หากคนที่เรารักถูกละเมิด ควรและไม่ควรปฏิบัติอย่างไร?
เมื่อคนคนนึงถูกล่วงละเมิดทางเพศ โลกของเขาหรือเธอได้เปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน ไม่เพียงแต่ความบาดเจ็บทางร่ายกายแต่ยังได้รับความบาดเจ็บทางจิตใจ หากผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิด ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันย่อมสูญสลาย พวกเขาต้องการการเยียวยาหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น
แต่จะทำอย่างไร? เมื่อสังคมยังกลัวที่จะพูดเรื่องนี้ คนจำนวนมากไม่ทราบวิธีปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และหลายๆครั้งเราก็พูดอะไรที่ไม่เข้าท่าออกไปโดยไม่รู้ตัว
ใจเขาใจเรา
คนทุกคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจะตอบสนองต่อสิ่งที่เจอต่างกันออกไป บางคนขวัญเสียอย่างมาก บางคนโกรธมาก บางคนรู้สึกผิด บางคนพยายามตลกกลบเกลื่อน อารมณ์ทุกประเภทล้วนสมเหตุสมผลทั้งสิ้น
นี่คือลิตส์อย่างย่อ มีสองส่วนด้วยกันคือ 1) หากคุณเป็นผู้ที่ประสบปัญหา 2) หากคุณเป็นเพื่อนหรือครอบครัว เราแนะนำให้คุณอ่านทั้งสองข้อเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น
1) หากคุณเป็นผู้ประสบปัญหา
หากคุณเป็นผู้ประสบปัญหา คุณอาจไม่รู้เลยว่าจะกลับมารู้สึกปกติอีกครั้งได้อย่างไร คุณอาจรู้สึกว่าความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะอยู่กับคุณตลอดไป คุณอาจรู้สึกผิด รู้สึกเศร้า รู้สึกกังวลและกลัวการถูกทำร้าย แต่ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรมันก็ไม่เป็นไรหรอกนะ แต่เราอยากให้คุณทราบว่าคุณจะค่อยๆเรียนรู้ที่จะก้าวไปยังจุดใหม่ จุดที่ชีวิตของคุณเป็นปกติ
นี่คือคำแนะนำเล็กๆน้อยๆ
ทางกายภาพ :
แม้คุณยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าแจ้งความหรือพบตำรวจ อย่างน้อยคุณควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและรักษาส่วนที่บาดเจ็บ รวมไปถึงการตรวจและป้องกันโรคติดต่อทางเพศ
คุณอาจจะอยากอาบน้ำก่อนไปหาหมอ แต่เราอยากให้คุณเก็บหลักฐานต่างๆเอาไว้ก่อน ถึงแม้คุณจะยังไม่ต้องการแจ้งความในตอนนี้ แต่คุณอาจจะเปลี่ยนใจในภายหลัง
คนที่เคยล่วงละเมิดคุณอาจละเมิดคนอื่นๆได้ในอนาคต การเก็บหลักฐานในวันนี้อาจเป็นการช่วยคนอื่นได้ คุณควรเก็บเสื้อผ้าที่คุณใส่ในวันเกิดเหตุไว้ในถุงพลาสติกเผื่อเตรียมส่งให้ตำรวจในภายหลัง
ทางอารมณ์ :
คุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ผู้หญิง 1 ใน 6 คน และผู้ชาย 1 ใน 33 คน เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ คนแต่ละคนตอบสนองต่อเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ความกลัว โกรธ หดหู่ รู้สึกผิด สับสน เฉยชา อับอาย เฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่พึงปรารถนาหรือไม่ มันปกติที่จะรู้สึกแบบนั้น
มันไม่ได้เป็นความผิดของคุณ : การโทษตัวเองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในคนที่ประสบปัญหา หลายๆคนอาจรู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มันไม่จริง คนที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรเป็นคุณ แต่เป็นคนที่ตัดสินใจล่วงละเมิด
มันอาจใช้เวลาสักหน่อย ในการสร้างความเชื่อใจในผู้อื่นให้กลับมาอีกครั้ง สิ่งที่คุณเจออาจทำให้คุณรู้สึกไม่เชื่อใจคนอื่นๆ และมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างขึ้นมาได้ใหม่ … เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลา
หากคุณมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก อย่ากังวลที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ คุณสามารถโทรหาสายด่วนได้ที่นี่
พูดคุยกับคนที่คุณเชื่อใจเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณ คุณอาจจะอยากเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้เพราะไม่อยากให้คนอื่นเป็นห่วงคุณ แต่ทางที่ดีที่สุด คุณควรทำให้คนอื่นๆ ทราบว่าคุณเจ็บปวดอย่างไร และพวกเขาสามารถช่วยอะไรคุณได้บ้าง
ทางความคิด
การฟื้นฟูตนเองต้องใช้เวลา และประสบการณ์ที่ซับซ้อน อย่ารู้สึกผิดหากสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ง่าย
เมื่อถูกล่วงละเมิด หลายๆคนรู้สึกว่าตนได้สูญเสียการควบคุมสิ่งต่างๆไป ดังนั้น ในการฟื้นฟู คุณต้องรวบรวมความรู้สึกว่าคุณสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ให้กลับมาสู่คุณ การสร้างความรู้สึกปลอดภัย เชื่อใจ ควบคุมสิ่งต่างๆได้และรู้สึกได้ถึงคุณค่าในตนเองอาจใช้เวลา ซึ่งการใช้เวลาเป็นเรื่องที่โอเคนะ
อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ ถ้าคุณต้องการคนให้คำปรึกษา คุณสามารถปรึกษาได้จากเครือข่ายต่างๆ ถ้าคุณกังวลที่จะออกไปทานข้าวหรือซื้อของในตลาดโดยลำพัง คุณสามารถขอให้มีคนไปเป็นเพื่อนได้ มันเป็นโอเคถ้าคุณต้องการคนอยู่ข้างๆในเวลานี้
คุณอาจลองเขียนความรู้สึกของคุณ อาจเป็นความลับ หรืออาจแชร์ให้กับคนในเครือข่ายของเราก็ได้ มันจะช่วยให้คุณได้ระบายความรู้สึกของคุณออกมา
หาแรงสนับสนุน :
หา และ เข้าร่วม กลุ่มสนับสนุนคนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับคุณ การได้พบคนอื่นๆ ที่เข้าใจความรู้สึกของคุณจะช่วยคุณได้มาก
ออกห่าง จากคนที่ไม่จริงจังกับปัญหาของคุณ หรือคนที่ล้อเล่นกับความรู้สึกของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องรับฟังคำพูดขยะๆเหล่านั้นเพราะมันจะทำให้คุณรู้สึกแย่ลง คุณไม่ต้องการมันหรอกนะ
คุณอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย คุณอาจสูญเสียความกล้า คุณอาจต้องการหลบหนีจากผู้คนเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย แต่คุณอาจขอให้คนที่คุณไว้ใจอยู่กับคุณในตอนที่คุณพร้อมจะออกมาข้างนอกอีกครั้ง
ที่สำคัญคือ ไม่มีวิธีที่ถูกและผิดในการฟื้นฟู ทุกคนมีวิธีของตัวเอง
2) หากคุณเป็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิด
เพื่อนของคุณหรือคนที่คุณรักเพิ่งพบกับประสบการณ์ที่เลวร้าย คุณอาจรู้สึกไร้อำนาจ กราดเกรี้ยว หรือไปต่อไม่ถูก นี่คือคำแนะนำเล็กๆน้อยๆในการช่วยคนที่คนรู้จักให้ดีขึ้น
ทันทีหลังเกิดเหตุ :
- สนับสนุนให้เพื่อนของคุณพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและรักษา
- สนับสนุนแต่ไม่กดดัน ให้เพื่อนของคุณแจ้งความ แต่ถ้าเขาหรือเธอไม่อยากแจ้งความ ให้เคารพการตัดสินใจนั้น
หลังจากนั้น :
- *********ความเชื่อใจสำคัญที่สุด*********
- ฟัง ฟัง ฟัง ฟังเพื่อนของคุณให้ลึกซึ้ง ฟังอย่างไม่ตัดสิน
- อยู่ข้างเขา สนับสนุนเขา อย่าพึ่งแนะนำว่าเขาควรหรือไม่ควรรู้สึกอย่างไร
- เพื่อนของคุณจะพยายามหาคำตอบว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับตน พยายามทำให้แน่ใจว่าเพื่อนของคุณจะไม่โทษตัวเอง และไม่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา
- เพราะคนที่ควรรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ แต่เป็นคนที่ตัดสินใจกระทำ
- ทำให้พวกเขาแน่ใจว่าคุณอยู่ข้างเดียวกับเขาไม่ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร คุณจะอยู่ข้างเขาเมื่อเขาต้องการ
- ทำให้แน่ใจว่า เพื่อนของคุณ ไม่สมควรเจอสิ่งเหล่านี้ และไม่ได้เรียกร้องให้เกิดเรื่องแบบนี้
- เพื่อนของคุณอาจรู้สึกสับสน บอกเพื่อนของคุณว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่มีถูกหรือผิด
- หากคนรอบข้างมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนของคุณ เช่น กล่าวโทษว่าเพื่อนของคุณเป็นคนสร้างปัญหา ไม่รู้จักดูแลตัวเอง เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเอง คุณจะต้องปกป้องเขา อย่าคล้อยตาม
ในระยะยาว :
- หากเพื่อนของคุณมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการฟื้นฟู แนะนำให้พบหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
- มันอาจจะยากสำหรับผู้ประสบปัญหาในการแก้ปัญหาเพียงลำพัง คุณอาจไปเป็นเพื่อนเขา
- เตือนเพื่อนของคุณว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา
- เพื่อนของคุณอาจมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป เขาอาจกังวล กลัว เฉยชา เก็บตัว สับสน หลายๆคนที่ประสบปัญหาล้วนมีอารมณ์และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป มันโอเคที่จะรู้สึกอย่างนั้น
- ให้เวลา – หากเพื่อนของคุณยังทนทุกข์เป็นเวลานาน อาจทำให้เขาเข้าใจว่าการฟื้นฟูไม่มีตารางเวลาที่แน่ชัด มันเป็นเรื่องที่ใช้เวลาและละเอียดอ่อน แต่จะคุณอยู่ข้างเขาเสมอ
หากเพื่อนของคุณเป็นเพศชาย
- เน้นเป็นพิเศษว่า คุณเชื่อเขา เพราะคนส่วนมากไม่เชื่อว่าผู้ชายจะเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ ข้อเท็จจริงก็คือ การล่วงละเมิดทางเพศมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกเพศ แต่ไม่มีใครสมควรถูกล่วงละเมิดทางเพศ
สนับสนุนแต่ไม่ควบคุม
- ให้คนที่คุณรักเลือกสิ่งต่างๆให้กับตัวเขาเอง เพราะการล่วงละเมิดทางเพศทำให้คนๆหนึ่งสูญเสียการควบคุมสิ่งต่างๆ เราจึงไม่ควรก้าวเข้าไปตัดสินหรือจัดการสิ่งต่างๆแทนทั้งหมด การสร้างทางเลือกให้ตนเอง ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ตัวเองอีกครั้ง
- ถามให้มาก แทนที่จะบอกว่าคุณรู้ดีที่สุด
- คุณช่วยได้ดีที่สุด ในการทำให้เพื่อนของคุณรู้สึกเชื่อใจคนอื่นๆ อีกครั้ง
- มันเป็นเรื่องปกติที่คุณจะปกป้องเขาจนเกินเหตุ แต่ถ้าสิ่งที่คุณทำล้มเหลว ให้ถามเขาว่าเขาต้องการสิ่งใดจากคุณ
- ถ้าคุณมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการอยู่เคียงข้าง คุณควรปรึกษาคนที่เชี่ยวชาญ.
ดูแลตัวเองด้วย
- ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ประสบปัญหา เป็นเพื่อน หรือเป็นครอบครัว การดูแลตัวเองให้ดีเป็นวิธีที่ดีในการช่วยเหลือคนอื่น
ในฐานะของผู้รอดพ้น
- สร้างสมดุลให้ชีวิต พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เป็นปกติ การสร้างสมดุลทางร่างกายเหล่านี้จะช่วยให้คุณดีขึ้น
- ใจเย็น อดทน ในสิ่งที่คุณเป็น – มันใช้เวลาแหละ และมันค่อยเป็นค่อยไป บางทีมันอาจจะแย่ลงก็ได้ ขอให้มีสติและตระหนักรู้เมื่อสิ่งต่างๆเกิดขึ้น
- ลมหายใจ – ลมหายใจของคุณสำคัญนะ สังเกตลมหายใจ หายใจให้เป็นปกติ
- ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น – คุณอาจรู้สึกอะไรสารพัด นั่นโอเค อย่าบังคับมัน (และอย่ายอมให้คนอื่นมาบังคับว่าคุณควรหรือไม่ควรรู้สึกอะไรกับตัวเอง)
- หาวิธีแสดงออก – แสดงออกความรู้สึกในวิธีการต่างๆ มันจะช่วยให้คุณสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้แข็งแรงขึ้น
ในฐานะของคนใกล้ชิด:
- ให้เวลาตัวเอง – มันเป็นงานใหญ่เหมือนกันนะที่จะช่วยสนับสนุนคนที่มีช่วงเวลาที่ยากลำบาก อย่าลืมให้เวลาตัวเอง ให้พื้นที่กับตัวเอง คุณจะได้มีพลังในการสนับสนุนคนที่คุณรักต่อไป
- ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ – เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อไหร่ที่คุณต้องการคุณควรปรึกษา
- อยู่ข้างๆ – แค่นี้ก็เพียงพอแล้วล่ะในบางครั้ง เพราะคนที่คุณรักอาจต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความรู้สึก ไม่ได้ต้องการคนช่วยแก้ปัญหาหรือทางออก
ควรพูดอะไรกับคนที่ถูกละเมิดทางเพศ :
- “เราเชื่อแก”
- “เราเสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น”
- “มันไม่ใช่ความผิดของเธอเลย”
- “เราช่วยอะไรได้บ้าง”
- “อยากให้เราช่วยหากลุ่มที่สนับสนุนเธอไหม?”
- “คุยได้นะถ้ามีเรื่องอยากเล่า”
- “ถ้าไม่อยากเล่าก็ไม่เป็นไรนะ เราอยู่ข้างเธอ”
- “เธอไม่ได้อยู่ตามลำพังนะ“
แบบไหนไม่ควรทำ
บางที คนที่มีความหมายต่อผู้ประสบปัญหาก็อาจจะพูดอะไรไม่เข้าท่าออกมา คนเราไม่ค่อยรู้หรอกว่าควรพูดหรือไม่ควรพูดอะไร นี่เป็นคำแนะนำคร่าวๆว่าเราไม่ควรเผลอทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยวิธีการใดบ้าง
- ไม่ควรบังคับหรือกดดันให้ทำอะไรๆ – เพื่อนของคุณเพิ่งจะเจอเรื่องร้ายๆมาและเขาต้องจัดการความรู้สึกมหาศาล การบังคับให้เขาหรือเธอทำอะไรๆต่อเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่า คุณสามารถสนับสนุน ช่วยหาขั้นตอน แนะนำวิธีการ แต่ไม่ควรเพิ่มความสับสนให้กับผู้ประสบปัญหา คุณแนะนำได้ แต่อย่าใช้ความกดดันหรือความรู้สึกผิดมาเป็นแรงขับเคลื่อน
- ไม่ควรตัดปัญหา – ถึงแม้สิ่งที่เพื่อนของคุณเจอจะไม่ใช่เรื่องที่เอาความได้อย่างยิ่งใหญ่ในสายตาคุณ (เช่น ถูกลวนลาม ถูกแอบถ่าย) แต่อย่างน้อยคุณไม่ควรพูดว่า “เอาเรื่องไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้นหรอก”
- ไม่ควรวิจารณ์พฤติกรรมของผู้ถูกกระทำ – การล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกละเมิดไม่ว่าจะกรณีใดๆ คุณไม่ควรวิจารณ์พฤติกรรมของเขา หรือวิจารณ์ว่าพวกเขาไม่ระวังตัวมากพอ
- อย่าถามว่าตอนเกิดเหตุผู้ถูกกระทำแต่งตัวอย่างไรหรือกำลังทำอะไรอยู่ – คุณกำลังโทษว่าพฤติกรรมของเขาเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น
- อย่าตัดสินอย่าเหมารวม – เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคนทุกแบบ แต่ไม่มีใครสมควรเจอเรื่องแบบนี้ และไม่ใช่ความผิดของพวกเขา
- ถ้าเพื่อนของคุณไม่อยากพูด ก็อย่าบังคับ
- หากเพื่อนของคุณเป็นเพศชาย – เชื่อเขา และอย่าทำเหมือนมันเป็นเรื่องเล็กๆ (แมนๆหน่อย, ผู้ชายต้องเข้มแข็ง,ทำไมไม่สู้กลับ) คือผู้ชายก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ ผู้ชายไม่โอเค
- อย่าซ้ำเติม – แม้แต่เล่นมุกตลกเรื่องนี้ก็ไม่ตลก
- อย่าสัมผัสตัวซี้ซั้ว– บางทีการสัมผัสอาจเรียกความทรงจำแย่ๆออกมา ถามเขาก่อนว่าโอเคไหมถ้าคุณจะกอดหรือสัมผัสร่างกายเขา
- อย่าทำให้เขาคิดมากเรื่องคุณคิดอย่างไร – พวกเขาเพิ่งเจอความรู้สึกที่รุนแรงมา มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขาที่ต้องมาคิดเพิ่มว่าคุณมองเขาอย่างไร หรือคุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการข่มขืนของเขา
- อย่าคาดหวังในตัวเองให้มาก – คุณอาจได้ช่วยได้มากหรือน้อย มันแล้วแต่ว่าเพื่อนของคุณต้องการการสนับสนุนแบบไหน
- อย่าพูดแทนเขา – เมื่อเพื่อน ตำรวจ หมอ ถามเพื่อนของคุณ คุณควรปล่อยให้เขาได้เล่าเรื่องของตัวเอง นอกจากเขาจะขอให้คุณช่วยเล่า
คำพูดต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับคนที่ถูกละเมิดทางเพศ :
- “ตอนนั้นเมาไหม”
- “ตอนนั้นแต่งตัวยังไง”
- “ผู้ชายไม่โดนข่มขืนหรอก”
- “จริงๆ แกก็มีส่วนผิดนะ”
- “แกเศร้านานไปแล้ว”
- “แกหมกมุ่นมากไป”
- “อย่าคิดมาก เรื่องมันผ่านไปแล้ว”
- “แมนๆหน่อย”
- “ทำไมไม่ขัดขืน”
- “นั่นไม่เรียกว่าละเมิดหรอกนะ”
- “แกทำให้เขามีอารมณ์ก่อน”
- “อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่เลย คนเสียหายคือตัวเธอเอง”
- “เวอร์ไปนะ”
- “เรื่องจริงๆมันเล็กนิดเดียว”
- “ความสบายใจเริ่มที่ตัวเรา ให้อภัยแล้วเธอจะดีขึ้น”
- “มันเป็นกรรม เป็นความซวย ควบคุมไม่ได้”
- “คนคนนั้นเขากำลังจะมีอนาคตที่ดี อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่เลยนะ”
- “ทำไมไม่….”
- “เธอน่าจะระวังมากกว่านี้”
- “แจ้งความไปก็เท่านั้นแหละ”
- “แม่ผิดหวังในตัวลูก ลูกของแม่จะไม่ทำตัวแบบนี้”
หากคุณเป็นสถาบันการศึกษา
หรือที่ทำงานที่ผู้กระทำผิดอยู่ในความรับผิดชอบของคุณ
- เมื่อผู้เสียหายร้องเรียนกับคุณ “ถามความต้องการของเขา สถาบันของคุณจะช่วยอะไรได้บ้าง”
- เมื่อผู้เสียหายร้องเรียนกับคุณ “อย่าทำให้เขารู้สึกว่าเรื่องของเขาไม่สำคัญ”
- เมื่อผู้เสียหายร้องเรียนกับคุณ “อย่าปัดความรับผิดชอบ”
- เมื่อผู้เสียหายร้องเรียนกับคุณ “ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น”
ติดต่อขอความช่วยเหลือ : ขอความช่วยเหลือ
ข้อมูลจาก
http://www.bandbacktogether.com/How-To-Help-Someone-Heal-From-Sexual-Assault/
Read more information about rape/sexual assault.
Read more information about intimate partner sexual assault.
Read more about male sexual assault.
Translated by – nanaaa