หรือความจริงแล้ว ระบบปิตาธิปไตย คือทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างมาเพื่อโยนความผิดให้ผู้ชายทุกคน (รวมถึงผู้ชายดี ๆ) ว่าเป็นต้นเหตุของความเคราะห์ร้ายของผู้หญิง … ใช่เหรอ

ใช่หรือไม่ใช่ ปิตาธิปไตยเป็นคำเล่นใหญ่ที่มโนกันไปเองรึเปล่า?

Patriarchy / ระบบปิตาธิปไตย / ระบบชายล้วน / สังคมชายเป็นใหญ่ คืออะไร?

ปิตาธิปไตย (Patriarchy) คือ รูปแบบหนึ่งของการแบ่งแยกชนชั้นตามลำดับขั้นของอำนาจทางสังคม เมื่อแปลตรงตัวจะหมายถึงการปกครองโดยบิดา แต่ในหมู่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminist) ปิตาธิปไตยหมายถึงการคงรักษาอำนาจของกลุ่มผู้ชายให้เหนือกว่ากลุ่มผู้หญิง ในขณะที่สภาพความเป็นจริงนั้นความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นเพียงแค่หนึ่งมิติในการแบ่งแยกทางสังคม ยังมีการแบ่งแยกในมิติอื่น ที่ต่างกัน ไปซ้อนทับอยู่ เช่น การแบ่งแยกทางเศรษฐสถานะ, เชื้อชาติ, สีผิว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันภายในสังคมหนึ่ง หรือที่เรียกว่า intersectionality เพราะฉะนั้นกลุ่มคนอาจไม่จำเป็นต้องถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศเพียงอย่างเดียว นั่นแปลว่าผู้หญิงอาจไม่ได้ถูกควบคุมโดยผู้ชายในทุกกรณี อย่างในกรณีที่ผู้ชายที่เป็นลูกจ้างต่างด้าวไม่อาจมีอำนาจเหนือผู้หญิงไทยที่เป็นนายจ้าง หรือ การที่ผู้หญิงสามารถควบคุมผู้หญิงด้วยกันเองเมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นคนรับใช้ของอีกฝ่าย เหล่านี้เป็นมิติอำนาจที่ซับซ้อน (intersectionality)

ถ้าอย่างนั้นอะไรจะอธิบายได้ดีกว่า?

เนื่องจากข้อจำกัดทางภาษาของคำว่าปิตาธิปไตย หรือ Patriarchy ที่มักไม่สามารถครอบคลุมการถูกกดขี่ที่ซ้อนทับจากหลากหลายมิติทางสังคม บางคนจึงหันมาเลือกใช้คำว่า Kyriarchy ซึ่งพยายามนิยามระบบปิตาธิปไตยขึ้นใหม่ โดยทำให้สะท้อนถึงการแบ่งแยกและการกดขี่ที่ประกอบขึ้นจากหลากหลายมิติและแนวคิดทางสังคม

ใครคือผู้ถูกกดขี่ที่แท้จริงในสังคม?

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมองลึกลงไปในมิติของความเหลื่อมล้ำทางเพศจะพบว่าโดยภาพรวม ผู้หญิงเป็นเพศที่เสียเปรียบและถูกกดขี่ทางสังคม อาจเห็นได้จากตำแหน่งผู้นำที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ชาย เนื่องจากไม่ว่าจะเก่งขนาดไหน แต่บทบาทของผู้หญิงถูกสังคมตีกรอบว่าไม่มีความสามารถพอที่จะเป็นผู้นำของผู้ชายได้ หรือวันหนึ่งต้องออกจากองค์กรไปเป็นแม่ที่ทุ่มเทชีวิตให้ลูกอย่างเต็มที่ นี่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้หญิงต้องการที่จะทำลายบรรทัดฐานทางเพศเดิมที่สังคมมี เพราะความคาดหวังและกรอบทางเพศเหล่านี้เป็นตัวจำกัดพื้นที่ในการแสดงออกถึงความต้องการและความสามารถที่แท้จริงของแต่ละบุคคล

ทั้งนี้ปิตาธิปไตยเป็นระบบที่ฝังรากอยู่ในทุกสังคม แต่ละสังคมมีความเข้มข้นมากน้อยแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับตัวบุคคล นั่นหมายถึงว่าไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะเป็น Patriarch หรือผู้ชายที่มีอำนาจพิเศษจากข้อได้เปรียบในหลายด้านทางสังคม เช่น ตำแหน่งหน้าที่ ความสำเร็จ เงินทอง ฯลฯ และใช้ข้อได้เปรียบเหล่านั้นเพื่อควบคุมครอบครัวและสังคมรอบข้างเพื่อคงอำนาจในสถานะของตนเอง ผู้ชายที่ขาดข้อได้เปรียบด้านต่าง นั้นอาจไม่สามารถปฏิบัติตนตามแนวคิดของ Patriarchy ได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาไม่อยากทำ

ในแง่มุมการมองความเหลื่อมล้ำทางเพศในบริบทเศรษฐสังคมมักพบว่าปิตาธิปไตยถูกแสดงออกให้เห็นโดยแบบแผนที่กลุ่มผู้ชายได้รับผลประโยชน์จากความไม่เป็นธรรมทางเพศมากกว่ากลุ่มผู้หญิง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีต้นทุนมากกว่าอาจมีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีต้นทุนน้อยกว่า เพราะฉะนั้นการเรียงลำดับของความทับซ้อนทางสังคม หรือ Kyriarchy จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง

อะไรบ้างในสังคมที่แสดงถึงแนวคิดปิตาธิปไตย?

ในบางสังคมที่ยอมรับแนวความคิดปิตาธิปไตยอย่างเปิดกว้าง ผู้หญิงและเด็กมักถูกเอาเปรียบ ควบคุมให้อยู่ภายใต้อำนาจ และ ถูกใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับสังคมที่มีค่านิยมการมีภรรยาหลายคน นำไปสู่มุมมองต่อผู้หญิงว่าเป็นสมบัติสำหรับผู้ชายเพื่อครอบครอง แต่ในหลายสังคมในปัจจุบันได้ถูกขัดเหลาและก้าวข้ามผ่านระบบปิตาธิปไตยที่รุนแรงและโจ่งแจ้งมาแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่และความเป็นความตายไม่ได้อยู่ในมือของ Patriarch อีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นสังคมในปัจจุบันยังคงมีรูปแบบความคิดของปิตาธิปไตยแอบแฝงอยู่ และยังคงหยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับใครก็ตามที่อยู่บนยอดปีรามิด (ซึ่งส่วนมากแล้วคือกลุ่มผู้ชายชนชั้นกลางขึ้นไป) ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นยังคงสามารถมีอำนาจเหนือผู้ชายที่อยู่ตรงฐานรากปีรามิด และโดยเฉพาะผู้หญิงในปิรามิดของอำนาจได้ต่อไป

แล้วในบริบทของประเทศไทยล่ะ?

ประเทศไทยเองยังคงมีลักษณะการปฏิบัติตามระบบชายล้วนอยู่อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ UN ให้ความสำคัญ โดยประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล และประเทศไทยกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ถึงแม้ประเทศไทยจะมีความตระหนักในระดับนโยบายในบางส่วน แต่เห็นได้ชัดว่ายังขาดประสิทธิภาพในการนำไปปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดผล เห็นได้จากสถิติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงที่พุ่งสูงในปีพ.. 2561 มีผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกาย 7 คนต่อวัน และผู้หญิง 30,000 คนต่อปีเข้าแจ้งความ โดยเหยื่อมีอายุระหว่าง 5 – 90 ปี และกว่า 60% ของเหยื่อคือนักเรียนหรือผู้ที่มีอายุ 5 – 20 ปี นอกจากปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมแล้ว ระบบชายล้วนยังฝังรากในระดับการเมือง แสดงให้เห็นจากสัดส่วน .. หญิงในสภาของไทยคือประมาณ 5% ของจำนวนส..ทั้งหมด ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำสุดในประเทศอาเซียน

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ ในหลายประเทศจะมีโครงสร้างทางกฎหมายที่บัญญัติถึงการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ แต่เศษซากของระบบปิตาธิปไตยแบบโจ่งแจ้งจากอดดีตยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมในรูปแบบที่แอบแฝง และส่งผลกระทบต่อการพึ่งพาตนเองของผู้หญิงทั้งทางด้านสังคมและด้านการเงิน ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ สังคมที่ยึดหลักธรรมเนียมเดิมยังคงควบคุมและกดขี่ผู้หญิง ทั้งทางด้านสังคม และด้านกฎหมายที่เอื้อต่อความอยุติธรรมต่อผู้หญิง ความกดขี่เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminism) ที่ต้องการรื้อถอนหลักความคิดแบบปิตาธิปไตย และเมื่อมีคนเรียกร้องให้เปลี่ยนโครสร้างอำนาจใหม่ ผู้ที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบเดิมจึงรู้สึกถูกโจมตีและทำการต่อต้านการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์

ดังนั้นระบบปิตาธิปไตยจึงไม่ใช่ทฤษฎีที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อกล่าวโทษผู้ชายอย่างเลื่อนลอย หากแต่ปรากฏอยู่ในทุกสังคมซึ่งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศนั่นเอง

 

ผู้เขียน เอม พิชญพร ฤทธิ์คัมภีร์
ภาพ พลอยพรรณ เกตุจรัล

อ้างอิง

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]