“ไกล”แค่ไหนถึงเรียกว่ามากไป แล้วสังคมเราเข้า“ใกล้”ความเท่าเทียมทางเพศแล้วหรือยัง 

เขาเหล่านั้นบอกว่า เฟมินิสต์ “สมัยนี้” เรียกร้องมากเกินไป แล้ว”เสียง”ของสิทธิสตรีในปัจจุบันดังไปถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรมที่พวกเธอต่อสู้เพื่อแล้วหรือยัง?

กระแสเฟมินิสต์ริเริ่มจากการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคให้แก่ผู้หญิง ไม่เพียงแต่ในอดีตที่การเคลื่อนไหวนี้ถูกกระแสคัดค้าน ในปัจจุบันนี้เองก็ด้วย ถึงแม้ว่าสื่อออนไลน์จะกระจายเสียงของสิทธิสตรีกว้างและดังขึ้นกว่าเดิม แต่เสียงค้านจากฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้ถดถอยระดับลงไปอย่างใด

คำวิพากษ์วิจารณ์ที่มักจะพบเจอ เมื่อกล่าวถึง Feminism หรือ สิทธิสตรีในปัจจุบันนี้ก็คือ กระแสเฟมินิสต์ตอนนี้มันไปไกลเกินไปแล้ว (It has gone too far)  อีกทั้งว่ากลุ่ม Feiminism ได้สร้างอุดมการณ์ทางเพศขึ้นมา, เป็นกลุ่มคนที่เกลียดพวกผู้ชาย, ใส่สีตีไข่เรื่องล่วงละเมิดทางเพศและรู้สึกขุ่นเคืองได้โดยง่าย 

หากลองมองคำวิจารณ์ที่ว่าการเคลื่อนไหวของแนวคิดนี้ในปัจจุบัน มันมากเกินไป ก็สามารถตีความได้ว่าในอดีต การเคลื่อนไหวของสิทธิสตรี เป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพมากกว่าทุกวันนี้กันอย่างนั้นหรือ?

กระแสสิทธิสตรีในช่วงแรกนั้นเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 19 และ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กระแสนี้มีแรงขับเคลื่อนจากสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ครอบครองทรัพย์สิน และ การหย่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้หญิงในสมัยนั้นไม่ได้รับ ผู้หญิงที่ออกมาสนับสนุนสิทธิเหล่านี้ถูกสื่อโจมตีอย่างหนักว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและน่ารังเกียจ ไม่เพียงเท่านั้นผู้ชายที่สนับสนุนสิทธิสตรีก็ยังจะถูกล้อเลียนอีกด้วย

คลื่นลูกที่สองของสตรีนิยมนั้นเกิดขึ้นราวระหว่างปี 1960 – 1990 และความแตกต่างกับคลื่นลูกแรกนั้นที่คือเปลี่ยนแนวทางในการต่อสู้จากสิทธิมนุษยชน (Civil Right) มาเป็น  ‘Women’s Liberation’  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอิสระในเพศวิถี (และเพศสัมพันธ์ ฯลฯ) ที่แต่เดิมถูกกดทับจากบรรทัดฐานสังคม (บทบาท-หน้าที่-สถานภาพ) เช่น ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน

จุดเริ่มต้นของคลื่นลูกที่สามนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างก็ว่ากระแสนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 บ้างก็ว่าเริ่มปลายศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตามจุดเด่นของคลื่นที่สามคือการต่อสู้ให้กับความยุติธรรมทางสังคมและมุ่งเน้นไปยังแนวคิดเรื่องอำนาจทับซ้อน (Intersectionality) (สามารถอ่านคำอธิบายแนวคิดนี้ได้ที่ https://prachatai.com/journal/2017/03/70685)

บทความเกี่ยวกับเฟมินิสต์จาก Georgina Diaz ได้ชี้ให้เห็นว่าจุดร่วมของคลื่นทั้งสามลูกนี้คือไม่มีครั้งไหนเลยที่กระแสต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีได้รับคำชื่นชมและแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ เธอกล่าวอีกว่า ณ ปัจจุบัน คลื่น     เฟมินิสต์ลูกที่สี่ที่ได้นำอินเตอร์เนตมาใช้ในการต่อสู้ ยิ่งทำให้กระแสแอนตี้ดังมากกว่าที่เคยมา [1] 

แล้ว Feminism ในสมัยนี้ทำไมเขาว่ามันไม่ดี?

หนึ่งในคอมเมนต์จากเว็บไซต์ Quora [2]  ได้พูดถึง นักประท้วงกลุ่ม Femen เอาไว้ว่า การที่สาว ๆ เหล่านี้ประท้วงว่าทำไมผู้หญิงจะเปลือยท่อนบนไม่ได้เหมือนผู้ชายโดยการถอดเสื้อและบราเดินไปมา นั้นเป็นความคิดที่ไม่ฉลาด การจะเปลือยท่อนบนนั้นมันไม่เกี่ยวกับสิทธิ แล้วการบอกให้ผู้หญิงมุสลิมละทิ้งผ้าคลุมหน้าแล้วเปลือยท่อนบนโดยบอกว่าการใส่ผ้าคลุมหน้านั้นเป็นบรรทัดฐานที่ถูกสร้างขึ้นโดยศาสนาและสังคมเป็นความคิดที่น่าเหลือเชื่อมาก ไม่ใช่ว่าเฟมินิสต์กำลังเคลื่อนไหวเพื่อการสนับสนุนสิทธิในการตัดสินใจหรือ ดังนั้นการที่คุณห้ามใครให้ใส่อะไรก็ถือเป็นการรุกล้ำอิสระของพวกเขาในการตัดสินใจกันน่ะสิ 

อันที่จริงประวัติของกลุ่ม Femen ที่เริ่มก่อตั้งมาในปี 2006 นั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเรียกร้องอิสระในร่างกายท่อนบนเพียงอย่างเดียว แต่จุดประสงค์ในการก่อตั้งนั้นคือการต่อต้านการครอบงำทางเพศและการท่องเที่ยวที่เน้นการซื้อขายบริการทางเพศ, สถาบันศาสนา และองค์กรจัดหาคู่ข้ามประเทศ อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่คนนอกจะมองว่าการกระทำของกลุ่มนี้นั้นดูสุดโต่งและน่าขัน แต่นักกิจกรรมสตรีนิยมอื่นๆก็ไม่เห็นด้วยนักการการที่กลุ่ม Femen ใช้การเปลือยท่อนบนในการประท้วงเนื่องอาจจะกลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อจริงๆ [3] 

 

Yes, it has gone too far – ในมุมคนที่มองว่าชักจะไปกันใหญ่แล้ว

ผู้เขียนบทความ Has Feminism Gone Too Far? What are Feminists Doing wrong? [4] ได้หยิบประเด็นการกีดกันผู้หญิงทรานส์ของผู้หญิงบางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ ว่าการไม่ยอมรับและเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงทรานส์จากกลุ่มคนที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ มันไม่ใช่ความสองมาตรฐานหรอกหรือ อีกทั้งกระแสเรียกร้องจากกลุ่มเฟมินิสต์ที่ให้เปลี่ยนเพศนักแสดงบท เจมส์ บอนด์ หนังแฟรนไชส์จากสหราชอาณาจักรให้เป็นเพศหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและความเท่าเทียม (diversity and equality) รวมทั้งกล่าวหาฝั่งที่คิดว่าเจมส์ บอนด์ ควรจะถูกแสดงโดยผู้ชายตามเดิมว่าเป็นพวกกีดกันทางเพศ (sexist) พวกเธอผู้ต่อสู้เพื่อเรื่องอะไรแบบนี้กลับแปลกใจเมื่อพบเจอกับการเกลียดสตรีเพศ  นี่มีแค่เขาคนเดียวหรือเปล่าหรือคนอื่นๆก็ด้วยที่สังเกตว่าทุกคนจำต้องมีตราประทับตัวตน หากคุณไม่ใช่เฟมินิสต์ คุณก็เป็นพวกกีดกันทางเพศ และถ้าคุณเป็นผู้ชายที่ไม่ใช่เฟมินิสต์ คุณก็จะเป็นพวกเกลียดผู้หญิง บางทีปัญหาของพวกเราอาจจะไม่ได้วางไว้อยู่ที่ “เฟมินิสต์” หรือว่า “พวกกีดกันทางเพศ” แต่อาจจะเป็นเพราะเราประทับตราให้อีกฝ่ายเป็นอะไรสักอย่าง และสิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกัน ผู้เขียนบทความกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เขาเชื่อว่าประวัติศาสตร์กระต่อสู้สิทธิสตรีนั้นสำคัญต่อการที่ผู้หญิงมาไกลอย่างทุกวันนี้ และเฟมินิสต์ควรจะต่อสู้เพื่อสิ่งที่สำคัญจริงๆ อย่างการศึกษาและช่องว่างรายได้ของผู้หญิง

 

No, it hasn’t gone too far and we need MORE – ในมุมคนที่มองว่าเรายังไปไม่ไกลพอ

ผู้หญิงกับการเมือง

หนึ่งในฝ่ายสนับสนุนจากการโต้วาทีชมรม Oxford Union ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในหัวข้อ This House Believes That Feminism Cannot Be Capitalist ได้กล่าวว่า คำว่าเฟมินิสต์จะนำมาใช้แทนผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ (They are not synonym)  พร้อมทั้งยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ มาร์กาเรต แทตเชอร์ ตลอดการดำรงตำแหน่ง 11 ปีของเธอ แทตเชอร์เลือกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น  [5]

Bea Campbell นักเขียนแนวสตรีนิยม กล่าวว่าในช่วงที่เธอสัมภาษณ์ผู้หญิงสายอนุรักษ์หลาย ๆ คนเพื่อที่จะเขียนหนังสือ ‘The Iron Ladies’ ทุกคนเห็นพ้องถึงความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แต่ในขณะเดียวกันก็ผิดหวังที่นายกไม่ได้ empower ผู้หญิงคนอื่นๆเลย   ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้บุกเบิกการเป็นผู้นำหญิงในโลกการเมืองที่เพศชายเป็นชนกลุ่มมากและออกมาสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้ในช่วงเริ่มรับตำแหน่งนายก แต่ก็มีกระแสหลายเสียงออกมาบอกว่าเธอไม่ได้ทำให้ชีวิตผู้หญิงดีขึ้นเลย อาทิ การที่เธอปฏิเสธจะลงทุนให้ค่าใช้จ่ายศูนย์ดูแลเด็กเข้าถึงได้มากขึ้นหรือเพิ่มผลประโยชน์กับเด็ก การที่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งมีอำนาจในการบริหารหรือปกครอง มองเผินๆอาจจะเหมือนว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่หากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ถูกมองข้ามในรัฐบาลหรืองค์กรที่แต่เดิมถูกบริหารโดยชายทั้งหมดได้ ผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นถือเป็น Female Icon ได้อย่างไรกัน? [6] 

นี่ยิ่งตอกย้ำว่าเฟมินิสต์ในปัจจุบันยังต้องต่อสู้กันต่อไป ไม่เพียงเพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสภาหรือองค์กรเท่านั้น แต่เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่ควรจะได้รับ

ขออนุญาตกลับมาทวนใจความสำคัญของบทความ “ไม่ใช่ว่าเฟมินิสต์ในทุกวันนี้มันไปไกลเกินหรอ” กันอีกครั้ง  หากมองในบริบทการเมืองไทย จะเห็นได้ชัดถึงปัญหาความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิง ถึงแม้ว่าในไทยเองผู้หญิงจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งพร้อมกันกับผู้ชายในปี 2476 เร็วกว่าผู้หญิงฝรั่งเศสถึง 12 ปี ถึงกระนั้นกลับใช้เวลาถึง 16 ปี จึงจะมีหญิงไทยได้รับเลือกให้เป็นสส. (ปี 2492) แต่นอกเหนือจากจำนวนที่นั่งที่ยังคงน้อยอยู่ ผู้หญิงในการเมืองไทยจะต้องประสบกับปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเพศสภาพ (เพศที่ถูกกำหนดและควบคุมโดยสังคม) อีกด้วย

บทความจาก sanook ที่ได้อ้างอิงอาจารย์ติณณภพจ์ [7] ชี้ให้เห็นว่าเนื่องจากก่อนเดิมสังคมมองว่าเพศชายมีความเป็นผู้นำและการตัดสินใจดีกว่าเพศหญิง นี่จึงทำให้ผู้หญิงที่เข้ามาในสภาถูกมองว่าเป็นเพียงไม้ประดับ

บทสัมภาษณ์ของ ช่อ พรรณิการ์ วานิชของวอยซ์ ออนไลน์ [8] ในช่วงที่เธอกำลังดำรงตำแหน่งโฆษกและส.ส.สมัยแรกของพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะก้าวหน้า) เธอกล่าวว่าต้องพบเจอกับอคติทางเพศในสภาจากตัวแทนราษฎร เช่น การแซว สิ่งที่น่าตกใจคือหลายๆคนในสภากลับมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ เธอยังย้ำถึงประเด็นสิทธิสตรีที่ก่อนเดิมเธอคิดว่าไม่จำเป็นต้องพูดแล้วในสังคมไทยศตวรรษที่ 21 อีกทั้งผนวกกับการที่เคยทำงานในฐานะสื่อในกองบรรณาธิการต่างประเทศที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ความเป็นหญิงที่ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ในงานการเมืองกลับไม่เป็นอย่างนั้น

จริงอยู่ที่ไม่มีใครควรถูกตัดสินด้วยเพศภาวะ (Gender) และ นักการเมืองหญิงก็ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะเป็นตัวแทนเพียงแค่เพศหญิงอย่างเดียว แต่สัดส่วนส.ส.หญิงที่เทียบกับส.ส.ชายต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และเกิดขึ้นไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยแต่ทั่วโลกก็ยังคงเป็นปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไข ผู้เขียนเชื่อว่าความหลายหลากทางเพศสภาพนั้นจำเป็นต่อการปกครอง การได้ตัวแทนที่เห็นที่ปัญหาและมีความเข้าใจต่อกลุ่มคนที่ตัวเองเป็นตัวแทนนั้นจะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น 

เราจะสนับสนุนจำนวนผู้หญิงในการเมืองให้มากขึ้นเพื่ออะไร?

งานวิจัยจาก UN Women ในปี 2018 พบว่าโดยเฉลี่ยทั่วโลก มีผู้ชาย  77% เป็นสมาชิกรัฐสภา, 82%

เป็นรัฐมนตรี, 93% เป็นผู้นำรัฐบาล และ  94% เป็นผู้นำของรัฐ เทรนด์นี้ยังเลยไปสู่ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาอีกด้วย – ยิ่งตำแหน่งสูงมากเท่าไหร่ ผู้หญิงก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

ผู้หญิงที่ตำรงตำแหน่งทางเมืองมีแนวโน้มที่จะจัดความสำคัญกับความพยายามที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมและยกระดับโอกาสให้แก่ผู้หญิงทุกวัยมากกว่านักการเมืองชาย  การสนับสนุนให้มีผู้หญิงในการเมืองมากขึ้นนั้นมีประโยชน์กับทุกเพศ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศชิลี มิเชล บาเชเล ก็ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้เป็นผู้นำ ตำแหน่งก็จะเปลี่ยนตัวเธอเอง และเมื่อมีผู้หญิงได้เป็นผู้นำมากกว่าเดิม มันจะเปลี่ยนทั้งการเมืองและนโยบาย [9]

#MeToo Movement

วลี Me too ถูกเริ่มใช้โดยนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ทารานา เบิร์ค (Tarana Burke) เพื่อที่จะสร้างความตระหนักและยืนหยัดข้างเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่ปี 2007 แต่หลังจากคดีล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วี ไวน์สตีน วลีนี้ก็กลับมาถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกสื่อออนไลน์และกลายเป็นแคมเปญแสดงความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ การเคลื่อนไหวนี้ได้จุดประกายบทสนทนาเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกวัย, ความยุติธรรมทางเพศและพลังของการออกมาพูดเรื่องของเพศและความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับเพศสภาพ  แต่ถึงกระนั้นการเคลื่อนไหวนี้ถูกผู้ชายหลายๆคนรวมไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่ามันไปไกลเกินกว่าจุดประสงค์ริเริ่ม และเป็นที่คาดไม่ถึงว่าในกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับการเคลื่อนไหวนี้เช่นกัน มีจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการเคลื่อนไหวนี้มันกลายเป็นเรื่องเหลวไหลเร็วเกินไป (had very quickly become silly) หลายเสียงบ่นว่าเหตุการณ์ล่วงละเมิดบางอย่างก็ดูจะเล็กน้อยเกินกว่าจะมาถูกมัดรวมเข้ากับเรื่องใหญ่ๆ และการที่ขอบเขตของการคุกคามทางเพศที่กว้างจนเกินไป (grouping together such a wide spectrum of sexual misbehaviour) มันทำให้ใจความของ #MeToo มันหายไป (lost a sense of nuance) [10]

นอกเหนือจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ในเคสของต้นชนวนอย่าง ฮาร์วี ไวน์สตีน เอง ผู้เขียนคิดว่าเราสามารถมองผลกระทบจากกระทำของเขาได้หลายระดับ อาทิ อดีตภรรยาของเขา จอร์เจียนา แชปแมน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเหยื่อโดยตรงของสามี แต่เธอก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีส่วนสนับสนุนการ กระทำของอดีตสามีในทางอ้อม ว่าไม่ได้การห้ามปรามเรื่องที่เกิด และมองว่าคำปฏิเสธไม่รับรู้พฤติกรรมที่มียาวนานกว่า 20 ปีของอดีตสามีว่าเป็นคำโกหกคำโต [11]

ช่วงหลายเดือนมานี้ผู้เขียนได้ยินข่าวล่วงละเมิดทางเพศในไทยที่ผู้ก่อเหตุมีภรรยาและลูกแล้วมากขึ้น อาจเพราะสาเหตุโควิดและมาตรการกักตัวอยู่บ้านที่นำไปสู่อัตราความรุนแรงจากการใช้กำลังในครอบครัวที่สูงขึ้นก็เป็นได้ แต่หลาย ๆ หนที่ผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์กล่าวโทษภรรยาว่ามีส่วนทำให้สามีกระทำพฤติกรรมดังกล่าว อาจจริงอยู่ที่ภรรยาไม่ได้ห้ามปรามพฤติกรรมสามีในบางกรณี  แต่การกระทำนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล การกล่าวโทษหรือโยนความผิดให้ฝ่ายหญิงนั้นนำไปสู่คำถามที่ว่า #MeToo Movement  นั้นที่แทนที่จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้คน กลับกลายเป็นดาบให้แก่ครอบครัวผู้กระทำความผิดหรือเปล่า 

บทสรุป

การเคลื่อนไหวของสิทธิสตรีและการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคตลอดมาผ่านคลื่นแต่ละลูกได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อสังคม กลุ่มคนที่ยืนหยัดต่อความเท่าเทียมนี้ไม่เพียงแต่จะเอาชนะกระแสต่อต้านจากกลุ่มแอนตี้ที่เป็นเพศชาย แต่ยังรวมถึงเพศอื่นๆ ที่ไม่ตระหนักถึงปัญหาอีกด้วย และในปัจจุบันนี้เฟมินิสต์ไม่เพียงแต่จะโดนกระแสโต้เช่นอดีตเพียงเท่านั้นแต่ยังโดนกล่าวหาว่ากระแสนี้มันไปไกลเกิน จะต้องให้แรงขับเคลื่อนมีเพียงการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเดียวงั้นหรือ

ทำไมการออกมาสนับสนุนประเด็นใหม่ๆหรือประเด็นเก่าที่ยังไม่ได้รับความเข้าใจในสังคมถึงโดนห้าม  ย้ำอีกครั้งว่าจุดมุ่งหมายของเฟมินิสต์นอกเหนือจากสิทธิสตรีแต่ยังเป็นความเสมอภาคของทุกคนอีกด้วย

ปัญหานี้เป็นปัญหาของพวกเราทุกคน อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นกระแสเฟมินิสต์ที่มากขึ้นในไทย วัฒนธรรม,ประเพณี หรือค่านิยมที่ถูกสืบทอดต่อๆกันมา จริงอยู่ที่เป็นรากฐานที่ให้เป็นเราในทุกวันนี้แต่บางอย่างก็ควรที่จะถูกเปลี่ยนแปลงตามการเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วกระแสเฟมินิสต์ยังคงจะไม่มากไปหรอกค่ะและยังคงต้องดำเนินกันต่อต่อไป

โดย มนัญชยา K.
บรรณาธิการโดย ณัฐชนนท์ ทองใส และ กันตา รัตนวงษ์
ภาพประกอบ กมลชนก มณีไพโรจน์

บรรณานุกรมและรายการอ้างอิง 

 ภาษาไทย 

  • วิพากษ์ คำผกา จากกรณี “การเหยียด” เปก ผลิตโชค ด้วยมุมมองอำนาจทับซ้อน. (2017, March 22). Retrieved from https://prachatai.com/journal/2017/03/70685 
  • “ผู้หญิง” แบบไหนที่การเมืองไทยต้องการ. (2020, Feb 21). Retrieved from https://www.sanook.com/news/8037555/  
  • พรรณิการ์ วานิช : สังคมไทยยังก้าวไม่พ้นอคติทางเพศ – เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากสภาฯ ยึดหลักความเท่าเทียม. (2019, Sep 25). Retrieved from http://www.voicetv.co.th/read/Ic4u-dhes 
  • เปิดใจกลุ่ม Femen สาวนักประท้วงเปลื้องท่อนบน. (2013, March 24). Retrieved from https://prachatai.com/journal/2013/03/45914 

ภาษาอังกฤษ

 

 

 

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]