Feminism คืออะไร ต้องการอะไรกันแน่?

คำตอบที่ตรงที่สุดก็คือ Feminism คือแนวคิดที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและต้องการล้มล้าง Patriarchy ซึ่งเป็นคำตอบที่กำปั้นทุบดินไปหน่อยแล้วก็ประกอบไปด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่เหตุผลที่เราขอเลือกที่จะใช้การทับศัพท์ภาษาอังกฤษแทนคำแปลเป็นภาษาไทย เพราะเราคิดว่าคำแปลของทั้ง Feminism และ Patriarchy ในภาษาไทยค่อนข้างที่จะเอื้อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อความหมายจริง ๆ ได้ง่ายมากโดยเฉพาะเมื่ออ่านผ่าน ๆ บทความนี้เราอยากให้ลองเปิดใจอ่านกันก่อน เลยลองเลี่ยงคำที่อาจจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปดีกว่า

Feminism ในภาษาไทยใช้คำว่า ‘แนวคิดสตรีนิยม’

ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่าแนวคิดนี้เน้นเพียงการเอื้อประโยชน์ให้เพศหญิงเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับ feminism ในขณะที่ Patriarchy ในภาษาไทยแปลว่าปิตาธิปไตย หรือ ระบบชายเป็นใหญ่ ที่แน่นอนว่าทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเพศชายได้รับแต่ประโยชน์สารพัดจากระบบนี้ 

Patriarchy คือระบบในสังคมที่ให้ค่าความเป็นชาย (masculinity) มากกว่าความเป็นหญิง (femininity)

เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าผู้ชายเหมาะจะเป็นผู้ให้ความปกครอง เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากเป็นเพศที่แข็งแรงกว่าทั้งร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงเชื่อว่าเพศชายฉลาดและมีเหตุผลมากกว่า ในขณะที่เพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนโยน ควรค่าแก่การทะนุถนอม เหมาะกับงานที่เน้นอารมณ์ ความอ่อนไหว และงานที่ต้องดูแลผู้อื่น เช่น การเป็นสุดยอดคุณแม่และศรีภรรยา และเพราะว่ามีแนวคิดเรื่องความเป็นชายหญิงที่ชัดเจน Patriarchy เลยเอื้อให้ผู้ชายมีตำแหน่งในสังคมที่สูงกว่าบุคคลในเพศอื่น 

ถ้าถามว่าแล้ว Patriarchy ไม่ดียังไง

ในเมื่อผู้หญิงก็จะได้รับการทะนุถนอม แล้วก็ดูเป็นระบบที่อวยผู้ชายมากขนาดนี้ คำตอบก็คือ

1. เพราะว่ามันไม่จริง (ฮ่า) และ 2. เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำตัวเป๊ะกับความคาดหวังจากสังคมได้ขนาดนั้น ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนอยากจะเป็นคุณแม่ ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนเป็นคนอ่อนหวาน หรือต้องการการปกป้อง ในขณะที่ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนอยากจะต้องรับภาระในการหาเลี้ยงครอบครัว ทำตัวเข้มแข็งหรือไร้อารมณ์ตลอดเวลา 3. เพราะว่า Patriarchy เป็นแนวคิดที่มาตั้งมาตรฐานที่เป็นพิษภัยว่าอะไรคือ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ‘ผู้ชายที่ถูกต้อง’ และเมื่อคุณไม่สามารถทำตัวตามมาตรฐานได้ การโดนลงโทษก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร

ช่องทางนึงที่เราเห็นว่าเป็นช่องทางสำคัญที่มีอิทธิพลในการปลูกฝังและเกื้อหนุนแนวคิดนี้ก็คือละครโทรทัศน์เนี่ยล่ะ (ค่าา เราทราบว่าไม่ใช่ทุกเรื่อง) ลองถามตัวเองดูว่ามีกี่เรื่องที่เราเห็นว่านางร้ายจะต้องเป็นผู้หญิงแรง ๆ มีความต้องการชัดเจน เปิดเผย (ซึ่งก็คืออยากได้พระเอก เสมือนว่าชีวิตนี้ไม่มีเป้าหมายอะไรอื่นอีกแล้ว) นุ่งน้อยห่มน้อย ก็คือเป็นทุกอย่างที่ตรงข้ามกับนิยาม ‘ผู้หญิงที่ดี’ ในตอนจบแล้วผู้หญิงแบบนี้มักจะต้องโดนลงโทษ โดนใช้ความรุนแรง ล่วงละเมิด ไปถึงขั้นโดนข่มขืน ที่น่ากลัวคือ หลายคนมองว่ามันปกติ ‘ก็ถูกแล้วนี่นาในเมื่อหล่อนไม่ใช่ผู้หญิงที่ดี ทำตัวแบบนี้โดนลงโทษไปก็เหมาะสมแล้ว’

อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยก็คือช่องคอมเมนท์เวลามีข่าวล่วงละเมิดเกิดขึ้น ในแทบจะทุกข่าวเราต้องเห็นการแสดงความคิดเห็นแนวที่ว่า ‘ก็แต่งตัวโป๊ทำไมอ่ะ แล้วปล่อยให้ตัวเองเมาได้ยังไงล่ะ ทำไมไม่ระวังตัวเองเลยนะ’ เนี่ยแหละคือตัวอย่างความเป็นพิษของ Patriarchy เพราะแนวคิดนี้มองว่าถ้าเราเป็น ‘ผู้หญิงดี ๆ’ ก็คงจะไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงแบบนี้หรอก 

เพื่อที่จะให้เข้าใจง่ายขึ้น เราอยากชวนมาอ่านหลากหลายความเข้าใจผิดและคำถามเกี่ยวกับ Feminism ดังนี้

  • ถ้ามุ่งมั่นจะให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศสำหรับทุกเพศ ทำไมถึงไม่ใช่ Gender Equality แทนคำว่า Feminism ที่มาจาก Femininity (ความเป็นหญิง) ไปเลยล่ะ? 

= เพราะว่า Feminism เริ่มต้นจากการที่ผู้หญิงถูกกดทับมาก ๆ ตั้งแต่อดีต ในยุคที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่ได้ไปโรงเรียน และเมื่อแต่งงานก็ถือเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ต้องขออนุญาตออกจากบ้าน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนั้นเฟมินิสต์ในยุคแรก ๆ จึงเริ่มจากการต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงถูกมองในมุมของการเป็นบุคคลที่เป็นเจ้าของร่างกายจิตใจตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพเป็นของตัวเอง Feminism จึงเป็นแนวคิดที่เริ่มจากการต่อสู้ของผู้ถูกกดทับที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ 

  • ทำไมเฟมินิสต์ถึงให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา ทั้งที่เป็นแค่วลีขำ ๆ ?   

= เพราะเฟมินิสต์มองว่าภาษาที่ใช้ในสังคมสามารถแสดงให้เห็นถึงชนชั้นทางสังคมนั้น ๆ ได้ เพราะการใช้ภาษาส่งผลต่อการให้คุณค่าและการลดทอนคุณค่าของคน แล้วยังสะท้อนให้เห็นการกำหนดบทบาททางเพศที่มีอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างประโยคที่พบบ่อยมากในบ้านเรา เช่น “แมน ๆ หน่อยสิ” คือประโยคกระตุ้นความกล้าหาญ ในขณะที่ประโยคสำหรับการถากถางดูถูกคนขี้ขลาดคือ “ไปเอากระโปรงมาใส่ไป” หรือ “ใจตุ๊ด” การใช้คำพูดเหล่านี้สื่อให้เห็นว่าความกล้าหาญถูกโยงกับความเป็นชาย ในขณะที่ความเป็นหญิง ตุ๊ด กระเทย เป็นสิ่งตรงข้ามกับความกล้าหาญ เพศชายถูกคาดหวังให้เป็นเพศที่เข้มแข็งกล้าหาญ ถ้าผู้ชายไม่สามารถเติมเต็มบทบาทนั้นได้ก็มักจะเสี่ยงต่อการถูกตั้งคำถามต่อความเป็นชายทันที นอกจากนี้ยังรวมไปถึงวาทกรรมการใช้ภาษาในการแซว หยอกล้อ ที่มักจะจะส่อไปทางการเหยียดหยามหรือคุกคามทางเพศ เฟมินิสต์เชื่อว่าการจะเกิดความเท่าเทียมที่แท้จริง ต้องแก้ไขการใช้ภาษาให้เหมาะสมด้วย 

  • เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศอ่ะเข้าใจ แต่ทำไมจะต้องยัดเยียดเข้ามาในสื่อขนาดนั้น?

= เพราะเฟมินิสต์มองว่าการมีพื้นที่สื่อที่ส่งสารออกมาได้อย่างถูกต้อง เท่าเทียม และไม่ปลูกฝัง ตอกย้ำแนวคิด Patriarchy เป็นเรื่องสำคัญมาก ย้อนไปไม่นานนี้มีประเด็นออนไลน์ที่น่าสนใจที่ตั้งคำถามว่าสื่อสมัยนี้ ‘ยัดเยียด’ ความเท่าเทียมทางเพศ และความหลากหลายทางเพศเข้ามาจนมากเกินไปหรือไม่ โดยอิงจากการที่ตัวละครมีการแสดงออกถึงความลื่นไหลทางเพศ (เคยเดทกับผู้หญิง แต่อยู่ ๆ ก็มีฉากจุ๊บกับผู้ชาย) และการที่หนังมักจะมีฉากเพื่อนหญิงพลังหญิงเข้ามาให้เห็นบ่อย ๆ หรือแม้กระทั่งการปรากฎตัวของตัวประกอบที่เป็นเกย์ หลายคนมองฉากเหล่านี้ว่ายัดเยียดเกินไปทั้งที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก สำหรับเราแล้ว การที่ยังมีคำถามแบบนี้เกิดขึ้นนี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมเฟมินิสต์ในยุคนี้ยังคงต้องผลักดันเรื่องแบบนี้ให้ปกติมากขึ้นไปอีก ก็เพราะว่าการมีอยู่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการนำเสนอปัญหาการกดขี่ที่ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเจออยู่ทุกวันยังถูกมองว่ายัดเยียดมากเกินไปและไม่จำเป็นจะต้องถูกพูดถึง ฉากเหล่านี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมันไม่จำเป็นจะต้องยิ่งใหญ่หรือสลักสำคัญอะไรกับเนื้อเรื่องก็ได้ มันแค่ตอกย้ำปัญหาที่เราเจอซ้ำ ๆ ในชีวิตจริงที่คนเลี่ยงจะมองหรือว่าพูดถึง เพื่อที่จะให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น รวมไปถึงให้คนที่พบปัญหาพวกนี้รู้ว่าเขาไม่ได่อสู้เพียงลำพัง

ขอเสริมอีกนิดกับความฉงนส่วนตัวของเราเองว่า แล้วคนเหล่านี้ต้องการอะไรจากการปรากฏตัวของตัวประกอบล่ะ การที่ตัวละครเกย์เดินเข้ามาพูดกับพระเอกสองสามคำ คือคนไม่จำเป็นและยัดเหยียดงั้นหรือ แล้วถ้าตัวประกอบนี้เป็นผู้ชายที่เดินเข้ามาตบไหล่ เซย์ไฮกับพระเอกมั่ง พวกคุณจะมาตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของบทนี้กันไหมนะ 

  • Feminism เอื้อประโยชน์ให้แต่ผู้หญิง

= ตามที่ระบุไว้ข้างบนว่า สิ่งที่เฟมินิสต์ต้องการก็คือ ให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้ โดยไม่ถูกกดทับด้วยค่านิยมหรือกรอบทางสังคมที่กำหนดว่าผู้หญิงที่ดีควรทำตัวยังไง ผู้ชายที่ดีควรเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นแนวคิดสตรีนิยมนี้แหละก็เอื้อประโยชน์ให้บุรุษเพศด้วยเหมือนกัน แนวคิดนี้ต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า Hegemonic masculinity  ซึ่งหมายถึงความเชื่อว่าลูกผู้ชายควรจะแข็งแกร่งดั่งหินผา วงแขนกล้ามเป็นมัด ๆ พูดน้อยต่อยหนัก  การงานมั่นคงและเป็นคนคูล ๆ ความเป็นจริงก็คือจะมีผู้ชายกี่เปอร์เซ็นกันที่เป็นได้แบบนั้น แนวคิดของเฟมินิสต์ปกป้องผู้ชายที่ไม่ fit in กับข้อกำหนดเหนือจริงเหล่านี้ว่าก็แมนเท่ากับผู้ชายปกตินั่นแหละ ไม่ควรมีผู้ชายคนไหนถูกตั้งคำถามกับความเป็นชาย ถูกตราหน้าว่าไม่แมนเพียงเพราะว่าเป็นคนอ่อนไหว ร้องไห้กับหนังรัก และไม่ได้มีเรี่ยวแรงแบบดาราหนังบู๊ ถ้าจะยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยก็คือ เฟมินิสต์เชื่อว่า ลูกผู้ชายไม่จำเป็นต้องลุกให้ผู้หญิงนั่ง นั่นหมายถึงว่า ถ้าคุณอยากลุกเพราะคุณคิดว่าเค้าอาจจะถือของหนัก หรือเพราะเห็นใจว่าเค้าใส่ส้นสูงเล็กจิ๋ว นั่นเป็นการกระทำที่น่ารัก แต่ถ้าคุณไม่ได้ลุกให้ใครนั่ง นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณแมนน้อยลงแต่อย่างใด 

  • การเป็นเฟมินิสต์ คือต้องเป็น working women ไม่ใช่สาวหวานที่ชอบทำงานบ้าน

= ที่เฟมินิสต์ต้องการจริง ๆ คือการที่ผู้หญิงสามารถมีทางเลือกในชีวิต ไม่ว่าจะอยากเป็น working women หรือ อยากเป็นแม่บ้านแม่เรือน ข้อสำคัญคือการที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้ว่าอยากจะทำอะไร โดยไม่ถูกบีบบังคับจากบทบาททางเพศหรือค่านิยมในสังคม การที่ผู้หญิงเลือกที่จะแต่งงาน รับบทเป็นคุณแม่และภรรยาไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับแนวคิดเฟมินิสต์ สิ่งที่เฟมินิสต์ต่อต้านคือการที่สังคมบังคับว่าผู้หญิงที่ดีควรจะต้องละทิ้งทุกอย่างแม้จะไม่เต็มใจเพื่อดูแลครอบครัวต่างหาก ถ้าเป็นการเลือกที่จะทำอย่างเต็มใจแล้ว เฟมินิสต์ก็สนับสนุนความต้องการนั้น (และแน่นอนว่าเฟมินิสต์โอเคกับการที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายหาเลี้ยงครอบครัว และสามีเป็นพ่อบ้าน เฟมินิสต์ไม่ได้มองว่าการดูแลลูกและภรรยาทำให้ผู้ชายเป็นชายน้อยลง)

  • Feminism ยกย่องผู้หญิงที่ Independent แมน ๆ คูล ๆ

= อันนี้คล้ายกับประเด็นข้างบนนิดหน่อย หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Feminism นี้พบเห็นได้บ่อยมากก็คือความเข้าใจว่า เฟมินิสต์ยกย่องผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เท่ มีอิสระในชีวิต มากกว่าผู้หญิงที่เลือกจะอยู่บ้านเลี้ยงลูก เฟมินิสต์ยกย่องผู้หญิงที่ทำตัวแมน ๆ ไม่ใช่สายเม้าท์ ไม่ใช่สาวหวาน ยกย่องผู้หญิงที่ต่างจากผู้หญิงเรียบร้อยตามขนบธรรมเนียม จนเกิดเป็นวาทกรรมที่ทำให้ผู้หญิงฟาดฟันกันมาแสนนานเพื่อจะเป็นคนที่แตกต่างและพูดได้ว่า “ฉันไม่ใช่ผู้หญิงทั่วไปนะ”  (I’m not like other girls) แต่ที่เฟมินิสต์สนับสนุนจริง ๆ ก็คือการยกย่องผู้หญิงทุกคนในการเลือกแนวทางการใช้ชีวิตของตัวเอง คุณแม่ผู้ทุ่มเทชีวิตในการเลี้ยงลูกน่ายกย่องและถือได้ว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเช่นเดียวกับนักธุรกิจหญิงโสด สิ่งที่เฟมินิสต์สนับสนุนคือการยกย่องความต่างของแต่ละคน มันโอเคที่เราจะแตกต่างหรือเหมือน ๆ กันกับผู้หญิงคนอื่น ที่สำคัญคือเราสนับสนุนกันแบบที่เรามักจะทำมาตลอด ( note: เหมือนเวลาที่มีผู้หญิงแปลกหน้าต้องการผ้าอนามัยในห้องน้ำสาธารณะแล้วเราทั้งหลายก็กุลีกุจอกันช่วยเหลือ เราว่านั่นคือตัวอย่างเพื่อนหญิงพลังหญิงที่น่ารักมาก ๆ)

จริง ๆ แล้วในแนวคิด Feminism และ Patriarchy ยังมีเรื่องให้พูดถึงอีกเยอะมาก

แต่เราขอสรุปสั้น ๆ ตรงนี้ว่าสุดท้ายแล้ว Feminism คือแนวคิดที่ต้องการให้คุณค่า ให้ความสำคัญที่ความต่างของแต่ละบุคคล มองว่าเราทุกคนควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงโอกาส ได้รับการให้ความสำคัญเท่ากันโดยไม่เอาเพศมาเป็นตัวกำหนดและกดทับความต้องการของเรา

เฟมินิสต์เชื่อว่าคนเราไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ กีดกัน หรือกดดัน ในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การแสดงออก การประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เฟมินิสต์ต้องการก็คือ ให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้ โดยไม่ถูกกดทับด้วยค่านิยมหรือกรอบทางสังคมที่กำหนดว่าผู้หญิงที่ดีควรทำตัวยังไง ผู้ชายที่ดีควรเป็นแบบไหน และไม่ควรมีใครโดนบังคับให้ทำตัวตามบทบาทและความคาดหวังทางเพศที่จำกัดแค่ชายหญิง

ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองเปิดใจศึกษาเผื่อว่าวันนึงเราจะไม่ต้องเขินอายหรือไม่กล้าที่จะนิยามตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็น Feminist เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฟมินิสต์ที่เชื่อเหมือนกันเป๊ะเลยก็ได้ ยังไงแล้วหนึ่งในหลักสำคัญของ Feminism ก็คือการเคารพความต่างนี่แหละ 

ผู้เขียน Yayha

ภาพประกอบ พัชราคำ นพเคราะห์ 

บรรณาธิการ นภหทัย สิทธิฤทธิ์ ,ขวัญข้าว วงศ์พินิจวโรดม

References

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]