ทำไมมุกตลกข่มขืนถึงไม่ตลก

มีเรื่องง่ายๆ ที่อยากให้เข้าใจ เรื่องแรกคน คนที่ข่มขืนคนอื่นมักไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือการข่มขืน !

1) ผู้กระทำผิดคิดอะไรอยู่

การละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากคนแปลกหน้าที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา แต่เกิดจากคนรู้จัก/ใกล้ชิด และพวกเขามักตัดสินใจละเมิดอย่างมีเหตุผลเข้าข้างตัวเองมารองรับเช่น

  • มองว่าอีกฝ่ายไม่ได้ปกป้องตัวเองมากพอจึงเป็นสาเหตุ (ละเมิดคนเมา/ละเมิดคนนุ่งสั้น/ละเมิดคนที่เดินในซอยเปลี่ยว)
  • มองว่าอีกฝ่ายจะต้องชอบตัวเองในท้ายที่สุด (ในคนที่กำลังจีบกัน/ในคนที่มั่นใจในสถานะของตัวเองมากๆ เช่น มีฐานะ มีอิทธิพล หรือมีหน้าตาที่ดี)
  • มองว่าอีกฝ่ายเป็นสาเหตุของการตัดสินใจ (ต้องการแก้แค้น/มองว่าอีกฝ่ายยั่วก่อน/มองว่าอีกฝ่าย)
  • มองว่าสถานการณ์บังคับให้ตนต้องตัดสินใจเช่นนั้น (ตัวเองไม่มีสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้)
  • ใช้โครงสร้างทางอำนาจหรือความสัมพันธ์ ขู่ให้กลัวว่าถ้ามีปัญหากัน เรื่องอื่นๆของเหยื่อจะพังทลาย (ครูลวนลามนักเรียน/สามีฝืนใจภรรยา/เจ้านายกับลูกน้อง/รุ่นพี่รุ่นน้อง/เพื่อนกับเพื่อน/ญาติ/โค้ชกับนักกีฬา/ฯลฯ)

มีน้อยเหลือเกินที่จะเป็นคนแปลกหน้าโรคจิต คนละเมิดส่วนมากเชื่อว่าตนเองทำสิ่งนี้ได้ เพราะอีกฝ่ายเป็นสาเหตุในการตัดสินใจให้ตนทำแบบนี้

 

2) เมื่อถูกละเมิดแล้วมีอุปสรรคอะไร

กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบากในตัวเองขนาดนั้น และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร คนที่ตัดสินใจเข้าแจ้งความหรือต่อสู้จำนวนมากได้เปลี่ยนทัศนคติจากผู้ถูกกดขี่เป็นผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง สิ่งนี้เป็นหัวใจของการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ขัดขวางการก้าวข้ามกลับเป็นความกังวลของคนรอบข้างที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

จะยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนที่ถูกละเมิดมักเลือกปรึกษาเพื่อนหรือคนรู้จักก่อนเป็นอันดับแรก โดยปกติแล้วเพื่อนหรือคนรู้จักย่อมไม่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและใช้ common sense ในการแนะนำ ทั้งนี้ common sense ของคน มาจากสื่อที่เสพ มาจากสิ่งที่สังคมเชื่อ และมาจากผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นสิ่งที่คนทั่วไปจะพูดกับคนที่มาขอช่วยเหลือมักเป็นคำพูดเหล่านี้ :

  • พูดยากมันไม่มีหลักฐาน
  • พูดยาก ดันไปอยู่ในห้องเดียวกับเขาแต่แรก
  • พูดยาก เพราะถ้าจะเล่นกับคนนี้ คนอื่นก็คงรู้กันหมดแล้วจะเสียหายกันไปใหญ่
  • พูดยาก เพราะตอนนั้นก็เมาๆกันทั้งคู่
  • พูดยาก เพราะก็เป็นแฟนกันอยู่แล้ว ตำรวจคงไม่สนใจหรอก
  • พูดยาก เพราะมันต้องฟังความจากทั้งสองฝ่ายก่อน
  • พูดยาก ตำรวจไทยน่ะนะ
  • ทำไปจะได้อะไรขึ้นมา

ความยากในมโนทัศน์ของผู้ให้คำปรึกษาเกิดมาจากความคิดที่มุ่งผลลัพธ์ในการต่อสู้ เช่น คาดหวังว่าต้องชนะคดี ข่มขืนต้องประหาร ถ้ามูลฐานไม่พอที่จะชนะก็ดูไม่คุ้มที่จะให้ความช่วยเหลือหรือทดลองทำอะไรๆแต่ในสายตาผู้ถูกกระทำนั้น ก้าวแรกที่เราต้องการคือการเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกดขี่คนที่ปกป้องตัวเองไม่ได้เป็นคนที่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองซึ่งเป็นก้าวแรกที่ต้องมีให้ได้ก่อน เราจึงจะเห็นก้าวสุดท้ายของชัยชนะ

ดังนั้นแล้ว

ทัศนคติต่อการละเมิดทางเพศที่เราสื่อสารออกไปในสังคม มีผลกับการตัดสินใจของผู้ที่มีโอกาสทำผิดในอนาคต และมีผลกับการตัดสินใจของคนที่อยากสู้เพื่อตัวเอง

ขออ้างอิงข้อความจากอาจารย์อัน  Anticha Sangchai ที่กล่าวว่า ผู้หญิง1ในสี่คนในอเมริกามีประสบการณ์ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ นั่นคือประเทศที่ระบบยุติธรรมค่อนข้างเข้มแข็ง ในประเทศไทยที่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวถูกซ่อนใต้พรม ระบบยุติธรรมอ่อนแอ อยู่บนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแถมเป็นวัฒนธรรมของการข่มขืนตั้งแต่เรื่องเพศยันการเมือง โดยส่วนตัวเราจึงเชื่อว่าผู้หญิงที่นี่ผ่านประสบการณ์นี้สูงกว่า 1 ใน 4 อยู่ที่พวกเธอจะพูดหรือไม่ ?

มาทบทวนกันเถอะค่ะ ว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรา การคุยเล่นของเรา มุกตลกของเรา ได้สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่คนเรารพกันมากขึ้นมั้ย สร้างสังคมให้ปลอดภัยขึ้นมั้ย อำนวยความสะดวกให้ความยุติธรรมเข้าถึงได้ง่ายขึ้นรึเปล่า ^^”