ถ้า ‘เพศ’ เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม งั้นเฟมินิสต์ก็บอกว่า ‘เพศ’ ไม่มีจริงรึเปล่า?

โปรดเช็คก่อนฉอดว่า ‘เพศ’ ในความหมายของฉันกับของคุณตรงกันหรือเปล่า?

        สำหรับใครหลาย ๆ คน เพศไม่ใช่สิ่งที่ต้องสงสัย มนุษย์แบ่งเป็นเพศหญิงกับเพศชาย ผู้หญิงตัวเล็กและอ่อนแอกว่าผู้ชายที่ตัวใหญ่และแข็งแรงกว่า ผู้หญิงใช้อารมณ์เลยเรียนสายศิลป์ ส่วนผู้ชายใช้เหตุผลจึงเรียนสายวิทย์ ผู้หญิงมีรังไข่และให้กำเนิดลูกได้ดังนั้นจึงต้องดูแลงานบ้าน ส่วนผู้ชายรับหน้าที่ทำงานนอกบ้านเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว สำหรับใครหลาย ๆ คน เรื่องพวกนี้เปรียบดั่ง “ความจริง” ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แต่ในช่วงที่ผ่านมา “เฟมินิสต์” ออกมาท้าทาย “ความจริง” เหล่านี้ โดยบอกว่าเรื่องทั้งหมดนั้นเป็น “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม”

คำถามที่หลายคนมีในใจคือ ถ้าเพศถูกประกอบสร้างขึ้นมา ตกลงแล้วความจริงคืออะไรกันแน่ เพราะเราก็ยังเห็นผู้หญิงและผู้ชายมีจริงในสังคม ไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอดีต มนุษย์ก็มีแค่ผู้หญิงผู้ชาย

จริงหรือ?

        ถ้าให้บอกคำตอบเลยก็คงบอกได้ว่าเพศเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่มีอยู่จริง แต่ต้นตอปัญหาที่ทำให้เราสับสนกันนั้นมาจากความหมายที่ไม่ชัดเจนของคำว่า “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม” ประกอบกับความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “เพศ”[1] ที่ยังคับแคบในสังคมไทย โดยบทความนี้จะเริ่มจากการทำความรู้จักกับ “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม” แล้วจึงค่อยวิเคราะห์ว่าถ้าเพศเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม เพศจะมีจริงหรือไม่

 

อะไรคือ “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม”?

        สิ่งประกอบสร้างทางสังคม หรือ Social Construction (โซเชียล คอนสตรักชัน) คือทฤษฎีทางสังคมวิทยาทฤษฎีหนึ่งที่พยายามอธิบายว่ามนุษย์ไม่ได้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ เพราะมันมีอยู่จริงตามธรรมชาติอย่างนั้นของมัน กลับกันเรารับรู้การมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ผ่านปฏิสัมพันธ์กับสังคม ไม่ว่าจะผ่านภาษา สื่อ และสถาบันต่าง ๆ เช่น รัฐหรือแม้แต่ครอบครัว จนทำให้เราเชื่อว่ามันมีจริง

        ตัวอย่างเช่น “เงิน” ในสมัยนี้ถ้าเราต้องการอะไรบางอย่างเราต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าเงินโดยนำเงินไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่มีค่าเท่ากัน แต่ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อน เราไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เราสามารถเอาข้าวสารมาแลกกับไข่ไก่ได้โดยไม่มีการกำหนดราคาชัดเจนว่าของแต่ละอย่างราคาเท่าไร ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสังคมได้พัฒนาระบบการเงินขึ้นมาผ่านสถาบัน เช่น รัฐและธนาคาร เพื่อประโยชน์บางอย่างในสังคม

        นอกจากนี้ สิ่งประกอบสร้างทางสังคมยังไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่ของที่ดูจับต้องได้อย่างเงินเท่านั้น สิ่งต่าง ๆ ในสังคม เช่น รัฐ ศาสนา กฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงเพศ ต่างก็เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมเช่นกัน เวลาเราพูดถึง “ประเทศไทย” เราจับต้องประเทศไทยไม่ได้ แต่เราก็ยังคิดว่าเราอาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยทั้ง ๆ ที่เขตแดนที่เราเห็นในแผนที่ก็ไม่ได้มีจริงตามธรรมชาติ ที่เรารู้ว่าเราเป็นคนไทยได้ไม่ใช่เพราะว่าเราเกิดมาแล้วรู้ทันทีเลยว่าเราคือคนไทย แต่เพราะพ่อแม่ สื่อ โรงเรียน และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราคอยเน้นย้ำว่า เราเป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย แม้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศ” จะไม่สามารถสัมผัสได้ก็ตาม

        “ความจริง” เวลาเราพูดถึงสิ่งประกอบสร้างทางสังคมนั้นจึงหมายถึงความจริงทางสังคมที่อาจอิงกับความจริงทางวัตถุอีกที เช่น ที่เรารู้ว่าธนบัตรคืออะไรก็เพราะมนุษย์เป็นคนกำหนดค่าลงไปในกระดาษชนิดหนึ่งแล้วเราค่อยเข้าใจทีหลังว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าธนบัตรผ่านสังคม “ความจริง” ของเงินจึงอาจหมายถึงความจริงทางวัตถุ (กระดาษธนบัตร) กับความจริงทางสังคม (เงิน) อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคม เราก็ไม่สามารถเข้าใจความจริงทางวัตถุอย่างแยกขาดไปจากสังคมได้ เช่น ถ้าเราไม่มีคอนเส็ปต์เรื่องเงินในสังคม ธนบัตรก็เป็นเพียงแค่กระดาษเปล่า ๆ ที่มีค่าไม่ต่างจากแบงก์กาโม

        นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญจากสิ่งประกอบสร้างทางสังคมคือ “ความเปลี่ยนแปลง” เช่น เงินในสมัยก่อนคือเปลือกหอย แต่ต่อมาก็พัฒนามาเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร เครดิต จนมาถึง Bitcoin ในปัจจุบัน เปลือกหอยที่ใช้แทนเงินเป็นจริงเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันเปลือกหอยไม่มีค่าใด ๆ แล้ว ในขณะเดียวกันคอนเส็ปต์ของเงินก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินแบบเปลือกหอยไม่มีอยู่จริงสำหรับคนสมัยก่อน หากแต่ความจริงที่เรารับรู้สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมในช่วงเวลาและบริบทหนึ่ง ๆ ก็เท่านั้น ด้วยเหตุนี้สิ่งประกอบสร้างทางสังคมจึงเป็นฐานคิดที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะถ้าหากเราเชื่อว่าความจริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

เพศก็เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม?

        แน่นอน เพศก็เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมเช่นกัน ตัวอย่างง่าย ๆ คือเรื่องสีฟ้าและสีชมพู ปัจจุบันสีฟ้าคือสีของผู้ชาย ส่วนสีชมพูคือสีของผู้หญิง แต่สมัยก่อนสีชมพูต่างหากที่เป็นของผู้ชาย ส่วนสีฟ้าเป็นของผู้หญิง[2] ความจริงเกี่ยวกับเพศที่ปัจจุบันดูเหมือนเป็นความจริงจึงเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่มีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และเหตุที่คงอยู่มาถึงปัจจุบันก็เพราะเราถูกหล่อหลอมด้วยปฏิสัมพันธ์กับสังคม อาทิ การที่เด็กผู้ชายมักจะถูกห้ามไม่ให้เล่นสีชมพูเพราะจะถูกล้อว่าเป็น “ตุ๊ด” (แล้วทำไมตุ๊ดถึงแย่ล่ะ? – เพราะสังคมประกอบสร้างให้ตุ๊ดเป็นเรื่องที่แย่) หรือเรื่องเล็กน้อยมากมายที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น ป้ายห้องน้ำที่แบ่งแยกสีฟ้าและสีชมพู/แดงอย่างชัดเจนเพื่อสื่อว่าห้องไหนเป็นของเพศไหน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมในปัจจุบันที่ทำให้เราเชื่อว่าการที่เพศมีเพียงหญิงกับชายเป็นเรื่องปกติ

        อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว เพศในเชิงกายภาพหรือชีววิทยาไม่ได้แบ่งเป็น 2 ขั้วชาย-หญิงได้อย่างเด็ดขาดตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ Fausto-Sterling (2000) นักชีววิทยาด้านเพศ ได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้ใน Sexing the Body ว่า แม้ในทางกายภาพ เพศ[3]ก็มีความหลากหลายในตัวของมันเอง โดยมีปัจจัยต่าง ๆ เช่น โครโมโซม (ที่ไม่ได้จำกัดแค่ XX หรือ XY) อวัยวะเพศ (ที่ก็ไม่ได้ชัดเจนเสมอไปว่าเป็นหญิงหรือชาย[4]) ฮอร์โมน สารเคมีในสมอง และอื่น ๆ[5] เพศสรีระที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นความจริงทางวัตถุที่แน่นอนจึงไม่ได้ตัดขาดจากสังคมอย่างสิ้นเชิง เฉกเช่นธนบัตรที่สังคมแบ่งแยกเองว่าแบบไหนคือ 20 บาท หรือ 100 บาท ร่างกายของเราก็ถูกสังคมแบ่งแยกเป็นขั้วชายหญิงด้วยสิ่งที่เห็นได้จากภายนอกเพียงเท่านั้น ทว่าร่างกายมนุษย์ต่างจากธนบัตรเพราะเรามีสิ่งต่าง ๆ ภายในร่างกายที่มีส่วนอย่างมากในการกำหนดเพศของแต่ละคน การมองเพศสรีระอย่างจำกัดแค่ชายกับหญิงจึงเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมเช่นกัน

        ประเด็นนี้สำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจและยอมรับบุคคลข้ามเพศ (Trans*) และนอนไบนารี (Non-binary)[6] เพราะคนกลุ่มนี้มักถูกมองข้ามและถูกกล่าวหาว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมเท่านั้น ราวกับว่าคนกลุ่มนี้เลือกที่จะเป็นแบบนี้เอง ส่งผลให้ถูกเลือกปฏิบัติในหลายแง่ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสมได้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วอัตลักษณ์ทางเพศของคนคนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทั้งทางชีววิทยาและสังคมอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ (Lane, 2008)

 

สรุป

        เพศไม่ว่าจะทางสังคมหรือทางสรีระจึงต่างเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่มีอยู่จริง แต่การมีอยู่ของสิ่งประกอบสร้างทางสังคมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราทั้งสัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้ (และรวมถึงตัวเราเอง) ไม่สามารถหลุดรอดจากการเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมได้ตราบใดที่มนุษย์ยังมีสังคม

        จะเห็นได้ว่าบางครั้งสิ่งประกอบสร้างทางสังคมก็อาจทำร้ายใครหลาย ๆ คนได้ ในปัจจุบันสังคมเราโดยส่วนใหญ่ยังเป็นสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchy) หรือชายเป็นใหญ่ ซึ่งนอกจากกดทับผู้หญิงและทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นตัวประหลาดในสังคมแล้ว ยังสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อผู้ชาย การมองเพศเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมเพราะมันอยู่บนฐานที่ว่าสังคมมีความลื่นไหล

แต่สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมคือ ความเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องเกิดตามธรรมชาติเสมอไป ในหลาย ๆ ครั้ง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะมีผู้ท้าทายอำนาจกระแสหลักในสังคม ซึ่งเฟมินิสต์ก็คือคนที่ออกมาท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่และประกาศว่าเราควรมีสังคมที่เป็นมิตรไม่เพียงต่อผู้หญิงแต่กับทุกเพศและทุกคน

 

บทความโดย ชานนท์ สุขุมเดชะ
บรรณาธิการโดย ณัฐชนนท์ ทองใส และกันตา รัตนวงษ์
ภาพประกอบ กมลชนก มนีไพโรจน์

 

อ้างอิง

  • Barker, M. J., & Scheele, J. (2016). Queer: a graphic history. London: Icon.
  • Burr, V. (2003). What is Social Constructionism? In Social Contructionism (2nd ed.). New York: Routledge.
  • Fausto-Sterling, A. (2000). Sexing the body: gender politics and the construction of sexuality. New York: Basic Books.
  • How Nonbinary Gender Was Added To The English Language. (n.d.). Dictionary.Com. Retrieved 13 June 2020, from https://www.dictionary.com/e/gender-sexuality/nonbinary-gender/
  • Lane, R. (2008). Trans as Bodily Becoming: Rethinking the Biological as Diversity, Not Dichotomy. Hypatia, 24(3), 136–157.
  • tigtog. (2008, July 21). FAQ: If “gender is a social construct”, aren’t feminists saying that gender doesn’t really exist at all? Finally, A Feminism 101 Blog. https://finallyfeminism101.wordpress.com/2008/07/21/faq-if-gender-is-a-social-construct-arent-feminists-saying-that-gender-doesnt-really-exist-at-all/
  • When Did Girls Start Wearing Pink? (n.d.). Smithsonian Magazine. Retrieved 6 June 2020, from https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/when-did-girls-start-wearing-pink-1370097/
  • Why I don’t defend the sex-versus-gender distinction. (2013, September 14). Family Inequality. https://familyinequality.wordpress.com/2013/09/14/why-i-dont-defend-the-sex-versus-gender-distinction/

 

[1] บทความนี้อิงมาจากคำถามที่ว่า If “gender is a social construct”, aren’t feminists saying that gender doesn’t really exist at all? และได้แปล Gender หรือเพศสภาพ เป็นเพียงแค่เพศเฉย ๆ เพราะผู้เขียนมองว่าการแบกแย่งเพศสรีระ (Sex) และเพศสภาพออกจากกันโดยสิ้นเชิงราวกับว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันนั้นไม่เป็นประโยชน์เสมอไปโดยเฉพาะต่อกลุ่มบุคคลข้ามเพศ (Trans*) เป็นต้น

[2] When Did Girls Start Wearing Pink? (n.d.). Smithsonian Magazine. Retrieved 6 June 2020, from https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/when-did-girls-start-wearing-pink-1370097/

[3] หรือที่มักเรียกกันว่า เพศสรีระ หรือ Sex

[4] เช่นในกรณีของ Intersex ที่เกิดมามีอวัยวะเพศที่กำกวม และหลาย ๆ ครั้งก็ได้รับการผ่าตัดเพื่อให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งในขณะที่เป็นทารก (Sex Assignment)

[5] Barker, M. J., & Scheele, J. (2016). Queer: a graphic history. London: Icon.

[6] นอนไบนารีคือคำที่ใช้เรียกรวม ๆ คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่อิงกับขั้วชายหญิง บางครั้งเรียกว่า เจนเดอร์เควียร์ (Genderqueer) How Nonbinary Gender Was Added To The English Language. (n.d.). Dictionary.Com. Retrieved 13 June 2020, from https://www.dictionary.com/e/gender-sexuality/nonbinary-gender/

 

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]