ที่มาของโครงการแลกเปลี่ยน Thaiconsent x FRP Exchange Program 2020

Thaiconsent ทำงานกับพื้นที่ออนไลน์และคนในชุมชนเมืองมาโดยตลอด หลังจากเราได้พบกับ คุณเซี๊ยะ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ Freedom Restoration Project ช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนไทย-แม่สอด เรื่องราวที่เรารับรู้ผ่านพี่เซี๊ยะทำให้เรารู้สึกว่า เราน่าจะทำอะไรสักอย่างได้เพื่อช่วยพี่เซี๊ยะสื่อสารประเด็นของคนในพื้นที่ชายแดนสู่สังคม และทางเราก็อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการรับมือความรุนแรง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงในพื้นที่ชายแดน จึงเกิดเป็นโครงการแลกเปลี่ยนโครงการนี้ขึ้น โดยได้รับความสนับสนุนจากกองทุน FRIDA Young Feminist Fund

 

เกี่ยวกับ Freedom Restoration Project

Freedom Restoration Project (FRP) เน้นที่การเสริมพลังผู้หญิงและเด็กที่มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ผ่านกิจกรรม การเรียนรู้แบบกลุ่ม ที่จะสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ความปลอดภัยและสร้างกลุ่มช่วยเหลือให้เข้าถึงได้ FRP ทำงานกับผู้หญิงจำนวนนับไม่ถ้วนที่เข้ามาพบปะ แบ่งปัน เล่าเรื่องราวถึงความหดหู่สิ้นหวังจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น – การรู้สึกว่าถูกกักขังในบ้าน ติดอยู่กับคู่ครองที่ใช้ความรุนแรง และผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้อยู่ในสถานะทางการเงินที่พร้อมให้เธอเดินออกจากคู่ครองของเธอได้

Selah center : เซลาห์เซนเตอร์ บ้านพักสำหรับหยุดพัก

ในแม่สอด บริการให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงมีปริมาณจำกัด โดยเฉพาะเมื่อผู้ประสบปัญหาต้องการพื้นที่ปลอดภัยที่ได้ออกจากบ้านมาหยุดคิด ตัดสินใจ และหาความช่วยเหลือเพื่อออกจากวงจรความรุนแรง บ้านพักสำหรับหยุดพักนี้ให้บริการคำปรึกษาเพื่อสร้างแผนชีวิตที่ปลอดภัย และให้การศึกษาเรื่องทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก โดยมีกิจกรรมให้ทั้งสำหรับผู้ปกครองและเด็ก

ทำไมเราจึงอยากทำงานร่วมกัน ?

FRP รับมือเคสความรุนแรงในครอบครัวมานับครั้งไม่ถ้วน ในขณะเดียวกัน Thaiconsent ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้โดยตรง (แต่มีคนจำนวนมากขอความช่วยเหลือจากเราผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเรามักใช้วิธีส่งต่อให้องค์กรอื่นที่เชี่ยวชาญเป็นผู้รับเคสแทน) เลยคงจะดีหาก Thaiconsent ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของFRP และ Selah Center และในขณะเดียวกัน คงจะดีหาก Thaiconsent ได้ช่วยทำงานออกแบบสื่อสารประเด็นสำคัญที่ FRP อยากให้สังคมตระหนัก รับรู้ ถึง “เสียงที่ไม่ได้ยิน” อันเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลสื่อและห่างไกลชุมชนเมือง

สิ่งที่เราเห็นตรงกัน คือ ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ห่างไกลต้องเข้าใจความรุนแรงในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น คนเมืองเองก็ยังมีมายาคติกับเรื่องนี้อยู่มาก เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มีแค่ความรุนแรงทางกาย แต่ยังประกอบไปด้วยการบังคับกดดันทางจิตวิทยา และการควบคุมทางการเงิน ซึ่งการแก้ไขเรื่องนี้จะต้องทำอย่างเป็นระบบ เป็นโครงสร้าง และต้องเกิดการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

กิจกรรมในโครงการแลกเปลี่ยน

  • ตัวแทนจาก Thaiconsent และเครือข่าย เข้าค่าย 4 วันที่ Selah Center เพื่อเรียนรู้ถึงสถานการณ์ ปัญหา และสิ่งที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้
  • หลังจากเข้าค่ายแล้ว ทางทีม Thaiconsent จะมาครุ่นคิดร่วมกับทีมงาน FRP ว่าเราจะสามารถสื่อสารประสบการณ์ 4 วัน ออกมาผ่านสื่อสร้างสรรค์ เช่น วานเขียน การ์ตูน วิดีโอ หรืออื่นๆ ได้อย่างไร
  • ในขณะเดียวกัน นอกจากการสื่อสารงานของ FRP แล้ว เราจะมาช่วยกันคิดว่ามีอะไรที่ Thaiconsent สามารถช่วยเหลือ FRP ผ่านการออกแบบได้บ้าง เช่น การออกแบบเครื่องมือการเรียนรู้ การออกแบบสื่อ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อระดมทุน โดยเราจะกลับไปที่แม่สอดอีก 4 วันเพื่อทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นร่วมกันในรูปแบบ Hackathon 
  • เมื่อเสร็จโครงการแล้ว ทีมงาน Thaiconsent จะถูกประเมินโดยทีมงาน FRP เพื่อดูว่าเราสามารถพัฒนาโครงการได้อย่างไรในอนาคต
  • บทสรุปของโครงการและการถอดบทเรียนจะถูกเผยแพร่ใน Thaiconsent.in.th และ Consentconnection.org เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  • ผลิตภัณฑ์หรืองานออกแบบเชิงการเรียนรู้จะถูกเผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์แบบ Open Source (สามารถนำไปใช้ได้ฟรี สำหรับทุกๆ  คน)

 

 

เป้าหมายในการแลกเปลี่ยน

  1. เรียนรู้การให้คำปรึกษาในพื้นที่จริง และสร้างเครือข่ายที่มีความตั้งใจร่วมกันในระยะยาว
  2. แลกเปลี่ยนทักษะที่สามารถสนับสนุนงานของกันและกันได้ โดยเฉพาะทักษะด้านการผลิตสื่อและการออกแบบ
  3. สร้างการตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ, ผู้อพยพ, คนชายขอบ
  4. ระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ Selah Center

 

กรอบเวลา

โครงการแลกเปลี่ยนนี้มีความตั้งใจว่าจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2020 (7 เดือน เจอกันจริงๆ 8 วัน นอกนั้นพบกันออนไลน์ในเวลาว่างค่ะ)

  • พฤษภาคม: เตรียมทีมงานและเตรียมโครงการ (work from home)
  • มิถุนายน: ค่ายครั้งแรกที่ Selah Center (4 วัน)
  • กรกฎาคม: ผู้ร่วมค่าย สื่อสารสาธารณะถึงประสบการณ์ในแม่สอด (work from home) และ Thaiconsent จัด Webinar ในหัวข้อ “จะใช้แนวคิดทางการออกแบบและการสื่อสารมาสนับสนุนงานของ FRP ได้อย่างไร” 1 ครั้ง (work from home)
  • สิงหาคม: ค่ายครั้งที่สองที่ Selah Center เพื่อทำ Hackathon งานออกแบบแก้ปัญหาความรุนแรง (4 วัน)
  • กันยายน-พฤศจิกายน: Thaiconsent สื่อสารผลลัพธ์ Hackathon และจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือ Selah Center (work from home)
  • ธันวาคม: ถอดบทเรียนโครงการจากผู้เข้าร่วม (work from home)

 

คณะแลกเปลี่ยน

คณะเดินทางไปแลกเปลี่ยนที่ Selah Center ประกอบไปด้วย

  • วิภาพรรณ วงษ์สว่าง (ผู้อำนวยการโครงการ)
  • เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ (ผู้จัดการโครงการ)
  • พีราณี ศุภลักษณ์ (Gender Corner)
  • เอมมา โทมัส (Under the Ropes)
  • ปัทมาลักษณ์ ทองสี (นักศึกษาฝึกงาน Thaiconsent ภาคใบไม้ร่วง)
  • ภัทธนัน เตชะเสน (นักศึกษาฝึกงาน Thaiconsent ภาคใบไม้ร่วง)
  • ภูมิพัฒน์ วรรธนะศิริกุล (นักศึกษาฝึกงาน Thaiconsent ภาคใบไม้ร่วง)
  • อภิชญา พิทักษ์มงคล (นักออกแบบแลกเปลี่ยน)
  • รัชชานนท์ วนิชสมบัติ (นักออกแบบแลกเปลี่ยน)
  • อรุณรัตน์ ตั้งติปกรณ์ (นักออกแบบแลกเปลี่ยน)