เพศหญิงในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลกได้ถูกโครงสร้างทางสังคม (เช่น ค่านิยม บรรทัดฐาน และความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับเพศหญิงที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น) กดทับมาเป็นเวลานานดังที่ได้ถูกบันทึกและปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ที่ผู้หญิงเหล่านั้นได้พบเจอ ทำให้พวกเธอตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของสตรีในอังกฤษ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20) จนนำไปสู่การสร้างแนวคิดหรือทฤษฎีและได้เกิดการเรียกร้องสิทธิของสตรี ต่อมาการเคลื่อนไหวทางสังคมของพวกเธอจึงได้เป็นที่รู้จักกันในนามของ Feminism หรือ สตรีนิยม
หัวใจหลักของสตรีนิยมคือการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสังคม
ไม่ได้ต้องการที่จะเหนือกว่าเพศชายอย่างที่ถูกเข้าใจผิดในหลายโอกาส ถึงแม้การต่อสู้ของขบวนการสตรีนิยมจะมีปรากฎอยู่มาเป็นเวลานานหลายยุคหลายสมัย แต่ความเหลื่อมล้ำทางเพศยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยไปในปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมทางเพศได้ตัดโอกาสทางสังคมของผู้หญิง ตัวอย่างเช่น สิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิงที่มีน้อยกว่าผู้ชายในหลายประเทศเนื่องจากบางครอบครัวในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกยังคงเชื่อว่าเมื่อโตไป ลูกสาวก็จะต้องแต่งงานและเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามีอยู่ดี จึงไม่ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษาเท่าที่ควร เด็กผู้หญิงจึงถูกกีดกันโอกาสจากการได้รับการศึกษาในระดับสูง เพราะโครงสร้างและค่านิยมทางสังคมที่ส่งเสริมความคิดนี้ ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างที่คลาสสิคและทำให้หลายๆคนเห็นภาพว่าโครงสร้างทางสังคมกีดกันโอกาสที่พวกเธอพึงได้รับอย่างไร
หากต้องการที่จะรู้ว่าทำไมแนวคิดเฟมินิสม์หรือสตรีนิยมนั้นสำคัญ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับโครงสร้างสังคม เพราะจะให้เห็นภาพและความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมมองของเรื่องเพศ เมื่อพูดถึงโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ สิ่งที่ควรให้ความสนใจคือเรื่องของ Gender pay gap หรือช่องว่างระหว่างเพศ และความรุนแรงที่มีต่อเพศหญิงทั่วโลกซึ่งเป็นผลมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ สองประเด็นนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมแนวคิดและการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมจึงสำคัญ
Gender Pay Gap: ช่องว่างระหว่างเพศ
ช่องว่างระหว่างเพศมักจะถูกพูดถึงเรื่องของความไม่เท่าเทียมในรายได้ระหว่างผู้ชายและหญิง หรือมีชื่อเรียกอย่างอย่างหนึ่งคือช่องว่างระหว่างรายได้ โดยเปรียบเทียบจากตำแหน่งงานที่ทำ ในสถานที่ทำงานที่เดียวกัน ปัจจัยที่ทำให้ความแตกต่างของรายได้มีอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ “เพศสภาวะ” และนั่นก็คือการใช้ความเป็นหญิงชายเป็นตัวชี้วัดของจำนวนรายได้ที่ได้รับ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่าระหว่างเพศ ช่องว่างระหว่างเพศเป็นหนึ่งในผลผลิตของค่านิยมทางสังคมที่เรียกว่าบทบาททางเพศ (gender roles) สิ่งนี้ถูกปลูกฝังอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ทำให้สังคมมีความคาดหวังต่อเพศชายและหญิงที่แตกต่างกันไป เช่น ในสังคมไทยเรามักได้ยินเสมอว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า และผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง สื่อให้เห็นว่าสังคมมีความหวังให้ผู้ชายมีบทบาทในการเป็นผู้นำในครอบครัวและทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงภรรยาและลูกๆ ค่านิยมเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ปิดกั้นโอกาสและศักยภาพของผู้หญิงที่จะทำงานนอกบ้าน หรือแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้รับเงินเดือนเท่ากับผู้ชาย
ประเทศที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือในสหรัฐอเมริกา จากการเปิดเผยสัดส่วนของรายได้ที่แตกต่างระหว่างชายและหญิงพบว่าผู้หญิงจะได้รับเงิน 80 เซนท์ (25.2 บาท) ต่อชั่วโมง ในขณะที่ผู้ชายได้รับเงินจำนวน 1 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมง (31.5 บาท) หากข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนพอว่าทำไม Gender gap ถึงเป็นเรื่องที่ควรจริงจัง เว็บไซต์ Economic Policy Institute ได้คำนวณจำนวนเงินที่ผู้หญิงในตลาดแรงงานอเมริกาได้สูญเสียจากช่องว่างระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในตลาดแรงงานทั่วไปต้องสูญเสียเงินที่ควรจะได้รับจำนวน 530,000 ดอลล่าร์ตลอดชีวิตการทำงานของพวกเธอ คิดเป็นเงินไทยคือ 1,66,950,000 บาท ในขณะที่ผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่า ต้องพลาดโอกาสที่จะได้รับเงินจำนวน 800,000 ดอลล่าร์ คิดเป็นเงินไทยได้ 25,200,000 บาท อย่างไรก็ดีการคำนวณอาจมีการคาดเคลื่อนเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยทางสภาพเศรษฐกิจและระยะเวลาการทำงานของปัจเจกบุคคล (Gould. et al, 2016) ตัวเลขเหล่านี้ได้แสดงความสูญเสียของผู้หญิงอเมริกันจากความไม่เท่าเทียมทางเพศในแง่ของรายได้
มากไปกว่านั้น ช่องว่างระหว่างเพศไม่ได้อยู่ในรูปแบบของความเหลื่อมล้ำในจำนวนรายได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ได้รายงานว่าผู้หญิงทั่วโลกยังคงพบเจออุปสรรคในการสมัครงานมากกว่าผู้ชายอีกด้วย อีกทั้งยังมีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีชั่วโมงในการทำงานมากกว่าผู้ชายถ้าหากรวมงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid jobs) ซึ่งนั่นก็คืองานภายในบ้าน (domestic work) เช่น การปัดกวาดเช็ดถู ดูแลลูก เป็นต้น (ILO, 2017) และนี่คือสิ่งที่ผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญอันเนื่องมาจาก gender gap ที่ยังคงมีอยู่ในสังคม ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำนั้นจะมีมากหรือน้อยก็ตามแต่
อย่างไรก็ดียังมีคนที่ไม่เชื่อในเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ พวกเขาเหล่านี้พยายามหาคำอธิบายให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะธรรมชาติของผู้ชายที่มักจะเลือกทำงานที่มีความเสี่ยงสูงกว่าจึงเป็นเหตุให้ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า ในขณะเดียวกันผู้หญิงมักจะมีลักษณะนิสัยตรงข้าม จึงเลือกที่จะทำงานที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และจำนวนเงินเดือนที่ได้รับจึงเหมาะสมกับประเภทของงานที่เลือกทำ (2007) น่าเศร้าที่คำอธิบายเหล่านี้เป็นเพียงแค่มายาคติ (myth) ที่ตั้งอยู่บนอคติทางเพศและการเหมารวม (stereotype) เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดมารองรับว่าเป็นความจริง ในทางกลับกัน กรมแรงงานของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณสัดส่วนของรายได้ในปี 1998 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความรู้ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการคำนวณรายได้ให้กับพนักงานในแต่ละตำแหน่ง และความเสี่ยงของงานไม่ปรากฎในสัดส่วนที่ถูกนำมาคำนวนเงินเดือนแต่อย่างใด (2007)
ดังนั้นมายาคติที่กล่าวว่าผู้ชายเลือกที่จะทำงานที่มีความเสี่ยงเพราะได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าจึงไม่เป็นความจริง ไม่เพียงแค่การเหมารวมเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของชายและหญิง ในหลากหลายสังคมยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับหน้าที่ที่ชายและหญิงควรปฏิบัติ เช่นผู้ชายต้องทำงานนอกบ้านและเป็นเสาหลักของครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลงานบ้าน แนวคิดเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในศตวรรษที่ 21 แถมยังส่งผลให้ผู้หญิงต้องพบเจออุปสรรคในการทำงานนอกบ้าน แย่ไปกว่านั้นคือมายาคติและความคิดแบบเหมารวมเหล่านี้นี้มีแต่จะลดทอนความสำคัญของความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน และทำให้ปัญหาไม่ถูกพูดถึงเพื่อได้รับการแก้ไข
Violence against women: ความรุนแรงต่อผู้หญิง
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ได้มีอยู่แค่ในสถานที่ทำงาน แต่มีปรากฎอยู่ในทุกแห่งหนในสังคม ทั้งภายในครอบครัวหรือพื้นที่สาธารณะอย่างวงการฮอลลีวูดจนไปสู่เวทีทางการเมือง ผู้อ่านคงได้เห็นตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาในแง่ของช่องว่างระหว่างรายได้มาแล้ว ในเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากอินเดียเนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าอินเดียเป็นประเทศที่น่าสนใจในแง่ของวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของผู้หญิงโดยตรง และแน่นอน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของสังคมชายเป็นใหญ่ และสิ่งนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในสังคมอินเดียจาก soft power ในรูปแบบของวรรณกรรมชื่อดังอย่างมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์ที่สร้างค่านิยมในการรักษาพรหมจรรย์ ความซื่อสัตย์ และความเสียสละของผู้หญิงที่ต้องมีให้สามี (Kheawkhunok, 2018) ซ้ำร้ายในนิทานหรือตำนานเรื่องเล่าต่างๆยังวาดภาพให้ผู้หญิงในสังคมพราหมณ์–ฮินดูเป็นเพียงแค่ทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของในครอบครองของเหล่าสามี
ค่านิยมที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพียงสิ่งของและมีสถานะด้อยกว่าผู้ชายในสังคมเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดีย บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวกรณีความรุนแรง การข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอินเดีย แต่เหยื่อความรุนแรงทางเพศกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม มิหนำซ้ำกลับถูกสังคมรังเกียจและประณามด้วยเหตุผลต่างๆนานา เช่น เป็นความผิดของพวกเธอเองที่ไม่ระมัดระวังตัว ไม่สามารถปรนเปรอสามีได้ตามความเหมาะสม พาตัวเองไปอยู่ในที่สุ่มเสี่ยงเอง หรือแต่งกายยั่วยวน ส่วนผู้กระทำผิดกลับได้รับโทษที่เบาหรือแทบไม่ได้รับโทษอะไรเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดียแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงนั้นถูกกดขี่และถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมภายใต้กรอบสังคมชายเป็นใหญ่ และเมื่อเกิดคดีล่วงละเมิดทางเพศหรือความรุนแรงต่อผู้หญิง สังคมก็พร้อมที่จะเพ่งเล็งและโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อเอง (victim blaming)
นอกจากนี้บทความของคุณศุภวิชญ์ในเว็บไซด์ the 101 world ยังได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้หญิงอินเดียพยายามที่จะเข้าแจ้งความในคดีข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ พวกเธอกลับถูกปฏิเสธและถูกเย้ยหยันว่าเป็นเพียงการกระทำที่เรียกร้องความสนใจ (2018) สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่าเศร้าของผู้หญิงอินเดียที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่และบ่อยครั้งที่สิทธิและความเป็นมนุษย์ของพวกเธอถูกพรากไปเพียงเพราะความเป็นหญิงที่ถูกกำหนดโดยความเชื่อและค่านิยมในสังคม
ไม่ใช่แค่ผู้หญิงอินเดียที่ต้องประสบพบเจอกับความรุนแรง แต่ผู้หญิงอีกหลายคนทั่วโลกที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งในรูปแบบของการตบตีทำร้ายร่างกาย การทำร้ายด้วยคำพูด การโดนล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงการข่มขืน ในที่มีความเชื่อในเรื่องของความเข้มแข็งเชิงกายภาพของผู้ชายที่มีมากกว่าผู้หญิงจึงนำมาสู่ความรุนแรงที่(อ้างว่าชอบธรรม)ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มากไปกว่านั้นปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศมักจะถูกละเลยและไม่ได้รับการแก้ไข
บทสรุป: เพราะเหตุนี้สตรีนิยมจึงสำคัญ
ทั้งเรื่องของช่องหว่างระหว่างเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิงทำให้เราเห็นว่าโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมได้ส่งผลกระทบกับผู้หญิงอย่างไรบ้าง หากปราศจากแนวคิดและขบวนการสตรีนิยมแล้ว ปัญหาเหล่านี้อาจจะเลวร้ายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ แนวคิดสตรีนิยมทำให้เราตระหนัก และผลักดันให้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อเพศหญิงได้รับการแก้ไข หรือมากไปกว่านั้นในปัจจุบันแนวคิดเฟมินิสม์ยังได้ต่อสู้ร่วมกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศเพื่อผลักดันความเท่าเทียมในมิติที่กว้างขึ้นในสังคมอีกด้วย
นอกเหนือจากการสร้าวความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมแล้ว ขบวนการสตรีนิยมได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรม ปัญหาประเด็นสิทธิสตรีอย่างสิทธิในการเลือกตั้งและช่องว่างระหว่างเพศถูกผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติของอังกฤษและแคมเปญในการเลือกตั้งในยุค 1910s-1970s จากการหยุดงานประท้วง (strike) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายซึ่งได้นำความเป็นธรรมคืนให้กับพวกเธอ
แนวคิดและขบวนการเสรีนิยมทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งที่จะแก้ไขปัญหา หากไม่มีการเคลื่อนไหวบนแนวคิดของป็นสตรีนิยม จะต้องมีผู้หญิงอีกหลายคนจะต้องอยู่ในสถานะที่ถูกเอาปรียบ และถูกมองว่ามีความสามารถและคุณค่าน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นความสำคัญของสตรีนิยมคือการทำให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ในสังคมจากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน
ขบวนการและแนวคิดสตรีนิยมจึงเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงที่ถูกเอาเปรียบและถูกกีดกันจากโครงสร้างทางสังคม อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อหาวิธีแก้ไขและสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ
ผู้เขียน ธวัลรัตน์ ม้าฤทธิ์ (แพร)
ภาพประกอบ พัชราคำ นพเคราะห์
บรรณาธิการ นภหทัย สิทธิฤทธิ์ ,ขวัญข้าว วงศ์พินิจวโรดม
อ้างอิง:
- What causes gender gaps in the labour market? (2017, August 1). Retrieved June 5, 2020, from https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_566891/lang–en/index.htm
What is the “Gender Gap”? (2007, March 9). Retrieved June 5, 2020, from https://finallyfeminism101.wordpress.com/2007/03/09/what-is-the-gender-gap/ - What is the gender pay gap and is it real? (2016, October 20). Retrieved June 5, 2020, from https://www.epi.org/publication/what-is-the-gender-pay-gap-and-is-it-real/
- แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย. (2018, October 1). Retrieved June 5, 2020, from https://www.the101.world/woman-rights-in-india/