ความแตกต่างเป็นสิ่งที่สวยงาม มหัศจรรย์ และคาดเดาไม่ได้ แต่เพราะเหตุใดกัน มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยก เลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่สร้างความชอบธรรมให้การกดขี่ เพียงเพราะเขามีอะไรก็ตามที่แตกต่างออกไป
ทุกคนเคยสงสัยกันไหมครับว่าเพศชายกับหญิงเนี่ยจะต่างกันได้ขนาดไหน และ ต่างกันได้ยังไงบ้าง? หลาย ๆ คนก็อาจจะมีคำตอบแล้วในใจ เช่น บทบาทตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด (ใคร ๆ ก็รู้ว่า binary gender roles มันเชยมาก ๆ) หรือความแตกต่างทางกายภาพบ้าง แค่หน้าตาก็ต่างกันแล้วนะ
แล้วถ้าผมจะบอกว่าเพศเนี่ย มีผลต่อรายได้จากการทำงานล่ะครับ? แล้วเพศยังมีผลต่อการศึกษา มีผลต่อความสำเร็จ และวิธีที่จะได้รับการปฏิบัติในสังคมอีกด้วย ใช่ครับ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจริงที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทันนึกถึงเพราะอาจจะไม่ค่อยจะได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำแบบนี้เท่าไหร่ หรืออาจมองว่ามันเป็นสิ่งปกติในสังคมไปเสียแล้ว แต่เชื่อผมเถอะครับ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้มีอยู่จริง และเป็นปัญหาที่จับต้องได้อีกด้วย วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Gender Gap ครับ
ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนเลยว่า Gender Gap คืออะไร
Gender Gap คือความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิงหรือเพศอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่จะใช้เรียกความเหลื่อมล้ำในทางรายได้ครับ แต่ความเหลื่อมล้ำในรูปแบบอื่นก็ได้เช่นกัน เช่น ตำแหน่งงาน การศึกษา เป็นต้น
ผลสำรวจจากเอกสาร Global Gender Gap Report จาก World Economic Forum แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในด้านต่าง ๆ ที่พูดถึงไปข้างบน โดยใช้ค่า 0 แทนสภาพความเหลื่อมล้ำและ 1 แทนสภาพความเท่าเทียม ในการจัดอันดับ ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 75 จาก 153 ประเทศที่ถูกร่วมจัดอันดับด้วย ประเทศไทยมีค่าความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 0.708 ครับ ดูเหมือนจะเท่าเทียมเลยใช่ไหมครับ? แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้ขนาดนั้นหรอกครับ ทีนี้ทุกคนพอจะนึกออกไหมครับว่าความเหลื่อมล้ำในด้านไหนเห็นชัดที่สุด? บางคนอาจจะคิดแล้วว่าใช่การศึกษาไหม? ไม่ใช่ครับ การศึกษาเนี่ยเพศชายและเพศหญิงเกือบจะเท่าเทียมกันแล้วครับ โดยค่าความเหลื่อมล้ำในที่นี้คือ 0.991 ครับ อีกนิดเดียวเท่านั้น ทุกคนอาจจะมาคิดต่อครับว่าแล้วการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจล่ะ? ตรงนี้จะเริ่มเห็นชัดขึ้นแล้วครับ เพราะค่าความเหลื่อมล้ำ 0.776 ในด้านเศรษฐกิจไม่ใช่ค่าที่สูงอะไรครับ แต่ก็เทียบไม่ได้กับ “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” ครับ ค่านี้สุดจะต่ำเลย แค่ 0.086 เท่านั้นเอง โดยผลสำรวจก็ได้บอกว่าตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผู้หญิงเนี่ย น้อยมาก ๆ เลย สงสัยกันไหมครับว่าทำไม?
จุดนี้ต้องยอมรับนะครับว่า สังคมไทยยังไม่ค่อยเปิดรับเรื่องการที่ผู้หญิงจะขึ้นเป็นผู้นำขององค์กรกันเท่าไหร่นัก ไม่ต้องถึงสเกลผู้นำก็ได้ ในโรงเรียนน่ะครับ หัวหน้าห้องมักจะเป็นผู้ชาย ในขณะที่หน้าที่อื่น ๆ เช่น รองหัวหน้าหรือเหรัญญิกมักจะตกเป็นของเพศหญิงเสมอ ครูบางท่าน บางโรงเรียนให้เลือกหัวหน้าห้องจากผู้ชายเท่านั้นเลยครับ ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไม แต่จากที่ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่บ้าง คนแก่แถวบ้านบ้าง เขาบอกเหมือนกันหมดเลยครับว่า ผู้หญิงเนี่ย มีหน้าที่เป็นแม่บ้าน คอยเลี้ยงลูก ทำทุกอย่างให้สามีพอใจ แต่ผมเองก็หยุดสงสัยไม่ได้เหมือนกันครับว่าทำไมชุดความคิดนี้ถึงยังไม่หายไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของสภาพสังคมสักที
อีกปัญหานึงที่เห็นได้ก็คือรายได้ที่ไม่เท่ากันระหว่างเพศหญิงและชายโดยรวมครับ บางคนก็ว่าผู้หญิงทำงานไม่ดีเท่าผู้ชายบ้าง บ้างก็ว่าผู้หญิงเนี่ย “เลือก”จะทำงานที่รายได้ไม่เยอะ เวลาทำงานน้อย จะได้มีเวลากลับบ้านไปซักผ้ากวาดบ้านเลี้ยงลูก หรือผู้หญิงเลือกจะเป็นแม่บ้าน เพราะหน้าที่สร้างรายได้สนับสนุนครอบครัวก็เป็นของฝ่ายชายมาแต่ไหนแต่ไร จะไปแย่งงานเขาทำไม สู้ทำกับข้าวหาน้ำเย็น ๆ ให้เขากินดีกว่า เขาจะได้รักและสนับสนุนไปนาน ๆ หรือที่หนักที่สุดคือบางคนที่ผมเคยเจอพูดออกหน้าเลยว่าการทำงานหาเงินไม่ใช่วิสัยของเพศหญิง ไม่ใช่อะไรที่พึงกระทำ ซึ่งผมก็บอกไม่ได้หรอกครับ ว่าความคิดชุดนี้เคยเป็นจริงไหม? จริงแค่ไหน? แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบแนวคิดแบบนี้เท่าไหร่นัก
เราพอจะเห็นปัญหาแล้วหรือยัง
แล้วเราจะแก้ไขกันยังไงล่ะ? สำคัญเลยคือเราควรสนับสนุนผู้หญิงขึ้นในฐานะผู้นำให้มากขึ้นก่อนเลยครับ ปัญหาความเหลื่อมล้ำล้วนมาจากสังคมที่ run บนเค้าโครงของสังคมชายเป็นใหญ่ที่ผู้หญิงมักจะเป็นผู้ตาม ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงอะไร เป็นผู้อยู่ใต้อาณัติ เป็นที่รู้กันนะครับว่าผู้หญิงต่างออกมาเรียกร้องสิทธิที่ตัวเขาเองควรจะได้รับมานาน แต่บางคนก็ยังไม่ให้ความสำคัญ ไม่จริงจังกับความต้องการของเขา ผมคงสั่งทุกคนให้เข้าใจสภาวะผู้ถูกกดขี่ของผู้หญิงไม่ได้ครับ แต่ผมอยากให้ทุกคนพยายามเข้าใจ เราต้องเปลี่ยนชุดความคิดที่เคยมีความคิดแบบนี้ออกไปให้หมดก่อนครับ มองผู้หญิงให้เท่ากับผู้ชาย เขาไม่ใช่เบี้ยล่างทางสังคม เขาไม่เคยเป็นเลย เขามีสิทธิ์ที่จะอยากทำอะไรก็ได้ และมีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้ที่อยากเช่นกัน อย่าเอาเพศมาเป็นตัวกีดกันการใช้ชีวิตของเขาเลยครับ เราต้องสนับสนุนผู้หญิงขึ้นมาจากความเหลื่อมล้ำที่สังคมเคยก่อไว้ ไม่ใช่ฝังพวกเขาลงไปให้ลึกกว่าเดิม สักวันเราจะยุติ Gender Gap ลงจนได้ครับ
ผู้เขียน bukechie
อ้างอิง
- FAQ: What is the “Gender Gap”? https://finallyfeminism101.wordpress.com/2007/03/09/what-is-the-gender-gap/
- Echidne of the Snakes The Gender Gap. Part One: Theory http://www.echidne-of-the-snakes.com/gendergap/gendergappart1.htm
- Women and Girls – Closing the Gender Gap https://www.un.org/en/un75/women_girls_closing_gender_gap
- Global Gender Gap Report 2020 http://www3.weforum.org/docs/WEF_GGGR_2020.pdf