เป็นเฟมินิสต์ไปทำไมถ้าเป็นแล้วใครๆ ก็ตั้งคำถาม? ดังนั้นบทความนี้จะมาบอกว่าทำไมเราถึงเป็นเฟมินิสต์
คำว่า Feminist, Feminism, สตรีนิยม, หรือชื่อเล่นที่หลายๆคนเรียกสั้นๆว่า เฟม ปัจจุบันไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่แปลกใหม่หรือไกลตัวเท่าในอดีตนักแต่กลับกันมันสามารถถูกพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากคุณเป็นคนใช้อินเตอร์เน็ต ดูหนัง ฟังเพลง เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวทางสังคม ภาพยนตร์ เพลง ป๊อปคัลเจอร์ต่างๆ ไม่น้อยที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยชูความคิดสตรีนิยมนี้ขึ้นมาอย่างเปิดเผยจนหลายคนถึงกับวิเคราะห์ว่าเป็นเทรนด์ของยุคใหม่ หรือมีแม้กระทั่งการที่บุคคลมีชื่อเสียงหลายคนต่างออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะระดับอินเตอร์เนชันนอลหรือในระดับเอเชีย (เทเลอร์ สวิฟท์, เอมม่า วัตสัน, ไอรีน วง red velvet, นาอึน วง Apink และอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมด)
อย่างไรก็ดี การที่คำๆ นี้ แนวคิดนี้คุ้นหูมากขึ้นหรือถูกพูดถึงมากขึ้นไม่ได้หมายถึงฟีดแบ็กหรือการโต้กลับที่ได้รับกลับมาจะสวยงามและราบรื่น เพราะหลายครั้งหลายคราที่ความไม่พอใจและการเคลื่อนไหวเชิงลบบางอย่างเกิดขึ้นทันทีที่มีผู้แสดงออกว่าสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยมนี้ แม้บางครั้งการแสดงออกนั้นเป็นการแสดงออกแบบเป็นนัยๆก็ตาม เช่น การที่แฟนคลับบางส่วนโพสต์ภาพเผารูปภาพของไอดอลสาว หลังจากที่พบว่าเธออ่านหนังสือเกี่ยวกับสตรีนิยม หรือเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวคนไทย อย่างเช่นการกระทบกระทั่งในโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter และ Facebook ที่มีมาเรื่อยๆ ของคอมมูนิตี้กลุ่มคนที่ไม่ชอบเฟมินิสต์และกลุ่มที่เป็นเฟมินิสต์เอง
บทความนี้ไม่ได้จะเจาะลึกไปยังประเด็นดราม่าหรือการโต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อนที่เกิดขึ้นหรือสืบสาวราวเรื่องว่าใครถูกผิด เรา(ผู้เขียน)มองว่าการถกเถียงที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ต้องเกิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้บางทีจะมีอาการหัวร้อนเพราะคำพูดที่ลากมาฟาดฟันกันก็ตาม (:P) มันเป็นธรรมชาติเวลาที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้วมันขัดแย้งกับสิ่งเก่า ซึ่งสุดท้ายแล้วการปะทะกันเนี่ยแหละที่จะทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิดเสมอ และด้วยเหตุที่พบเห็นการโต้เถียง การเคลื่อนไหวและสงครามทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับประเด็นนี้มาหลายต่อหลายครั้ง ได้อ่านความคิดของต่างฝ่ายก็หลายหน มีคำถามประเภทหนึ่งที่ฝั่งสตรีนิยมมักจะถูกถามเสมอในลักษณะที่ว่า จะเป็นเฟมินิสต์ไปทำไม? อยากให้โลกมีแต่ผู้หญิงหรือ? ทำไมคนฝั่งสตรีนิยมถึงดูจุกจิก มองโลกในแง่ร้าย นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ห้ามทำ? ซึ่งคำถามเหล่านี้บ่งบอกค่อนข้างชัดเจนว่ามีคนมากมายที่รู้จักคำว่า Feminism แต่เพียงชื่อ ยังขาดความเข้าใจในหลักการและเป้าหมายที่แท้จริงที่แนวคิดนี้ ดังนั้น คำถามประเภทดังกล่าวจึงนำมาสู่บทความนี้ ด้านล่างคือ 5 ข้อที่จะจะตอบคำถามว่าทำไมเราจึงควรเป็นเฟมินิสต์
เรามีความสุขมากขึ้น
ข้อแรกนี้อาจจะแตกต่างจากภาพจำที่สังคมมีต่อเฟมินิสต์มากโข แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการที่เราเป็นเฟมินิสต์นั้นช่วยให้เรามีความสุขขึ้นได้จริงๆ แต่ก่อนอื่นต้องขออธิบายคร่าวๆ ก่อนว่าสตรีนิยมนั้นเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายกรอบทางเพศที่สังคมสร้างขึ้นมา ขอย้ำคำว่า “สังคมสร้างขึ้นมา” เนื่องจากหลายๆสิ่งที่เราคุ้นชินมากๆ ในชีวิตประจำวันจนเราคิดว่ามันคือเรื่องจริงโดยเฉพาะเรื่องกรอบและบทบาททางเพศนั้น สตรีนิยมมองว่ามันไม่จริง! ตัวอย่างเช่น จริงๆ แล้วผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเพื่อสีชมพู ผู้หญิงไม่ได้ใช้แต่อารมณ์ขับเคลื่อนชีวิต หรือผู้หญิงที่มีประสบการณ์ทางเพศไม่ใช่คนไม่ดี สตรีนิยมมองว่าทุกเพศคือปัจเจกที่มีคุณค่าในตัวเองและมีสิทธิอย่างเต็มที่ในชีวิตที่จะเลือกทำ เชื่อ หรือแสดงออกได้โดยไม่ต้องมีคำว่า “เป็นผู้หญิงไม่ควรทำแบบนั้น”
เจ้ากรอบทางเพศที่สังคมสร้างขึ้นมานี้มันกว้างมากๆ และครอบคลุมชีวิตทุกด้านจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนทำให้บางครั้งเมื่อมีการข้ามขอบเขตนั้นๆเธอจะกลายเป็นผู้หญิงที่สังคมไม่ปรารถนาทันที และแน่นอนว่ามันย่อมสร้างความทุกข์ในใจให้คนที่ล้ำเส้นเหล่านั้น แต่สตรีนิยมที่มุ่งทำลายกรอบเหล่านั้นบอกเราเสมอว่า ไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องทำตาม ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่เราไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานสังคม เราคือเรา เราคือปัจเจกที่เป็นอิสระและสามารถเลือกที่จะมีความสุข อนึ่ง แนวคิดนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่เพียงเพศหญิง แต่สตรีนิยมยังมุ่งทำลายกรอบทางเพศของผู้ชายหรือเพศทางเลือกด้วยเช่นกัน
เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
เรามองเห็นรายละเอียดที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้คือการที่องค์ความรู้ กระแสสังคม ประเพณีปฏิบัติ ธรรมเนียม ค่านิยมต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาล้วนมีรากฐานมาจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยสิ่งเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างระดับใหญ่ๆ แปรรูปมาเป็นองค์ความรู้ กฏหมาย ค่านิยม หนัง ละคร ตำนาน นิทาน ไปจนวลีในชีวิตประจำวัน สตรีนิยมมองไปยังสิ่งเหล่านี้รอบๆ ตัวเราและจะทำการชำแหละโครงสร้างเบื้องหลังสิ่งๆนั้นเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันและทำลายการเลือกปฏิบัติทางเพศที่แปรรูปออกมาเป็นสิ่งๆ นั้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เราขอยกตัวอย่างหนึ่งเรื่อง คือเรื่องการที่ภาพจำของผู้หญิงต้องเป็นผู้ชำนาญการและช่ำชองในด้านการทำอาหาร มีคำศัพท์ วลีมากมายที่เน้นย้ำสิ่งนี้ เช่น แม่ครัว แม่ศรีเรือน รสมือแม่ ฯลฯ แต่พอพูดถึงอาชีพผู้ทำอาหารกลับมีแต่ภาพผู้ชายปรากฏมากกว่าภาพผู้หญิง ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการทำอาหารโดยมากก็เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือให้ชัดเจนยิ่งกว่านั้นคือหลายๆครั้งผู้หญิงถูกปฏิเสธไม่ให้สามารถประกอบอาชีพดังกล่าว โดยระบุชัดเจนว่า “รับแต่เพศชาย” ทั้งๆที่สังคมพร่ำพูดคำว่าแม่ศรีเรือนเสมอแต่กลับได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชาย คล้ายว่าพื้นที่สำหรับผู้หญิงคือในบ้านเท่านั้น
เหล่านี้คือสิ่งที่เราเห็นผ่านการมองของสตรีนิยม สตรีนิยมมอง วิเคราะห์ รื้อสร้าง จากนั้นเราจะเห็นว่ามีใครบ้างที่ถูกกดทับภายใต้โครงสร้างเหล่านั้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เมื่อเราตระหนักรู้ เราจะเกิดความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นในหลายๆแง่มุม เพราะเรามองเห็นสิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนนั่นเอง
เรารับผิดชอบและระมัดระวังตัวในการอยู่ร่วมกันในสังคมมากขึ้น
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้อก่อนหน้าว่า แนวคิดเลือกปฏิบัติทางเพศได้ถูกแปรรูปมาเป็นสิ่งต่างๆ มากมายที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ดังนั้นเมื่อมองผ่านสายตาสตรีนิยมแล้วเรามองเห็นปัญหาและรับรู้การเลือกปฏิบัติทางเพศที่ซุกซ่อนอยู่ เราจะเกิดการระมัดระวังในการใช้ชีวิต ในบางอย่างที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด เราอาจจะไม่รู้ว่ามันไม่ถูกต้องและกำลังมีหลายคนที่เจ็บปวดและถูกกดทับจากสิ่งนี้อยู่ เช่นตัวอย่างง่ายๆ ที่ชัดเจนและแพร่หลายอย่างการด่าผู้อื่นว่าหน้าตัวเมีย นิสัยแบบนี้ไปใส่กระโปรงหรือคำว่าใจตุ๊ด ซึ่งเป็นการนำเพศของผู้อื่นมาใช้เปรียบเทียบเชิงเหยียดหยามถึงพฤติกรรมขี้ขลาด อ่อนแอ ไม่กล้ายอมรับความจริง ซึ่งเราทุกคนก็น่าจะรู้ดีว่าไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่อ่อนแอและไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่เข้มแข็ง
เมื่อวลีนี้ถูกกล่าวออกมาเมื่อไหร่ มีคนกำลังถูกด้อยค่า บางคนเชื่อตามคำเหล่านั้น บางคนต่อต้าน บางคนไม่สบายใจ เช่นเดียวกับกำหนดว่าผู้ชายต้องเข้มแข็งตลอดเวลา เป็นช้างเท้าหน้า น้ำตามีค่าดั่งทอง หากผู้ชายคนใดแสดงความอ่อนแอ จะต้องถูกมองว่าเป็นไก่อ่อนไม่สมชายชาตรีในสายตาคนอื่น ดังนั้นหากต้องการการยอมรับ ผู้ชายจะต้องแกล้งทำเป็นเข้มแข็งแม้จะเป็นคนอ่อนไหวหรือภายในจิตใจจะรู้สึกแย่แค่ไหนก็ตามแต่ผู้ชายต้องแสดงออกว่าตัวเองไม่เป็นไร ซึ่งจริงๆแล้ว ใครๆก็เป็นไร ได้ทั้งนั้น จิตใจที่เจ็บปวดทุกดวงสมควรได้รับการปลอบประโลมเยียวยาอย่างเหมาะสม ไม่ควรต้องถูกยัดเก็บไว้เพียงเพราะต้องเป็นคนเข้มแข็งตลอดเวลา
หรือในเหตุอาชญากรรมทางเพศต่างๆที่เรามักได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้โทษเหยื่อโดยไม่รู้ตัว ทุกครั้งที่มีเหตุ เหยื่อมักจะถูกกล่าวโทษไปพร้อมๆกันกับผู้ก่อเหตุทั้งๆที่เขาเหล่านั้นคือ “เหยื่อ” เหยื่อมักถูกด่าว่าว่าไม่ระวังตนเอง แต่งตัวไม่มิดชิด หรือมีส่วนให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ทั้งๆที่การละเมิดไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น ผลที่ตามมาคือเหยื่อโดนซ้ำเติมส่งผลต่อสภาพจิตใจ
ในเชิงนโยบายก็เป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวผิดจุดโดยเน้นไปที่การปลูกฝังเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อ แต่ไม่ปลูกฝังเรื่องการห้ามเป็นผู้กระทำอย่างจริงจัง มีเพียงการพูดเล็กน้อยแต่ขาดการเน้นย้ำว่าการกระทำดังกล่าวมันผิดไม่ว่าจะมองจากมุมไหนๆ และยิ่งโฟกัสไปที่เหยื่อเท่าไหร่ยิ่งลดทอนความผิดของการเป็นผู้กระทำเพราะสุดท้ายแล้วสังคมมองว่าเหยื่อมีส่วนทำให้ผู้กระทำผิดได้ลงมือทำ
ดังนั้นเมื่อเรารับรู้ถึงปัญหาของมันแล้ว เราจึงเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น และรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจะไม่พูดอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าโดยมองว่าเป็นสิ่งที่เคยชินหรือทำมาตลอด เพราะเราตระหนักถึงความหมายและอำนาจภายใต้คำพูด เราเชื่อว่าสังคมที่ดีต้องสร้างขึ้นมาจากความเท่าเทียม และความเท่าเทียมหมายถึงทุกๆเพศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในทุกแง่มุม
เรารู้จักและยอมรับตัวเองมากขึ้น
เพราะเราทุกคนเกิดมาแตกต่าง หน้าตา ฐานะ สีผิว ความชอบหรือเงื่อนไขในการใช้ชีวิต แต่กรอบทางสังคมหลายๆอย่างกลับสอนให้เราเป็นผู้หญิงแบบเดียวกันไปซะหมด ผู้หญิงที่ต้องเป็นเมีย เป็นแม่ เป็นลูกสาว เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งกำหนดคุณสมบัติชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร ในบางครั้งที่ผู้หญิงไม่ทำตามกรอบนั้นก็ต้องรู้สึกเหมือนเป็นคนบ้า เป็นเมียที่ไม่ดี เป็นแม่ที่ไม่ดี เช่น การจะเป็นเมียที่ดีหรือแม่ที่ดีนั้นต้องรักษาพรหมจรรย์ไปจนถึงวันแต่งงาน พรหมจรรย์ของเธอมีไว้สำหรับสามีของเธอเท่านั้น หากเธอมีการล้ำเส้นหรือฝ่าฝืนกฏนั้นเมื่อไหร่ เธอจะกลายเป็นผู้ที่คุณสมบัติบกพร่องและสมควรประนาม สังคมจะเรียกเธอว่าเป็นคนที่ “มั่ว” “แรง” “ไม่มีใครเอาเป็นแม่ของลูก” หลากหลายวาทกรรมที่พร้อมจะทำให้เธอเจ็บปวดไม่มากก็น้อย แต่ในสายตาของสตรีนิยมนั้น พฤติกรรมของเธอไม่มีอะไรผิดแม้แต่นิดเดียว หากทุกอย่างเกิดขึ้นจากความยินยอมและไม่ละเมิดผู้อื่น เธอเพียงหาความสุขจากร่างกายของเธอเองที่เธอเป็นเจ้าของตั้งแต่เกิด ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องรู้สึกแย่สักนิดเดียว
ทั้งๆ ที่โลกของเรามีหลายล้านเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ทำให้เงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกันแล้วทำไมทุกคนต้องถูกคาดหวังให้เป็นเหมือนๆกันด้วยกรอบความคิดเพียงไม่กี่ชุด ดังนั้นด้วยแนวคิดสตรีนิยม ทุกคนไม่ควรรู้สึกแย่ที่จะมีความชอบหรือไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนสิ่งที่สังคมกำหนด เราคือตัวเราเอง เรามีสิทธิเลือกเสมอ
เราได้ใช้ความคิดและชีวิตมีความหมายมากขึ้น
สตรีนิยมเป็นแนวคิดที่ไม่ผิวเผิน ไม่ฉาบฉวย เป็นแนวคิดที่ผ่านการต่อสู้ ตรวจสอบกันเอง และลองผิดลองถูกมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ เป็นแนวคิดที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการเอาชนะผู้ชายหรือกำจัดผู้ชายให้หายไปจากโลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ และไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเฉพาะเพศหญิง หากแต่สตรีนิยม พูดถึงคนทุกคน เพศทุกเพศที่ถูกกดทับและต้องเจ็บปวดจากแนวคิดชายเป็นใหญ่เนื่องจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ไม่ได้ส่งผลเฉพาะเพศหญิง แต่รวมตัวเพศชาย เพศทางเลือกต่างๆ สตรีนิยมเพียงต้องการทำลายแนวคิดนั้นแล้วสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมสำหรับทุกๆ คนทุกเพศและทุกวัย ดังนั้นแล้วสตรีนิยมเปรียบเสมือนอาหารทางจิตวิญญาณที่สอนสร้างให้เราทำเพื่อผู้อื่นน คิด วิเคราะห์ พัฒนา โดยมีเป้าหมายปลายทางคือสังคมที่เท่าเทียมและสันติสุข
สำหรับตัวเราเองนั้นเติบโตมากับสังคมอนุรักษ์นิยมในชนบท ที่บ้านของเรายังมีความเชื่อที่ค่อนข้างดั้งเดิมอย่างห้ามตากผ้าถุงหรือกระโปรงกางเกงของผู้หญิงบนราวสูง ต้องตากที่ราวต่ำเพราะเป็นของต่ำ เรายังต้องทำงานบ้านในขณะที่น้องชายของเราสามารถออกไปวิ่งเล่นได้เนื่องจากเราต้องทำหน้าที่ของลูกสาว เราถูกสอนกึ่งบังคับให้ต้องเรียนรู้การทำอาหารตั้งแต่เด็กแม้เราจะไม่ชอบมากๆเพราะเราจะได้โตไปเป็นภรรยาที่ดี “ทำอาหารไม่เป็นจะไม่มีใครเอาเป็นเมีย” ผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านบอกไว้
กระทั่งทุกวันนี้ เมื่อเราเป็นผู้หญิงในโลกของการทำงาน เรายังถูกตั้งแง่และพูดถึงลับหลังว่าผู้หญิงทำงานใหญ่จะไหวหรอ เป็นผู้หญิงจะต้องจุกจิกไร้สาระ ใช้อารมณ์ขี้นินทาจนงานพังแน่นอน เราได้รับปฏิกิริยาเหล่านี้ตั้งแต่เหล่าคนที่พูดยังไม่รู้จักเราหรือให้โอกาสเราทำงานด้วยซ้ำ หากเป็นเมื่อก่อนเราคงเจ็บปวดกับคำพูดเหล่านั้นจนบั่นทอนตัวเองไม่เป็นอันทำอะไร และก็คงคิดว่าเราคงเป็นแบบนั้นจริงๆ เราคงไม่สามารถทำงานได้เพราะธรรมชาติของผู้หญิงจะทำให้งานพัง
แต่ในตอนนี้ เรารู้จักหลายๆสิ่ง เรารู้จักสตรีนิยม เรารู้จักคำว่าอคติทางเพศ และแน่นอนเรารู้จักตัวเอง เรารู้ว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงความเชื่อผิดๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานนั้น เราพยายามและทำงานหนัก เรารู้จักความเป็นเหตุเป็นผล เราแน่ใจว่าความเป็นเพศหญิงของเราไม่ทำให้ความสามารถในการใช้เหตุผลของเราลดลงแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นเราจึงไม่ใส่ใจคำพูดเหล่านั้นและหันมาตั้งใจทำในสิ่งที่ควรทำ และมันก็ออกมาดีเพราะเรารู้ว่าเราจะทำได้ดี เช่นกันในเรื่องความเชื่อและค่านิยมเรื่องคุณสมบัติการเป็นผู้หญิง มีหลายสิ่งที่แม้จะได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เป็นเด็ก แต่เราทำได้ไม่ดีและเราไม่ชอบเลย
เราไม่ใช่แม่ศรีเรือน เราทำอาหารไม่ได้ เราโดนดุด่าเรื่องเหล่านี้และได้พยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะทำอาหารหรือคงสภาพบ้านให้สวยงามเหมือนบ้านตัวอย่าง แต่มันก็ Failed ทุกครั้งเพราะห้องเราสภาพเหมือนห้องเก็บของที่นอนได้ตลอดเวลา ตอนที่เด็กกว่านี้เรารู้สึกแย่ที่เราไม่มีคุณสมบัติการเป็นผู้หญิงที่ดีตามขนบเอาซะเลย ไม่เป็นที่น่าภูมิใจของพ่อแม่ แต่ตอนนี้เราไม่สนใจสักนิดเดียว ถ้าเรามีนวัตกรรมและแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอื่นทำไมเราต้องมานั่งกลุ้มที่ปูเตียงไม่ตึงหรือทำแกงมัสมั่นไก่ไม่อร่อย ?
เราแฮปปี้ เรามีเวลาทำในสิ่งที่ชอบ เราไม่ต้องฝืนพยายามทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง เราได้ลองอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา และในขณะเดียวกันเราก็มีเวลาใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น เราได้เห็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในใจเนื่องจากกรอบทางเพศที่รัดรึงพวกเขาเอาไว้ ไม่เฉพาะผู้หญิง แต่เป็นทุกเพศ ทั้งพ่อแม่ น้องชาย พี่ชาย เพื่อนสาวของเรา
แน่นอน เราทุกวันนี้ทำตัวขัดกับขนบหญิงที่ดี เราเพิกเฉย ฝ่ากฏ และล้ำเส้นมากมายเหล่านั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกด้อยค่าแม้แต่นิดเดียว เพราะสุดท้ายเราก็ยังภูมิใจในตัวเองและมั่นใจว่าได้พยายามใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเสมอ
pyn.rt (ผู้เขียน)
พัชราคำ นพเคราะห์ (ภาพประกอบ)
นภหทัย สิทธิฤทธิ์ ,ขวัญข้าว วงศ์พินิจวโรดม (บรรณาธิการ)
ขอบคุณข้อมูลจาก http://sthreeling.blogspot.com/2006/11/5-things-feminism-has-done-for-me.html