ทำไมเฟมินิสต์ถึง “เถียงกันเอง”

Why are there so many fights between feminists? ทำไมเฟมินิสต์ถึง “เถียงกันเอง”

         เราคงเคยได้เห็นข้อถกเถียงที่ดูเหมือนย้อนแย้งกันไปมาภายในกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์หรือสตรีนิยม ซึ่งบางครั้งก็สร้างความสับสนให้แก่สาธารณะชนผู้(เลือกที่จะอยู่)นอกเหนือขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีว่าสรุปแล้วเฟมินิสต์คืออะไร และต่อสู้เพื่ออะไรกันแน่ ทำให้หลายคนมองเฟมินิสต์ว่า ประสาทแดก จนพาลคิดไปว่า ในเมื่อผู้หญิงสมัยนี้ได้เรียนและทำงานเหมือนผู้ชายแล้ว เราคงไม่ต้องการเฟมินิสต์ อีกต่อไป

          ในปัจจุบันที่แม้ว่าผู้หญิงจะมีโอกาสได้เรียนและทำงาน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ที่เท่าเทียมกันกับผู้ชาย ยังคงมีผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ(ไม่ได้รู้สึกปลอดภัย) ยังมีเสียงและความเห็นของผู้หญิงที่ถูกถ้อยค่า(ไม่ได้รับเกียรติ) ไม่ให้ราคา ยังมีผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตอย่างยุติธรรม การเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมจึงยังจำเป็น และในเมื่อสตรีนิยมคือการสู้ต่อเพื่อให้ผู้หญิงมีตัวเลือกในชีวิตที่หลากหลาย กลยุทธการต่อสู้ของนักสตรีนิยมจึงมีหลายรูปแบบ ซึ่งให้ความสำคัญและโฟกัสในประเด็นต่าง ๆ ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ งาน-ครอบครัว วิถีทางเพศ(sexuality)-สุขภาพ และความเป็นธรรมทางสังคม(social justice) กลยุทธการต่อสู้ที่ต่างกันนำมาซึ่งการถกเถียงระหว่างเฟมินิสต์ โดยบทความนี้จะเสนอประเด็นขัดแย้ง 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

1 ) เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สอง vs เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สาม

         เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองเกิดขึ้นราวๆ ปี 1960 ถึง 1980 ในสหรัฐอเมริกา จุดหมายคือเพื่อเพิ่มสิทธิพลเมืองของผู้หญิงให้มากกว่าการมีสิทธิเลือกตั้ง(อย่างคลื่นลูกที่หนึ่ง) ทะลายกำแพงที่ปิดกันสิทธิของผู้หญิงทั้งในที่ทำงานและสถานะทางสังคม รวมถึงความรุนแรงทางเพศ(ทั้งในและนอกบ้าน) ความสำเร็จที่สำคัญของคลื่นลูกที่สองคือ การผลักดันกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา สิทธิในการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่าเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองจบลงไปพร้อมกับการเกิดของ สงครามเรื่องเพศของเฟมินิสต์ (Feminist Sex Wars) สงครามนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามในปี 1990 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในอเมริกาเช่นกัน  อเมริกาในยุคนั้นก็ยังมีความเชื่อเหมารวมผู้หญิงว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ต้องไม่มีปากมีเสียง ต้องรักนวลสงวนตัว และซื่อสัตย์ต่อสามี หากผู้หญิงคนไหนเป็นอื่นจากนี้ จะถูกตีตราว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี เรียกร้องมากเกินไป และเป็นหญิงร่าน  เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามจึงได้พยายามให้คำนิยามแก่ผู้หญิงเสียใหม่ ว่าผู้หญิงต้องมีความมั่นใจ มีพลัง และมีอำนาจควบคุมวิถีทางเพศของตัวเอง ค่านิยามใหม่นี้ก่อให้เกิดไอคอนของผู้หญิงที่ทรงพลังอย่าง Madonna นักร้องชื่อดัง และทีวีโชว์อย่าง Sex and the City 

         Constance Grady ได้ให้ความเห็นใน Vox ว่า หนึ่งในความขัดแย้งระหว่างคลื่นสองลูกนี้ คือ คำว่า Girl และ Woman โดยเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองต่อสู้เพื่อให้เป็นได้มากกว่า Girl คือ Woman แต่คลื่นลูกที่สามโอบรับคำว่า Girl อย่างภาคภูมิ และใช้คำนี้ปลุกพลังในตัวผู้หญิง นอกจากนี้พวกเขายังเปิดรับความงามต่าง ๆ ที่เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองเคยต่อต้าน(เพราะมองว่ามันคือการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ) เช่น เครื่องสำอาง ลิปติก ส้นสูง เสื้อผ้าที่เน้นสัดส่วนต่างๆ เป็นต้น เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สามเชื่อว่าการปฏิเสธความเป็นหญิง (girliness) คือการเกลียดชังผู้หญิง (misogyny) อย่างหนึ่ง ฐานความคิดนี้สำคัญต่อการรณรงค์เรื่องการข่มขืนของคลื่นทั้งสองลูก ในขณะที่คลื่นลูกที่สองให้ความสำคัญกับเหยื่อและพยายามเปลี่ยนผู้หญิงเพื่อลดการข่มขืน คลื่นลูกที่สามกลับโฟกัสไปที่ผู้กระทำผิด และมองว่าคนที่ควรเปลี่ยน คือ ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง

2) Feminist Sex War

         ในที่นี้จะกล่าวถึงดีเบตเกี่ยวกับสื่อโป๊และโสเภณี (อันที่จริงสงครามนี้ยังถกเถียงเรื่อง งานอีโรติกต่างๆ เลสเบี้ยน และหญิงข้ามเพศ อีกด้วย) ซึ่งการถกเถียงนี้ประกอบไปด้วย เฟมินิสต์ที่ต่อต้านสื่อโป๊ (anti-pornography) vs เฟมินิสต์ที่มีความเห็นเรื่องเพศเชิงบวก(positive-sex feminism or pro-sex feminism)

         กลุ่มต่อต้านสื่อโป๊มองว่า สื่อโป๊คือความรุนแรงและทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ บางคนเชื่อว่าหนังโป๊คือทฤษฎี การข่มขืนคือเป็นการปฏิบัติ  Julie Bindel เฟมินิสต์ผู้ต่อต้านสื่อโป๊ได้ให้ความเห็นใน The Guardian ไว้อย่างน่าสนใจว่า ไม่ว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงในหนังโป๊เกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงการแสดง สารที่สื่อออกมาจากหนังโป๊ก็คือ ความโหดร้ายรุนแรงต่อผู้หญิง = ความสุขสมทางเพศ(ของผู้ชาย?) ซึ่งถือเป็นสารที่อันตรายอย่างยิ่งในสังคมที่การข่มขืนยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ  อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สรุปได้ว่าสื่อโป๊คือต้นตอของความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง หรือเป็นแรงจูงใจให้เกิดการข่มขืน และตัว Bindel เองก็ดูเหมือนจะตระหนักในข้อเท็จเท็จนี้ดี เพราะเธอได้เสนอว่า แทนที่เราจะหาความเชื่อมโยงระหว่างการเสพสื่อโป๊และความรุนแรงทางเพศ เราควรจะหันมาดูวัฒนธรรมการเกลียดชังผู้หญิง(misogyny)ที่ให้กำเนิดสื่อโป๊ขึ้นมา เธอเชื่อว่าการหยุดวัฒนธรรมเหล่านี้จะช่วยหยุดความรุนแรงในผู้หญิงลงไปด้วย 

         ในทางกลับกันเฟมินิสต์ที่มีความเห็นเรื่องเพศเชิงบวก มองว่าหนังโป๊มีก็มีแบบที่ไม่ทำร้ายผู้หญิง หรือแบบที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายนำในการร่วมเพศ หรือหนังโป๊ที่นักแสดงหญิงมีรูปร่างหลากหลายต่างจากศิลปินดาราในสื่อกระแสหลัก พวกเขามีมุมมองว่า สื่อโป๊คือสื่อกลางให้ผู้หญิงได้แสดงความต้องการทางเพศอย่างเสรีและช่วยเติมเต็มอัตลักษณ์ทางเพศให้พวกเธอ การต่อต้านสื่อโป๊ต่าง ๆ กลับเป็นการกดขี่ผู้หญิงไม่ต่างจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่มองว่า ความต้องการทางเพศของผู้หญิงคือสิ่งผิด ผู้หญิงโดยทั่วไปไม่ชอบการมีเพศสัมพันธ์  หรือมีเพศสัมพันธ์ได้แบบตามขนบเท่านั้น ในปี 2018 Nona Willis Aronowitz ลูกสาวของ Ellen Willis นักสตรีนิยมผู้เริ่มใช้คำว่า pro-sex feminism ได้เปิดเผยบทสนทนาระหว่างเธอกับแม่ใน The New York Times ว่า แม้สื่อโป๊และผู้ชายมีส่วนสร้างการเกลียดชังผู้หญิงและปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับเหยื่อ แต่สองสิ่งนี้ไม่สร้างปัญหาได้รุนแรงเท่ากับสังคมแห่งการเหยียดเพศ เสรีภาพของผู้หญิงไม่ควรเป็นการต่อสู้กับวิถีทางเพศของผู้ชาย แต่เสรีภาพของผู้หญิงควรเป็นเรื่องของการโอบกอดวิถีทางเพศของผู้หญิงเอง

         การดีเบตของเฟมินิสต์สองกลุ่มนี้สะท้อนจุดยืนที่ต่างกันเรื่องวิถีทางเพศภายในขบวนการสตรีนิยม รวมถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การขายบริการทางเพศ เฟมินิสต์ที่ต่อต้านการขายบริการทางเพศมองว่า การค้าประเวณีคือความรุนแรงทางเพศแบบหนึ่ง ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกทำอาชีพนี้ด้วยความสมัครใจหรือไม่ได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ พวกเธอถูกบังคับผ่านขบวนการค้ามนุษย์หรือความยากจน พวกเขามองว่าการขายบริการทางเพศส่งเสริมให้มีผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง ผู้หญิงจำเป็นต้องทำให้ผู้ซื้อมีความสุข(ทางเพศ) แม้ผู้หญิงอาจไม่มีความสุขกับมันเลยก็ตาม การขายบริการทางเพศจึงเป็นการค้าทาสรูปแบบหนึ่งและสมควรผิดกฎหมาย ในขณะที่เฟมินิสต์อีกกลุ่มกลับสนับสนุนการค้าประเวณีบนพื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจ มองว่างานทางเพศก็คืองานบริการแบบหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้หญิง และเชื่อว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจทำอาชีพนี้ด้วยใจรักและสติสัมปชัญญะครบถ้วน เฟมินิสต์กลุ่มนี้เชื่อว่า การค้าประเวณีควรเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพื่อคืนศักดิ์ศรี และสร้างความปลอดภัยในอาชีพให้แก่ผู้หญิงเหล่านั้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการโต้แย้งไม่กี่ประเด็นระหว่างเฟมินิสต์ที่เลือกเส้นทางสู้ที่ต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

คือสร้างสังคมที่ผู้หญิงสามารถยืน เดิน นอน นั่ง ฉีกแข้งฉีกขา ได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี  ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของสตรีนิยม เพราะการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีไม่ใช่การต่อสู้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อผู้(ที่มีร่างกายและ/หรือใจเป็น)หญิงทุกคนบนโลกนี้ การโต้แย้ง-ถกเถียงเท่านั้นที่นำไปสู่บทสรุปอันเป็นธรรมกับทุกคน บางครั้งเสียงอื้ออึงของการโต้เถียงอาจดังไปหน่อย

แต่อย่าลืมว่า เสียงดังๆ นี่เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าลืมว่า สิทธิสตรีที่เรามีในวันนี้(แม้อาจยังไม่พอ)มันไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้า ไม่มีพระเจ้าที่ไหนประทานลงมาให้ แต่เกิดจากการต่อสู้ด้วยเสียงอันดังของนักสตรีนิยมก่อนหน้าเรา ฉะนั้นจงโอบกอดความ “ถกเถียงกันเอง” ของเฟมินิสต์ไว้ให้แน่น และอย่าทอดทิ้งความโกรธที่เรามีต่อวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เก็บมันไว้แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง..ด้วยกัน!

ผู้เขียน ผู้หญิงเรืองแสง

อ้างอิง

  1. tigtog. “FAQ: Why Are There so Many Fights between Feminists?” Finally, A Feminism 101 Blog,   

10 Mar. 2007, https://finallyfeminism101.wordpress.com/2007/03/10/faq-why-are-there-so-many-fights-between-feminists/.

  1. “Feminism – The Third Wave of Feminism.” Encyclopedia Britannica

https://www.britannica.com/topic/feminism. Accessed 17 June 2020.

  1. Cook, Sarah Gibbard. “Feminists Differ in Second and Third Waves.” Women in Higher  

Education, vol. 20, no. 8, 2011, pp. 7–7. Wiley Online Library, doi:10.1002/whe.10222.

  1. Grady, Constance. “The Waves of Feminism, and Why People Keep Fighting over Them,   

Explained.” Vox, 20 Mar. 2018, https://www.vox.com/2018/3/20/16955588/feminism-waves-explained-first-second-third-fourth.

  1. Bindel, Julie. “Without Porn, the World Would Be a Better Place.” The Guardian, 24 Oct. 2014,       

http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/oct/24/pornography-world-anti-porn-feminist-censorship-misogyny.

  1. “Feminist Views on Pornography.” Wikipedia, 17 June 2020. Wikipedia,   

https://en.wikipedia.org/w/index.php?title=Feminist_views_on_pornography&oldid=962973604.

  1. Aronowitz, Nona Willis. “Opinion | The Feminist Pursuit of Good Sex.” The New York Times, 16 

Feb. 2018. NYTimes.com, https://www.nytimes.com/2018/02/16/opinion/sunday/feminist-pursuit-good-sex.html.

  1. “Feminist Views on Prostitution.” Wikipedia, 16 June 2020. Wikipedia,      

https://en.wikipedia.org/w/index.php?title=Feminist_views_on_prostitution&oldid=962863804.

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]