ทำไมไม่ใช่แค่ ‘มนุษยนิยม’ หรือ ‘ความเท่าเทียม’ แต่เป็น ‘สตรีนิยม‘

“สตรีนิยมกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเมื่อเกิดข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในสังคม การเคลื่อนไหวของผู้หญิงทั่วโลกเรียกร้องถึงการเท่าเทียมทางเพศในเชิงลึก แตกต่างออกไปจากเรียกร้องเสรีภาพ อิสระ ศักดิ์ศรี คุณค่าของมนุษยนิยมและความเท่าเทียม” 

“เพราะมนุษยนิยมและความเท่าเทียมอาจไม่ใช่การตอบโจทย์ทั้งหมดของเหล่าสตรีนิยม ด้วยปัญหาการไม่เท่าเทียมเนื่องจากพวกเธอเป็น ‘ผู้หญิง’ การเคลื่อนไหวพวกเธอกำลังต่อสู้กับปัญหาทางเพศของผู้หญิงโดยเฉพาะ” 

*****

คุณต้องเคยได้ยินการเรียกร้องของกลุ่มสตรีนิยม เกี่ยวกับ ‘สิทธิของสตรี’ ที่พวกเธอต้องการ การต่อสู้อย่างยาวนานนี้ มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ทำให้ผู้หญิงในหลายประเทศสามารถขึ้นไปสู่ตำแหน่งสำคัญได้ในโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ด้วยความตั้งใจของพวกเธอเอง

 

ในปัจจุบันกลุ่มของสตรีนิยมมีการต่อสู้ที่เปิดกว้างมากขึ้นในเวทีโลก 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการส่งเสียงของพวกเธอออกมามากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างของบริบททางเพศ โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่แม้ว่าพวกเธอสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญที่มองเผิน ๆ ดูเหมือนว่าเท่าเทียม พวกเธอตอบพวกคุณว่ามันยังไม่พอ ความเท่าเทียมที่พวกเธอได้รับเป็นความเท่าเทียมแบบทางการและมองข้ามปัญหาในเชิงลึก มาดูกันว่าสิ่งที่ผู้หญิงทั้งโลกเรียกร้องนั้นคืออะไรกันแน่ 

การเคลื่อนไหวของ ‘ความเท่าเทียมคืออะไร?’

 

“ผู้หญิงเหมาะสำหรับอาชีพที่ต้องอยู่บ้าน เช่น เย็บปักถักร้อยมากกว่า” 

เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว ที่การประชุมระดับโลกเกี่ยวกับสิทธิของสตรี First World Conference on Women ครั้งแรกจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก ว่าด้วยเรื่องของความเท่าเทียม การพัฒนา และความสงบสุขที่ผู้หญิงควรจะได้รับ 

 

ความเท่าเทียมที่เรียกร้องในขณะนั้นคือ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ในเรื่องของ บทบาทการงาน การเมือง สังคมและเศรษฐกิจ 

 

มีการเคลื่อนไหวของเหล่านักสิทธิสตรีมายาวนานในเรื่องของความเท่าเทียม จากยุคที่ผู้หญิงไม่ได้รับแม้แต่การศึกษา จนกระทั่งหลาย ๆ ประเทศมีผู้หญิงมากมายก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศ แต่ก็ยังคงมีบางประเทศที่ผู้หญิงไม่ได้มีแม้แต่ส่วนร่วมเล็ก ๆ ต่อสังคมด้วยซ้ำ

 

เมื่อมีเพศที่หลากหลายมากขึ้นความเท่าเทียมจึงไม่ได้แบ่งแยกเพียงแค่สองเพศอีกต่อไป ความเท่าเทียมนี้ครอบคลุมไปถึงเพศอื่น ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

 

การเคลื่อนไหวของความเท่าเทียม กล่าวโดยสรุปคือ คนทุกคนควรจะได้รับความเท่าเทียมที่ยั่งยืน การเมืองที่ไม่แบ่งแยกเพศใด ๆ สามารถที่จะเลือกงานได้เท่าเทียมโดยไม่ถูกกีดกัน มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศเช่นกัน

การเคลื่อนไหวของ ‘มนุษยนิยมคืออะไร?’  

 

ครั้งหนึ่ง Lady Mary Wortley Montagu นักเขียนหญิงในช่วงศตวรรษที่ 16 เคยเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ‘ทำไมการศึกษาถึงไร้ประโยชน์สำหรับผู้หญิง’ คำตอบก็คือเพราะพวกเธอไม่ได้ทำงาน 

 

เหตุผลที่พวกเธอไม่ได้ทำงาน ก็เพราะว่าพวกเธอไม่ได้รับการศึกษาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่ต้น นี่จึงไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาของผู้หญิง แต่เป็นการละเมิดสิทธิตั้งแต่แรกที่ผู้หญิงจะได้ลงมือทำ

 

นอกจากการกดขี่ทางอ้อมแล้ว พวกเธอบางส่วนยังได้รับการกดขี่โดยตรงจากความรุนแรงที่ไม่เหมือนกระทำกับมนุษย์ เช่น การกดขี่ทางเพศ การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย การล่อล่วง การลวมลามบนที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต 

 

ในปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทำให้ผู้คนจำนวนมากตระหนักรู้ และเห็นใจเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดๆ 

 

การเคลื่อนไหวของมนุษยนิยมนั้น กล่าวกว้าง ๆ คือการเรียกร้องในเรื่องของ สิทธิ คุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ไม่ว่าเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนชรา ทุกคนมีอิสระที่จะคิดด้วยตนเองในฐานะมนุษย์ว่าสิ่งใดถูกผิด สิ่งใดที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ สิ่งใดไม่ควรละเมิด

 

ภายใต้แนวคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ฐานะ ชาติกำเนิด สีผิว หรือลักษณะภายนอกใดๆ 

สตรีนิยมกับการเคลื่อนไหวที่กำลังบอกให้โลกรู้ 

 

สตรีนิยมคืออะไร? แนวคิดของสตรีนิยมสมัยแรกเริ่มนั้นมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 

 

“Woman, wake up” คือหนึ่งในประโยคจากประกาศสิทธิสตรี The Declaration of the Rights of Woman ที่ถูกเขียนขึ้นโดยสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสและ Olympe de Gouges ในปี ค.ศ. 1791 ถึงการเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเปิดเผยความล้มเหลวของการปฏิวัติฝรั่งเศสในขณะนั้นว่าปราศจากความเท่าเทียมทางเพศ ความมีอิสระของผู้หญิงที่ต้องการทำงานนอกบ้าน มีอิสระทางความคิด มีบทบาทเท่าเทียมนอกเหนือจากความเป็นแม่และภรรยา 

 

แนวคิดสตรีนิยมแม้ว่าจะคล้ายกับ ‘ความเท่าเทียม’ หรือ ‘มนุษยนิยม’ แต่พุ่งเป้าหมายลงลึกไปที่สถานการณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น การกดขี่ผู้หญิงในที่ทำงาน การถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ อคติและถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม  เป็นต้น

 

“ผู้หญิงไม่เหมาะกับอาชีพที่ต้องใช้ความคิดหรือเป็นผู้นำ”

“ผู้หญิงไม่เหมาะกับความก้าวหน้าเพราะพวกเธอต้องเลี้ยงลูก” 

 

คุณจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง พวกเธอถูกกดขี่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งในเรื่องของค่าจ้างในตำแหน่งเดียวกันที่ผู้ชายได้รับมากกว่า โอกาสที่ก้าวหน้าทางการงานมากกว่า อัตราการว่าจ้างในแง่ของทุนนิยมที่คิดว่าผู้หญิงแรงน้อยขาดทุนกว่า

 

ผู้หญิงบางส่วนยังคงถูกตีกรอบให้ภายในแนวคิดและสังคมที่เติบโตมาว่าพวกเธอคือผู้ตาม พวกเธอต้องอดทนแม้ว่าจะถูกกดขี่ เพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นภรรยาที่ดี เมื่อสามีนอกใจเพราะว่าพวกเธอไม่ดี พวกเธอตกอยู่ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ได้นึกถึงคุณค่าของตนเอง

 

เมื่อความเท่าเทียมในสังคมไม่ได้เท่าเทียมอย่างแท้จริง เมื่อความเป็นมนุษยนิยมไม่เพียงพอสำหรับผู้หญิง

 

แม้ว่าพวกเธอจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน หัวหน้างานยังหยอกล้อพวกเธอเรื่องเพศสภาพ มองข้ามความเห็นของพวกเธอกลายเป็นตัวสร้างสีสัน เป็นดอกไม้ประดับห้องประชุม ผู้หญิงในสภาบางประเทศมีไว้เป็นโฆษกเท่านั้น การทำงานฝ่ายขายผู้หญิงควรสวมชุดที่เปิดเผยเนื้อหนังเพื่อโอกาสการขายที่มากขึ้นโดยที่พวกเธอไม่ได้เต็มใจ 

 

ผู้หญิงมากมายถูกตัดสิทธิ์เลื่อนขั้นในระดับสูง ถูกดูถูก ถูกคุกคามที่พวกเธอไม่เคยตลกด้วย เนื่องจากผู้ชายไม่เคยสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีทางเข้าใจ หรือหนักเข้าก็คิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาภายใต้กรอบแนวคิดของชายเป็นใหญ่

 

“การถูกผู้บังคับบัญชาคุกคามทางเพศแต่เมื่อออกมาเปิดเผย ผู้คนจำนวนมากต่างชี้นิ้วมาที่ผู้หญิงว่าพวกเธอเป็นฝ่ายผิด หรือไม่ก็บอกพวกเธอว่าก็ดีแล้วนี่”

 

ปัญหานี้ซับซ้อนไปถึงเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมานาน ความจริงแล้วในปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้ต้องการผู้ชายเสมอไป พวกเธอควรจะได้รับ ‘สิทธิของสตรี’ 

 

สตรีนิยมจึงเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งนี้ พวกเธอต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและการให้เกียรติที่พวกเธอควรได้รับ สร้างความตระหนักให้กับผู้หญิงด้วยกันถึงการถูกกดขี่ที่พวกเธอเผชิญอยู่ ผู้หญิงในอีกหลายประเทศยังไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กดทับพวกเธอเอาไว้ 

 

เพื่อเรียกร้องสังคมที่ยังไม่ตระหนักรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ทั้งกับคนอื่นและผู้หญิงด้วยกันเองซึ่งถูกกรอบสังคมบีบความคิดจนเคยชิน กล่าวโดยสรุปคือนักสตรีนิยมนั้นเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสตรีโดยเฉพาะ ทั้งการเคลื่อนไหวในแง่ปรับปรุงกฎหมาย การต่อต้านสื่อบันเทิงแบบเคยชินที่สร้างภาพผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศ สวัสดิการสังคม และการเป็นกระบอกเสียงเพื่อผู้หญิงด้วยกันแบบเพื่อนพลังหญิง 

 

**

 

คุณจะเห็นได้ว่า ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่พวกเธอพบเจอโดยเฉพาะบุคคล ยากที่บอกให้คนนอกเข้าใจ เมื่อเกิดปัญหาอันละเอียดอ่อนเชิงลึกของผู้หญิงขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับ ‘ความเท่าเทียม’ หรือ ‘ความเป็นมนุษยนิยม’ ต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นจากเพศของพวกเธอ ปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์หรือความเท่าเทียมในเรื่องสถานะ แต่เป็นปัญหาพวกเธอถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม เพราะเกิดมาเป็นผู้หญิง 

 

นั่นคือจุดยืนของสตรีนิยมที่ละเอียดอ่อนแตกต่างออกไปจากมนุษยนิยมและความเท่าเทียม การกดขี่ที่เกิดขึ้นเพราะเป็นผู้หญิงซึ่งตกอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ โครงสร้างทางสังคมที่ผู้ชายได้รับการปฏิบัติที่เหนือกว่าในทุกด้าน 

 

ในสถานะปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าสตรีนิยมเหล่านี้ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ พวกเธอจะออกมาพูดเมื่อผู้ชายไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน พวกเธออาจเป็นทั้งผู้สนับสนุนการเท่าเทียมในทุกเพศในโลกที่เพศไม่ได้มีแค่สองอีกต่อไป อาจเป็นทั้งผู้สนับสนุนแนวคิดมนุษยชนด้วยก็ได้ 

 

สำหรับเหล่าสตรีนิยมแล้ว การต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ และสิทธิของสตรีไม่ใช่เรื่องที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ความเคลื่อนไหวของพวกเธอจะเป็นการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างแน่นอน

 

เขียนโดย จุฑาธัช อุ่นเรือน
บรรณาธิการโดย ณัฐชนนท์ ทองใส และกันตา รัตนวงษ์
ภาพประกอบโดย กมลชนก มณีไพโรจน์

 

  • บรรณานุกรม
    • หนังสืออ้างอิง
      • United Nations. (2010) Achieving Gender Equality, Women’s Empowerment and Strengthening Development Cooperation: Dialogues at the Economic and Social Council.
      • United Nations Publication. (2002) The collective memory and challenges of feminism.
      • Maggie Humm. (2003)  The dictionary of feminist theory. Google Books.
      • Prof. dr. Magda Michielsens. (2009) Gender and Humanism.
      • Butler, Judith. (1990)  Gender Trouble: feminism and the subversion of identity. NY: Routledge.

 

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]