ปัจจุบันสังคมออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ และช่วยกระจายข่าวสารแก่คนในสังคม และสามารถเชื่อมโยงคนที่เราไม่อาจพบเจอหรือคุยต่อหน้ากันได้ในชีวิตจริงผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทั้งยังสามารถค้นพบและสร้างสรรค์คอมมูนิตี้ต่าง ๆ และทุกคนยังสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ของตนเองให้แก่สังคมได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ก่อให้เกิดช่องทางการศึกษารูปแบบใหม่นอกห้องเรียนหรือเพิ่มเติมจากในห้องเรียน
เพศศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีการเรียนการสอนอย่างจริงจังน้อยมาก และหลักสูตรการศึกษาไทยก็ยังไม่ครอบคลุม การเรียนวิชาสุขศึกษาตามที่หลักสูตรกำหนดมาไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินดำรงชีวิตประจำวันได้
ปัจจุบัน วัยรุ่นส่วนมากจึงเลือกใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตในยามจำเป็น เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายและตรงประเด็น ยิ่งไปกว่านั้น โลกออนไลน์ยังเป็นสังคมที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายสูง ทำให้หลาย ๆ คนมีความสบายใจมากกว่าการคุยกับคนรู้จักในชีวิตจริง ดังนั้น โลกออนไลน์จึงมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องเพศศึกษารอบด้าน
สถานการณ์ความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมปัจจุบัน
เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันหรือสังคมของบางประเทศยังมีชุดความคิดว่า การพูดคุยประเด็นเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม อาจเพราะความเชื่อทางศาสนา ค่านิยมทางสังคม สื่อที่ผลิตชุดความคิดแก่สังคม หรือปัจจัยอื่น ๆ ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรนำมาพูดกันอย่างโจ่งแจ้ง ในสังคมไทยมักทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใต้ผ้าห่ม เป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่ควรนำออกมาพูดกัน ใครยกมาพูดก็ถูกมองว่าเป็นคนทะลึ่งหรือหยาบโลน ส่งผลให้หลายครอบครัว ผู้ปกครองกับลูกไม่ได้พูดคุยกันเรื่องเพศศึกษา เพราะผู้ใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรคุยกับเด็ก หากนำเรื่องเพศมาสอนก็เหมือนยุยงให้ลูกลองทำ มองว่าเด็ก ๆ ควรโฟกัสเรื่องการเรียนไปก่อน ยังไม่ควรจะมีความรักในวัยเรียน ประกอบกับการถูกปลูกฝังกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่าเป็นเรื่องน่าอาย พ่อแม่โตมากับชุดความคิดที่คนรุ่นก่อนได้ถ่ายทอดทัศนคติเรื่องเพศไว้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรเก็บไว้เป็นเรื่องลับ พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ได้รับการสอนจากครอบครัวมาเหมือนกันจึงไม่รู้ว่าจะเริ่มพูดคุยกับลูกอย่างไร
เมื่อไม่มีการสนทนาหรือแลกเปลี่ยนความรู้กัน ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศ ร่างกายหรือภาวะจิตใจ เด็กเหล่านั้นไม่ทราบว่าควรทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เช่น การมีประจำเดือนครั้งแรก เด็กหลายคนรู้สึกตกใจกับการมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ ทั้งยังไม่รู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องมาก่อน นอกจากนั้น ยังมีสถิติบอกว่า บางประเทศมีเด็กสองในสามคน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายตนเองเมื่อประจำเดือนมาครั้งแรก และยังมีผู้ชายหลายคนที่ไม่ทราบว่าผู้มีประจำเดือนไม่สามารถกลั้นการไหลของเลือดได้ รวมถึงในช่วงที่มีประจำเดือน ก็ไม่ได้ใช้ผ้าอนามัยเพียงแผ่นเดียวต่อวัน
ตัวอย่างความไม่รู้นี้เกิดจากสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการพูดคุยจากผู้ปกครอง คนในครอบครัว หรือทางโรงเรียน ที่อาจไม่ได้สอนวิธีรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ยังมีเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการให้ความรู้กับเยาวชนน้อยมาก เพราะหลายครอบครัวในสังคมไทยถือว่ายังไม่ถึงเวลาสำหรับเด็ก
เมื่อการหาทางแก้ปัญหาที่ใกล้มือทุกคน…เกิดบนอินเทอร์เน็ต
เมื่อการศึกษาพื้นฐานไม่มีคำตอบให้ คนทุกวัยใช้ทางออกโดยใช้วิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด นั่นคือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากจะหาคำตอบได้ทุกเรื่องที่สนใจ ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุยกับใครก็ได้ และเพราะความไม่รู้จักกัน หรือการใช้บัญชีที่ไม่ระบุตัวตน ทำให้กล้าพูดในประเด็นที่สังคมหลีกเลี่ยงกันได้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่ที่ให้คนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนกันอย่างไม่ต้องเขินอาย ได้รับรู้ถึงประสบการณ์และมุมมองที่หลากหลาย
ขณะเดียวกัน เมื่อไม่รู้ตัวตนว่าใครเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ได้รับอาจเป็นความรู้ หรือทัศนคติที่ไม่ถูกตรวจสอบ โดยผู้ให้ความรู้เองก็อาจไม่รู้ด้วยว่าข้อมูลถูกหรือผิด และบางครั้ง ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกันโดยอาจไม่ได้มีเจตนาไม่ดี
นอกจากนี้ หลายคนยังเชื่อว่า “แหล่งศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ดี คือการศึกษาจากหนังโป๊” และไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อุตสาหกรรมหนังโป๊ = อุตสาหกรรมหนังและภาพยนตร์ ที่มีการใช้เทคนิคในการผลิตสื่อและเลือกนำเสนอแค่บางแง่มุม ไม่ใช่การนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น ไม่ทราบว่า การแกล้งคราง การแข็งนานตลอดเวลา การแสดงรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง / ไม่ทราบว่ามาตรฐานรูปร่างสรีระของนักแสดง เกิดจากการคัดเลือก หรือทำการผ่าตัดมาให้เป็นไปตามรสนิยมของตลาด แต่ไม่ใช่ “ค่าเฉลี่ย” ของสิ่งที่ควรจะเป็น
และสิ่งที่ขาดหายไปจากการรับรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ การให้ความยินยอมก่อนมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการป้องกันเพื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
ประกอบกับแวดล้อมสื่อที่เรามี ต่อให้ไม่ใช่สื่อโป๊โดยตรง สื่อโรแมนติกบางสื่อก็อาจให้ความเข้าใจที่ผิด เช่น ภาพยนตร์อีโรติกอันโด่งดังเรื่อง Fifty Shades of Grey จะมีฉากที่พระเอกและนางเอกมีความยินยอมร่วมกันในการร่วมรัก แต่นางเอกไม่ทราบถึงรสนิยม BDSM ของพระเอกมาก่อนเมื่อถึงเวลาดำเนินกิจกรรมทางเพศ แม้นางเอกจะกลัวแต่ก็จำยอมเพราะรัก อย่างนี้แล้วจะเรียกว่าเป็นการร่วมรักหรือเพศสัมพันธ์ได้ไหม? การนำเสนอดังกล่าวจึงก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่ว่า หากเราไม่วิพากษ์สื่ออย่างเท่าทัน เราอาจเข้าใจไม่ตรงกันทั้งต่อเรื่องความยินยอม (consent) หรืออาจสร้างภาพจำที่ไม่ดีให้แก่ชุมชน BSDM เป็นต้น
ไม่ใช่แค่เพศศึกษา แต่ต้องเป็น “เพศวิถีศึกษา”
จากการตรวจสอบและทบทวนหลักสูตรการศึกษาเพศวิถีทั่วโลก ซึ่งดำเนินการโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2559 พบว่าในหลักสูตรไม่ได้ให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่องเพศทั้งในหรือนอกโรงเรียน ไม่มีการสอนเรื่อง กิจกรรมทางเพศ พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรืออัตราการเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเชื้อ HIV และสะท้อนผ่านจากผลการสำรวจพบว่ามีเด็กเพียงร้อยละ 34 จากทั่วโลก ที่เข้าใจถึงการป้องกันและการส่งต่อเชื้อ HIV ได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังพบว่า วิธีการป้องกันปัญหาเรื่องเพศที่ผ่านมาในอดีต เช่น การเข้าร่วมกลุ่มเพื่องดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอในการชะลอความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ หรือลดจำนวนของคู่นอนลง วัยรุ่นต่างต้องเผชิญปัญหาเรื่องเพศและปัญหาสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์มากมาย จากการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การเข้าถึงวิธีคุมกำเนิด ไปจนถึงการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ความรุนแรงทางเพศ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ทางยูเนสโก จึงได้พยายามผลักดันการศึกษาเรื่องเพศวิถีศึกษาที่ครอบคลุม (CSE) ให้มีการใช้ทั่วโลก หรือหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งการศึกษาเรื่องเพศวิถี คือ กระบวนการสอนตามหลักสูตร และการเรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับอารมณ์ ร่างกาย และเพศวิถีในแง่สังคม ซึ่งหลักสูตรได้จัดให้เด็กและเยาวชน มีองค์ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และการมองเห็นคุณค่าที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาได้ตระหนักถึง สุขภาพ สวัสดิภาพ รวมถึงศักดิ์ศรีของตนเอง นำไปสู่การพัฒนาทางด้านการเคารพสังคมและความสัมพันธ์ทางเพศ อีกทั้งทำให้สามารถพิจารณาได้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสวัสดิภาพของตนเองและผู้อื่นจากสิ่งที่เราเลือกได้ พร้อมทั้งเข้าใจและให้ความคุ้มครองสิทธิของตนตลอดชีวิต
ทางยูเนสโกได้มีการวางแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับ CSE ให้ทั้งภาครัฐและประชาชน สามารถนำมาปรับใช้ได้ อีกทั้งยังสร้างแคมเปญ Foundation of Life and Love หรือมูลนิธิเพื่อชีวิตและความรัก ที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งแคมเปญ Foundation of Life and Love ของ UNESCO (#CSEandMe) มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ของ CSE เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับเยาวชนทุกคน เพราะ CSE ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความยินยอม (Consent) รวมไปถึงสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์ของเยาวชนทุกคน
เพศวิถีศึกษาจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นเรื่องที่มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา และในครอบครัว สังคมควรเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องนี้ และเน้นส่งเสริมให้มีการพูดคุย ปลูกฝังเรื่องเพศตั้งแต่อายุยังน้อย ให้รู้สึกปลอดภัยและกล้าพูดกับพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนเป็นสังคมที่เด็กจากแต่ละครอบครัวที่มีความคิด ความเชื่อแตกต่างกันมารวมกัน จึงควรเผยแพร่ความรู้ที่เข้าใจตรงกัน สอนอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และหลักจริยธรรม ส่งเสริมให้กล้าพูดคุย เป็นเรื่องปกติที่ควรคุย เป็นอีกที่ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
แม้จะมีข้อพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเรื่องเพศศึกษารอบด้านหรือ CSE ไม่ได้เร่งเร้าให้เยาวชนต้องการมีกิจกรรมทางเพศ แต่กลับสามารถชะลอการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกให้ยืดเวลาออกไปได้ ทั้งยังมีการส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เพิ่มแนวโน้มการใช้ถุงยางอนามัย จากที่กล่าวมานี้แม้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เรื่องเพศก็ยังเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในหลายประเทศ คนบางกลุ่มออกมาต่อต้าน CSE เพราะอ้างว่าขัดแย้งกับคุณค่าทางศาสนาหรือครอบครัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความคิดเช่นนั้นกลับทำร้ายเด็กและเยาวชนในสังคมมาเป็นเวลานานด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวไปตอนต้น ทำให้พวกเขาขาดคนใกล้ตัวที่สามารถรับฟังปัญหาและให้ความรู้หรือความเข้าใจที่ถูกต้องได้อย่างใกล้ชิด ขาดการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งการนำแนวทางของ CSE มาปรับใช้จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่สมาชิกของศาสนาและครอบครัว เราจึงควรเปิดใจและยอมรับว่าแท้จริงแล้ว CSE ไม่ได้ทำลายคุณค่าทางศาสนาหรือสถาบันครอบครัวแต่อย่างใด และหากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า CSE ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องของการให้เกียรติคนทุกเพศ
CSE หรือการศึกษาเรื่องเพศวิถีมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเยาวชนเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้
Ø ความสัมพันธ์
Ø คุณค่าในตัวเอง, สิทธิ, วัฒนธรรม และเพศวิถี
Ø ความเข้าใจเพศสภาวะ
Ø ความรุนแรงทางเพศ และความปลอดภัย
Ø ทักษะเรื่องสุขภาพและสุขภาวะ
Ø ร่างกายของมนุษย์และการพัฒนาการ
Ø เพศวิถีและพฤติกรรมทางเพศ
Ø สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
CSE ในประเทศไทย
เป็นเรื่องน่ายินดีที่สำนักงานยูเนสโกกรุงเทพฯ ได้เปิดตัวแคมเปญ “CSE: A Foundation for Life and Love” เพื่อเป็นกระบอกเสียงที่ทำให้ทราบถึงความจำเป็นของ CSE อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสนทนาในครอบครัว โรงเรียนและภาคประชาสังคมทั่วไป ดังที่คุณ Maki Hayashikawa หัวหน้าส่วนงานและด้านคุณภาพการศึกษา องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวไว้ว่า ยูเนสโก มุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าเด็กและเยาวชนทุกคนจะได้รับประโยชน์จาก (CSE) เพื่อให้ถูกนำไปใช้งานได้จริง อีกทั้งสามารถควบคุมและตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและความสัมพันธ์ได้อย่างอิสระและรอบคอบ ซึ่งเยาวชนและผู้ปกครองในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างมาก เพราะการศึกษาเรื่องเพศวิถีถือเป็นสิทธิที่สำคัญของเยาวชนทุกคน การได้เรียนรู้เกี่ยวกัย CSE จะช่วยให้เยาวชน สามารถเข้าใจถึงร่างกายและเพศของตน CSE ไม่เพียงแต่จะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ แต่ยังได้เข้าใจถึงวิธีการและความแตกต่างระหว่างการยินยอมกับการถูกบีบบังคับ อีกทั้งช่วยลดความรุนแรงทางเพศ และส่งเสริมให้มีความตระหนักในการเคารพซึ่งกันและกัน
สามารถดาวน์โหลดไฟล์คู่มือ “แนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษา” (International technical guidance on sexuality education หรือ ITGSE) ฉบับภาษาไทยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่เว็บไซต์: https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000368655/PDF/368655tha.pdf.multi
สื่อในปัจจุบันที่สนับสนุน CSE
ด้วยความเป็นจริงที่การเรียนการสอนและสื่อการศึกษาหลักในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมประเด็นเพศวิถีศึกษา จึงได้มีสื่อออนไลน์ที่สนันสนุน CSE เพิ่มเติมจากการเรียนการสอนในหลักสูตร เช่น การ์ตูนความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ แพลตฟอร์ม YouTube ที่เปิดโอกาสให้เผยแพร่คลิปหรือพอดแคสต์ เว็บเพจต่าง ๆ ของภาคประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการออกมาเคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ใช้ออนไลน์ นิยายออนไลน์หรือเว็บตูนที่ผู้เขียนสอดแทรกเประเด็นทางเพศเข้าไปด้วย รวมไปถึงนวัตกรรมขององค์กรต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ ให้ความรู้เยาวชน ทั้งในเรื่องเพศ การเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมทางเพศ รีวิวถ้วยอนามัย สอนใส่ถุงยาง ฯลฯ
นอกจากนี้แล้วยังมีการสอน CSE ในรูปแบบการเรียนการสอนของเว็บไซต์ http://cse-elearning.obec.go.th เป็นหลักสูตรการสอนเพศวิถีศึกษาที่พัฒนาขึ้นสำหรับครูและบุคคลากรทางการศึกษาที่ได้รับมอบหมายให้สอนเพศวิถีศึกษาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 และ 6 และกฏกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ 2561 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ครูที่จบหลักสูตรนี้สามารถนำชั่วโมงที่ได้เรียนรู้ไปบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพหรือการทำวิทยฐานะได้ และหากไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษาก็เข้าไปใช้งานได้เช่นเดียวกันโดยการลงทะเบียนบนเว็บไซต์ดังกล่าว นวัตกรรมขององค์กรต่างๆ จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ ให้ความรู้เยาวชน
อย่างไรก็ดี การทำให้เด็กและเยาวชนสนใจในประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงต้องสร้างการกระตุ้นให้เกิดความสนใจและเข้าไปศึกษา ด้วยรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจเด็ก ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเยาวชน จึงมีการผลิตสื่อในรูปแบบเกมออนไลน์ออกมา เนื่องจากเข้าถึงเด็กได้ง่าย สนุก ดึงดูดความสนใจได้ อย่างเช่น เกมจูดี้ (Judies) ซึ่งเป็นเกมเพื่อการศึกษาที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันปัญหาต่าง ๆ จากการมีกิจกรรมทางเพศของวัยรุ่น ที่มองเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเรื่องการท้องไม่พร้อมและการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติรูปแบบการศึกษานอกห้องเรียนผ่านมินิเกมหลายเกม ซึ่งผู้เล่นจะได้เรียนรู้เรื่องการป้องกันทั้งโรคและการท้องไม่พร้อมก่อนการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังขยายขอบเขตความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์เพื่อให้ผู้เล่นได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในหลากหลายมิติมากขึ้น สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ สิทธิทางเพศของบุคคล การทำความรู้จักร่างกายของตนเอง ความยินยอม (Consent) ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงค่านิยมและทัศนคติเรื่องเพศของสังคม โดยสามารถดาวน์โหลดเกมจูดี้ได้ที่ Google Play
และไม่ลืมที่จะนึกถึงกลุ่มผู้ปกครองซึ่งถือเป็นคนสำคัญที่สามารถกำหนดหรือเลือกสื่อให้ลูกหลานบริโภคได้ จึงมีการเจาะเป้าหมายกลุ่มผู้ปกครองและคุณครูที่เป็นคนแนะนำสื่อให้เด็กได้ เช่น เว็บไซต์ “โอกาสทอง คุยเรื่องเพศ” ที่มีการร่วมงานขององค์กรต่างๆ เพื่อให้วัยรุ่นได้ศึกษาในประเด็นเพศต่าง ๆ และสำหรับผู้ปกครองที่มองหาแนวทางในการคุยเรื่องเพศกับลูก
เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ รวมถึงการศึกษานอกหลักสูตรที่จับกับ CSE
เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ หรือการศึกษานอกหลักสูตร เช่น การจัดเวิร์คช็อป การศึกษาเพศวิถีที่หลักสูตรไทยยังไม่มีกำหนดให้มีการเรียนการสอน จะมีความสำคัญเมื่อมาจับกับ CSE ในการแพทย์หรือวิทยาศาตร์ คือทำให้เด็กๆ เห็นสอดคล้องว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องไกลตัว มองเห็นความสำคัญของ CSE มากขึ้น มองว่าเป็นปกติในการซื้อถุงยาง ใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย เห็นความสำคัญของวัคซีน ยา และใช้อย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของร่างกาย หรือจะเป็นด้านความบันเทิง เช่น เกมสำหรับเด็กที่สอดแทรกเนื้อหา CSE อย่างไม่ดูยัดเยียดมากเกินไป มากกว่าการสอนตรง ๆ เพื่อแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสตาร์อัพอาจมีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ CSE สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ CSE แก่ชุมชนและสถาบันครอบครัว
จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไป จะเห็นได้ว่าโลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาเพศศึกษารอบด้าน สามารถทำให้สังคมรับรู้ เข้าใจและเปิดรับ CSE นอกจากการพูดคุย สอนเรื่องเพศ จะมีประโยชน์เรื่องการเตรียมตัวแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อตัวของเด็ก ๆ ในด้านต่าง ๆ ผู้ปกครองและโรงเรียน รวมไปถึงทางภาครัฐสมควรอย่างยิ่งที่จะส่งเสริม นำ CSE มาปรับเข้ากับบริบทและสังคมตามความเหมาะสม เพื่อเยาวชนอันจะเป็นแรงกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้เติบโตอย่างมีสุขภาพกายและใจที่ดี
อ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2561). โครงการ : “มูลนิธิเพื่อชีวิตและความรัก. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 .เข้าถึงได้จาก
https://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/47249
การสอนเพศวิถีศึกษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 .เข้าถึงได้จาก http://cse-elearning.obec.go.th/
จงจิตร สมิทธิ์. (2561). จูดี้..จุ๊กกระดุ๋ยมหาประะลัย สื่อสอนเรื่องเพศสัมพันธ์ฉบับน่ารัก น่าเอ็นดู๊!!. สืบค้นเมื่อ
วันที่ 11 เมษายน 2564 .เข้าถึงได้จาก https://www.creativecitizen.com/judies/
วรัญญา นันตาแก้ว. (2562). นวัตกรรมวัยใสนครพนมโมเดล : ป้องกันการตั้งครรภ์วัยรุ่น เพื่อสนับสนุนการบรรลุ
เป้าหมายลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นทั่วประเทศให้เหลือต่ำกว่า 25 ต่อ1,000 ประชากร ภายในปี
2569. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 .เข้าถึงได้จาก
https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG191209165752571
UNESCO. Comprehensive sexuality education: A foundation for life and love campaign. สืบค้นเมื่อวันที่
10 เมษายน 2564 .เข้าถึงได้จาก
https://en.unesco.org/themes/education-health-and-well-being/cse-campaign
UNESCO. (2561). Why comprehensive sexuality education is important. สืบค้นเมื่อวันที่
10 เมษายน 2564 .เข้าถึงได้จาก
https://en.unesco.org/news/why-comprehensive-sexuality-education-important
———————-
ดั่งกมล ชูแก้ว
นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
ติดต่อ: dungkamol.chukaew@g.swu.ac.th
บรรณาธิการโดย ดาราณี ทองสิริ