
ประวัติศาสตร์ 4,000 ปีของการซ้ำเติม
การโทษเหยื่อ (Victim Blaming) เป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยในกรณีความรุนแรงทางเพศ
สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการข่มขืน (Rape Culture) ที่สามารถพบเจอได้ทั่วทุกมุมโลก เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาโดยฉับพลันทันใดแต่มีลักษณะที่เป็นพลวัตขยับไปมาตามช่วงเวลาที่เปลี่ยน ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ที่ส่งผ่านกันมาเรื่อยๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ลูกได้รับจากพ่อ-แม่ ในขณะเดียวกัน พ่อและแม่ก็ได้รับจากปู่-ย่า-ตา-ยาย ดังนั้นเมื่อวัฒนธรรมเป็นผลพวงของการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นแล้วการโทษเหยื่อในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมก็เช่นกัน มันมีที่มาที่ไป…
ย้อนกลับไปเมื่อ 4000 ปีที่แล้ว สมัยบาบิโลนโบราณ (The ancient Babylon) มีการใช้ชุดกฎหมายกว่า 3000 ข้อ ปกครองดินแดนเมโสโปเตเมีย กฎหมายชุดนี้มีชื่อว่า ‘ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The Code of Hammurabi)’ หากยังนึกไม่ออกให้ลองนึกถึงประโยค ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ซึ่งเป็นกฎข้อหนึ่งในชุดกฎหมายดังกล่าว กฎหมายชุดนี้ได้กำหนดกฎระเบียบต่างๆในสังคม ไล่ตั้งแต่ระดับการลงโทษของคนแต่ละชนชั้นไปจนถึงข้อกำหนดที่ว่า เราควรจ่ายเงินให้คนขับวัวเท่าไหร่ดี นอกจากนี้กฎหมายชุดนี้ยังพูดถึงผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไว้ด้วยเช่นกัน
ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีระบุไว้ว่า ผู้หญิงพรหมจรรย์เป็นทรัพย์สมบัติของบิดา หากเธอโดนข่มขืนให้ประหารคนข่มขืน (the rapist) เธอเสีย ข้อกำหนดดังกล่าวดูเหมือนจะก้าวหน้าและมีบทลงโทษรุนแรงแต่อย่าลืมไปเสียว่าผู้หญิงถูกปฏิบัติในฐานะที่เป็นทรัพย์สมบัติของผู้ชาย นอกจากนี้หากเธอโดนล่วงละเมิดทางเพศในขณะที่แต่งงานแล้ว กฎหมายดังกล่าวระบุว่าเธอจะต้องถูกประหารชีวิตพร้อมกับคนที่ข่มขืนเธอ ด้วยการมัดแล้วจับถ่วงน้ำโดยมิจำเป็นต้องพิจารณาถึงความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของเธอเลย
มาดูสมัยใหม่ขึ้นมาอีกหน่อย… เมื่อ 3500 ปีที่แล้ว สมัยฮีบรูโบราณ (The ancient Hebrews) สิ่งที่ใช้ในการกำหนดกฎเกณฑ์ของสมัยนั้นคือ เฉลยธรรมบัญญัติ (Deuteronomy) หรือคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม สิ่งนี้กล่าวถึงกฎเกณฑ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงไว้ว่าหญิงที่แต่งงานแล้วและโดนข่มขืน โทษของเธอคือถูกจับประหารชีวิต แต่หากเธอเป็นสาวพรหมจรรย์ต้องมาดูกันต่อว่าเธอโดนข่มขืนภายนอกกำแพงเมืองหรือไม่ ถ้าใช่เธออาจพ้นผิด เนื่องจากภายนอกกำแพงเมืองอาจไม่มีคนได้ยินคำร้องขอความช่วยเหลือของเธอ ในขณะที่หากการข่มขืนนั้นเกิดภายในเมืองเธอจะถูกลงโทษด้วยการปาหินจนถึงแก่ชีวิต กฎข้อดังกล่าวถูกให้เหตุผลว่า หากเธอไม่ยอมเธอคงตะโกนขอความช่วยเหลือออกมา แล้วคนในเมืองคงปรี่เข้าไปช่วยเหลือเธอแล้ว ดังนั้นการที่เธอถูกข่มขืนภายในเมือง แสดงว่าเธอไม่ยอมตะโกนขอความช่วยเหลือและนั่นหมายถึงเธอสมยอมนั่นเอง
เขยิบเข้าใกล้ปัจจุบันขึ้นมาอีกหน่อย… เมื่อราว 800 กว่าปีที่แล้ว กษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษทรงเขียนข้อบ่งชี้ต่อศาล ว่าด้วยวิธีการรับมือกับความรุนแรงต่อสาวพรหมจรรย์ โดยมีรายละเอียดคือให้พาเธอผู้นั้น (เหยื่อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ) ไปโชว์ตัวให้คนทั่วเมืองได้รับทราบโชว์ร่องรอยของบาดแผลจากการถูกทำร้าย รอยเลือด เศษเสื้อผ้าที่ฉีกขาด แก่พวกคนดีที่เป็นผู้ชาย (men of good repute)
นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ข้างต้นแล้ว ยังมีตำนานนิทานพื้นบ้านที่พูดถึงผู้หญิงที่ใช้การถูกข่มขืนเป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้ชาย เช่น เรื่องราวของภรรยาของโปทิฟา (Potiphar’s wife) จากคัมภีร์ไบเบิล – เธอกล่าวหาชายคนใช้ว่าข่มขืนเธอเพียงเพราะเขาไม่ยอมหลับนอนกับเธอ โดยเรื่องราวประเภทนี้ยังพบได้ในคัมภีร์อัลกุรอาน (the Koran) ตำนานเซลติก (Celtic myths) กระทั่งนิทานอียิปต์ (Egyptian folklore) ก็เช่นกันซึ่งมันได้เป็นรากฐานของการเหมารวมผู้หญิงที่เป็นเหยื่อในปัจจุบันว่าพวกเธอปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาเพราะอยากทำร้ายอีกฝ่าย แต่จากสถิติอาชญากรรมที่ FBI รวบรวมไว้ไม่เป็นเช่นนั้นเลย โดยสถิติพบว่าการแจ้งความเท็จในกรณีข่มขืนเกิดขึ้นเพียง 2% – 8% เท่านั้นน้อยกว่าการแจ้งความเท็จกรณีโจรกรรมที่สถิติระบุว่า 10% เสียด้วยซ้ำ แต่น่าแปลกใจที่แทบไม่มีใครเหมารวมเหยื่อจากการโจรกรรมว่าเป็นพวกโกหกแจ้งความเท็จเลยในขณะที่เหยื่อจากการโดนข่มขืนถูกกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จเสมอมา
จากตัวอย่างมากมายข้างต้นแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมการกดเหยียดผู้หญิงและการโทษเหยื่อเหล่านี้มีมาตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะ ณ สมัยนั้นผู้หญิงมิได้ถูกนับรวมในฐานะประชากรของรัฐหรือปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับว่าเธอไม่ใช่คน(ในฐานะที่เท่าเทียมกับผู้ชาย) แต่ปัจจุบันนี้ที่ทุกคนคือคนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเพศไหนๆ แต่ผู้หญิงกลับถูกปฏิบัติไม่ต่างไปจากเมื่อ 4000 ปีที่แล้วเลย อาจไม่มีการจับมัดถ่วงน้ำอย่างเมโสโปเตเมียแล้ว แต่ยังมีผู้หญิงที่ต้องถึงแก่ชีวิตเพียงเพราะเธอมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน, อาจไม่มีการประหารชีวิตผู้หญิงเพราะโดนข่มขืนแล้วไม่ร้องขอความช่วยเหลือเหมือนฮีบรูโบราณแล้ว แต่เธอยังคงถูกตั้งคำถามซ้ำๆว่า ‘ถ้าไม่ยอมทำไมไม่ขัดขืน’ ‘ถ้าไม่ยอมแล้วไปหาเขาทำไม’, หรือปัจจุบันเหยื่อจากการถูกข่มขืนอาจไม่โดนลากไปประจานกลางเมืองและต้องเปิดเผยร่างกายให้ผู้ชายคนดีเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 แล้ว แต่เหยื่อเหล่านี้ยังคงถูกกระบวนการยุติธรรมทำร้ายโดยการที่เธอต้องเปิดเผยร่องรอยบาดแผลจากความรุนแรงแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ (ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วยังคงมีแต่ผู้ชาย) หรือต้องเล่าเรื่องที่ตนถูกกระทำข่มเหงซ้ำไปซ้ำมา หากต้องการเอาผิดคนที่ทำร้ายเธอโดยไม่สนความบอบช้ำต่อจิตใจเธอเลย
ช่างน่าเศร้าที่ 4000 ปีผ่านไปแล้ว แต่ความอยุติธรรมที่พวกเธอได้รับกลับเลวร้ายไม่ต่างกันเลย
#ThaiconsentIntern