ผู้ชายในฐานะพันธมิตรควรวางตัวอย่างไร? แน่นอนว่า การเพิ่มพื้นที่ให้คนที่ถูกกดขี่ได้เล่าเรื่องเจ็บปวดและประสบการณ์ของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าเป็นฝ่ายเล่าแทน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินการเรียกร้องและแนวคิดที่เรียกว่าเฟมินิสต์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นที่พูดถึงและแผ่กระจายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคละเคล้ากันไป จนเกิดเป็นกระแสบนสื่อโซเชียลมิเดียเกี่ยวกับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม ซึ่งพอมีใครสักคนคนออกตัวว่า “ตัวเองนั้นเป็นเฟมินิสต์ (feminist)” หากเธอคนนั้นเป็นผู้หญิงหรือ lgbtq+ ก็พอจะเป็นเรื่องที่สังคมเข้าใจเหตุผลได้ว่าทำไม แต่หากเขาคนนั้นเป็นผู้ชายแล้ว ความแคลงใจและกระแสการตอบรับดูจะมีแรงเสียดทานสูงกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ก่อนอื่น เราคงจะพูดถึงไม่ได้เลยว่าเหตุผลที่คนเลือกจะเป็นหรือต่อต้าน feminism ในสังคมไทย (หรือกระทั่งสังคมอื่นใดในโลก) นั้นมีสาเหตุมาจากความเข้าใจในนิยามของแนวคิดที่ไม่ตรงกัน หนึ่งในสาเหตุก็อาจจะมาจากการรับสารเบื้องต้น ที่ทำให้หลายคนเลือกจะเพิกเฉยกับชุดความรู้นี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเพียงเห็นคำว่าว่าด้วยคำว่า fem (ความเป็นหญิง) กับคำว่า feminism ที่พอแปลออกมาก็เป็นคำว่าสตรีนิยม ก็ได้ตัดสินไปก่อนแล้วว่าคงเป็นอะไรที่เกี่ยวกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เกี่ยวกับเพศชายหรือเพศอื่น ๆ เลย
ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจไปเช่นนั้น ก็สืบเนื่องมาจากการสร้างภาพจำของสื่อ ที่ทำให้เฟมินิสต์และนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวหรือต้องการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคมแบบปิตาธิปไตย ดูเหมือนขบวนการเรียกร้องหัวรุนแรง เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ชายในฐานะปัจเจก หรือถูกตีความไปอย่างเลยเถิดว่าต้องการจะสร้างระบบให้ผู้หญิงขึ้นมามีอำนาจกดขี่ผู้ชายในสังคม
การที่ feminism ถูกโยงเข้ากับความเป็นหญิง (femininity) อย่างเดียว ทำให้มีการโยงความเป็นเฟมินิสต์เข้ากับคุณลักษณะไม่พึงประสงค์ที่สังคมแบบปิตาธิปไตยผูกไว้กับความเป็นหญิงด้วย เช่น การใช้อารมณ์กับเรื่องต่าง ๆ เป็นของผู้หญิง จะทั้งความไม่มีเหตุผล ความอิจฉาริษยา เจ้าคิดเจ้าแค้น เป็นจอมบงการ มายาคติดังกล่าวจึงเป็นความพยายามที่จะแยกคำว่าเฟมินิสต์ออกจากความเป็นชาย (masculinity) ทำให้ผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์ถูกมองว่าไม่แมนและน่าอับอาย ซึ่งนั่นเป็นมายาคติที่ผิดเพี้ยนไป
ในความเป็นจริงแล้ว เฟมินิสต์นั้นคือแนวคิดว่าด้วยการทำความเข้าใจสังคม วัฒนธรรม การเมือง อุดดมการณ์ เพศ และปัญหาความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคเกิดขึ้น และหลุดพ้นออกจากการกดทับเชิงโครงสร้างทางสังคมแบบปิตาธิปไตย (patriarchy) ที่ไม่ได้มีผลกระทบกับแค่ผู้หญิง แต่ยังรวมไปถึงเพศอื่น ๆ และเพศชายด้วยเช่นกันแม้ว่าเราจะอยู่ในสังคมที่เรียกว่าชายเป็นใหญ่ก็ตาม
ซึ่งสาเหตุนอกเหนือจากความไม่เข้าใจนั้น อาจจะรวมไปถึงสถานะทางสังคมหรือ privilege ที่มี ทำให้ใครหลายคนเลือกจะเพิกเฉย หรือต่อต้านการถูกช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจของตนเองไปไม่ใช่เพียงแค่ความไม่เข้าใจอย่างเดียว
และเพราะความคลาดเคลื่อนในการทำความเข้าใจในนิยามแบบนี้เอง ในบทความนี้เราเลยจะพูดกันเรื่องเพศชายซึ่งออกตัวว่าตนเองเป็นพันธมิตร (ally) ของเฟมินิสต์
บทบาทของความเป็นพันธมิตรกับแนวคิดสตรีนิยม
พอพูดถึงว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ที่สนับสนุนแนวคิดความเท่าเทียมในทุก ๆ มิติของสังคมแล้ว สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือบทบาทและการวางตัวต่อการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งเราจะไม่พูดถึงเฉพาะคนที่เป็นพันธมิตรกับเราอย่างเดียว แต่จะพูดครอบคลุมไปถึงคนอื่น ๆ ที่อยากจะเป็นเฟมหรือตั้งคำถามว่าผู้ชายสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้ด้วยหรอไปในเวลาเดียวกันด้วย
เพราะตามที่ได้อธิบายไปเรื่องสภาพสังคมและความเข้าใจต่อนิยาม สิ่งที่ตามมาก็คือคำถามที่ว่างั้นผู้ชายควรวางตัวอย่างไรถึงจะดีในการสนับสนุนแนวคิดและความเคลื่อนไหว ดังนั้นเราเลยจะพูดถึงสิ่งแรกที่เฟมินิสต์ต้องการมากที่สุดในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิความเท่าเทียมเลยนั่นก็คือ ‘ความเข้าใจ’
ความเข้าใจที่พูดถึงนี่คือทั้งเข้าใจในความหมายของนิยาม และเข้าใจต่อปัญหาที่เฟมินิสต์หรือคนอื่น ๆ กำลังเผชิญอยู่จากการกดขี่ทางเพศ ทั้งจากการดำเนินชีวิตหรือการเข้าถึงสิทธิ โอกาส และการแข่งขันในสายงานสายอาชีพต่างๆ หลายครั้งเราจะเห็นได้ชัดถึงความไม่เท่าเทียมบางอย่างที่ทำให้คน ๆ หนึ่งถูกกีดกันในเส้นทางจากอคติทางเพศที่มาครอบเอาไว้ เพราะฉะนั้นแล้ว ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่เฟมินิสต์ต้องการมากที่สุดในการที่ผู้ชายสักคนจะวางตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับสตรีนิยม
อีกประการที่ตามมาพร้อมกับความเข้าใจเลยก็คือ ความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) เพราะนอกจากการที่คุณจะรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาแล้ว การที่คุณมีความรู้สึกนึกคิดในการจะเห็นใจต่อความเดือดร้อนของผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่เรามองหาด้วยเช่นกัน ถึงไม่ได้อยู่ในมิติของการที่คุณเป็นเฟมินิสต์ แต่การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมแม้ไม่ได้เป็นผู้ประสบปัญหาโดยตรงก็นับเป็นสิ่งที่คนทุกคนควรจะมีติดตัวไว้เสมอมิใช่หรือ ? และเพราะความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่การเป็นแรงสนับสนุนต่อการเคลื่อนไหวที่จะตามมาได้
ซึ่งในฐานะการเป็นพันธมิตร (allies) คุณสามารถมีบทบาทในกระบวนการเรียกร้องในส่วนต่าง ๆ ได้ เช่น การยืนยันในจุดยืนของตัวเอง และแสดงออกซึ่งความเห็นใจมากเท่าที่ตัวเองทำได้ คุณยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคมได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ด้วยการให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และปกป้องการคุกคามการเคลื่อนไหวในมิติต่าง ๆ ผ่านการห้ามปรามได้ด้วย เพราะเราต่างเห็นตรงกันถึงความไม่เสมอภาคระหว่างชายและหญิง หรือเพศอื่น ๆ ในสังคมปิตาธิปไตยว่ามีความเหลื่อมล้ำมากขนาดไหน ในการเกิดเป็นเพศชาย คุณมีอำนาจหรือสถานะบางอย่างสูงกว่าเพศอื่น ๆ ในสังคม คุณสามารถใช้จุดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนในการพูด ตักเตือน หรือเคลื่อนไหวตอบโต้ต่อสิ่งที่ไม่เท่าเทียมได้เพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์และจุดยืนของตัวเองในการเป็นหรือเคียงข้างเฟมินิสต์ หรือให้คำแนะนำและทำให้คนที่ไม่ได้เป็นเฟมินิสต์ ซึ่งมีสถานะเดียวกับคุณเข้าใจได้ว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้เราควรเลือกยึดหลักแนวคิดที่สนับสนุนความเท่าเทียม
ยิ่งไปกว่านั้น การชี้ให้เห็นถึงปัญหาของปิตาธิปไตยว่าไม่ได้มีผลกระทบแก่เฉพาะเพศหญิงกับเพศอื่น ๆ แต่รวมไปถึงเพศชายในสังคมด้วย ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแต่สังคมที่ตีกรอบและสร้างชุดความคิดว่าผู้หญิงควรเป็นหรือควรทำอะไร ในขณะเดียวกัน ผู้ชายก็โดนเช่นกันว่าควรจะเป็นชายแบบไหน ต้องเป็นไปตามแบบขนบหรือค่านิยมที่คนสร้างขึ้น ไม่งั้นจะไม่แมนพอ มายาคติของความเป็นชายและความเป็นหญิงนั้น ๆ ก็ไปกดทับต่อสิทธิ เสรีภาพ ในการเป็นใครต่อใครของผู้อื่น รวมไปถึงการเลือกจะทำอะไรตามความชอบของตัวเองด้วยเช่นกัน
หากจะยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดก็เช่น อาชีพการทำงาน หลายครั้งถูกนำไปผูกโยงว่า ควร จะเป็นของเพศไหนมากกว่าที่ควรจะได้ทำในงานนั้น ๆ เหมือนบอกว่าวิศวะเป็นงานของผู้ชาย งานบ้านงานเรือนเป็นของผู้หญิง ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นหญิงชาย หรือเพศใดๆ ๆ ก็สามารถจะทำงานวิศวะหรืองานในสายงานอาชีพอื่น ๆ ได้ และงานบ้าน งานพยาบาล การดูแลผู้อื่น ก็ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ว่าต้องเป็นของเพศใดเพศหนึ่งฝ่ายเดียว เพราะเป็นงานที่ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะทำและรับผิดชอบร่วมกันได้เช่นกัน
การนำเพศมาเป็นตัวกีดกันหรือเป็นอภิสิทธิต่อสายงานหรือสิ่งที่ชอบจึงไม่ได้เพียงกระทบแต่เพศหญิง แต่กระทบไปถึงเพศชายที่มีความสนใจและชอบในงานอื่น ๆ ออกไป ซึ่งกลับถูกตราหน้าว่าไม่ได้เป็นไปตามขนบของความเป็นชายในแบบที่สังคมคาดหวังไว้ว่าจะต้องเป็น สร้างรอยแผลและความเจ็บปวดขนาดใหญ่ให้กับใครหลายคนจนเกิดเป็นคำถามต่อตัวตนของตนเองว่าดีพร้อมหรือแข็งแกร่งพอจะอยู่ในสังคมหรือไม่ ทั้งที่สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญที่สุดคือความเคารพและการให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียม
คุณสามารถประเมินความสามารถหรือความเหมาะสมของคนอื่นได้จากทางกายภาพว่าพร้อมกับงานหรือไม่ แต่ไม่ใช่การตัดโอกาสในการแข่งขันจากเพศที่เขาเป็น
นอกจากนี้ในฐานะพันธมิตร คุณควรประเมินสถานะและความคาดหวังของตนเองในกระบวนการเรียกร้องด้วย พูดให้เห็นภาพสักหน่อยก็คือขบวนการเฟมินิสต์ เป็นกระบวนการเรียกร้องของคนที่ถูกกดขี่ที่เกิดจากความเจ็บปวดและความโกรธที่ระบบของสังคมได้กระทำต่อพวกเขา การที่คุณไม่เคยเจ็บปวดนั่นย่อมเป็นเรื่องที่ดี หรือการอยากช่วยเหลือคนที่เผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ แต่เหนือความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจแล้ว คุณควรมีความละเอียดอ่อนในการวางตัวด้วยเช่นกัน เพราะในการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์เอง ก็ยังมีคนที่เข้ามาร่วมในกระบวนการการเคลื่อนไหวโดยมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของเรายังขับเคลื่อนในสังคมปิตาธิปไตยอีกด้วย
เพราะงั้นผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์จึงมักได้รับความสำคัญและความสนใจมากกว่าเฟมินิสต์คนอื่น ๆ โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น การระมัดระวังและทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าตัวเองในฐานะพันธมิตร (ally) ควรมีหน้าที่อะไรหรือวางตัวเองไว้ตรงจุดไหนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การเพิ่มพื้นที่ให้คนที่ถูกกดขี่ได้เล่าเรื่องเจ็บปวดและประสบการณ์ของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เป็นสิ่งที่ดีมากกว่าเป็นฝ่ายเล่าแทน ข้อเตือนใจนี้เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้โดยง่ายและเป็นการสนับสนุนในการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี และต้องไม่ลืมที่จะวางความต้องการหรือความสบายใจของตัวเองเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียกร้องเหมือนกับที่เฟมินิสต์คนอื่น ๆ คอยทบทวนตัวเองในจุดนี้อยู่เสมอว่าเป้าหมายปลายทางของการเรียกร้องคือสิ่งใด
รวมไปถึงสิ่งที่ควรระวังที่สุดคือทัศนคติต่อความคาดหวังว่าผู้ถูกกดขี่หรือผู้เรียกร้องจะสุภาพกับตนหรือสุภาพต่อคนอื่น – มันเป็นเรื่องจริงที่ทุกคนควรจะสุภาพต่อกัน แต่ในจุดของผู้เรียกร้องและผู้ถูกกดขี่ ทุกอารมณ์ที่ออกมาล้วนมีสาเหตุและที่มาที่ไปอยู่แล้วจากความโกรธแค้นและความอยุติธรรมที่ได้รับมาตลอด ดังนั้นเราควรตระหนักในจุดนี้ไว้ว่า เราไม่มีหน้าที่ในการไปห้ามความเจ็บปวดของใคร หรือเที่ยวไปบอกใครต่อใครว่าควรสุภาพจนไปลดทอนความเจ็บปวดของพวกเขาลง
และการสู้ไปด้วยกันเป็นสิ่งจำเป็น อย่าเผลอมองว่าการเข้าร่วมกระบวนการเรียกร้องเป็นความช่วยเหลือที่ควรได้รับผลตอบแทนอย่างเด็ดขาด
แม้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งใหม่ต่อใครหลายคนที่ถูกปลูกฝังและเติบโตมาพร้อมกับค่านิยมเดิมม การจะเปลี่ยนแปลงความคิดคน หรือยืนหยัดในการต้านกระแส ย่อมมีแรงเสียดทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะยากลำบากยังไง โลกทัศน์ที่กว้างขวางมากแค่ไหน การวางบทบาทตัวเองไว้เคียงข้างไปพร้อมกับสิทธิความเท่าเทียมย่อมเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างแน่นอน เราจึงหวังว่าทุกคนจะทำความเข้าใจและขยับตัวไปพร้อมกันเพื่อให้สังคมที่เราอาศัยนั้นน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ผู้เขียน กันตา รัตนวงษ์
ภาพกระกอบ กมลชนก มณีไพโรจน์
ที่มา :