ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก documentary club
ปี 2017 นี้ เราได้เก็บข้อมูลทำ thaiconsent ต่อจากปีที่แล้ว และเราพยายามทำให้ข้อมูลของเรารัดกุมต่อความหลากหลายของประสบการณ์ให้มากขึ้น เราพบว่าเซ็กซ์ที่ไม่โอเคมีหลายเฉด การรับมือก็ควรจะมีหลายๆเฉดเพื่อไม่ให้คนที่รู้สึกแย่รู้สึกแย่กับมันมากเกินความเป็นจริง
หากคุณรู้สึกแย่หรือสับสนกับสิ่งที่อยากขึ้น เราอยากชวนให้คุณสำรวจตัวเองว่ากรณีของคุณใกล้เคียงกับประสบการณ์เฉดไหน และน่าจะได้รับความช่วยเหลือในทางใดบ้าง
เฉดที่ 1 : คุณไม่ได้ตั้งใจแต่แรกที่จะมีกิจกรรมทางร่างกายกับคนนั้นเลยยยย และผลลัพธ์เป็นอะไรที่ไม่พึงประสงค์มากๆ คุณเกิดคำถามว่าคนนั้นทำแบบนี้กับเราได้ไงอย่างรุนแรง ผู้ที่พบประสบการณ์เช่นนี้มักต้องการกระบวนการยุติธรรม … “เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ ไม่ใช่ความผิดของคุณ และผู้ที่กระทำต่อคุณควรจะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น”
เป็นเฉดที่เนื้อหาในเว็บไซต์นี้สื่อสารด้วยเป็นหลัก เลื่อนไปอ่านคำแนะนำเพื่อรวบรวมหลักฐานด้านล่างได้เลย
เฉดที่ 2 : คุณไม่ได้ตั้งใจแต่แรกที่จะมีกิจกรรมทางร่างกาย ผลลัพธ์เป็นอะไรที่ไม่พึงประสงค์ แต่มีเงื่อนไขต่างๆมารองรับให้สิ่งที่เกิดขึ้นดูชอบธรรม คุณอาจจะรู้สึกแย่แต่ไม่ได้ต่อต้าน 100% เช่น ต้องโชว์ไข่/ โดนรุ่นพี่จับร่างกายตอนรับน้อง เป็นต้นตัวชี้วัดในเหตุการณ์นี้ คือการทบทวนว่าเรามีความคิดเรื่อง “เขาทำได้ เขาไม่ผิด เพราะเขาเป็น…. ในขณะที่เราเป็น…. เราจำเป็นให้ความร่วมมือเขา” เกิดขึ้นหรือไม่
ถ้าใช่ เราอยากจะบอกคุณว่า คุณไม่ผิดที่จะรู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้น และคุณอาจจะไม่กล้าขัดขืนด้วยเงื่อนไขต่างๆเพราะคนที่ปฏิบัติต่อคุณมีอำนาจมากกว่าในสังคมของคุณ
ในทางปฏิบัติ ปัญหาเช่นนี้จะต้องยืมแรงสนับสนุนในระดับสังคม หรือจากอำนาจที่เหนือกว่าคนลงมือละเมิดเพื่อทำให้ความรู้สึกชอบธรรมมีน้อยลงหรือหมดไป เช่น แจ้งเรื่องต่อสื่อมวลชน เป็นต้น
คุณอาจจะ…
- สู้เลย : เพื่อเป็นบรรทัดฐานในสังคม และป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นกับคนอื่นๆ การต่อสู้เพื่อตนเองโดยตรงเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้คุณเกิดความภาคภูมิใจในตนเองในระยะยาว สิ่งที่คุณต้องการคือ สังคมและคนใกล้ชิดที่พร้อมจะเคียงข้างคุณ
- สู้ทางอ้อม : ในคนที่ไม่สะดวกใจจะขัดแย้งกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าด้วยเหตุผลต่างๆ คุณอาจจะเลือกสู้ทางอ้อมด้วยการเป็นแนวร่วมส่งเสริมความรู้ด้าน Consent และผลักดันนโยบายที่ทำให้โครงสร้างนั้นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น สนับสนุนให้ยกเลิกการรับน้อง สนับสนุนให้มีการเรียนการสอนเรื่อง Consent ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
เฉดที่ 3 : เป็นคนที่น่าจะมีโอกาสมีเพศสัมพันธ์กันในอนาคต แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นตอนนี้ เฉดนี้มักเกิดกับเคส เพื่อนสนิท คู่เดท รุ่นพี่รุ่นน้อง คนใกล้ชิด และส่วนมากมีอาการมึนเมาเข้ามาประกอบเอาจริง คุณไม่ได้ตั้งใจแต่แรกที่จะมีกิจกรรมทางร่างกายกับคนนั้น แต่ผลลัพธ์มันก้ำกึ่ง ไม่รู้ว่าจะรู้สึกยังไงดี อาจจะอยู่ในเฉดที่อภัยได้ คุณอาจจะต้องการแค่คำขอโทษก็ได้ หรือต้องการขึ้นโรงขึ้นศาลก็ได้ อย่างไรก็ตาม คุณอาจจะพบความรู้สึกแปลกๆ และสับสนว่าฉันควรรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร (ที่เกิดขึ้นมันโอเคป่าววะ) หรือถ้าย้อนเวลากลับไปมันน่าจะดีกว่านี้ได้ไหม
คำแนะนำของเราคือ อย่าเพิ่งรีบหาคำตอบว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด ลองฟังความรู้สึกของตัวเองมากกว่าความคิดดูนะ
- ถามตนเองว่า รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น (โดยไม่อ่านใจอีกฝ่าย)
- ถามตนเองว่า อยากจะพูด อยากจะถาม อยากจะบอกอะไรอีกฝ่ายบ้าง
- ถามตนเองว่า คาดหวังให้อีกฝ่าย พูดกับเรา ถามเรา หรือบอกอะไรเราบ้าง
- ถามตนเองว่า ต้องการให้อีกฝ่ายรับผิดชอบอะไรหรือเปล่า
ผลลัพธ์ของเฉดนี้อาจลงเอยที่อะไรก็ได้ทั้งนั้น ตั้งแต่การให้อภัย คำขอโทษ สิ้นสุดความสัมพันธ์ ไปจนถึงการทำคดีความ อย่างไรก็ตาม คำตอบที่คุณตามหาต้องเกิดจากตัวคุณเท่านั้น ใจเย็นๆนะ
เฉดที่ 4 : คุณตั้งใจแต่แรกที่จะมีกิจกรรมทางร่างกายกับคนนั้น แต่พอเอาจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นดังหวัง คุณอาจจะรู้สึกว่าไม่โอเค ไม่พร้อม ติดขัด มีปัญหา อยากถอยแปปนึง… แต่ก็ปล่อยเลยตามเลยเพราะเกรงใจหรืออะไรสักอย่าง… แล้วค่อยมารู้สึกทีหลังว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปมันน่าจะดีกว่านี้ได้ หรือเราน่าจะบอกให้หยุดซะ”
เคสนี้มักเกิดกับ คนที่จีบกัน หรือเป็นแฟนกันอยู่ ปัญหาเฉดนี้สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง คุณแค่ต้องรู้วิธีสื่อสารให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกแก่ความสัมพันธ์ของคุณ
เรื่องสำคัญคือ ไม่ควรอดทนเก็บเงียบ สะสม จนเป็นปมในความสัมพันธ์ เพราะท้ายที่สุดแล้วการสะสมปัญหาเอาไว้จะนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆอยู่ดี
คำแนะนำคือ
- ปรับทุกข์กับเพื่อนที่ไว้ใจ รอให้ถึงจังหวะเหมาะๆ แล้วลองปรึกษาคู่ของคุณว่าคุณมีปัญหาอะไร เล่าให้ฟังว่าทำไมคุณถึงไม่กล้าสื่อสารความในใจออกมาตั้งแต่ตอนนั้น
- ลองคุยกันว่าเราจะสังเกต ภาษากาย ของกันและกันให้มากขึ้นได้อย่างไร
จะเห็นได้ว่า บางเฉดใช้คำว่าละเมิด เพื่อที่หลังจากนี้ฉันจะจัดการกับไอ้นั่นซะ แต่บางเฉดที่เป็นประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ ฉันก็ไม่อยากรู้สึกว่าถูกละเมิดอะไรขนาดนั้น (แต่มันก็ยังคงไม่โอเคอยู่ดีอะนะ ฉันต้องการทำไรสักอย่าง)
เนื้อหาส่วนมากในเว็บไซต์นี้ สื่อสารกับผู้ถูกละเมิดเป็นส่วนใหญ่ แต่เราจะพยายามเพิ่มเติมเนื้อหาสำหรับเฉดอื่นๆ ให้มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกประสบการณ์ทางร่างกายควรจะเป็นเรื่องที่เราแฮปปี้และภาคภูมิใจเนอะ
ด้านล่างเป็นคำแนะนำเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกข่มขืน ถ้าพร้อมแล้วอ่านต่อได้เลยจ้า
เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องทำอย่างไร
การบีบบังคับทางเพศถือว่าผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนนโยบายของโรงเรียนหรือสถานที่ทำงาน ถ้าหากคุณอายุไม่ถึง 18 ปี บอกให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หากอายุเกินแล้ว สามารถขอความช่วยเหลือและรายงานพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุณสามารถปรึกษาทนาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือตำรวจท้องที่ได้ หากทำได้ ให้ออกห่างจากบุคคลผู้กระทำการล่วงละเมิดและไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากถูกล่วงละเมิดทางกายหรือถูกข่มขืน
มีขั้นตอนสำคัญที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
- เก็บหลักฐานทุกอย่างที่จะมี DNA ของคนร้าย
มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่ลบล้างมันออกไป แต่การล้างจะทำลายหลักฐานสำคัญ อย่าเพิ่งทำความสะอาดร่างกายใดๆ ไม่ว่าจะล้าง ขัด หวีผม อย่าเปลี่ยนเสื้อผ้าถ้าเป็นไปได้ อย่าเคลื่อนย้ายหรือสัมผัสสิ่งของในสถานที่เกิดเหตุ วิธีนี้จะช่วยให้ตำรวจเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคนร้ายได้
- มองหานาฬิกา จดจำวันที่ เวลา สถานที่ ให้ได้อย่างแม่นยำ
- ถ่ายภาพร่องรอยบาดแผลไว้เป็นพยานหลักฐาน ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่มีประโยชน์อย่างมาก
- ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุดใน 72 ชั่วโมง
คุณต้องได้รับการตรวจอาการบาดเจ็บ รวมถึงรับยาป้องกันโรค HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ รวมถึงยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน คุณสามารถขอให้ทางโรงพยาบาลจัดการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ แพทย์และพยาบาลจะมาเก็บหลักฐานเช่น เส้นใย เส้นผม น้ำลาย คราบอสุจิ หรือเศษชิ้นส่วนเสื้อผ้า คุณไม่จำเป็นต้องตัดสินใจตั้งแต่อยู่ที่โรงพยาบาลว่าจะแจ้งข้อหาหรือไม่ - หากกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ ให้ซื้อยาคุมฉุกเฉินตามร้านขายยาทั่วไป
กินทันทีภายในเวลา 72 ชั่วโมง ยิ่งเรากินยาคุมฉุกเฉินเร็วเท่าไร จะทำให้การป้องกันการตั้งท้องนั้นมีประสิทธิภาพ หากว่ากลัวลืมที่จะกินยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่สองหลังจากกินเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง สามารถกินสองเม็ดในครั้งเดียวได้ ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างกัน - ถ้าคุณรู้สึกว่าถูกวางยา แจ้งกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเพื่อขอตรวจสอบว่ามียาบางชนิด เช่น Rohypnol หรือ Gamma Hydroxybutyrate (GHB) หรือยาอื่นๆ อยู่ในร่างกายหรือไม่
- เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสามารถช่วยติดต่อไปยังศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มขืนได้ เจ้าหน้าที่ที่นั่นจะช่วยเหลือในเรื่องของการแจ้งความ ให้คำปรึกษา และจัดกลุ่มเพื่อเยียวยา
- ขอความช่วยเหลือ
โทรหาเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่ไว้ใจได้ หรือโทรแจ้งสายด่วนและศูนย์ร้องเรียน ที่นั่นจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครและผู้ให้คำปรึกษาที่จะสามารถช่วยค้นหาความช่วยเหลือซึ่งอยู่ใกล้คุณได้
- หากคนที่เราไว้ใจไม่ได้เป็น “คนที่ใช่ที่จะรับฟัง”
หากพวกเขาไม่มีท่าทีสนับสนุนคุณ ให้กำลังใจคุณ หรือกลับทำให้คุณรู้สึกแย่ลง อย่าพึ่งคล้อยตามหรือกล่าวโทษตัวเอง ให้หันไปปรึกษาคนกลาง คนที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมูลนิธิที่ให้เบอร์ไว้ข้างต้น หรือปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อให้คุณได้รับการเยียวยาจิตใจที่ถูกต้อง - แจ้งความกับตำรวจ
หากคุณต้องการปรึกษาเรื่องการแจ้งความเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถโทรไปได้ที่ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม - เจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยแนะนำวิธีการแจ้งความ
หากคุณกลัวว่าคนที่ทำร้ายคุณจะตรวจสอบประวัติการใช้โทรศัพท์ของคุณ ให้ขอยืมโทรศัพท์ของเพื่อน หรือใช้โทรศัพท์สาธารณะ
คุณสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ว่าไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนหรือผู้ใดทั้งสิ้น ยกเว้นอัยการ
ถ้าคุณไม่ได้แจ้งความทันที ให้จดบันทึกเหตุการณ์ไวอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่อง วัน เวลา สถานที่ จะได้สามารถให้ข้อมูลกับตำรวจในภายหลังได้ - บันทึกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับคนที่ทำร้ายคุณและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด
การเขียนช่วยได้เมื่อรู้สึกลำบากใจที่จะพูด
ฉันจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรภายหลังจากโดนล่วงละเมิดแล้ว
หลังจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ คุณอาจจะรู้สึกกลัว อับอาย รู้สึกผิด หรือตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็นปรกติที่จะเกิด แต่ควรระลึกไว้ว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่ความผิดของคุณ การพูดหรือบอกเล่าเรื่องราวกับผู้อื่นอาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวแต่คุณจำเป็นต้องทำ คุณสามารถโทรหาองค์กรเหล่านี้ได้ทุกเมื่อ… คุณจะได้ไม่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง
Translated by – Kittiya