“เฟมินิสต์” ก็แค่ ‘ผู้หญิง’ ที่เหยียดผู้ชาย…ใช่จริงเหรอ

 

‘เสียง’ ที่ส่งไปไม่ถึง: มาทำความเข้าใจกันว่าทำไมเฟมินิสต์ไม่ได้เหยียดผู้ชายผ่านมุมมองเรื่องอำนาจและการกดขี่

 

       ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อพูดถึงเฟมินิสต์ เราจะนึกถึงใครได้บ้าง เราจะนึกถึงภรรยาที่ทิ้งสามี แม่ที่ฆ่าลูก ผู้หญิงที่นับถือศาสนานอกรีต และผู้หญิงที่ “กลายเป็น” เลสเบี้ยน เรา “แปะป้าย” คนเหล่านี้ว่า “เฟมินิสต์” จริงหรือ หรือเรานึกถึงผู้หญิงซึ่งมีเสียงดังกว่าและพื้นที่สื่อมากกว่า เพราะเธออ้างว่าตนเองเป็น  “เฟมินิสต์” ด้วยการด่าผู้ชายว่าเลวกว่าสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง  แต่ไม่ว่านึกถึงใครก็ตาม ความรับรู้ข้างต้นล้วนส่งอิทธิพลไม่มากก็น้อยต่อความรู้สึกเกลียดชังเฟมินิสต์ที่เกิดขึ้นในสังคมจนถึงปัจจุบันด้วยความรู้สึกว่า เฟมินิสต์กำลังเรียกร้องสิทธิพิเศษบางอย่างให้แก่ตัวเองและกีดกันผู้ชายออกไป และด้วยเสียงที่ดังกว่าทำให้คนในสังคมมีภาพจำต่อเฟมินิสต์ว่าเป็นเพียงผู้หญิงที่ “เกลียด” ผู้ชาย

 

 

แล้วใครคือเฟมินิสต์

 

       เฟมินิสต์ (feminists) คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งยึดถือแนวคิดเฟมินิสม์ (feminism) ด้วยมีความปรารถนาและความหวังที่ต้องการให้ทุกสภาวะเพศ (gender) ในสังคมนี้ได้รับโอกาส สิทธิ และการปฏิบัติทางเพศอย่างเท่าเทียมกันโดยวางอยู่บนหลักการโดยรวม 3 ประการ ได้แก่ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือความต้องการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างสภาวะเพศ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือการให้สิทธิพิเศษบางประการ ตลอดจนการลิดรอนสิทธิบางอย่างของคนใดคนหนึ่งในสังคมเพียงเพราะบุคคลนั้นยึดถือหรือปฏิบัติตามเพศสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

เฟมินิสต์ไม่ได้เหยียดหรือรังเกียจผู้ชาย

 

         เมื่อพูดถึง “เฟมินิสต์” สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมจะนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ คือมโนทัศน์ว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือ “ผู้หญิงที่เกลียดผู้ชาย” หรือต้องการสร้างความเป็นใหญ่ให้แก่ตนเองด้วยการเหยียดเพศชาย ความคิดเช่นนี้หยั่งรากลึกในสังคมนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ศึกษาหรือพิจารณาคุณค่าและอุดมการณ์ที่กลุ่มเฟมินิสต์เรียกร้องให้เกิดขึ้นในสังคมนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการกำเนิดของเฟมินิสต์และการใช้คำว่าเฟมินิสต์ดูจะเป็นการให้อำนาจบางอย่างกับเพศหญิงมากเกินไป เมื่อให้อำนาจแก่เพศหญิงมากเกินไปย่อมทำให้เกิดความรู้สึกว่าความเป็นชายที่มีอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่เริ่มสั่นคลอน นอกจากนี้การที่เฟมินิสต์ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เหยียดผู้ชาย ก็เพราะความพยายามที่เน้นเรื่องราวและประสบการณ์ของผู้หญิงให้เป็นจุดสนใจของสังคม โดยเฉพาะความพยายามแก้ไขความไม่เสมอภาคทางเพศ (gender imbalance) ที่เกิดขึ้น ด้วยแนวคิดและความพยายามเช่นนี้จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า “ผู้หญิง” กำลังเรียกร้องอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ชาย

 

          ในความเป็นจริงแล้วเฟมินิสต์ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้สนับสนุนแนวคิดการเหยียดเพศ (sexism) คำอธิบายข้างต้นวางอยู่บน 2 แนวคิดสำคัญ ได้แก่การถือครองอำนาจทางสถาบัน (institutional power) และความคิดเรื่องการเหยียดเพศแบบย้อนกลับ (reverse sexism) โดยที่สองแนวคิดดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน กล่าวคือไม่ว่าจะสมาทานความหมายของการเหยียดเพศว่าอย่างไร การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันทางเพศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้อำนาจทางสถาบันมากำหนดพฤติกรรมของกลุ่มคนในสังคม อำนาจดังกล่าวถือครองโดยผู้ที่สังคมเชื่อว่ามีสิทธิธรรมทางการปกครอง เป็นต้นว่าอำนาจจากรัฐบาล หรือจากสถาบันทางศาสนาเพื่อควบคุมและกำหนดพฤติกรรม ตลอดจนแบบแผนและข้อบังคับของคนในสังคมให้เป็นไปตามที่ผู้ถือครองเห็นว่าควรจะเป็น ซึ่งผู้หญิงไม่ได้เป็นผู้ถือครองอำนาจดังกล่าวในสังคม เช่นนี้ผู้หญิงจึงไม่ใช่ผู้ที่สามารถกำหนดข้อบังคับหรือแบบแผนของคนในสังคม เมื่อผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงอำนาจนี้ ย่อมไม่สามารถผลักดันข้อปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศหรือการเหยียดเพศให้เกิดขึ้น

 

ผู้หญิงไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น

 

          ข้อสนับสนุนเรื่องการสถาปนาอำนาจดังกล่าวเห็นได้จากบริบทเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกาที่อัตราส่วนของกลุ่มคนผิวสีและผู้หญิงในสภาคองเกรสมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อัตราส่วนของผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัดและถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอีกด้วย เช่นนี้จะกล่าวได้อย่างไรว่าเฟมินิสต์กำลังสนับสนุนการเหยียดเพศชายในเมื่อผู้หญิงที่สามารถเข้าถึงอำนาจในการบริหารและกำหนดทิศทางของรัฐได้มีน้อยเหลือเกิน

 

       ในทางตรงกันข้าม ในขณะที่กลุ่มคนซึ่งถือครองอำนาจเชิงสถาบันรู้สึกสั่นคลอนจากการที่เฟมินิสต์ ออกมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เพื่อสร้างการปฏิบัติทางเพศที่เท่าเทียมกัน กลุ่มเฟมินิสต์กลับถูกตีตราว่ากำลังเรียกร้องอภิสิทธิ์บางอย่างเหนือคนอื่น ๆ ในสังคม เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากการทำแนวคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมให้กลายเป็นสภาวะปกติที่เกิดขึ้นในสังคม (normalization of inequality) เฟมินิสต์จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนเหยียดผู้ชายเพราะว่าคนกลุ่มนี้กำลังท้าทายกับอำนาจที่ถือครองโดยผู้ชายมาเป็นเวลานานและพยายามที่จะสั่นคลอนความไม่เท่าเทียมที่กดทับผู้หญิงหรือแม้แต่กลุ่มคนชายขอบของสังคมด้วยเช่นกัน

 

การเหยียดเพศแบบย้อนกลับไม่เคยมีอยู่จริง

 

      ประการต่อมาคือการสร้างความคิดเรื่องการเหยียดเพศแบบย้อนกลับ (reverse sexism)  ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องและการกระทำต่าง ๆ ของเฟมินิสต์ว่าเป็นการรังเกียจเพศชาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่และไม่สามารถมีอยู่ได้ เพราะเฟมินิสต์ไม่ได้สนับสนุนการเหยียดเพศเลย ทว่าความเชื่อเรื่อง “เฟมินิสต์เหยียดผู้ชาย (sexists towards men)” เกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจว่าการกดขี่ (oppression) เป็นเช่นไร การกดขี่แตกต่างจากการเลือกปฏิบัติ (discrimination) เพราะการกดขี่มีความเกี่ยวข้องกับระบบและความสัมพันธ์ของอำนาจที่มีอยู่ในโครงสร้างทางสังคม การกดขี่มีกลไกการทำงานที่ต้องกดขี่คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจน้อยกว่า และ/หรือเป็นคนชายขอบในโครงสร้างดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ให้อภิสิทธิ์กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า ดังที่ Thinking girl [1] กล่าวไว้ว่า “Oppression is wide-spread subjugation of one group while simultaneously privileging another group.” แน่นอนว่าผู้หญิงและคนชายขอบคือกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าและกลายเป็นผู้ถูกกดขี่ในที่สุด

 

       การกดขี่มีลักษณะการทำงานเพียงทิศทางเดียวคือกระทำโดยผู้กดขี่ (the oppressor) ไปสู่ผู้ที่ถูกกดขี่ (the oppressed) โดยผู้กดขี่จะใช้อำนาจทางสังคมที่ตนมีเป็นเครื่องมือในการแสดง ซึ่งแน่นอนว่าสังคมไม่ได้ให้ผู้หญิงเป็นผู้มีอำนาจเหล่านั้น 

 

กล่าวคือภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ สังคมนั้นๆ จะเอื้อให้ผู้ชายมีอภิสิทธิ์ สถานะและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมสูงกว่าผู้หญิง เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายกดขี่ผู้ชายเพราะผู้หญิงไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในมิติต่าง ๆ สูงกว่าผู้ชายแต่อย่างใด และตราบเท่าที่อำนาจในสังคมยังถูกครอบครอง (dominant) โดยผู้ชายอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ชายจะเป็นเหยื่อของการเหยียดเพศ

 

          นอกจากนี้แนวคิดของการเหยียดเพศหรือการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศวางอยู่บนพื้นฐานเรื่องการจัดการทรัพยากรที่หลากหลายทางสังคม โดยที่ทรัพยากรเหล่านั้นเอื้อประโยชน์ให้ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เป็นต้นว่าเรื่องการศึกษา เรื่องตำแหน่งในการทำงาน หรือเรื่อง “สิทธิ” ที่จะได้รับความคุ้มครอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ชายพึงได้รับเพียงเพราะตนมีอภิสิทธิ์จากการเกิดเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจำเป็นต้องดิ้นรนและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมเหล่านี้ 

การดิ้นรนและต่อสู้ของผู้หญิงจึงเป็นอีกเหตุผลที่นำมาอธิบายผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ว่า ถ้าเฟมินิสต์เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทุกสภาวะเพศแล้วเหตุใดจึงเรียกว่า “เฟมินิสต์” แทนที่ “ฮิวแมนนิสต์” (humanist) คำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุดคือเพื่อต้องการให้เห็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันที่คน ๆ หนึ่งได้รับเพียงเพราะเกิดมาเป็นเพศหญิง หากใช้คำว่า “ฮิวแมนนิสต์” ย่อมเป็นการละเลยบริบทที่เกิดขึ้น เพราะความไม่เท่าเทียมในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีจุดสำคัญอยู่ที่ความแตกต่างทางเพศสภาวะ และนั่นคือการเกิดมาเป็นคนชายขอบและเป็นผู้หญิง ไม่ใช่เป็นผู้ชาย

 

       อย่างไรก็ดี การยกข้อกล่าวอ้างในลักษณะที่ว่า reverse sexism เกิดขึ้นจริงในสังคมโดยมีข้อสนับสนุนว่ากลุ่มเฟมินิสต์เรียกร้องสิทธิพิเศษให้ตนเองด้วยการแสดงออกในลักษณะที่มองผู้ชายเป็นคนเลว ไม่ดี ปฏิบัติตัวแย่ เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ การกระทำในลักษณะบ่นกล่าวหรือระบายความรู้สึกบางอย่างไม่ได้เป็นการเหยียดเพศชายแต่อย่างใด เพราะผู้หญิงไม่สามารถก้าวสู่อำนาจที่ครอบครองสังคมอยู่ด้วยการกระทำเหล่านี้ หรืออย่างง่ายที่สุดคือผู้หญิงไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการกระทำเช่นนี้ ในขณะเดียวกัน การกดขี่โดยกลุ่มที่ถือครองอำนาจทางสังคมก็ยังคงมีอยู่ต่อไป

 

       ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า การกดขี่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสภาวะเพศหรือเพศใดก็ตามในสังคมถูกกดขี่ในเชิงระบบและในเชิงโครงสร้างทางสังคมอันจะก่อให้เกิดการปฎิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศ จนถึงจุดที่ ผู้กดขี่สามารถครอบครองอำนาจทางสังคมที่สามารถใช้กำหนดแบบแผน ทิศทาง และพฤติกรรมของคนในสังคมได้ เมื่อนั้นจึงเกิดการกีดกันทางเพศหรือการเหยียดเพศขึ้น เพราะฉะนั้นการเหยียดเพศแบบย้อนกลับจึงไม่มีอยู่จริง และเฟมินิสต์ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่รังเกียจหรือกีดกันผู้ชายออกจากสังคม

 

ในทางตรงข้าม เฟมินิสม์ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ชายและแก่ทุกเพศในสังคมด้วยการเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าบุคคลผู้นั้นเกิดหรือมีเพศใด

 

———————————————–

 

บรรณานุกรมและรายการอ้างอิง

 

       ภาษาไทย

       เลือกตั้ง 62: ส.ส. หญิงไทยครอง 76 ที่นั่ง นับได้ร้อยละ 14 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก. (n.d.). Retrieved from https://workpointnews.com/2019/05/26/women-in-thai-parliament/

 

       ภาษาอังกฤษ

       Feminism. (2007, August 22). Retrieved from https://thinkinggirl.wordpress.com/feminism/

       Posted by tigtog on June 3, 2007 in F. A. Q. (2008, February 9). FAQ: Aren’t feminists just sexists towards men? Retrieved from https://finallyfeminism101.wordpress.com/2007/06/03/faq-arent-feminists-just-sexists-towards-men/

       SinghPrerna, P., Singh, P., Prerna, Swaminathan, M., & Chowdhury, J. (2018, October 1). This Notion Called Reverse Sexism Cannot And Does Not Exist. Retrieved from https://feminisminindia.com/2018/05/10/debunking-notion-reverse-sexism/

   

 

[1] อ้างถึงในบล็อกเกอร์บทความออนไลน์ เรื่อง feminism ของ Thinking girl

 

 

บทความโดยณัฐชนนท์ ทองใส
ภาพประกอบ กมลชนก มณีไพโรจน์

 

 

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_PostCarousel_Widget”][/siteorigin_widget]