“มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา” หรือ “เราเคยชิน” กับความได้เปรียบของ “ผู้ชาย”
ในช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่กี่เดือนก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การออกมาขับเคลื่อนทางสังคมมากมายทั้งในประเทศไทยเองและต่างประเทศ หลายเรื่องคนในสังคมต่างเห็นพ้องต้องกัน แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ความคิดเห็นของคนในสังคมไม่เคยไปในทิศทางเดียวเลยไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม เรื่องนั้นคือ ใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “เพศ”
ยุค 2020 ที่โลกมีวิวัฒนาการไปไกล เทคโนโลยีมากมาย ความคิดในเรื่องเก่าๆ หลายความคิดถูกพิสูจน์ว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ผู้คนคิดใหม่ทำใหม่ รณรงค์เรื่องความเท่าเทียมของสีผิว เชื้อชาติ และสิทธิมนุษยชน แต่แล้วถ้าพอเป็นเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง จะกลายเป็นประเด็นที่น่าเบื่อและตลกขบขันทันที
ดังเช่นที่กำลังจะกล่าวในบทความนี้ เป็นเรื่องของ “อภิสิทธิ์ชาย” ที่ยังมีอยู่จริงในสังคมไม่ว่าจะเป็นชาติใด ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับความ “ชายเป็นใหญ่” ในสังคมด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้ชายก็อาจจะงงว่า แล้วตัวเองไปมีความเป็นอภิสิทธิ์นี้ตอนไหน ทั้งที่ก็ใช้ชีวิตธรรมดาปกติ ไม่ได้ไปกดขี่ข่มเหงใคร ไม่เคยใช้อำนาจออกคำสั่งกับใคร ที่จริงแล้วนั่นมันก็แค่ความเคยชิน เพราะสังคมนั้นได้ให้อภิสิทธิ์ชายแทรกซึมทุกอณูการใช้ชีวิตจนเราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว
- ผู้ใหญ่ในบ้านยังมีความเชื่อว่าตากชุดชั้นในของผู้หญิงเท่าผู้ชายไม่ได้ เพราะเป็นของต่ำอยู่รึเปล่า
- เคยโดนสอนว่าถ้าเป็นเด็กผู้หญิงต้องอย่าตื่นสาย แต่พี่ที่เป็นผู้ชายตื่นบ่ายก็ไม่มีใครว่า
- หรือตัวคุณเองยังเชื่อว่า ผู้ชายหื่นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ผู้หญิงหื่นต่างหากที่น่าเกลียด
- ถ้าใช่ทั้งหมด นั่นก็คือตัวอย่างหนึ่งของอภิสิทธิ์ชายในประเทศไทยของเราเอง
ไม่เพียงแต่ว่าต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้น แต่ในประเทศอื่นๆ ก็ยังมีเรื่องแบบนี้อยู่อีกมากมาย ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น หากคุณเป็นผู้หญิงในที่ทำงาน คุณจะถูกห้ามไม่ให้สวมแว่นตาและใส่ได้เพียงรองเท้าส้นสูงเพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของผู้หญิง หรือในประเทศอินเดียยังมีประเพณีพิสูจน์พรหมจรรย์ของผู้หญิง ที่ญาติพี่น้องกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนจะนั่งเฝ้าหน้าห้องหอรอลุ้น
ซึ่งในญี่ปุ่นผู้ชายไม่ต้องถูกบังคับให้ใส่ส้นสูงที่อึดอัด แถมยังใส่คอนแท็คเลนส์ได้ และไม่ว่าประเทศไหนก็ตามไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศอินเดีย ไม่มีการพูดถึงพรหมจรรย์ของผู้ชายเลย
ในประเทศของเรา งานบางงานก็กำหนดว่ารับแค่ผู้ชาย ทั้งที่ผู้หญิงก็สามารถทำงานนั้นได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งในศาสนาพุทธ สถาปัตยกรรมบางแห่งก็ติดป้ายว่า “ห้ามผู้หญิงเข้า” และ “อภิสิทธิ์ชาย” นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง แต่หมายถึงแทบจะทุกเพศในสังคมก็โดนอภิสิทธิ์ชายกดทับอยู่ทั้งสิ้น
ถ้าเอาตัวอย่างที่มองได้ง่ายในบ้านเรา แม้แต่ lgbtq+ ก็ยังมีอภิสิทธิ์ชายมากดทับ เห็นได้จากซีรีส์ที่ฉายกันอยู่ทั่วไป แม้จะเคลมว่าเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่ม lgbtq+ แต่ทำแค่ซีรีส์ชายรักชายในสัดส่วนที่แทบจะ 98% ของสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับ lgbtq+ แล้วให้สาวประเพศสองมาเป็นตัวโจ๊ก ให้ผู้หญิงมาเป็นนางร้าย ส่วนความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงเป็นได้แค่ส่วนประกอบเล็กๆ ของซีรีส์ชายหญิงปกติเท่านั้น
ที่แย่คือบางเรื่องมีพล็อตที่ว่าเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ ด้วยการพาไปอยู่บ้านเดียวกันกับผู้ชายหล่อๆ สุดท้ายก็กลับไปเป็นสาวสวย จบแฮปปี้เอนดิ้ง
หรือแม้กระทั่งตัวอย่างในชีวิตประจำวันอย่างเช่นในกรณีของแฮชแท็ก #มองนมไม่ผิด ที่เป็นประเด็นร้อนช่วงหนึ่งในทวิตเตอร์นั้น มีผู้หญิงมากมายเข้าไปแชร์ประสบการณ์ว่าตัวเองรู้สึกอึดอัดกับการคุกคามทางเพศด้วยสายตา ต้องการให้ผู้ชายควบคุมตัวเอง แต่ก็จะมีผู้ชายประเภทที่ต้องสวนกลับทันทีว่า การมีอารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องปกติของผู้ชาย ซึ่งเป็นผลมาจากเพราะอภิสิทธิ์ชายที่มีรองรับผู้ชายในสังคมตลอดเวลา จึงทำให้ผู้ชายคิดว่านั่นคือเรื่องปกติที่พวกเขาสามารถแอบมองหน้าอก สะโพก หรือส่วนเว้าส่วนโค้งของผู้หญิงได้ตามอำเภอใจ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าผู้หญิงจะอึดอัดที่ตัวเองโดนคุกคามเพียงใด
เพียงเพราะว่า “ความหื่นมันเป็นเรื่องปกติของผู้ชาย” ทั้งที่แท้จริงแล้วเพศใดก็มีความรู้สึกและมีอารมณ์ทางเพศได้ แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่มีผู้ชายออกมาแชร์ว่าเคยโดนผู้หญิงคุกคาม หรือแม้กระทั่ง lgbtq+ ด้วยกันคุกคามกันเองก็มี ซึ่งความจริงแล้วคือไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด ก็ไม่ควรคุกคามทางเพศผู้อื่นทั้งนั้นไม่ว่าจะด้วยการกระทำ คำพูด หรือแม้กระทั่งสายตา
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงแค่เรื่องส่วนน้อยในสังคมทั้งในประเทศเราเองและต่างประเทศ ซึ่งหากคนส่วนใหญ่ในสังคมสามารถเข้าใจว่าความมีอภิสิทธิ์ของเพศชายนั้นอยู่ในสังคมของเราอย่างไรบ้างและไม่ยินยอมใช้ชีวิตที่เคยชินกับมันอีกต่อไป แต่มาใช้ชีวิตบนพื้นฐานของ สิทธิมนุษยชน แทนสิ่งที่เรียกว่า อภิสิทธิ์ชาย ถึงวันนั้นคำว่าอภิสิทธิ์ชายอาจเหลือเป็นเพียงแค่คำพูดก็ได้ ใครจะไปรู้
ผู้เขียน: minniefefe
อ้างอิง
- https://everydayfeminism.com/2016/02/160-examples-of-male-privilege/
- https://voicetv.co.th/read/AIvp–m5T
- https://workpointnews.com//2018/04/11/เจ้าสาวอินเดียยังต้องเ/
- https://thematter.co/thinkers/patriarchy-and-nipples/114443
- https://www.sanook.com/movie/94341/