ถ้าจะให้ตอบง่าย ๆ ก็สามารถตอบภายใน 1 พยางค์ว่า … “ได้”
นั่นคือคำตอบของคำถามนี้ ซึ่งมันดูง่ายดายเสียเหลือเกินที่จะเลือกตอบคำถามแค่ ได้/ไม่ได้ หรือ ใช่/ไม่ใช่ โดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม – แต่หากไม่อธิบายขยายความอะไรเลยก็จะเป็นการส่งต่อความฉงนสงสัยต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
เกริ่นนำ
ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่กระแส “เฟมินิสต์” ในไทยมาแรงกว่าที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด อาจจะเพราะว่าผู้คนในสังคมไทยเริ่มหันมาเห็นความสำคัญของสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้น โดยหลาย ๆ คนเองก็เริ่มตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมทั้งไทยและเทศ – หรือใครที่แต่เดิมไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เฟมินิสต์” มาก่อน ก็เริ่มรู้จักกันอย่างเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะ Twitter) การที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ในไทยมีมากขึ้นนั้นนับว่าเป็นข่าวดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ “เฟมินิสต์” อยู่มากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “แล้วผู้ชายเป็นเฟมินิสต์ได้หรือไม่?”
ถ้าจะให้ตอบง่าย ๆ ก็สามารถตอบได้ภายใน 1 พยางค์ … “ได้” … ใช่ นั่นคือคำตอบของคำถามนี้ ซึ่งมันดูง่ายดายเสียเหลือเกินที่จะเลือกตอบคำถามแค่ ได้/ไม่ได้ หรือ ใช่/ไม่ใช่ โดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม – แต่หากไม่อธิบายขยายความอะไรเลยก็จะเป็นการส่งต่อความฉงนสงสัยต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าผู้ชาย – หรือไม่ว่าเพศใดก็ตาม – ก็สามารถเป็นเฟมินิสต์ได้อยู่แล้ว แต่ทำไมผู้ชายหลายคนถึงเลือกที่จะไม่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ แต่กลับเรียกตัวเองว่า “ผู้สนับสนุน” เสียมากกว่าแทนล่ะ?
คำตอบของคำถามนี้อาจจะมีได้หลายประการด้วย ดังนั้นเราจะมาลิสต์เป็นข้อหลัก ๆ ให้อ่านกัน
- เพราะคำว่า “เฟมินิสต์” หรือที่ภาษาไทยบัญญัติว่า “กระแสสตรีนิยม”
ด้วยเหตุที่ว่าคำว่า Feminist นั้นสื่อถึงคำว่า “Feminine” และ “ความเป็นผู้หญิง” นั่นเองที่ทำให้ทั้งผู้ชายและเพศอื่น ๆ หลายคนยังมีความลังเลที่จะพูดออกมาว่าตนเองเป็นเฟมินิสต์ และค่อย ๆ ก้าวขยับออกไปสู่กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ผู้สนับสนุน” แทน ยิ่งพอแปลเป็นภาษาไทยว่า “กระแสสตรีนิยม” แล้วยิ่งทำให้หลายคนขยับออกห่างไปมากยิ่งกว่าเดิม พร้อมทั้งคำถามที่อยู่ในหัวของตนเองว่า “แล้วพื้นที่ของผู้ชายอยู่ตรงไหนในการเคลื่อนไหวนี้?”
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เรายังคงใช้คำว่า “Feminist” แทนที่จะใช้คำว่า “Equalist” ก็คล้ายกับการที่เราต้องสนับสนุนการรณรงค์ “Black Lives Matter” แทนที่จะเป็น “All Lives Matter” – เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมี “กลุ่มคน” ที่ยังคงถูกกดขี่ทางสังคมและไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเป็นการเน้นย้ำว่ากลุ่มคนดังกล่าวนั้นไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมมาตั้งแต่ต้น ซึ่งหากเราไม่เน้นย้ำว่า “ผู้หญิง” เคยได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมอย่างไรแล้ว สุดท้ายสังคมก็จะละเลยความไม่เท่าเทียมที่เคยเกิดขึ้นไปในที่สุด เพราะที่ผ่านมาก็มีความพยายามในการนำเสนอว่า “ทุกคนเท่าเทียมกัน” อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายผู้หญิงและเพศอื่นก็ยังไม่เคยได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้ชาย และคนผิวสีก็ไม่เคยได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนขาวเช่นเดียวกัน - พื้นที่ของผู้ชาย (และเพศอื่น) ใน “เฟมินิสต์”
คำถามที่ตามมาจากข้อแรก – พื้นที่ของผู้ชายอยู่ตรงไหน? ผู้ชายสามารถทำอะไรได้บ้าง? ผู้ชายสามารถออกมาช่วยเรียกร้องได้หรือไม่? แล้วผู้ชายสามารถออกมาเป็นกระบอกเสียงได้มากแค่ไหน?
ตรงนี้อาจจะเป็นปัญหาข้อหนึ่งที่กลุ่มเฟมินิสต์เองก็ต้องนำไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่ามีสื่อน้อยชิ้นมาก ๆ ที่ออกมาอธิบายเรื่องนี้ให้ผู้ชายเข้าใจ – ยิ่งเรื่องบทบาทของผู้ชายในการเคลื่อนไหวยิ่งมีข้อมูลน้อยลงไปอีก ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงมาจากการที่ผู้ชายเลือกที่จะไม่เรียกตนเองว่าเฟมินิสต์อยู่แล้ว จนทำให้หลาย ๆ สื่อเลือกที่จะมองข้ามการนำเสนอบทบาทของผู้ชายไป หรืออาจเป็นเพราะสื่อเฟมินิสต์นั้นตั้งใจเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิงและกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมเท่ากับผู้ชาย จึงทำให้สื่อเหล่านั้นมุ่งไปที่การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ซึ่งการทำแบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะการนำเสนอบทบาทของผู้หญิงและเพศอื่นๆ ที่มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการทำให้ผู้ชายมีความรู้สึกว่าพื้นที่ของการเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้ชายจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ - “การต้อนรับ” ผู้ชายเข้าสู่การเรียกร้องสิทธิ
เนื่องจากผู้ชายบางกลุ่มมีความรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวได้ นั่นจึงทำให้ผู้ชายอาจจะรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่ได้เป็นที่ต้อนรับมากเท่าไหร่นัก จึงทำให้กลุ่มผู้ชายเลือกที่จะไม่ก้าวเท้าเข้ามา เพราะมีความกังวลว่าจะเป็นการไปละเมิดพื้นที่ของผู้หญิง และกลายเป็นถูกไล่ออกมาแทน
ซึ่งข้อนี้ก็นำไปสู่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้คนบางกลุ่มเลือกที่จะเรียกตนเองว่า “ผู้สนับสนุน” นั่นก็คือ… - ความเข้าใจผิดที่มีต่อแนวคิด Feminism
Feminism ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เพศใดได้รับสิทธิมากกว่าอีกเพศหนึ่ง ดังนั้นกลุ่มเฟมินิสต์เองก็ไม่ได้รวมตัวกันเรียกร้องเพื่อให้ผู้หญิง “มีสิทธิมากกว่า” ผู้ชาย แต่เป็นการเรียกร้องให้ “ทุกเพศ” มีสิทธิเท่าเทียมกันต่างหาก นอกจากนี้กลุ่มเฟมินิสต์เองก็ไม่ได้เพียงแต่เรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) อีกด้วย
นอกจากนี้หลักการเฟมินิสต์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อมา “โจมตี” เพศชาย แต่กำลังโจมตีความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมที่ทำให้เพศชายได้รับสิทธิที่มากกว่า และมีอำนาจในสังคมมากกว่าเพศอื่นต่างหาก
เพราะ “เฟมินิสต์” ไม่ใช่หลักการและการเคลื่อนไหวที่พุ่งเป้าไปที่การโจมตี “เพศชาย” แต่เป็นทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง การเคลื่อนไหว และการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุก ๆ เพศตั้งแต่ในระดับปัจเจก ระดับสังคม ระดับเศรษฐกิจ ไปจนถึงระดับการเมือง
แม้ว่าหลายคนจะคิดว่าปัจจุบันนี้ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ผู้หญิงและเพศอื่น ๆ ยังไม่ได้รับความเท่าเทียม – ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดที่ว่าเป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว, เป็นผู้หญิงต้องอ่อนน้อมอ่อนหวาน, เป็นผู้หญิงแล้วต้องมีหน้าที่ดูแลบ้าน, ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นแม่ของลูก ฯลฯ และนั่นรวมไปถึงการต่อสู้เพื่อให้ผู้ชายนั้นสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องยึดโยงและถูกผูกมัดเข้ากับค่านิยม “ความเป็นชาย” ที่ฝังรากลึกในสังคมด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งแนวคิดที่ว่า ผู้ชายห้ามร้องไห้ ห้ามอ่อนแอ ต้องเข้มแข็ง ก็เป็นผลพวงมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศและสังคมชายเป็นใหญ่เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่ากระแสเฟมินิสต์นั้นยังเป็นการเรียกร้องให้เพศชายนั้นได้รับการปลดปล่อยจาก “ความเป็นชายในอุดมคติ” อีกด้วยซ้ำ
ดังนั้นเฟมินิสต์จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเพศใดเพศหนึ่งอย่างเจาะจง แต่เกิดขึ้นเพื่อให้ทุก ๆ เพศไม่ว่าจะเป็นชายหญิงโดยกำเนิด (cisgender) คนข้ามเพศ (transgender) คนที่ไม่ใช่ทั้งเพศชายและหญิงตามบรรทัดฐานของสังคม (non-binary/queer/gender-nonconforming) รวมไปถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ทั้งหมดได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกหรือเป็นตราบาปในชีวิต สามารถแสดงออกทางเพศได้ตามความต้องการของตนเองโดยไม่โดนผูกมัดไว้กับกรอบความเชื่อและค่านิยมเดิม
ซึ่ง 4 ข้อที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่สามารถพบเจอได้บ่อยเท่านั้น แต่ละคนอาจจะมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปนอกเหนือจากนี้อีกก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งที่กลุ่มเฟมินิสต์จะสามารถทำได้ก็คือ
- การอธิบายและให้ความรู้กับผู้ชายมากขึ้น เพราะยังมีผู้ชายหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าผู้หญิงและเพศอื่นนั้นไม่เท่าเทียมกับผู้ชายอย่างไร และการกระทำใดที่ทำแล้วไปตอกย้ำความไม่เท่าเทียมนั้น
- เรียกร้องความเท่าเทียมกันต่อไปให้เสียงดังยิ่งขึ้น
- ให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์นั้นไม่ได้เกลียดและกีดกันผู้ชาย
- รวมไปถึงการสอนเด็กผู้ชายตั้งแต่อายุยังน้อยให้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ ค่านิยมทางเพศที่มีอคติ ความรุนแรงทางเพศ จะทำให้ผู้ชายในสังคมนั้นตระหนักถึงความสำคัญของการเรียกร้องสิทธิเพิ่มมากขึ้น และในวันนึ่งเราอาจได้เห็นผู้ชายหันมาพูดว่าตนเองเป็นเฟมินิสต์ได้อย่างเต็มปากมากขึ้นก็ได้
อ้างอิง
https://finallyfeminism101.wordpress.com/2007/03/19/faq-can-men-be-feminists/
https://majikthise.typepad.com/majikthise_/2006/05/men_can_be_femi.html
ผู้เขียน Parkers Argasnoum
ภาพประกอบ พลอยพรรณ เกตุจรัล