เคยมีคนจำกัดความสามารถของคุณเพราะเรื่องเพศหรือไม่ ?

ความไม่เท่าเทียมในเรื่องเพศ  ถือเป็นอำนาจกดทับผู้หญิงมาเป็นเวลาช้านาน ความไม่เท่าเทียมทางสังคมส่งผลให้เพศหญิงไม่สามารถแสดงออกในสิ่งที่ต้องการได้อย่างชัดเจน 

 

เพศนิยม (อังกฤษ: sexism) หรือ การกีดกันทางเพศ หมายถึงการแบ่งแยกทางเพศและเลือกที่รักมักที่ชังต่อเพศใดเพศหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะมีผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง และถูกเชื่อมโยงกับการเหมารวมและบทบาททางเพศ และอาจรวมถึงความเชื่อที่ว่าเพศหนึ่งมีความเหนือกว่าอีกเพศ สิ่งนี้เองเป็นที่มาของการใช้อำนาจบทบาทในสังคมเพื่อจำกัดความสามารถของอีกฝ่ายไม่ให้แสดงออกตามที่ต้องการ 

 

ในแง่มุมของการเหยียดเพศเองนั้นก็ยังแบ่งแยกเป็นย่อยเป็น 2 ประเภทโดยมีเรื่องของการเหยียดเพศแบบก้าวร้าวรุนแรง (Hostile sexism) คือการวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา การลดทอนคุณค่าของผู้หญิงในวงการกีฬา ผ่านคำนิยามที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่า ไม่สามารถทำกำไรได้นักในฐานะนักกีฬา ควรเลือกลงทุนกับนักกีฬาผู้ชายดีกว่า อีกประเภทของการเหยียดเพศคือการเหยียดเพศที่เกิดขึ้นด้วยความอ่อนโยนและให้เกียรติ (Benevolent Sexism) ตัวอย่างในวงการกีฬาก็จะเป็นไปในทำนองว่า ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ และน่าทะนุถนอม​ ไม่ควรจะต้องมีแผลเป็นตามตัว กีฬาบางประเภทจึงควรเป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่า 

 

ซึ่งถึงแม้จะเป็น “การเหยียดเพศ” หรือเป็นการมองว่าเพศชายและเพศหญิงไม่เท่าเทียมกันก็จริง แต่ก็มีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดที่จะขอยกตัวอย่างจากบทความที่ผู้เขียนทำการค้นคว้ามาดังนี้

 

ย้อนไปเมื่อครั้งสมัยยุควิคตอเรีย​ ที่เน้นความพิถีพิถัน​ในเพศหญิง ที่พอจะเป็นที่น่าจดจำคือกระโปรงสุ่มไก่ของผู้หญิง เพื่อกำหนดระยะห่างระหว่างชายหญิงรวมถึง​ผู้หญิงจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมต่อสาธารณะ จะต้องอยู่ภายในบ้านไม่สมควรเดินตามท้องถนนนัก ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่านี่คือตัวอย่างการเหยียดเพศแบบประเภทก้าวร้าวรุนแรง Hostile sexism​เพราะเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีทางประสบความสำเร็จนอกบ้านได้ 

 

สมัยนั้น​ ผู้หญิงไม่อนุญาต​ให้มีสิทธิ์​ในการเลือกตั้ง​ ไม่ได้เรียนหนังสือจนกระทั่งปี​ค.ศ​ 1840 

 

ครั้งเมื่อผู้หญิงได้เรียนหนังสือ​ ก็คว้าปริญญาเอกในทันที ซึ่งผู้นั้นก็คือฟลอเลนซ์​ เคลลี่​ จึงถือเป็นการมีบทบาทของผู้หญิงในแวดวงการศึกษาในยุคแรกๆ

 

หลังจากนั้นผู้หญิงเริ่มจัดกิจกรรมที่ผู้หญิงดูแลปัญหาของผู้หญิงด้วยกัน​ การเดินขบวนต่อต้าน​ การดูแลเรื่องสวัสดิการรายได้ขั้นต่ำ​ ชั่วโมงการทำงาน​ และบทบาททางสาธารณสุขด้วยเหมือนกัน การได้ออกไปทำงานเทียบเท่าผู้ชาย

 

ต่อมาปีค.ศ1880 กล้องโกดักรุ่นแรกถูกผลิตขึ้น​ ปี​ค.ศ 1900 ก็มีตากล้องสารคดี​หญิงคนแรกคือ​ เจสสิก้า​ ทาบ็อค

 

การมีบทบาทในแวดวงกีฬาของผู้หญิงในเริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นปี ค.ศ1900 การใส่ชุดออกกำลังกายครั้งแรก​ของผู้หญิง ต้องปกปิดหมดทุกส่วน​ และใส่ได้เฉพาะตอนเรียนวิชาพละเท่านั้น​ ใส่เดินข้างนอกไม่ได้​ ชุดว่ายน้ำที่ครอบคลุมหมดทุกส่วน​ ไม่น่าเชื่อว่าสามารถพัฒนา​กลายมาเป็นบิกินี่ได้ในปัจจุบัน

 

และในปีเดียวกันคือปี​ค.ศ 1900 ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรก​ ที่จัดขึ้นที่ปารีส​ มีนักกีฬาเข้าร่วมทั้งสิ้น​ 997 คน​ เป็นชาย975 คนและหญิง22คน

 

ปี​ค.ศ​ 1920 นักเทนนิสหญิง​ ได้แชมป์โอลิมปิก

 

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงในช่วงต้นปีค.ศ 1900 เริ่มมีบทบาทในแวดวงกีฬามากขึ้นตามลำดับ 

 

ในสังคมไทยเองก็มีตัวอย่างนักกีฬาหญิงที่สร้างความฮือฮาแกวงการกีฬาไม่แพ้กัน  อย่างเช่น  พี่แว่น สิริรัตน์ ยนต์โยธินกุล อดีตนักบาสเกตบอลหญิงทีมชาติไทยที่เป็นที่รู้จักในฐานะนักบาสเกตบอลหญิงที่มีความสามารถ ส่งผลให้เมื่อช่วงยี่สิบปีก่อนกีฬาบาสเกตบอลเป็นที่นิยมอย่างมากในเมืองไทยเพราะเหตุการณ์ทีมไทยชนะแชมป์ซีเกมส์ที่ญี่ปุ่น

 

ถัดมาก็คือ น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ เป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงชาวไทย อดีตนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือหนึ่งของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2559 และเป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยก่อนหน้านั้นในปี 2556 เธอได้คว้าแชมป์โลกและสร้างสถิติเป็นแชมป์โลกแบดมินตันอายุน้อยที่สุดอีกด้วย  

 

ฝั่งตะวันตกก็คงจะเป็นโคโค่ เกาฟฟ์ สาวน้อยนักหวดวัย 15 แจ้งเกิดในวงการเทนนิสหญิงเพียงชั่วข้ามคืนหลังเธอเอาชนะ วีนัส วิลเลี่ยมส์ แชมป์วิมเบิลดัน 5 สมัยที่แก่กว่าเธอ 24 ปี สองเซตรวด บทสัมภาษณ์​ของพ่อแม่ของเธอบอกว่า เขามองครอบครัวเซรีน่าและวีนัส วิลเลี่ยมเป็นตัวอย่างและพร้อมสนับสนุนลูกสาวให้เล่นกีฬาอะไรก็ได้ที่ชอบ ลงเอยที่เทนนิสเป็นกีฬาที่โคโค่ชอบมากที่สุด

 

จะเห็นได้ว่าจากประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน ผู้หญิงได้ทำการพิสูจน์​และต่อสู้เพื่อก้าวข้ามผ่านความต่างทางเพศ

ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่มองว่ากีฬาที่ผู้หญิงเล่นจะดูน่าเบื่อและคนดูพร้อมกดเปลี่ยนช่องมากกว่ากีฬาที่ผู้ชายเล่น ที่มักจะมีเหตุการณ์เพิ่มความสนุกกสนานและรุนแรงแบบ​เลือดตกยางออกเกิดขึ้นเสมอ

 

การถูกลดบทบาททางเพศในกีฬาถูกทำให้พบเห็นอย่างต่อเนื่องเช่นว่า เพศหญิงไม่นานจะต้องเลิกเล่นกีฬาเพราะต้องแต่งงานมีครอบครัว จำเป็นต้องเลี้ยงลูกจึงไม่สามารถเล่นกีฬาต่อไปได้ จึงไม่ควรค่าแก่การสนับสนุน ความคิดดังกล่าวส่งผลให้ผู้สนับสนุนทางกีฬาเลือกที่จะลงทุนกับนักกีฬาผู้ชายเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพบว่าในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวถูกทำให้ลดลงบ้างแล้ว รวมถึงสื่อโทรทัศน์​และสื่อดิจิตอลออนไลน์ยังให้ความสนับสนุนศักยภาพของเพศหญิงในการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยและแสดงความต้องการของตัวเองผ่านแคมเปญ  #likeagirl เมื่อปี ค.ศ2016 อีกด้วย  

 

ตัวอย่างวิดิโอแรกคือ  : like a girl เหมือนผู้หญิง

 

นิยามคำว่า เหมือนผู้หญิง ถูกลดทอนคุณค่าลงผ่านการกระทำในแง่ของอาการอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไร้เรี่ยวแรง ซึ่งเป็นความหมายในแง่ลบทั้งหมด

 

Like a girl ในตัวอย่างโฆษณานี้คือการให้ตัวแทนลองทำท่าทางที่แสดงถึงตัวตนของผู้หญิงผ่านการวิ่ง ตัวแทนหลายคนแสดงท่าทางเหยาะแหยง  ไม่แข็งแรงและทำมืออ่อนแรง รวมทั้งกรณีที่ผู้สัมภาษณ์​ถามเด็กชายไปว่า  นี่กำลังล้อเลียนพี่สาวตัวเองอยู่รึเปล่า เด็กชายตอบกลับไปว่า  เปล่า แต่กำลังล้อเลียนผู้หญิงอยู่ ไม่ได้ล้อเลียนพี่สาวตัวเอง นี่อาจเป็นตัวอย่างของการเหยียดเพศอีกประเภทนึงก็คือ Benevolent Sexism การให้เกียรติพี่สาวตัวเองแต่เผอเรอไม่ตั้งใจที่จะไม่ให้เกียรติผู้หญิงคนอื่นๆ ในวิดิโอนี้ทำให้เห็นว่าการถูกเลือกปฎิบัติในฐานะเพศหญิงส่งผลอย่างไรต่อคนทั่วไป แต่ในท้ายที่สุดก็พิสูจน์ให้เห็นว่า นิยามการเป็นผู้หญิงจะถูกตั้งขึ้นด้วยทัศนคติ​ของเราล้วนๆ  เราจึงควรรู้สึกดีกับตัวเองก่อนและความเชื่อว่าเรามีความสามารถก็จะตามมา

 

ดังคำกล่าวของเด็กสาวตัวเล็กที่บอกไว้ว่า การวิ่งแบบผู้หญิง คือการวิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ 

 

ตัวอย่างที่2 : unstoppable 

 

เคยมีคนจำกัดความสามารถของคุณเพราะเรื่องเพศหรือไม่ ?

จากผลสำรวจพบว่า  72%ของผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองถูกจำกัดความสามารถ และส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ล้มเลิกกิจกรรมกีฬาหลายๆชนิดกลางคัน เพียงเพราะคิดว่าไม่มีใครสนใจในตัวตนของพวกเขา ทางรายการจึงทำแบบทดสอบให้เขียนสิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้หญิงลงบนกล่องและให้ผู้ถูกสัมภาษณ์​จัดการกับกล่องเหล่านั้น และสร้างความเข้าใจใหม่กับนิยามคำว่า  unstoppable คืออย่าหยุด ทำไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งดีๆก็จะเกิดขึ้นตามมา

 

กีฬาเป็นเรื่องของผู้ชาย? 

กีฬาคือการแสดงออกทางพละกำลัง ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งไม่เหมาะกับธรรมชาติของผู้หญิง

หรือแม้กระทั่งการที่ผู้ชมส่วนใหญ่ชอบกีฬาที่ผู้ชายเล่นมากกว่าผู้หญิงเล่น สิ่งเหล่านี้เองที่ลดทอนศักยภาพ​ของผู้หญิงที่จะพิสูจน์​ต่อสังคมว่าเราเองก็ทำได้ไม่ต่างจากเพศชาย และผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำของทีมกีฬาได้  วิดิโอนี้ต้องการจะสนับสนุนความสามารถของผู้หญิงผ่านผู้หญิงด้วยกันที่เลือกที่จะไม่หยุดทำสิ่งที่ตัวเองรักเพียงเพราะสังคมไม่สนับสนุน ความกล้าหาญและเข้มแข็งของเด็กสาวรุ่นใหม่นี่เองที่จะทำให้วงการกีฬาผลิตนักกีฬาผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

เนื่องจากตัวอย่างโฆษณา​ข้างต้นเป็นผลงานโฆษณาผ้าอนามัยนี่ห้อหนึ่ง ผู้เขียนจึงขอย้อนกลับไปนิดนึงถึงบทบาทผู้หญิงในช่วงก่อนสงครามโลก ขณะที่ผู้ชายเสนอตัวออกไปรบ  ผู้หญิงอย่างคิมเบอรี่-คล้าก​ ทำการผลิต Cellucotton ซึ่ง Cellucotton นี้ก็คือผ้าที่สามารถซึมซับได้ดีกว่าผ้าทั่วๆ ไป และใช้เป็นผ้าพันแผลให้กับทหารในสงคราม​ 

  • ปีค.ศ​1937 ถ้วยอนามัย​ ก่อกำเนิด
  • ปี​ ค.ศ​ 1941 สงครามโลกครั้งที่2 พัฒนาต่อเนื่องเป็น Kotex และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งพัฒนาต่อมาเป็นแบบมีปีก​วางขายในปัจจุบัน

 

ในหน้าประวัติศาสตร์​ที่ผ่านมาล้วนมีผู้หญิงเติมแต่งเข้าไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในครั้งสงคราม การเป็นตัวแทนนักกีฬา การขับเคลื่อนสังคมทุกยุคทุกสมัย เราก้าวข้ามการข่มเหงทางเพศและพยายามแก้ไขปัญหานี้ผ่านการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมาตลอด จนทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสังคม

 

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อคือไม่มีกีฬาหรืออาชีพใดใดที่เหมาะกับผู้ชายหรือผู้หญิงโดยเฉพาะ​ ผู้ชายสามารถเล่นบัลเลย์​ ผู้หญิงสามารถเป็นนักกีฬารักบี้ได้ ผู้หญิงสามารถเป็นนักดับเพลิงได้เทียบเท่ากับผู้ชายเป็นพยาบาล​ เราสามารถเป็นได้ทุกอย่างที่เราต้องการโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศเป็นตัวจำกัดความสามารถของเรา

 

ผู้เขียน อัจฉรา​พรรณ​ พาลี

 

อ้างอิง :

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]