวเองนั้น ไม่สามารถเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ เพราะหลักฐานการข่มขืนต้องถูกรับรองโดยบุคคลที่สาม นอกจากนั้น บางคนยังมองว่านี่คือการหาประโยชน์จากกระแสสังคม
การพัฒนาและออกแบบจากชุดเก็บหลักฐานข่มขืนนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากทางฝั่งประเทศตะวันตก ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่า ผลิตภัณฑ์ของ Hark และ RN Advocate นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการพัฒนาจากชิ้นงานเดิมให้เข้าถึงง่ายและช่วยลดความรู้สึกภายในใจของเหยื่อจากการถูกตัดสินจากสังคม เพราะมีจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไม่มีความกล้ามากพอจะไปสถานีตำรวจหรือโรงพยาบาลได้ทั้ง ๆ ที่ตนเองพึ่งเจอเหตุการณ์เลวร้ายมา
แต่ข้อจำกัดของอุปกรณ์เหล่านี้ คือ ความพร้อมของบุคลากรที่มีความรู้และเข้าใจการใช้งาน ผู้เขียนก็คิดว่าอุปกรณ์เหล่านี้ที่ดูช่วยแก้ปัญหาในโลกตะวันตกจะสามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาในประเทศของเราได้หรือไม่
เพราะต้องยอมรับว่าบุคลากรของประเทศเรา ยังขาดความรู้และความความเข้าใจต่อการข่มขืน สังคมส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่ที่การโทษหรือประณามเหยื่อมากกว่าผู้กระทำ หรือหากเป็นบุคลากรจากสถานพยาบาลที่ใกล้กับชุมชน ซึ่งเหยื่อ ผู้กระทำ หรือเจ้าหน้าที่อาจรู้จักกัน การใช้ชุดเก็บหลักฐานจากนอกสถานพยาบาลนี้ จะช่วยรับรองความเป็นธรรมให้กับเหยื่อได้จริง หรือจะเกิดปัญหาพบชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนที่ “ไม่ถูกส่งตรวจ” แบบในเมืองดีทรอยท์
สนธิสัญญายอมมีเพศสัมพันธ์ ?
นวัตกรรมที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เป็นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศระหว่างผู้กระทำและเหยื่อที่เกิดจากความไม่เต็มใจเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เขียนได้เจอนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ “การเซ็นสัญญายินยอมมีเพศสัมพันธ์”
ยอมรับว่าครั้งแรกที่เห็น ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจมาก เพราะเคยเห็นผ่าน ๆ ในซีรีย์เกาหลีแต่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริง แต่สัญญานี้ไม่ได้มีแค่ในรูปแบบกระดาษแต่ล้ำถึงขั้นสแกน QRcode ได้ด้วย
Consent Amour คือ แอปพลิเคชันที่กล่าวไปในข้างต้น โดยผู้ผลิตแอปนี้ได้โฆษณาไว้ว่า “จดหลักฐานความสัมพันธ์ทางกาย ความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายทำให้ความตั้งใจที่จะมีอะไรกันมันชัดเจนและไม่ทำลายมู้ดของความสัมพันธ์” (แต่แอบกระซิบว่าข้อความนี้ถูกแก้ไขภายหลัง เพราะก่อนหน้านี้ทางแอปใช้คำโฆษณาว่า “แอปนี้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ชายที่ต้องการคำยืนยันอย่างชัดเจน”)
นอกจากนั้นยังมี Legalfilling.io ที่มีเป้าหมายคือ “เพราะเซ็กส์ที่ปลอดภัยไม่ได้เกี่ยวกับการปกป้องร่างกายเท่านั้น แต่มันหมายถึงความยินยอมว่าจะเกิดอะไรขึ้นในห้องนอน…เพราะสวีเดนกำลังจะออกกฎหมายที่เรียกร้องความยินยอมที่ชัดเจนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก #MeToo Movement” ที่แพร่ระบาดในปี 2017”
แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ถ้ามองแบบผิวเผินมันก็เหมือนจะเป็นทางออกที่น่าสนใจที่เราจะใช้ก่อนมีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่าย แต่ขณะเดียวกันผู้เขียนกลับเห็นข้อเสียของมัน เมื่อนึกได้ว่าบางครั้งเราอาจเปลี่ยนใจระหว่างทาง หรือหากเราถูกบังคับให้เซ็นทั้งที่ไม่ยินยอมล่ะ และดูเหมือนว่าแอปพลิเคชั่นนี้จะสร้างขึ้นมาแล้วส่งผลให้ผู้กระทำพ้นผิดในชั้นศาลง่ายกว่าเดิมด้วย
เสริมอีกนิดว่า ทั้งสองแอปพลิเคชั่นนี้เกิดขึ้นจากทางตะวันตก แต่เมื่อผู้เขียนมองสภาพสังคมของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็คิดว่าหากแอปพลิเคชั่นนี้เป็นที่รู้จักในประเทศของเรา การเซ็นสัญญาของเหยื่อจะทำให้เหตุการณ์แย่กว่าเดิมหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศของเราและประเทศรอบ ๆ นั้น ยังติดอยู่ในโครงสร้างที่ชาย-หญิงไม่เท่ากัน รวมถึงระบบอาวุโสที่ผู้ที่อายุน้อยกว่าไม่สามารถปฏิเสธผู้ที่อายุมากกว่าได้ ผู้เขียนจึงคิดว่าสัญญาเหล่านี้น่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีในประเทศของเรา
แล้วปัจจัยอะไรที่จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงทางเพศได้
ก่อนจะพูดถึงปัจจัยที่ช่วยลดปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนได้ศึกษาเกี่ยวกับ สาเหตุของการก่ออาชญากรรม [11] หรือสิ่งที่ส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงจากอีกฝ่ายสู่อีกฝ่าย สาเหตุของการเกิดอาชญากรรมนั้นมีสองสาเหตุคือ สาเหตุทางสังคมและสาเหตุจากตัวอาชญากร
สาเหตุทางสังคม คือ สังคมและสภาพแวดล้อมที่เราอยู่จะส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของเราอย่างไม่รู้ตัว เมื่อซึมซับเข้าไปเรื่อย ๆ ก็ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัยของเรา และเมื่อปัจจัยเหล่านี้มาพบกับโอกาสและสถานการณ์ที่เหมาะสมก็อาจส่งผลให้ผู้นั้นลงมือทำอาชญากรรมทันที
ขณะที่ สาเหตุจากตัวอาชญากร นั้น มาจากปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่ส่งผลต่อการกระทำที่รุนแรงต่อผู้อื่น
จากข้อมูลที่ได้ศึกษามา12 ปัญหาทางด้านร่างกาย ได้แก่ การถ่ายทอดพฤติกรรมอาชญากรรมผ่านทาง รหัสพันธุกรรม การศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีในร่างกายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท หรือการทํางานในร่างกายตลอดจนลักษณะของโครโมโซม เป็นต้น ส่วนปัญหาด้านจิตใจ คือ การศึกษาถึงพัฒนาการของบุคคลตั้งแต่วัยเด็ก ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยที่ส่งผลกระทบต่อการถูกกําหนดรูปแบบ (shape) บุคลิกภาพของบุคคลนั้นในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงเป็น กระบวนการศึกษาถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจ (mental) ของบุคคลที่อาจนําไปสู่การก่ออาชญากรรม
จากสองสาเหตุนี้ ทำให้ผู้เขียนคิดว่า จากตัวอย่างนวัตกรรมที่กล่าวไปในข้างต้น มีน้อยมาก ๆ ที่สามารถช่วยแก้สาเหตุนี้ได้ตรงจุด และดูเหมือนว่านวัตกรรมบางอย่างอาจมีขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าความปลอดภัยของเหยื่อ
นวัตกรรมส่วนใหญ่ถูกคิดขึ้นมาจากเหยื่อ หรือผู้ที่มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการให้เหยื่อพกอุปกรณ์สำหรับป้องกันตนเอง การช่วยกันเป็นหูเป็นตา การโหลดแอปพลิเคชั่นเพื่อรับการแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัย การออกแบบชุดชั้นในที่ถอดยากขึ้น การเซ็นสัญญายินยอมมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการผลิตชุดเก็บหลักฐานการข่มขืน (ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปแล้วทีหลัง)
แต่มีมุมที่ผู้เขียนคิดว่าวิธีการที่นำมาใช้ค่อนข้างน่าสนใจ และดูเป็นวิธีการที่ไม่ผลักภาระให้เหยื่อมากเกินไป คือ
- การแจ้งเตือนเมื่อเรากำลังอยู่ใกล้เขตที่เคยเกิดอาชญากรรมพร้อมสถิติของ มิมาโมตชิ จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีฟังก์ชันเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้เราระวังตัวมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนอื่น ๆ เห็นว่าอาชญากรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ผู้เขียนคิดว่าคงดีไม่น้อยถ้าแอปพลิเคชั่นนี้สามารถเชื่อมต่อให้กับทุกคนได้โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้ เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น
- #teamเผือก ของไทยก็น่าสนใจตรงที่ให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา และผู้เขียนชอบตรงที่เราสามารถปักหมุดว่าตรงนี้เปลี่ยวนะ ตรงนี้สภาพแวดล้อมไม่ดีเลย แล้วจะมีคนช่วยประสานงานให้เจ้าหน้าที่มาแก้ไข แต่ข้อเสียคือกิจกรรมนี้กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองหลวง และการทำงานของเจ้าหน้าที่ไทยที่ล่าช้าจนปกติ (ทั้งที่ไม่ควรปกติ)
- ที่ชอบที่สุด คือ การปรับปรุงทางเดินของเกาหลีใต้ ถ้าให้เปรียบเทียบตามตรงผู้เขียนคิดว่ากรุงเทพและหลาย ๆ จังหวัดก็มีพื้นที่เป็นตรอกและมุมอับ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่บางส่วนไม่มีแม้แต่ไฟถนนด้วยซ้ำ ผู้เขียนคิดว่าวิธีการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเกาหลีใต้นั้น จะสามารถช่วยลดความรุนแรงทางเพศได้ทั้งในสังคมและครอบครัว เนื่องจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยออกนโยบายเปลี่ยนแปลงสังคม การที่เราปรับพื้นที่รอบตัวเราให้น่าอยู่และเป็นมิตร อาจจะช่วยส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง แต่มันจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว
นอกจากปัจจัยที่เพิ่มเติมไปในข้างต้นแล้ว ผู้เขียนยังคิดว่าหากเราจะสร้างนวัตกรรมอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อช่วยลดความรุนแรงทางเพศ นวัตกรรมนั้นควรเป็นนวัตกรรมที่ไม่ผลักภาระให้เหยื่อ เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงคนได้ในทุกชนชั้น และเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงถึงความรู้สึกหรือความคิดข้างในตัวบุคคล เพราะผู้เขียนเชื่อว่าหากเราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมให้ดีขึ้น ความรุนแรงทางเพศและอาชญากรรมต่าง ๆ จะลดลงเช่นกัน
แล้วอะไรที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกให้คนได้บ้างล่ะ
ในทางทฤษฎีมีวิธีการสร้างจิตสำนึกมากมาย บอกตามตรงว่าผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวิธีไหนจะได้ผลที่สุด
มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดได้ คือ การใช้นวัตกรรมในการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มคนให้ได้มากที่สุด เพราะสื่อในปัจจุบันอยู่รอบตัวเรายิ่งกว่าต้นไม้เสียอีก ดังนั้น หากรัฐเห็นความสำคัญและนำเงินไปลงทุนกับสื่อเพื่อให้คนตระหนักและเห็นความสำคัญของความรุนแรงทางเพศได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดน้อยลงและเราก็ไม่ต้องใช้ชีวิตบนความหวาดระแวงอีกต่อไป ซึ่ง สื่อในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่โฆษณา ละคร หรืออะไรที่เป็นความบันเทิงนะ แต่ขอรวมไปถึงสื่อการเรียนในห้องเรียน สื่อที่ใช้บอกจุดเกิดเหตุแบบเกาหลีและญี่ปุ่น หรือแม้แต่สื่อศิลปะที่ช่วยส่งผลต่อความรู้สึกภายในจิตใจของคน
เพราะในอนาคต เราเองก็ไม่อยากให้ผลิตภัณฑ์พวกนี้ขายดี เราอยากให้สังคมปลอดภัยกว่านี้และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้
อ้างอิง
1 ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” (อ้างอิงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)
2 ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ: บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ
3 ยาเสียสาว รู้จัก “GHB” ยาเสียหนุ่ม เสียสาว • RAMA Channel
4 การตรวจยาเสียสาว ยาเสียสาว ถึงจะไร้สี ไร้กลิ่น ก็ยังตรวจได้
5 แอปญี่ปุ่น
จะดึกแค่ไหนก็ไม่หวั่น! ญี่ปุ่นสร้างแอปฯ ปกป้องผู้หญิงและเด็กจากอาชญากรรมทางเพศ | THE MOMENTUM
6 บทความ ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม : ชวนสำรวจงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาละเมิดทางเพศในผู้หญิง (ตอนที่ 1)
7 บราพิสูจน์รักแท้ รักแน่ถึงยอมปลดล็อค!
8 Hark – An over-the-counter rape kit – Global Grad Show
9 RN Advocate is a rape kit designed to empower victims
10 Data Rape Kit Box
11 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับอาชญากรรม
เปิด ‘ทีมเผือกชุมชน’ เฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว เผยช่วงโควิด-19 สถิติถูกทำร้ายเพิ่มกว่าปกติ
ทางการเกาหลีหัวใส ใช้ ‘ดีไซน์’ ลดอาชญากรรมในชุมชนแออัด
เขียนโดย
โยษิตา สินบัว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่องทางการติดต่อ ystsnb@gmail.com
twitter : @babypinksqui
บรรณาธิการโดย ดาราณี ทองสิริ