ในยามนี้ หากพูดถึง “การเมือง” ทุกคนจะนึกถึงทหารที่ออกมาแถลงการณ์ตามหน้าจอทีวี พรรคการเมืองที่ฟาดฟันกันในรัฐสภา หรือน้ำเสียงก่นด่ารัฐบาลของประชาชนตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ หากลองพิจารณาว่าการเมืองคืออะไร มีผู้ให้คำนิยามเกี่ยวกับการเมืองไว้มากมาย ซึ่งคำนิยามที่ได้รับการยอมรับในวงการรัฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง คือ “การเมือง” เป็นเรื่องของการจัดสรร “อำนาจ” ว่าใครจะได้รับอะไร เมื่อไหร่ และ อย่างไร ดังนั้นได้ว่า ในคำว่า การเมือง มีคำว่า อำนาจซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเจ้าอำนาจนี้สามารถอยู่ได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย จารีตประเพณี หรือสถานะทางสังคม
ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อำนาจก็สามารถบังคับ ให้คนหรือกลุ่มบุคคลกระทำตามในสิ่งที่ “ผู้มีอำนาจ” ต้องการได้ (จันทร์เรือง, 2551) ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐออกกฎหมายห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล การที่คุณครูสามารถลงโทษนักเรียนที่ทำผิดกฎของโรงเรียน หรือแม้แต่การที่จารีตประเพณีและความเชื่อจัดสรรอำนาจให้ประชากรเพศต่างๆ แตกต่างกัน
บทความนี้จึงอยากจะเขียนสั้นๆ ถึงเรื่องของ ผู้หญิง ในวงจรอำนาจ – ในระดับการเมืองการปกครอง
ว่าแต่ ในอดีตก็มีผู้หญิงขึ้นปกครองนี่นา
ใช่ ในอดีตกาล มีผู้หญิงที่มีบทบาทนำทางการเมืองได้ในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ราชินีฮิมิโกะ แห่งอาณาจักรยามาไต ที่นอกจากจะเป็นผู้ปกครองแล้วเธอยังเป็นคนทรงเจ้าที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในยุคนั้น หรือ ราชินีคลีโอพัตราที่ขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งอียิปต์แล้วสร้างสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรโรมันอันแสนเกรียงไกร ในทางฝั่งประเทศไทยของเราก็ปรากฏในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พระนางจามเทวีสตรีชาวละโว้ได้ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์และเป็นสร้างอาณาจักรหริภุญชัยให้รุ่งเรืองสืบต่อมานับร้อยปี ในส่วนนี้จะเห็นว่าแม้จะเป็นผู้หญิงแต่หากได้รับความศรัทธาและเชื่อมั่นก็สามารถเป็นนักปกครองได้ เหมือนดั่งราชินีฮิมิโกะที่ได้รับการเคารพในฐานะ”หญิงทรงเจ้า” หรือ พระนางจามเทวีที่ถูกกล่าวขานว่าเปรียบเสมือนเทพลงมาเกิด
เมื่อเวลาผ่านไปอำนาจของผู้หญิงก็เริ่มหมดบทบาทลง พร้อมกับการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของแนวคิด ที่มุ่งจัดสรรอำนาจให้แก่ผู้ที่เกิดมาเป็นชาย เกิดความเชื่อว่าพ่อควรเป็นใหญ่ที่สุดในบ้าน จนถึงระบบการเมืองที่นักปกครองต้องเป็นผู้ชาย (รอดทรัพย์, ปีที่4) ซึ่งเห็นได้ว่านับจากยุคมืดเป็นต้นมา รายชื่อผู้ปกครองมักจะเป็นผู้ชาย อาจจะมีผู้หญิงบางประปราย หากแต่พวกเธอส่วนมากก็มักจะอยู่ในฐานะของ “เมีย” หรือ “แม่” ของผู้นำคนถัดไปเพียงเท่านั้น (เว้นเสียแต่สตรีบางคนที่ขึ้นมาด้วยการสืบสันตติวงศ์ หากแต่เธอก็ไม่ได้มีอำนาจอย่างเต็มที่ ต้องคอยระแวดระวังภัยทุกฝีก้าว แล้วต้องอดทนอยู่ในกรอบของเหล่าขุนนาง)
ถ้าหากมีสตรีนางใดลุกขึ้นมาเป็นขบถ มุ่งแสวงหาอำนาจปกครองให้ตนเองโดยไม่ยึดติดกับความเป็นเมียของชายคนใดคนหนึ่ง หากแต่เธอเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระแล้วมุ่งผูกสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน ต่อให้ผู้หญิงคนนั้นจะบริหารบ้านเมืองดีสักเพียงใด แต่คำเล่าขานของเธอก็ไม่พ้นไปจาก “นังหญิงแพศยาบ้าตัณหา ที่ใช้ความงามยั่วยวนให้ผู้ชายหลงใหลเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ”
ยกตัวอย่างเช่น พระนางบูเช็กเทียน ที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจผ่านการแต่งงาน แม้ในสมัยของพระนางอาณาจักรจีนมีความเจริญรุ่งเรืองสูงมาก หากแต่วิธีการเขียนประวัติศาสตร์กลับไม่ได้สนใจ แต่กลับให้ความสำคัญกับการขึ้นมามีอำนาจของนางที่ยั่วยวนให้ฮ่องเต้ตกหลุมรัก หรือ การสังหารฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม หรือ แม้แต่ ราชินิอิสเบลล่า แห่งสเปน ที่เป็นองค์อุปถัมภ์ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และนักเดินเรือคนอื่นๆ ก็ไม่วายจะโดนกล่าวหาว่าเป็นราชินีสุดโหด ผู้ซึ่งสังหารผู้ที่ไม่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่ความเป็นจริงหากลองพิจารณาจะเห็นว่า การสังหารผู้ที่คิดต่างทางศาสนา หรือแม้แต่การกำจัดศัตรูทางการเมือง ก็เป็นเรื่องที่มีมานานและเกือบทุกยุคทุกสมัยก็ทำกันจนเป็นเรื่องปกติแล้ว แม้ผู้ปกครองจะเป็นชาย เขาก็ไม่ได้ปล่อยผ่านให้ “พวกนอกรีต” และ ศัตรู” ใช้ชีวิตกันได้อย่างสุขสบาย แต่เพียงเพราะเป็นผู้หญิง เมื่อใดที่เกิดการนองเลือดขึ้น พวกเธอก็จะกลายเป็นพวกบ้าอำนาจไร้ความปราณีในทันที
ทั้งหมดนี้เห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึก หรือสื่อที่ผลิตซ้ำบนหน้าจอโทรศัพท์ ที่มักจะสร้างให้ผู้หญิงที่มีอำนาจกลายร่างเป็นผู้ร้าย ต่อให้ความสามารถของเธอจะมีมากมายสักเพียงใด แต่เรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับเธอกลับมุ่งเน้นไปยังความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเรื่องคาวโลกีย์ของหญิงมากรักคนหนึ่ง ถามว่า ใครกันเล่าที่เป็นคนบันทึกรื่องราวเหล่านี้ ?? ท่านสามารถค้นหารายชื่อ ผู้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้นะว่าส่วนมากกลุ่มคนที่มีบทบาทในการเขียนและกำหนดประวัติศาสตร์ส่วนมากเป็นเพศอะไร
เราอาจจะมีผู้นำหญิงในการปกครองอาณาจักรโบราณก็จริง แต่การมีผู้หญิงในสถานะผู้นำ ไม่ได้แปลว่าผู้หญิงที่เหลือในสังคมนั้นเป็นใหญ่ตามไปด้วย สต้องไปดูกันตรงพื้นที่ชายขอบว่าผลกระทบที่เกิดแก่ผู้หญิงจากความเชื่อค่านิยมเป็นอย่างไร
และหากลองไล่เรียงดูว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ผู้ที่ได้รับการศึกษาให้อ่านออก เขียนได้ รู้ตำรับตำราบริหารบ้านเมืองมีเพียงแค่เด็กผู้ชายเท่านั้น ส่วนเด็กผู้หญิงก็อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เป็นแม่บ้านเพื่อผลิตทายาทสืบสกุลให้แก่ผัวตัวเอง เว้นเสียงแต่เธอจะโชคดีเกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนายมีเงินทองมากมายเพื่อจ้างครูมาสอนอ่าน สอนเขียนหนังสือ ซึ่งสุดท้ายเธอจะต้องถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวโดยที่ไม่มีสิทธิได้นำสิ่งที่ร่ำเรียนมาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ (materials, มปป.) จนมาถึงยุคที่ประชาธิปไตยมีบทบาท ผู้หญิงมีสิทธิ เสรีภาพ และสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมือง ความคิดเรื่องผู้หญิงควรเป็น ลูกสาว/แม่/เมีย นั้นยังคงมีอยู่อยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า?
ก็ต้องยอมรับกันว่าในประวัติศาสตร์ เราก็มียุคสมัยที่การจัดสรรอำนาจสู่กลุ่มผู้นำชายล้วนรุ่งเรือง และมันกำลังดำเนินอยู่
มีการประเมินว่าผู้หญิง 113 ล้านถึง 200 ล้านคนนั้น “หายสาบสูญ” พวกเขาเป็นเหยื่อของการถูกฆ่าตั้งแต่ยังเป็นทารก เนื่องจากในหลายวัฒนธรรมทารกเพศชายจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่า หรือไม่พวกเธอก็จะถูกทำให้อวัยวะเพศพิการหรือไม่ได้รับการเอาใจใส่ในเรื่องของอาหารและการรักษาได้เท่าเทียมกับบิดาและพี่น้องผู้ชายของเธอ
นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า มีผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คนบนโลก ถูกทำร้ายร่างกายเพื่อที่จะข่มขู่ให้มีเพศสัมพันธ์ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่เธอรู้จักด้วย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการถูกทารุณกรรม ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนมีแนวโน้มที่จะพิการหรือเสียชีวิตจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศมากกว่าการเสียชีวิตจากมะเร็ง มาลาเรีย อุบัติเหตุจราจร หรือสงคราม
อีกทั้งผู้หญิงหลายคนก็ถูกครอบงำจากความกลัวของวัฒนธรรม “การข่มขืน” ส่วนมากจะเป็นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงในประเทศรวันดาประมาณ 250,000 ถึง 500,000 คน ถูกข่มขืนในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994
รายงานผลการศึกษาหลากหลายฉบับได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่าง ความรุนแรงต่อเพศหญิง และ เชื้อ HIV ว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV มีแนวโน้มสูงที่จะมีประสบการณ์ที่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ โดยเหยื่อของความรุนแรงจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV สูงมาก
ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าถึงการถูกกดขี่ของผู้หญิงในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถหาบทความหรือรายงานทางการศึกษาได้อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่ผู้หญิงหลายคนกำลังเผชิญ
มรดกของปิตาธิปไตยในโครงสร้างอำนาจ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ระบบอำนาจที่ไหลเวียนในกลุ่มสังคมชายล้วนมานานนับหลายปี ได้สร้างบาดแผลให้ผู้หญิงมาตลอดระยะเวลา แม้ว่าเธอจะสิ้นลมหายใจ พวกเขาก็จะขุดร่างอันไร้วิญญาณของพวกเธอขึ้นมาเย้ยหยันถึงความเป็นขบถต่อจารีตประเพณีที่พวกเขาวางเอาไว้ และต่อให้ในปัจจุบันที่เรารู้สึกกันว่าเสรีแล้ว หากมีสตรีนางใดส่งเสียงเรียกร้องถึงความไม่เท่าเทียมขึ้นมา พวกเธอก็จะถูกดูแคลนว่าเป็น “พวกเฟมินิสต์” ที่สร้างความน่ารำคาญที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งเสียง “เห่าหอน” เรียกร้องความสนใจ
“ ใช่! แม้ว่าจะเป็นสังคมเสรี แต่บางทีความเท่าเทียมมันก็ไม่ได้ทำงาน”
หากคุณเป็นผู้หญิง และได้ชื่อว่าเป็น “เฟมินิสต์” คุณก็ไม่ได้รับการตอบรับอย่างเห็นอกเห็นใจมากไปกว่า การแชร์ หรือการรีทวิตในสื่อโซเชียล หากโชคดีหน่อยคุณก็จะเป็นข่าวให้สังคมช่วยตามล่าคนกระทำผิด แต่ถ้าการกระทำของคุณโดดเด่น หรือเสียงของคุณดังเกินไป คุณก็จะถูกกลุ่มคนที่โดนปิตาธิปไตยครอบงำ ด่าทอ และเสียดสีว่าเป็น “ตัวปัญหาที่พยายามทำตัวเองให้เป็นเหยื่อ”
แล้วยิ่งสังคมที่ภาครัฐเมินเฉยต่อปัญหาสิทธิสตรีด้วยแล้ว อย่าว่าแต่ปัญหาของคุณจะได้รับการสนใจเลย แม้แต่ความปลอดภัยในชีวิตคุณก็ไม่มี (tigtog, 2007)
ดังนั้นหากใครมองว่าผู้หญิงไม่ได้ตกเป็นเหยื่อจากการเมือง ก็ขอให้ลองพิจารณาถึงข่าวความรุนแรงที่ผู้หญิงหลายคนกำลังเผชิญอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การที่ผู้หญิงโดนทำร้ายร่างกาย บางประเทศผู้หญิงถือว่าเป็นสมบัติของครอบครัว หากเธอเสียพรหมจรรย์แล้ว ครอบครัวสามารถสังหารเธอได้ หรือแม้แต่ที่ผู้หญิงโดนข่มขืนบางสังคมก็กล่าวหาว่าเป็นเพราะผู้หญิงแต่งตัวหล่อแหลมกระตุ้นความต้องการของผู้กระทำ ทั้งหมดนี้การเมืองต่างมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น
เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจที่สามารถจัดสรรได้ว่าใครจะได้รับอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร
แต่สำหรับบางประเทศการเมืองไม่ได้จัดสรรสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง หรือ ค่านิยมที่จะคุ้มครองชีวิตให้แก่พวกเธอ จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมชีวิตเพียงเพราะเธอเหล่านั้น เกิดมาเป็นผู้หญิงเพียงเท่านั้นเอง
หากผู้มีอำนาจตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้หญิง แล้วใช้อำนาจที่ตนเองมีส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างกฎเกณฑ์ที่ให้เกียรติ แล้วมองว่าพวกเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกันกับพวกท่าน ขอแค่การคุ้มครอง และความปลอดภัยที่จะมอบให้แก่ทุกช่วงเวลาของชีวิต นับตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนสู่ลมหายใจสุดท้าย
เพียงแค่นี้ ผู้หญิงหลายคนก็สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องส่งเสียง “เห่าหอน” ให้พวกท่านต้องรำคาญใจ แต่หากทั้งหมดนี้ไม่เกิดขึ้น พวกท่านก็ต้องมาคิดทบทวนดูแล้วว่า “เสียงเห่าหอนนี้” มันเป็นเพียงแค่เสียงของกลุ่มคนที่เรียกร้องความสนใจ หรือ เสียงของเหยื่อที่ออกมาสะท้อนถึงแรงกดขี่ของความอยุติธรรมจากอำนาจในมือท่านที่พวกเธอกำลังเผชิญอยู่
ชนิภรณ์ มาสุข (ผู้เขียน)
พัชราคำ นพเคราะห์ (ภาพประกอบ)
นภหทัย สิทธิฤทธิ์, ขวัญข้าว วงศ์พินิจวโรดม (บรรณาธิการ)
บรรณานุกรม
materials, C. (มปป.). Shan Woman’s Action Network. Retrieved from ผู้หญิงกับการศึกษา: https://www.shanwomen.org/publications/campaign-materials/154-2019-01-14-07-28-31
tigtog. (2007, March 10). FAQ: Isn’t feminism just “victim” politics? . Retrieved from Finally, A Feminism 101 Blog: https://finallyfeminism101.wordpress.com/2007/03/10/faq-isnt-feminism-just-victim-politics/
จันทร์เรือง, ช. (2551, กรกฎาคม 20). การเมืองคืออะไร โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง. Retrieved from Public Law Net เครือข่ายกฎหมายมหาชน: http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=1242
รอดทรัพย์, ณ. (ปีที่4). วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัย ราชภัฏบุรีรัมย์. ปิตาธิปไตย : ภาพสะท้อนแห่งความไม่เสมอภาค, 31.