อะไรทำให้พวกเขาล่วงละเมิด?

องค์กร Promundo พบว่าพฤติกรรมล่วงละเมิดและทำร้ายผู้อื่นนั้นเกิดจากการปลูกฝังแบบอ้อมๆ ตั้งแต่เด็กและพบได้ในคนทุกฐานะ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? 

ทั้งจากปรากฏการณ์ระดับโลกอย่าง MeToo รวมถึงข่าวของผู้มีอำนาจทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงใต้บังคับบัญชาในไทย ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ แต่บทสนทนาเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศนั้น มักเน้นพูดถึงผู้ชายที่มีอำนาจในสังคม เช่น Harvey Weinstein, ผู้บังคับบัญชา, อาจารย์ หรือผู้มีฐานะร่ำรวย แต่พฤติกรรมแบบนี้พบได้แค่ในกลุ่มผู้ชายที่มีอำนาจจริงหรือ? หรือนี่เป็นปัญหาใหญ่กว่าที่เราคิด? งานวิจัยล่าสุดของ องค์กรณ์ Promundo อาจช่วยตอบคำถามนี้ให้เราได้

ในงานประชุม World Economic Forum ประจำปี 2018 ที่ผ่านมานี้ องค์กร Promundo จากประเทศบราซิลได้รายงานถึงผลการวิจัยภายใต้หัวข้อ Unmasking Sexual Harassment: How Toxic Masculinities Drive Men’s Abuse in the US, UK, and Mexico and What We Can Do to End It (เปิดเผยเบื้องหลังของการล่วงละเมิดทางเพศ: มายาคติความเป็นชายที่เป็นพิษมีส่วนผลักดันให้ผู้ชายในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเม็กซิโก ทำร้ายผู้อื่นอย่างไร และเราควรทำอย่างไรเพื่อหยุดมัน)

โดยในการวิจัยนี้องค์กรณ์ Promundo ได้ใช้เครื่องมือการวิจัยที่เรียกว่า “Man Box” หรือกล่องความเป็นชายซึ่งเป็นตัววัดว่าผู้ทำแบบทดสอบอยู่ในกล่องหรือเชื่อในมายาคติความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity) มากแค่ไหน กลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัยนั้นเป็นผู้ชายอายุ 18 – 30 ปี ที่มาจากพื้นฐานที่หลากหลายทั้งทางด้านฐานะการเงิน ถิ่นที่อยู่อาศัย และระดับการศึกษา จากประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และเม็กซิโก ประเทศละมากกว่า 1,000 คนด้วยกัน

ผู้ชายที่ล่วงละเมิดผู้อื่น มีจำนวนมากแค่ไหน?

งานวิจัยล่าสุดขององค์กร Promundo พบว่าพฤติกรรมการล่วงละเมิดและทำร้ายผู้อื่นนั้นมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ และพบได้ในผู้ชายหลายๆ คน ไม่ว่าจะมีพื้นฐานชีวิตแบบไหนก็ตาม โดยจากการสำรวจผู้ชายที่เข้าร่วมการทดสอบว่าใน 1 เดือนที่ผ่านมา พวกเขามีพฤติกรรมเข้าข่ายล่วงละเมิดผู้อื่นหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ดังนี้

• 1 ใน 5 ของผู้ชายในประเทศเม็กซิโก และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ชายในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เคย พูดจาล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงและเด็กผู้หญิงแปลกหน้า ในที่สาธารณะ เช่น ตามถนนทางเดิน, ในที่ทำงาน, ในสถานศึกษา หรือบนอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ

• 42% ถึง 48% ของผู้ชายอายุ 18 – 30 ปี ในทั้งสามประเทศ ( US, UK และ เม็กซิโก) เคย กลั่นแกล้งหรือพูดจาดูถูกผู้อื่น ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม

• 1 ใน 5 ของผู้ชายในประเทศเม็กซิโก และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ชายในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เคยส่งรูปภาพหรือข้อความเพื่อก่อกวนหรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามอับอาย ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเป็นเพศชายหรือหญิงก็ตาม

• 1 ใน 5 ของผู้ชายในประเทศเม็กซิโก และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ชายในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เคยทำร้ายร่างกายผู้อื่น ด้วยการใช้อาวุธหรือมือเปล่า

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการล่วงละเมิดผู้อื่นนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกลุ่มผู้ชายที่มีฐานะหรือมีอำนาจ แต่มีการแสดงออกหลายรูปแบบ พบเจอได้ง่าย และยังคงกระทำกันอยู่แทบทุกวันในกลุ่มผู้ชายในทั้งสามประเทศ โดยมีจำนวนถึงประมาณ 1/5 ถึง 1/3 ของกลุ่มผู้ชายที่ทำการสำรวจ

ยิ่งอยู่ในกล่องมาก ยิ่งมีโอกาสล่วงละเมิดผู้อื่นสูง

แม้ว่าผู้ชายจำนวนมากจะไม่ล่วงละเมิด ไม่รังแก และไม่เห็นชอบกับใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น แต่ก็มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้ความรุนแรงหรือล่วงละเมิดผู้อื่นอยู่ อะไรคือความแตกต่างระหว่างผู้ชายสองกลุ่มนี้? คนแบบไหนที่มีแนวโน้มว่าจะมีพฤติกรรมที่รุนแรงและล่วงละเมิดผู้อื่น?

งานวิจัยขององค์กรณ์ Promundo ได้ทำการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้ทั้งสองกลุ่มในทั้งสามประเทศ และพบว่าปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดคือทัศนคติที่พวกเขามีต่อความเป็นชาย โดยวัดจาก Man Box หรือกล่องความเป็นชายเพื่อดูว่าพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในกล่องมายาคติความเป็นชายนี้มากแค่ไหน ตัวอย่างของมายาคติเหล่านี้ ได้แก่ผู้ชายต้องแสดงออกว่าไม่หวั่นไหวแม้ว่าภายในใจจะรู้สึกกลัวหรือกังวลอยู่ก็ตาม”, “ลูกผู้ชายต้องไม่ปฏิเสธเซ็กส์เป็นต้น

ผลลัพท์จากการวิจัยนั้นพบว่า ผู้ชายที่มีความเชื่อในมายาคติความเป็นชายที่เป็นพิษเหล่านี้อย่างรุนแรง มีแนวโน้มสูงมากที่จะมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีแนวโน้มสูงประมาณ 10 เท่าของกลุ่มผู้ชายที่ไม่ค่อยเชื่อในมายาคติดังกล่าว และความเกี่ยวข้องระหว่างระดับการอยู่ในกล่องกับพฤติกรรมล่วงละเมิดผู้อื่นนั้น ยังคงเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมีการควบคุมปัจจัยอื่นๆ อย่าง อายุ, รายได้ และระดับการศึกษาแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า ชายที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดผู้อื่น มีอยู่ได้ในทุกๆ กลุ่ม ไม่เกี่ยวข้องกับฐานะทางบ้าน, ระดับการศึกษา หรืออายุ

แม้ว่าการล่วงละเมิดจะเป็นการแสดงออกถึงอำนาจของผู้ชายต่อผู้หญิงหรือต่อผู้ชายคนอื่น แต่พฤติกรรมนี้ไม่ได้พบแค่ในกลุ่มผู้ชายที่มีอำนาจเท่านั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวผลักดันพฤติกรรมการล่วงละเมิดผู้อื่นของผู้ชาย คือการที่เขานำตัวเองเข้าไปอยู่ในกล่องมายาคติความเป็นชายมากแค่ไหน

มายาคติเหล่านี้มาจากไหน?

ถ้าทัศนคติเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้ผู้ชายมีพฤติกรรมล่วงละเมิดผู้อื่น แล้วมายาคติเหล่านี้มาจากไหน? ผู้ชายหลายๆ คนเรียนรู้มายาคติความเป็นชายเหล่านี้มาจากที่ใดกันบ้าง? งานวิจัยนี้ได้พยายามค้นหาคำตอบของคำถามดังกล่าวและพบว่า

  • ผู้ชายจำนวนเกือบ 2 ใน 3 จากทั้งสามประเทศ เคยได้ยินและได้รับการสั่งสอนว่าผู้ชายจริงๆต้องมีพฤติกรรมอย่างไร
  • ผู้ชายจำนวนกว่าครึ่งของทั้งสามประเทศ เห็นพ้องต้องกันว่าสังคมบอกตนว่าลูกผู้ชายต้องไม่ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์
  • 1 ใน 5 ของผู้ชายในเม็กซิโก และ 1 ใน 3 ของผู้ชายในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร บอกว่า คู่รัก (โดยส่วนมากเป็นผู้หญิง) คาดหวังให้พวกเขาใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาหน้าตาและชื่อเสียงของเขาเอง

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ช่วยกันสร้างกล่องความเป็นชายและผลักดันให้ผู้ชายหลายๆ คนเข้าไปอยู่ในกล่องมายาคตินี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลจากตัวเรา แต่เป็นทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อรอบๆ ตัว, พ่อแม่ผู้ปกครอง, ครู อาจารย์ และเพื่อนทั้งเพศชายและเพศหญิงรอบๆ ตัวของผู้ชายเหล่านั้น หลายๆ คนต่างมีส่วนร่วมผลิตซ้ำและส่งต่อสารที่ว่าการเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริงคือการมีอำนาจเหนือผู้อื่น คือการใช้ความรุนแรง คือการที่ต้องไม่ปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น เรียกได้ว่า พวกเรานั่นเองที่มีส่วนสั่งสอนเด็กผู้ชายให้โตมาเป็นภัยต่อผู้อื่น

แต่หากพวกเรามีส่วนสนับสนุนสร้างกล่องมายาคตินั้นขึ้นมา พวกเราเองก็มีอำนาจในการทำลายมายาคติเหล่านั้นเช่นกัน

เราจะหยุดมายาคติความเป็นชายที่เป็นพิษ และพฤติกรรมการล่วงละเมิดได้อย่างไร?

ปัจจุบันนี้ องค์กรณ์ Promundo มีแผนปฏิบัติการที่มีหลักฐานสนับสนุนว่าสามารถช่วยเปลี่ยนมุมมองที่ผู้ชายมีต่อความเป็นชายได้ และยังส่งผลลดพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ และการใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย โดยทางองค์กรณ์ตั้งชื่อแผ่นการณ์นี้ว่า “Manhood 2.0” หรือผู้ชาย 2.0”

แผนปฏิบัติการ “Manhood 2.0” เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับเด็กผู้ชายและผู้ชายตั้งแต่อายุ 15 – 24 ปี โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ ร่วมกันเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าลูกผู้ชายให้หลุดจากมายาคติที่เป็นพิษแบบเดิม ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้การเคารพผู้อื่น เรียนรู้เรื่องความเท่าเทียม รู้จักใช้ทักษะความคิดเชิงวิพากษ์เพื่อคุยเรื่องค่านิยมทางเพศ ได้เห็นตัวอย่างของผู้ชายที่ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้ชายทุกคนได้รู้สึกว่าตนสามารถเปลี่ยนความหมายของคำว่าลูกผู้ชาย ให้ไปในทางที่เน้นการเอาใจใส่ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และไม่ใช้ความรุนแรงได้ และหากพบเห็นพฤติกรรมล่วงละเมิดหรือทำร้ายผู้อื่น ก็กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยสันติได้

ตัวแผนปฏิบัติการยังมีการทำให้ผู้ชายได้ฟังความเห็นที่หลากหลาย โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับฟังความเห็นและเรื่องราวของผู้หญิงที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงจากหลายชาติพันธ์ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงในกลุ่มอพยพ ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้หญิงข้ามเพศ อีกทั้งพวกเขาจะได้เห็นการทำงานและคอยช่วยเหลือนักกิจกรรมสิทธิสตรีอีกด้วย โดยปัจจุบันนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ได้มีการพิจารณาแล้วว่าแผนปฏิบัติการ “Manhood 2.0” นี้ น่าจะเป็นแผนการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศที่มีประสิทธิภาพ

ผลสรุปของงานวิจัยนี้ น่าจะช่วยให้พวกเราทุกคนหันกลับมาดูประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น ว่าหน้าตาของกล่องมายาคติความเป็นชายในบ้านเรานั้นเป็นอย่างไร? และมีผู้ชายกี่คนที่ยังถูกบังคับ ถูกผลักดันให้ใช้ชีวิตอยู่ในกล่องมายาคตินี้ เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันทำลายกล่องนั้นทิ้ง และลดพฤติกรรมล่วงละเมิดเหล่านี้ลงเสียที

เพราะถ้าแค่ตัวกล่องเองเรายังมองไม่เห็นมัน ก็คงยากที่จะทำลายมันได้ลง

บทความโดย กัส รอดสวัสดิ์