1) คัดกรองอายุตามกฎหมายเพื่อเลือกกลไกที่ปลอดภัยทั้งเยาวชนทั้งคนช่วย

  • หากเยาวชนอายุเกิน 20 ปี ปลอดภัยที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชน ผู้ช่วยเหลือไม่เสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย
  • หากเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ควรได้รับการช่วยเหลือโดยผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีใบอนุญาต เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัยที่อยู่ข้างเยาวชน เครือข่ายครูที่อยู่ข้างเยาวชน นักจิตวิทยามีใบรับรอง นักสังคมสงเคราะห์ องค์กร NGO ต่างๆ

 

2) ประเมินว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

  • บางคนต้องการที่พักใจ ได้คุยสิบนาทีก็ดีขึ้น ไม่ต้องออกจากบ้าน
  • บางคนต้องการออกจากบ้านในระดับชั่วโมง
  • บางคนต้องการที่พักค้างคืนเป็นวัน เป็นสัปดาห์
  • บางคนไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน ต้องการความช่วยเหลือในระยะยาวจนกว่าจะมีงานทำหรือจนกว่าจะกลับสู่ครอบครัวได้
  • บางคนบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาลทางกาย
  • บางคนมีอาการซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือต้องกินยาที่จ่ายโดยจิตแพทย์มาก่อนแล้วเข้าไม่ถึงการรักษา
  • บางคนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและโรงเรียน ต้องการความช่วยเหลือด้านกฎหมาย
    • ให้เยาวชนเป็นคนตัดสินใจว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง จากนั้นมองหาแหล่งความช่วยเหลือได้ที่ https://www.thaiconsent.in.th/pausespace หรือติดต่อสอบถามอาสาสมัครของเราได้ที่ twitter @pausespaceth
    • หากออกมานอกบ้านแล้วไม่มีที่ไป เบื้องต้นจัดหาที่พักผ่อนสาธารณะเป็นการชั่วคราว เช่นร้านอาหาร ห้าง คาเฟ่  หากระยะสั้นไม่สามารถหาทางออกไป ควรประสานส่งต่อให้กลุ่มความช่วยเหลือในระยะยาวเป็นการต่อไป

 

3) รูปแบบการออกจากบ้านที่มักพบ

ในกรณีที่เยาวชนไม่สามารถอาศัยอยู่ที่บ้านของตัวเองได้ มักพบรูปแบบดังต่อไปนี้

  • ระยะตัดขาด : ไม่สามารถพูดคุยหรือต่อรองกับครอบครัวได้ ต้องการพื้นที่รับรองทางกาย ทางใจ ทางการเงิน กินเวลาต่างกันไปตามสถานการณ์ บางคนเป็นชั่วโมง บางคนเป็นวัน บางคนเป็นสัปดาห์
  • ระยะต่อรอง : เริ่มต่อรองกับครอบครัวว่าต้องการอะไร เช่น เราจะอยู่ด้วยกันต่อแต่เราจะไม่ใช้ความรุนแรง ขอออกมาหาที่พักอาศัยเองแต่ขอเงินช่วยเหลือ รูปแบบคำขอและระยะเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์
  • ระยะกลับสู่ครอบครัวในเงื่อนไขใหม่ : เยาวชนอาจทดลองไปกลับบ้าน ตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยที่ยังมีพื้นที่ปลอดภัยอยู่นอกบ้านคอยรองรับ

 

4) ปลายทางของความช่วยเหลือ 

  • เยาวชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง (*ในกรณีที่บรรลุนิติภาวะแล้ว)
  • กลับสู่ครอบครัวในเงื่อนไขที่ต้องไม่มีความรุนแรงในครอบครัว

 

มองหาแหล่งความช่วยเหลือได้ที่ https://www.thaiconsent.in.th/pausespace หรือติดต่อสอบถามอาสาสมัครของเราได้ที่ twitter @pausespaceth