สงสัยไหมว่า
- ทำไมคนถึงข่มขืน
- ทำไมการโทษเหยื่อถึงไม่ดี
- รากฐานของความรุนแรงทางเพศ คืออะไร?
เราเลยแปลชาร์ตมาจากองค์กร 11thPrincipleConsent และเขียนให้เข้าใจง่ายกับบริบทของบ้านเราอีกที
รากฐานของการข่มขืน หมายถึง
ชุดความคิดที่ทำให้เราเข้าใจว่าเวลาคนคนนึงตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับคนอีกคน ความคิดของเค้าก่อรูปมาจากอะไร เพราะหลายครั้งคนที่ข่มขืนไม่รู้ตัวว่าตัวเองทำเรื่องเลวร้าย เค้าอาจคิดจริงๆ ว่าสิ่งที่เค้าทำมันปกติเพราะ “ใครๆ ก็ทำกัน”
? ซ้ำร้ายคือ ในคนที่ลงมือข่มขืน มักไม่คิดว่าตัวเองกำลังข่มขืนอีกฝ่ายถ้าตัวเองไม่เห็นสัญญาณต่อสู้หรือไม่เห็นการปฏิเสธอย่างรุนแรง (ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายไม่มีสติ เอาแค่ยืนเองยังยืนไม่ได้ก็ตาม)
? รู้มั้ยว่านักข่มขืนหลายคนไม่รู้สึกว่าได้ทำผิดต่อเหยื่อ แต่คิดว่าตัวเองโชคไม่ดีที่โดนจับได้หรือเหยื่อไม่ยอมเงียบแบบที่เหยื่อคนอื่นมักจะทำกัน
? นักข่มขืนอาจรู้สึกผิดต่อพ่อแม่ ต่อองค์กร เพราะการโดนจับได้และถูกประนามเป็นการทำร้ายอนาคตตัวเองหรือทำให้เสียชื่อเสียงโดยตรง แต่ย้ำอีกครั้ง “ไม่รู้สึกผิดต่อเหยื่อ” เพราะคิดว่าใครๆ ก็ทำกัน แต่ตัวเองซวยที่โดนจับได้แค่นั้นเอง
อะไรทำให้คนคนนึงถึงคิดว่าตัวเองข่มขืนคนอื่นได้ ?????
?ในปิรามิดความรุนแรงนี้อธิบายว่า ความรุนแรงมีหลายระดับ ระดับบนสุดคือความรุนแรงที่มองเห็นได้ง่าย เพราะเกิดความเสียหายแก่ร่างกายหรือชีวิตของเหยื่อ ส่วนปิรามิดลำดับล่างๆ ลงมา เป็นความรุนแรงที่ไม่ได้เห็นด้วยตา แต่สร้างความเสียหายแก่ “อำนาจในตัวเอง” “คุณค่าในตัวเอง” และลำดับล่างสุดคือสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนเรียนรู้ว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ” จนกล้าที่จะตัดสินใจกระทำการในขั้นบนๆ ได้ในที่สุด
? แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่เล่นมุกตลกข่มขืนจะเป็นคนที่ข่มขืนคนอื่นเสมอไป หลายคนอยู่ที่ระดับสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยกันพูดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่าคำพูดของเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากคิดว่า “เรื่องปกติ = ทำได้” เพราะพวกเค้าเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมมาอีกที ลองจินตนาการถึงพัฒนาการทางความคิดต่อไปนี้ดู…
พัฒนาการของการใช้ความรุนแรงทางเพศ
? ยอมรับว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ : หมายถึงการคิดว่ามนุษย์เห็นแก่ตัวโดยสันดานโดยที่สังคมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ เราจึงปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นกับคนอื่น ขอแค่มันไม่เกิดกับตัวเองและคนที่เรารักก็พอ ซึ่งมันก็ไม่ผิดหรอกที่จะป้องกันตัวเองและไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น
แต่ ! ความหลอนจะเกิดขึ้นเมื่อคนจำนวนนึงเรียนรู้จากสังคมว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นฉันสามารถทำกับคนอื่นได้หนิ โดยเฉพาะคนที่ปกป้องตัวเองได้ไม่ดีพอ” คนเหล่านี้จะพัฒนา ไปสู่ผู้ใช้ความรุนแรงเลเวลถัดไป
? เริ่มลดคุณค่าของอีกฝ่าย : เมื่อคนกลุ่มดังกล่าวเริ่มคิดว่า “งั้นเราก็แสดงอำนาจเหนือคนอื่นได้สิถ้าอีกฝ่ายเอาคืนเราไม่ได้” เขาก็จะสามารถปล่อยคลิปแก้แค้น แอบถ่ายรูป ส่งรูปโป๊ให้โดยไม่ได้ขอ ตามตื๊อ การสตอล์ค ทำตัวสนิทสนมเกินเลยจนอีกฝ่ายลำบากใจ หรือใช้วาจาคุกคาม แซวแบบน่ากลัว เพราะต่อให้อีกฝ่ายไม่พอใจ ผู้คุกคามก็สามารถพูดได้ว่า “มันยังไม่ได้รุนแรงขนาดนั้นหนิ” “เธอแหละคิดมากไป” “ใครๆ ก็ทำกัน”
จะเห็นได้ว่าผู้กระทำเริ่ม “ละเมิดพื้นที่ของอีกคน” โดยเฉพาะ “คนที่ป้องกันตัวเองไม่ได้และไม่มีปัญญาเอาคืนแน่ๆ” เพื่อตอบสนองความรู้สึก “เหนือกว่า” ของผู้กระทำ และลดคุณค่าของอีกฝ่ายจากคนที่มีความรู้สึกไปสู่คนที่ “ฉันไม่จำเป็นต้องสนใจว่าเธอจะรู้สึกยังไง เพราะยังไงคนอื่นก็ไม่เข้าข้างเธอหรอกนะ”
และเมื่อไม่มีใครห้าม หรือเรียนรู้ว่าไม่มีใครทำอะไรพวกเขาได้ พวกเขาก็จะเริ่มอีโวไปสู่ขั้นถัดไป
? เริ่มลดอำนาจของอีกฝ่าย : ความเหิมเกริมในข้อนี้เกิดจากความชินชาในข้อหนึ่งและข้อสอง จนทำให้คิดว่า “ต่อให้เธอไม่โอเค ฉันก็จะทำให้เธอโอเคให้ได้” “เธอน่าจะชอบ” “เธอน่าจะโอเค” การคิดแทนเหล่านี้แสดงออกผ่านการการบังคับทางเพศด้วยเทคนิคต่างๆ มอมเหล้ามอมยา ข่มขู่ สัมผัสโดยอีกฝ่ายไม่ยอม หรือต่อให้อีกฝ่ายแสดงสัญญาณปฏิเสธก็ยืนยันที่จะทำต่อไปเพราะมั่นใจมากๆ ว่าอีกฝ่ายไม่มีทางสู้ตัวเองได้ หรือไม่ก็มั่นใจมากๆ ว่าเดี๋ยวเธอก็จะชอบ เธอต้องชอบแน่ๆ คือโคตรมั่นใจในตัวเองแบบสุดๆ
ความมั่นใจในตัวเองเบอร์นี้ทำให้คนพวกนี้คิดว่า “ถ้าอีกฝ่ายไม่ด่าไม่โวยวาย แปลว่าเธออาจจะชอบ” หรืออาจเริ่มคิดแทนไปแล้วว่า การนิ่ง คือการยินยอม
จากเดิมที่ “ขอแค่ไม่ถูกจับได้” ความคิดคนเหล่านี้อาจจะอีโวไปถึงจุดที่คิดว่า “ต่อให้ถูกจับได้ยังไงเราก็มีทางรอด” เช่น ยังไงเหยื่อก็มีส่วนผิดด้วย ยังไงก็จะมีคนเข้าข้างเรา ฉันมีเพื่อนเยอะ ฉันรู้จักตำรวจ เรื่องนี้ใช้เงินปิดปากได้ ฯลฯ
? ใช้ความรุนแรงที่เห็นได้ด้วยตา : ข่มขืน รุมโทรม ลวนลาม รุนแรง ฆ่า เหล่านี้เราคงไม่ต้องอธิบายว่ามันเลวร้าย เพราะใครๆ ก็เข้าใจว่าทำแล้วเกิดความเสียหายแก่อีกฝ่ายยังไง
แต่ที่อยากย้ำคือ คนที่ทำข้อนี้ ขณะทำก็ยังเข้าใจว่าตัวเองทำเรื่องปกติ หรืิอคิดว่า “ไม่ได้ข่มขืนซักหน่อยเธอไม่ปฏิเสธชัดๆ เองนี่” เพราะตลอดการเดินทางที่ผ่านมา ไม่มีใครห้าม ไม่มีใครเตือน ไม่มีใครบอกว่าอย่าทำ อย่างเดียวที่พวกเขาเรียนรู้คือ “ทำได้แต่อย่าโดนจับได้” “โดนจับได้แล้วยังไงก็รอด” “เดี๋ยวคนก็ลืม” “เดี๋ยวก็มีคนเข้าข้าง” ไปจนถึง “ยังไงเราก็ได้ผิดขนาดนั้น สังคมต่างหากที่เวอร์เกินควร”
? ข่าวเศร้าจึงเกิดขึ้นรายวัน เพราะสำนึกที่สร้างอาชญากรมีเท่าเดิม!
⭐️ แล้วเราจะทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร ?????
⭐️ จริงๆ แค่เข้าใจภาพนี้ก็ช่วยได้มากแล้ว ถ้าเรารู้ตัวว่า “คนเรียนรู้เรื่องเพศจากสังคมและเพื่อนมากกว่าโรงเรียน ตำรวจ และพ่อแม่” เราก็จะตระหนักถึงบทบาทของตัวเองในการสร้างบทสนทนาในสังคม
⭐️ แค่เข้าใจว่า “ลดเหยื่อไม่เท่ากับลดอาชญากร แต่ลดว่าที่อาชญากรเท่ากับลดเหยื่อ” วิธีการที่เราพูดกับคนอื่นๆ หรือการสร้างค่านิยมสาธารณะก็จะเปลี่ยนไป
⭐️ แค่ไม่ยอมรับว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ก็ช่วยได้มาก อย่างน้อยที่สุดคุณก็ไม่ได้ซ้ำเติมให้เหยื่อคนไหนเจ็บช้ำน้ำใจจนเก็บเงียบ และไม่ได้ทำให้คนใช้ความรุนแรงได้ใจ
⭐️ แค่ตระหนักว่าสังคมเป็นครูของคน การสอนให้ระวังตัว พ่อแม่ของทุกคนย่อมสอนลูกหลานอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่จะสอนลูกหลานไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับคนอื่น … เรื่องนี้สังคมและสื่อช่วยได้ เหมือนที่เราสร้างค่านิยมอื่นๆ ในสังคมอย่างการไม่คดโกง ไม่ลักขโมย ไม่เอาเปรียบไม่ฉวยโอกาสนั่นเอง
⭐️ เงียบอาจแปลว่ากลัว นิ่งอาจแปลว่าไม่ชอบแต่ไม่กล้าโวยวาย หลับ ลุกยืนไม่ได้ ไม่ใช่คำเชิญให้ทำ
⭐️ ชวนกันลดละเลิกการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนใช้ความรุนแรงกับคนอื่น เราป้องกันตัวเองป้องกันคนที่เรารักเนี่ยดีแล้ว แต่เรื่องไม่ไปทำคนอื่นก็ต้องช่วยกันพูดด้วย ก็อยากให้ตระหนักว่าสังคมเป็นครูของคนจริงๆ เพราะการห้ามคนไม่ให้ทำเรื่องแย่ๆ บางทีพ่อแม่ โรงเรียน ไม่ได้สอน แต่สังคมสอนได้
#ลดเหยื่อไม่เท่ากับลดอาชญากร #ลดว่าที่อาชญากรเท่ากับลดเหยื่อ #สังคมเป็นครูของคน #ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ