สังคมชายเป็นใหญ่ ใครร่วมสังฆกรรม
บทความนี้จะมาสำรวจกันว่า สังคมชายเป็นใหญ่คืออะไร มีโครงสร้างอย่างไร ใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์อย่างไร และใครเป็นผู้มีส่วนร่วม
TW: rape, homophobia, transphobia, domestic violence
คำเตือนเนื้อหา: มีการกล่าวถึงการข่มขืน ยกคำพูดที่แสดงความรังเกียจคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ มีการกล่าวถึงความรุนแรงภายในครัวเรือน
ในการประท้วงความไม่เท่าเทียมในสังคมด้านต่าง ๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า สังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ในฐานะต้นตอปัญหาความไม่เท่าเทียมกันมาบ้าง โดยเฉพาะในด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศและสิทธิคนชายขอบ (marginalised people) แนวคิดต่อต้านความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ เรียกว่า feminism และการต่อสู้ของเฟมินิสต์ การเรียกร้องความเท่าเทียมและกล่าวถึงปัญหาสังคม อย่างเช่นเรื่อง บทบาททางเพศ (gender roles[1]), สถิติการถูกล่วงละเมิดทางเพศ, สิทธิของ lgbtqia+, การเข้าถึงศาสนา, ระบบการศึกษา, การเมืองในรัฐสภา หรือชนวนยอดฮิตที่กลับมาเป็นประเด็นทุกสามวัน อย่าง men are trash และ nOt aLL MEn ฯลฯ ทำให้เกิดการถกเถียงและต่อต้านจากคนที่พยายามรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมไว้และไม่ยอมรับการเรียกร้องความรับผิด (accountibility)
(อ้าว ตีหุ่นฟางอยู่รึเปล่า อย่างนี้จะรู้ได้ไงว่าพวกเฟมมี่ไม่ได้ใส่ชายเป็นใหญ่เป็น buzzword เฉย ๆ????? คิดว่าเป็น panacea ให้ชนะดีเบตเหรอ?????)
ดังนั้นบทความนี้จะมาสำรวจกันว่า สังคมชายเป็นใหญ่คืออะไร มีโครงสร้างอย่างไร ใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์อย่างไร และใครเป็นผู้มีส่วนร่วม
แต่ก่อนอื่น การจะทำความเข้าใจสังคมชายเป็นใหญ่ จำเป็นต้องเข้าใจความไม่เท่าเทียมในสังคม ซึ่งปรากฎตัวในหลายรูปแบบก่อน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงปัจจัยสี่อย่างสาธารณสุข อาหาร ที่อยู่ที่มีคุณภาพ น้ำสะอาด, การเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน-สวัสดิการรัฐ, การศึกษา, เศรษฐกิจ, สิทธิในการเลือกตั้ง, เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง, ความปลอดภัยในชีวิต, สิทธิในการสมรส, การแบ่งเขตที่อยู่อาศัย ฯลฯ
ซึ่งโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันนั้นทำให้การรักษาและส่งเสริมความไม่เท่าเทียมรวมถึงควบคุมให้คนอยู่ในสถานะที่สังคมจัดสรรให้ เป็นไปได้โดยง่าย ผ่านทั้งเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมอย่างนโยบายและระบบการทำงานของรัฐ กฎหมาย ระบบยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา และไม่เป็นรูปธรรมอย่างขนบ (norm)
แล้วใครเป็นผู้ถือครองอำนาจในสังคม?
การจัดสรรอำนาจเกิดขึ้นได้ผ่านการกดขี่และเอาเปรียบคนกลุ่มอื่นอย่างเป็นลำดับขั้น (hierarchy) ผ่านองค์ประกอบทั้ง ระบบสองเพศ (gender binary),ชาติพันธุ์(race)และเชื้อชาติ(ethnicity), สถานะทางเศรษฐกิจสังคม (socioeconomic status), และ ความสามารถ (ability)
- ระบบเพศที่เป็นขนบของสังคมคือระบบเพศแบบ binary
ซึ่งกำหนดว่าเพศมีแค่สองเพศคือ ชาย-หญิง โดยให้คุณค่ากับความเป็นความเป็นชาย (masculinity) อย่างมาก และคาดหวังว่าคนที่มีเพศกำเนิดเป็นชายจะต้องแสดงออกถึงความเป็นชายเสมอ โดยความเป็นชายมักถูกนําไปยึดโยงกับความแข็งกร้าว ความรุนแรง ความเป็นผู้นำ ความมีเหตุผล ความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องชอบเพศหญิง และคาดหวังคนที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงต้องแสดงออกถึงความเป็นหญิง (femininity) เสมอ ในขณะที่ความเป็นหญิง มักถูกนําไปยึดโยงกับความอ่อนแอ เป็นรอง พินอบพิเทา ความอ่อนไหว ความยั่วยวน ต้องชอบเพศชาย ระบบเพศแบบ binary กำหนดหน้าที่และตำแหน่งในสังคมของคนตามกรอบเพศ ทำให้เกิดอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายตามขนบ ผู้หญิงตามขนบ และคนที่ไม่อยู่ในกรอบเพศ เช่น ผู้ชายมีโอกาสก้าวหน้าทางการงานมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นผู้นำ ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และผู้หญิงถูกคาดหวังว่าจะต้องแต่งงานและลาออกไปเลี้ยงลูก เพื่อเติมเต็มหน้าที่แม่และเมีย ไม่สามารถทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ ส่งผลให้ผู้หญิงถูกผลักให้ต้องพึ่งพาผู้ชายทางด้านการเงินและความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น, ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศแบบต่าง ๆและความรุนแรงภายในบ้าน มากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะความรุนแรงทางเพศ นอกจากปัจจัยเรื่องความใคร่ ยังเป็นพฤติกรรมการแสดงอำนาจเหนือกว่า, คนข้ามเพศ (transgender) ถูกปฏิเสธตัวตน ไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ตามกฎหมาย ถูกปฏิเสธตัวตน เพราะเป็นการทำลายกรอบเพศตามกำเนิด การทำตามความเป็นจริงของร่างกายถูกมองว่าเป็นความหลอกลวง ฯลฯ
- ความไม่เท่าเทียมทางชาติพันธุ์ (race) และเชื้อชาติ (ethnicity)
แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไป คนผิวขาวจะได้รับอำนาจและทรัพยากรมากกว่าคนผิวสีกลุ่มอื่น ๆ (people of color) โดนเลือกปฏิบัติน้อยกว่าในด้านอาชีพ หรือในบริบทประเทศไทยคนที่ไม่ได้มีเชื้อชาติ “ไทย” มักจะต้องเผชิญความรุนแรงจากรัฐทั้งทางกายภาพและทางนโยบาย เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่ามายาวนาน ถูกรัฐไทยเผาไล่ที่ แกนนำในการต่อต้านถูกบังคับสูญหายหรือฆาตกรรม หรือกรณีตากใบหรือการบังคับเก็บ DNA ในจังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ
- ความไม่เท่าเทียมสถานะทางเศรษฐกิจสังคม (socioeconomic status)
ส่งผลถึงการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ และความก้าวหน้าในชีวิต เช่น ครอบครัวที่รายได้น้อย ขาดต้นทุนทางสังคม ไม่สามารถสนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาได้ เมื่อเด็กโตมาก็มักจะได้ทำงานที่รายได้น้อย เข้าไม่ถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ส่งผลถึงอนาคต สุขภาพ ความเครียด ในขณะเดียวกัน ครอบครัวที่มีรายได้สูง ต้นทุนทางสังคมดี มีเส้นสาย สามารถสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ ไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ ก็มีโอกาสที่จะทำงานที่มีรายได้สูง เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ พบคนในวงสังคมที่สามารถช่วยให้ก้าวหน้าทางอาชีพการงานได้ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชนืและมีเวลาออกกำลังกาย มีอำนาจกำหนดความเป็นไปในสังคม ฯลฯ
- ความสามารถ (ability)
คือการที่ร่างกายไม่มีความพิการ ได้ใช้ชีวิตในสังคมที่ออกแบบมารองรับคนแบบตน สามารถเดินทาง ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป สื่อสาร เข้าถึงข้อมูล ฯลฯ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดทางความสามารถ ในขณะที่ผู้มีความพิการต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ และการเคลื่อนที่ที่ถูกจำกัด (restricted mobility) ฯลฯ
ข้อได้เปรียบที่ได้รับมาโดยอัตโนมัติเพราะมี “คุณลักษณะพึงประสงค์” ไม่ได้แลกมาด้วยแรงงานหรือความพยายามเหล่านี้ เรียกว่า อภิสิทธิ์(privilege) อภิสิทธิ์เหล่านี้สร้างอำนาจเหนือ (dominance) ทำให้ผู้มีอภิสิทธิ์มักจะได้รับโอกาสในการสะสมครอบครองทรัพยากรและกุมอํานาจมากกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม และคนที่มีลักษณะ‘ด้อยกว่า’ก็ถูกกีดกันออกไปและทำให้ผู้มีอภิสิทธิ์กลายเป็นมาตรฐาน ศูนย์กลางของสังคม[2] แม้แต่ในระดับที่พื้นฐานที่สุด อย่างการศึกษา สาธารณูปโภค การสาธารณสุข การแบ่งเขตที่อยู่อาศัย กฎหมาย ระบบยุติธรรม ก็ถูกประกอบสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการความต้องการของผู้มีอภิสิทธิ์ คงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์ และผลักให้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่คนกลุ่มอื่นเผชิญกลายเป็นปัญหาส่วนบุคคล
(แกกำลังจะบอกว่า ชั้นเกิดมาบนช้อนเงินช้อนทอง ไม่ต้องดิ้นรนอะไรเหรอ!? ความเจ็บปวด ความพยายามของชั้นไม่ใช่เรื่องจริงเหรอ?????????????? ยิ่งลักษณ์ยังเป็นนายก โอบาม่ายังเป็นประธานาธิบดีได้เลย!!!!!!!!! ผู้ชายที่เป็นเสียเปรียบก็มีตั้งเยอะ เอาผู้หญิงไปเกณฑ์ทหารบ้างสิ!!!!!!!!!)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีลักษณะร่วมกับกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์จะต้องได้รับอภิสิทธิ์เสมอไป หรือถ้าเราพูดว่าคุณมีอภิสิทธิ์ด้านไหน เราไม่ได้หมายความว่าทุกด้านในชีวิตคือเส้นทางที่มีกลีบกุหลาบ ไม่พบเจอความยากลำบากใดๆ แต่อภิสิทธิ์เป็นเรื่องของโครงสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ ที่คนกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์จะได้รับผลประโยชน์นั้นมีสูงกว่าคนกลุ่มอื่นมาก เพราะเข้าถึงอำนาจและทรัพยากรได้ง่ายกว่า
เช่น ในด้านเพศ ผู้ชายเผชิญความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะว่าเป็นผู้ชาย, rainbow capitalism[3] ที่หาประโยชน์กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (lgbtqia+) ที่ถูกกดขี่ ไม่สามารถแต่งงานหรือมีความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยได้เพราะความรักในรูปแบบที่ไม่ “ปกติ” ขณะที่กลุ่มคนคนเกิดตรงเพศที่ชอบเพศตรงข้าม (cisgender heterosexual/heteroromantic[4]) สามารถนำเรื่องราวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไปหาประโยชน์ผ่านการทำออกมาเป็นสื่อและสินค้าได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติแบบเดียวกัน และไม่ต้องใส่ใจความเป็นอยู่หรือความเห็นของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ,
ในด้านชาติพันธุ์ เช่น วิทยาการต่าง ๆ วางลักษณะและวัฒนธรรมของคนผิวขาวเป็นศูนย์กลาง ในด้านเชื้อชาติ เช่น คนไทยในประเทศไทยเสี่ยงต่อการถูกนายจ้างกดค่าแรงน้อยกว่าแรงงานข้ามชาติเพราะเป็นคนไทย, ในด้านสถานะทางเศรษฐกิจสังคม เช่น คนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับบนไม่มีความจำเป็นต้อง “สนใจการเมือง” เพราะการเมืองจะตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้เป็นอันดับแรกเสมอ, ในด้านความสามารถคนที่ไม่มีความพิการไม่โดนเลือกปฏิบัติต่ออย่างดูถูกสติปัญญาเพราะเป็นคนที่ไม่มีความพิการ เป็นต้น
คนหนึ่งคนประกอบด้วยองค์ประกอบทุกด้านเหล่านี้รวมกัน ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่โดยรวมของเขาในสังคม คนที่แม้จะไม่ได้มีลักษณะพึงประสงค์ครบทุกประการ หากมีความสามารถจะโอนอ่อนผ่อนตาม (conform) กลไกของระบบก็สามารถจะได้รับผลประโยชน์เช่นกัน เช่น ผู้หญิงที่แม้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมไม่ดี แต่สวย (according to eurocentric standards and whatnot) และทําตัวเรียบร้อยตามมาตรฐานระบบเพศ binary เป็นแม่และเมียที่ดีก็จะเสี่ยงต่อความรุนแรงและการต่อต้านน้อย, กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดี แสดงออกว่าเป็น ‘คนดี’ ‘รักชาติ’ ก็จะเสี่ยงต่อความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันน้อยกว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศทั่วไป[5] หรือบางทีการโอนอ่อนผ่อนตามก็ถูกแสดงออกมาในรูปแบบของความเกลียดตัวเองอย่าง ความเกลียดผู้หญิงด้วยกันเอง (internalised misogyny) เช่นการที่ผู้หญิงประณามว่าผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อยสมควรโดนข่มขืน, หรือความเกลียดคนรักเพศเดียวกันด้วยกันเอง (internalised homophobia) เช่นเกย์หรือเลสเบี้ยนที่เชื่อว่ารสนิยมทางเพศของตัวเองไม่ปกติ ต้องได้รับการบำบัด เป็นต้น
(อ่านมาตั้งนาน แล้วเกี่ยวกับสังคมชายเป็นใหญ่ยังไง?)
สังคมชายเป็นใหญ่คือรูปแบบหนึ่งของระบบอำนาจที่ไม่เท่าเทียมเบื้องหลังสังคมทั้งหมด เราไม่สามารถแยกความไม่เท่าเทียมในสังคมและระบบชายเป็นใหญ่ออกจากกันได้ ทำงานโดยใช้ปัจจัยทำงานโดยใช้ปัจจัยทั้งเพศ ชาติพันธุ์และเชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจสังคม ความสามารถ ตามที่กล่าวมา แต่ให้ความสำคัญกับความเป็นชายมากที่สุด เราจึงเลือกใช้คำว่าสังคมชายเป็นใหญ่– เพราะจุดประสงค์ของ patriarchy ก็คือการมอบอำนาจให้ผู้ชาย การต่อต้านสังคมชายเป็นใหญ่คือการต่อต้านความไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะ(แต่ไม่จำกัดแค่)ที่มีสาเหตุจากเพศ
ในระยะยาว สังคมชายเป็นใหญ่ส่งผลร้ายต่อทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ขาดอภิสิทธิ์ในหลายด้าน หรือแม้แต่คนที่ได้เปรียบอย่างผู้ชายก็ได้รับผลร้ายจากสังคมชายเป็นใหญ่เช่นกัน เพราะระบบชายเป็นใหญ่คือโครงสร้างที่ขัดขวางความเท่าเทียมในทุกมิติและพฤติกรรมที่หลุดออกจากกรอบทุกรูปแบบ เช่น ในมิติความรุนแรงทางเพศ “ธรรมชาติผู้ชาย” จะถูกคาดหวังให้มีความต้องการทางเพศสูงเสมอ ต้องมีพละกําลังมาก มีอำนาจเหนือเพศอื่น การที่ผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศหรือทำร้ายผู้หญิงหรือ lgbtq+ ในรูปแบบต่าง ๆ จึงถูกทำให้กลายเป็น“เรื่องปกติธรรมชาติของผู้ชาย” เมื่อผู้ชายตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศและเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมักถูกละเลยและโดนดูถูกซ้ำเติมจากสังคมหนักขึ้นไปกว่าเหยื่อเพศอื่นเพราะหลุดออกจากกรอบ “ความเป็นชาย” ที่สังคมคาดหวังและให้คุณค่า
หรืออย่างกลุ่ม lgbtq+ จำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการข่มขืน corrective rape เพื่อ “แก้-ซ่อม” ให้กลายเป็นคนเกิดตรงเพศที่ชอบเพศตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มเลสเบี้ยนและทอมเพราะเชื่อใน “พลัง” ของอวัยวะเพศชาย หรือต้องเผชิญกับ hate crime ในรูปแบบอื่น ๆ เพราะความแตกต่างจากขนบ
ส่วนในมิติด้านสุขภาพ ระบบชายเป็นใหญ่ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์และสุขภาพจิต ผู้ชายหลายคนประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตแต่ไม่มีทางออก ไม่กล้าปรึกษาจิตแพทย์ เพราะระบบชายเป็นใหญ่ทำให้การแสดงออกถึงความอ่อนไหวและอารมณ์ที่เปราะบางซับซ้อนกลายเป็นเรื่องน่าอาย ผ่านประโยคอย่าง “เป็นผู้ชายต้องไม่ร้องไห้” “อ่อนไหวเหมือนตุ๊ด” อีกทั้งการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางอารมณ์กับเพื่อนผู้ชายด้วยกันถูกทำให้เป็นเรื่องแปลก ไม่สมเป็นผู้ชาย ในขณะเดียวกัน การแสดงออกทางอารมณ์ทำให้ผู้หญิงถูกตราว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ และการแสดงออกทางอารมณ์สำหรับ lgbtia+ ถูกบิดเบือนให้เป็นความผิดปกติ เบี่ยงเบน
ในมิติการแสดงออกถึงความเป็นชาย การเกณฑ์ทหารเป็นหนึ่งในตัวอย่างการแสดงออกตามขนบในนามของความรักชาติและความสมเป็นชาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้แรงงานผู้ชายที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับล่างในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างการเกณฑ์ทหารจึงถูกเชิดชู ในขณะที่ผู้ชายที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับบนจะไม่ถูกคาดหวังให้แสดงออกถึงความเป็นชายผ่านการใช้แรงงาน แต่จะแสดงออกผ่านการทํางานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นําที่เด็ดขาดในการบริหารจัดการแทน อย่างนักการเมืองหรือนักธุรกิจ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการที่ผู้ชายถูกคาดหวังให้แสดงออกถึงความเป็นชาย ความเป็นสุภาพบุรุษ (chivalry) ความเสียสละ อยู่เสมอ ผ่านการเรียกร้องให้ลุกให้นั่งบนรถไฟฟ้า ช่วยถือของหนัก ทำงานที่เสี่ยงอันตราย พฤติกรรมที่สันนิษฐานว่าผู้หญิงอ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือโดยอัตโนมัตินี้ มีอีกชื่อเรียกว่า benevolent sexism หรือที่เราเรียกว่า ‘การเหียดเพศแบบใจบุญ’ฯลฯ
(ถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วทําไมถึงยังมีสังคมชายเป็นใหญ่อยู่ล่ะ ถ้ามันทําร้ายทุกคน มันก็น่าจะมีแต่คนต่อต้านสิ!!!!!! ยุคนี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่มีจริงหรอก สาย “เพศ” ทั้งหลาย feminist, gender, ยัน queer (โดยเฉพาะสายแรก) คือพวกนี้มักทำตัวแบบวีแกนมากเกินไปกไเวี้ำพฟเ่าิสรัเพิเ)
อย่างที่กล่าวไป ระบบชายเป็นใหญ่คือโครงสร้างอำนาจที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และกลายเป็นหนึ่งในรากฐานหลักที่สุดของสังคม กลายเป็นความเคยชินและตัวตนของคนในสังคม รวมถึงคุณค่าที่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้องดีงาม ความเชื่อ หน้าที่ต่าง ๆ ก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยอิงระบบชายเป็นใหญ่ และได้รับการปลูกฝังในคนทุกคนตั้งแต่เกิด การกดขี่ในสังคมชายเป็นใหญ่จึงดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมชาติ รวมถึงมีการพัฒนามาอยู่ในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้นผ่านสื่อ ขนบ นโยบายและโครงสร้างรัฐ เช่น ละคร หนัง หนังสือเรียน
การลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งที่ดูถูกต้องและเป็นธรรมชาติทําได้ยากเสมอ การที่ผู้มีอภิสิทธิ์จะสละอภิสิทธิ์ของตนเพื่อความเท่าเทียมเองก็เป็นไปได้ยากยิ่งกว่า สังคมชายเป็นใหญ่จึงยังมีตัวตนอยู่
มาถึงคําถามของเรา สังคมชายเป็นใหญ่คืออะไร ใครร่วมสังฆกรรม? คําตอบก็คือ เราทุกคนล้วนมีส่วนในการประกอบสร้างและสนับสนุนสังคมชายเป็นใหญ่ อย่างที่เราล้วนมีส่วนในสังคม แต่ด้วยระดับอำนาจที่แตกต่างกันตามความใกล้เคียงกับ “คุณลักษณะอันพึงประสงค์” ไม่ว่าจะเพื่อความก้าวหน้าหรือเพื่อความอยู่รอด
เพราะเศษเหลือของอภิสิทธิ์ในบางครั้งก็ยังดีกว่าความเป็นอยู่ที่ผ่านมาทั้งชีวิตของคนบางกลุ่ม และระบบดังกล่าวคือสิ่งที่เรา, เฟมินิสต์, ต้องการจะล้มล้าง เพื่อสร้างสังคมที่ยอมรับ เคารพ และให้พื้นที่-อํานาจ คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยที่ไม่มีใครต้องกราบอ้อนวอนขอความเท่าเทียมและสิทธิพื้นฐานของตัวเอง
และในครั้งถัดไปก่อนคุณพี่จะตะโกนอย่างคับแค้นแสนสาหัสลงบนอินเตอร์เน็ตว่า “เฟมินิสต์ใจร้าย!!” หลังจากถูกวิจารณ์เมื่อ ‘ชวนดีเบต’ เรื่องอย่าง “(คนถูกกดขี่)สมควรได้รับสิทธิหรือไม่” “(พฤติกรรมที่ทำร้ายคนชายขอบ)อาจจะไม่แย่อย่างที่เราคิดก็ได้!!!!!” ก็ขอให้พิจารณาถึงอภิสิทธิ์ที่คุณมี พิจารณาว่าการกระทำของคุณก่อนว่ารุนแรงต่อคนที่ถูกกดขี่อยู่แล้วอย่างไร และหากคุณเชื่อมั่นเหลือเกินในเสรีภาพในการแสดงออก—ทำไมพฤติกรรมของคุณถึงไม่ควรตั้งถูกคำถามและวิจารณ์? ทำไมความเป็นความตายของคนอื่นถึงกลายเป็นเพียงปริศนาเจ้าหนูจำไมสำหรับคุณ
และขอให้คุณพี่รู้ไว้ว่า หากคุณพี่อยากได้ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ไม่สนใจความเท่าเทียมในมิติอื่น คุณพี่ก็เป็นแค่ผู้กดขี่ที่รอวันเถลิงอำนาจเท่านั้นเอง สวัสดีค่ะพี่ตู่
บรรณานุกรม
- https://courses.lumenlearning.com/atd-bmcc-sociology/chapter/what-is-a-system-of-privilege/
- http://www.agjohnson.us/glad/arent-systems-just-people/ https://thematter.co/thinkers/thai-lgbt-teachers-chronicle/47545#_ftnref5
- https://everydayfeminism.com/2013/05/patriarchy-and-how-it-shows-up-for-everyone/
- https://everydayfeminism.com/2014/11/what-is-patriarchy/ https://zingerella.livejournal.com/73987.html
- http://www.agjohnson.us/glad/arent-systems-just-people/
- https://sites.lsa.umich.edu/inclusive-teaching/wp-content/uploads/sites/355/2017/08/Examples-of-Ability-Privilege.pdf
*ผัง gender unicorn อธิบาย SOGIE หรือ sexual orientation-gender identity and expression
ความแตกต่างระหว่าง heteroromantic กับ heterosexual คือ heterosexual คือ sexual attraction (แรงดึงดูดทางเพศ)กับ heteroromantic คือ romantic attraction (แรงดึงดูดทางใจ) ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน และไม่จําเป็นต้องเป็นไปในทางเดียวกัน เช่น ผู้ชายคนหนึ่งอาจจะมีความต้องการทางเพศกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง (bisexual) แต่มีแรงดึงดูทางใจกับแค่เพศหญิง (heteroromantic) หรือ asexual (ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร/หรือมีแต่ไม่สม่ำเสมอและมีเงื่อนไข) และ aromantic (ไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับใคร/หรือมีแต่ไม่สม่ำเสมอและมีเงื่อนไข) เราอาจจะพบเจอ cisgender heterosexual ที่มีromantic orientation เป็นอย่างอื่นได้เช่น aromantic/homoromantic/biromantic/panromantic/etc. และ ก็อาจจะมี cisgender heteroromantic ที่มีsexual orientation เป็น asexual/homosexual/bisexual/pansexual/etc. ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ถูกนับว่าเป็น ” straight” ตามบรรทัดฐานของสังคมอยู่ดี ดังนั้นการเป็น “ชายหญิงรักเพศตรงข้าม” ตามบรรทัดฐานสังคมนั้นต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่าง หมายถึง เป็นชายหญิงตรงตามเพศกําเนิด มีแรงดึงดูดทางเพศและมีแรงดึงดูดทางใจกับเพศตรงข้าม
เขียนโดย K.
ภาพประกอบ พัชราคำ นพเคราะห์