บันทึกโดย ภัทรนันท์ เตชะเสน
เมื่อวันที่ 17 เราได้ไปเข้าร่วม discussion และ working lunch ที่บ้านเอกอักคราชฑูตแคนาดาในหัวข้อ digital threats and online safety ประเด็นสำคัญที่เราได้รับรู้ในงานคือการคุกคามนักกิจกรรมหญิงภายใต้บริบทของแพลต์ฟอร์มออนไลน์ เราที่มองว่าการขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบัน การใช้สื่อออนไลน์เพื่อ connect และ educate เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะสื่อออนไลน์อยู่ในมือทุกคน และทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนได้เช่นเดียวกัน แต่ความน่ากลัวของสื่อออนไลน์ที่เรามองว่าเป็นช่องทางที่แพร่กระจายสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ กลับเป็นดาบที่มาแทงตัวเองและนักกิจกรรมหลายๆ คน มีตั้งแต่การถูกคุกคามจนไปถึงถูกขู่คร่าเอาชีวิต
นอกจากการถูกคุกคามแล้ว กระบวนการทางกฎหมายก็ไม่สนใจนักกิจกรรมหญิงแม้แต่น้อย ถูกมองว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอบ้าง คนที่คุกคามอยู่ต่างประเทศ เราช่วยคุณไม่ได้หรอกนะ อย่างมากที่สุดก็ได้แค่ส่งเรื่องไป แล้วรอคำตอบที่เรารู้ว่าไม่มีวันจะได้กลับมา ไม่เพียงแต่นักกิจกรรมหญิง แต่คนทั่วๆ ไปก็ถูกคุกคามได้เช่นเดียวกัน และกระบวนการทางกฎหมายก็ซ้ำเติมเราทุกคนไม่ต่างกัน
ในงานก็จะมีการพูดคุยจากคนที่ทำงานใน facebook และ what’s app เรื่อง safety policy ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้มีเพื่อที่จะช่วยกลุ่มนักกิจกรรมและคนที่ถูกคุกคามคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องสิทธิเด็ก การบล็อคคำที่เข่าข่ายการคุกคาม เป็นต้น โดยรวมแล้วเราเห็นปัจจัยที่สำคัญมากที่เราเสนอให้ facebook จัดการ คือปัญหาการดิ้นได้ของภาษา ในกรณีการคุกคามที่ผ่านมา นักกิจกรรมหญิงหลายๆ ท่าน โดนคุกคามแต่แอคที่คุกคามนั้นก็ยังไม่ถูกบล็อค และเวิร์ดดิ้งตรงนั้นก็ยังถูกพูดต่อๆ ไป เช่น หอม ราคาเท่าไหร่ น่า…จัง แต่ทาง facebook ก็มีมาตรการที่จะบล็อคพวกเวิร์ดดิ้งที่เกี่ยวกับ female genitalia (อวัยวะเพศหญิง) ที่นำมาเป็นคำด่า ไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ แต่เราก็มองว่าด้วยความดิ้นได้ของภาษาและเทรนด์ที่มันเปลี่ยนไป ai ของ facebook จึงไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างครบถ้วน
คนที่โดนคุกคามก็ยังเห็นคำเหล่านี้ที่ด่าทอและคุกคามทางเพศอยู่ เราจึงเสนอไปว่าแค่ ai ยังไม่เพียงพอ การที่ facebook จับมือกับ NGO และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านภาษา ด้านเทรนด์ต่างๆ จะทำให้สิ่งนี้เร็วขึ้นและแม่นยำมากขึ้น เพื่อที่จะลดทอนความเสี่ยงของนักกิจกรรมหญิงที่จะถูกคุกคาม และเรื่องตลกร้ายของ ai ตัวนี้ก็คือ แทนที่ ai จะไปลบโพสต์ของคนที่คุกคามทางเพศ แต่ดันมาลบโพสต์ของทางเราและนักกิจกรรมหญิงท่านอื่นๆ ที่ได้ลงคอนเทนต์ หรือให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา และการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กแทน
นอกจากในเรื่อง privacy และ security ของนักกิจกรรมหญิง ยังมีเรื่องผลกระทบทางจิตใจหลังจากถูกคุกคาม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่สามารถฮีลตัวเองได้ 100% เป็นแน่แท้ และถ้าเราถูกคุกคามบ่อยๆ ในทุกๆ ครั้งที่เคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง การพบหาจิตแพทย์ก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ทว่า จิตแพทย์ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีสายเฉพาะสำหรับเหยื่อที่โดนคุกคามทางเพศ อีกทั้งในออนไลน์ เพราะทางสาธารณสุขไม่อนุมัติ ถ้าหากหาในประเทศไทยไม่ได้ ก็ต้องหาของต่างประเทศ ซึ่งค่ารักษา ค่ายานั้นเป็นจำนวนมากจนเกินมือ เราเห็นปัญหารอบด้านเมื่อพูดถึงการรักษาทางจิตเวชของประเทศไทย ทำไมถึงไม่อนุมัติจิตแพทย์อีกหลายสาขา แล้วคนที่ต้องการความช่วยเหลือ จะได้รับการรักษาอย่างตรงจุดหรือไม่ในที่สุด สิ่งที่เราเสนอได้เพื่อช่วยนักกิจกรรมหญิงเหล่านี้คือการขอทุนจากสถานฑูต หรือขอผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดูแลคนเหล่านี้ได้
ประเด็นต่อมาคือ what’s app ต่อให้หลายๆ คนจะไม่ค่อยใช้สิ่งนี้ แต่เราคิดว่าประเด็นเรื่อง end-to-end encryption เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวคือเรื่องอันดับ 1 ที่ what’s app ต้องการ การส่งข้อความแบบ end-to-end encryption จะเหมือนเป็นการที่เราล็อคกล่องสิ่งที่เราจะส่งเอาไว้ เมื่อผ่าน server คนที่ดูแลก็จะไม่เห็นแม้ว่าเราจะส่งอะไรไป ต่อให้เป็นเจ้าของ what’s app ก็ไม่รู้ว่าเราส่งอะไรไปอีกเหมือนกัน ซึ่งมันถือเป็นความส่วนตัวของผู้ใช้ facebook messenger เอง ก็ใช้ end-to-end encryption
เช่นเดียวกัน ในเรื่องนี้มันตรงกับประเด็นที่เราเสนอ ก็คือ การคุกคามและการขาดความปลอดภัยของเยาวชนในโลกออนไลน์ เราเห็นกรณีโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ที่เป็นที่พูดถึงในทวิตเตอร์ มีกลุ่มนักเรียนชายสร้างแชทในเฟซบุ๊คและแอบถ่ายใต้กระโปรงเด็กผู้หญิงและแอบถ่ายในห้องน้ำชาย นอกจากนี้อาจารย์ในโรงเรียนไม่กระทำการลงโทษใดต่อเพราะเห็นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร มีอีกตัวอย่างที่อาจารย์เองก็ยังอยู่ในกรุ๊ปแชท line กรุ๊ปที่ส่งภาพอนาจารของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มันช่างเป็นเรื่องน่ากลัวที่คนที่เป็นครูยังเสพรูปภาพเหล่านี้ในขณะที่สอนนักเรียนที่มีอายุพอๆกับคนในรูป
อีกตัวอย่างที่น่าสลด ยิ่งมองขึ้นไปที่ผู้บริหารระดับสูงของประเทศ มีเหตุการณ์ในสภาที่มีสมาชิกสภา ร่วมกรุ๊ปแชทที่รวบรวมภาพอนาจารของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเปิดดูขณะประชุมในสภา โดยชวนหลีกภัย ประธานรัฐสภามองว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ทำให้เห็นว่าสังคมไทยตอนนี้มองเรื่องการทำอนาจารผู้เยาว์เป็นเรื่องปกติ และไม่ออกมาช่วยเหลือรวมถึงปกป้องสิทธิ์ของผู้เยาว์นั้นๆ
สิ่งที่เรากังวลก็คือ เมื่อภาพของเยาวชนเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไป ความยากคือการที่เราจะลบข้อมูล (data footprint) ตรงนั้นออกไปได้หมด และการใช้ end-to-end encryption ที่ผู้ดูแล server เองก็ยังไม่สามารถจัดการหรือลบรูปภาพในแชทที่ถูกส่งๆ ต่อกันได้ เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนเหล่านี้ได้รับความปลอดภัยและไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เพราะสิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างแน่นอน
ท้ายที่สุดนี้เราเชื่อว่าทุกคนในสังคมออนไลน์สามารถอยู่ร่วมกันได้และมันจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลหากใช้มันอย่างถูกวิธี หากความคิดไม่ตรงกัน เราสามารถพูดคุยกันดีๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องคุกคามหรือถึงขั้นขู่เอาชีวิตใคร และนอกจากนี้ เรายังอยากให้การกระทำที่ล่วงละเมิดผู้เยาว์นั้นหายไปซะ กรอบความคิดโบราณๆ ว่าเด็กเขาแค่แหย่เล่นกันมันก็ไม่ใช่เรื่อง มันคือการคุกคามทั้งนั้น เรากำลังอยู่ในสังคมที่ปิดหูปิดตาและมองว่าการคุกคามคือสิ่งที่พึงกระทำ
ไม่สมควรที่จะมีคนถูกคุกคาม ไม่แม้แต่คนเดียว…
บันทึกโดย ปัทมาลักษณ์ ทองสี
เมื่อวานเราไปพูดคุยที่บ้านของเอกอัครราชทูตแคนาดาในนามของ Thaiconsent ประเด็นที่พูดคุยกันมีเรื่องของความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, WhatsApp และ Instagram แพลตฟอร์มแรกคือ Facebook สิ่งที่น่ากลัวและน่าตกใจคือบนแพลตฟอร์มนี้มี
- Fake account 1.3B
- Child nudity sexual exploitation 5.4M
- Hate speech 26.9M
- Terrorist propaganda 5.9M
- Bullying and Harassment 6.3M (ตรงนี้สามารถส่งผลกระทบถึงเยาวชนได้ด้วย)
- Adult nudity sexual activity 27.7M
- Violent graphic 22.5M
ทาง Facebook และ IG เนี่ยเค้าเคลมไว้ว่าการจะรีพอร์ตอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแอคเคาท์ รูป ข้อความ ไลฟ์ ฯลฯ กดรีพอร์ตครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงการกดรีพอร์ตอะไรสักอย่างบนสองแพลตฟอร์มนี้มันไม่ได้หายไปในทันทีทันใดเลย และบางคนก็กดรีพอร์ตคนที่เข้ามาคุกคามตัวเองมากกว่า 1 ปีแต่ก็ไม่เห็นว่าแอคเคาท์เหล่านั้นจะหายไป
แนะนำสิ่งที่น่าสนใจที่เราพึ่งรู้จากงานนี้ :
- https://www.facebook.com/safety/notwithoutmyconsent
- https://www.facebook.com/safety/domesticviolenceresources
อันที่เป็น DV เนี่ยสามารถเลือกประเทศได้ด้วย แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันสามารถช่วยเหลือหรือมีประโยชน์มากแค่ไหน
ส่วน WhatsApp ก็เป็นแอพที่เราเล่นน่าสุดน่าจะช่วงมัธยมปลาย เราพึ่งรู้ว่าเค้ามี Prevent Abuse by Product Design โดยวิธีการก็คือ Limiting Virality เพื่อป้องกันการกระจายความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกาย และ Limiting Connection ก็คือเค้าจะมีอินโฟให้ดูว่าการพูดคุย การส่งข้อความ การสร้างกลุ่มแบบไหนที่ผิดปกติ และในทุก ๆ 1 เดือนจะมีแอคเคาท์จำนวน 2M ที่ถูกแบน
ทีนี้เรามาพูดถึงประเด็นที่พูดคุยกันในงาน สิ่งที่เราเตรียมไปพูดคือเราสนใจและกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนที่ออกมาสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียม คนเหล่านี้โดนคุกคามทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ บางคนโดนด่า ในกรณีที่ร้ายแรงมาก ๆ ก็ Hate Speech และเมื่อคนที่ต้องเจอกับอะไรแบบนี้มักจะเกิดความเครียด ความวิตกกังวล รู้สึกแย่ หรืออาจจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้ และไม่ใช่ทุกคนที่รู้วิธีการรักษาตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าจะป้องกันตัวเองจากข้อความแย่ ๆ หรือการคุกคามอย่างไร ง่าย ๆ ก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถควบคุมสภาพจิตใจของตัวเองได้เมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนั้น และประเด็นหลักคือไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ดีหรือเข้าพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายตรงนี้ค่อนข้างสูง และบริการจากรัฐก็ไม่ได้ทั่วถึง ในบางกรณีที่มีคนโทรไปปรึกษาสายด่วนแล้วรู้สึกแย่กว่าเดิมก็มี
สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือ อยากให้ทางสถานฑูตตระหนักในเรื่องนี้ และหากสามารถสนับสนุนการปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตได้ก็ยิ่งดีมาก
อีกเรื่องที่เราเพิ่มเติมไปก็คือ เราอยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานแบบนี้ได้ ไม่อยากให้มีแค่นักกิจกรรม เพราะถ้าคนอื่นได้มามันอาจจะทำให้เค้าได้รู้วิธีการป้องกันตัวเอง หรืออาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มา ให้เค้าอยากสร้างองค์ความรู้ต่อไป
เท่าที่ไปฟังในงานมาก็มีนักกิจกรรมหญิงที่โดนคุกคามมาหลายปี และบางคนก็เกือบจะถูกทำร้ายร่างกายจากฝ่ายตรงข้าม เมื่อไปแจ้งความก็ไม่ได้อะไรนอกจากโดนตำรวจบอกให้ไปตามตัวแอคเคาท์ที่มาคุกคามเอง บ้างก็บอกว่าแบบนี้ไม่รับ รับแจ้งไม่ได้ ฯลฯ ทำไมนักกิจกรรมหญิงถึงโดนเยอะจัง ทั้งจากหลาย ๆ เพศ แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันก็กดทับกันเอง นักกิจกรรมหลายคนเคยตกเป็นเหยื่อมาก่อน เราเองก็เช่นกัน
และในปัจจุบันหลาย ๆ คนก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ แต่ทำไมพวกเราไม่สามารถได้รับความคุ้มครองและความปลอดภัยได้ และทำไมการที่พวกเราพยายามเพื่อความเท่าเทียมถึงกลับโดนคุกคามและทำร้าย
มีนักกิจกรรมไม่น้อยที่ต้องพบจิตแพทย์ และพวกเราก็ไม่ได้อยากกินยากันทุกวัน ในห้องสนทนามีนักกิจกรรมคนหนึ่งพูดถึงประเด็นของการรักษาสุขภาพจิตด้วยวิธีอื่นขึ้นมา เช่น ดนตรีบำบัด หรือศิลปะบำบัด ตอนที่ได้ยินเราก็พึ่งคิดได้ว่ามันมีวิธีการหลายอย่างนี่นา แม้แต่ตัวเราที่เรียนศิลปะมาตั้งแต่ม.ปลายจนมหา’ลัยก็ยังไม่ทันได้นึกถึงสิ่งนี้เลย และจะเป็นการดีมากหากนักบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์มีความเข้าใจในเรื่องของเพศ เพราะบางทีบางคนก็ไม่เข้าใจในเรื่องของเพศซึ่งมันก็มีส่วนที่ทำให้การรักษาไม่สามารถเข้าถึงจิตใจของเหยื่อได้จริง ๆ
ประเด็นต่อมาคือ “ เราใช้เวลารักษาจิตใจตัวเองกันเท่าไหร่ ” บางคนเป็นเดือน บางคนเป็นปี ทุกการกระทำที่มุ่งร้ายต่อพวกเราหรือลดทอนพวกเราล้วนส่งผลกระทบทั้งนั้นไม่มากก็น้อย และหลายคนก็ไม่อยากให้พื้นที่ในเรื่องเพศกับคนที่เป็น Rapist หรือ Abuser ด้วย คุณจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่อย่ามาสอนพวกเราเรื่องเพศ
สุดท้ายนี้ เราอยากให้ทุกคนสามารถพูดอะไรก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูดโดยที่ไม่ส่งผลเสียกับใคร อยากให้เหยื่อกล้าที่จะออกมาพูด เพราะคุณไม่ผิดเลย เหยื่อไม่เคยผิด อยากให้สื่อ โซเชีลมีเดีย รัฐบาล ทุกอย่างที่มีอำนาจในการส่งผลและมีอิทธิพลต่อความคิดคนอื่นมีความรับผิดชอบในการทำงานมากกว่านี้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครเจ็บปวด
ปล.การที่คุณเป็นเหยื่อแล้วออกมาพูด ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อในเรื่องใดก็ตาม ต่อให้มีคนฟังหลักหน่วยแต่นั่นก็มีค่ามาก ๆ เลยนะคะ การออกมาพูดเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่บนโลก และคนที่เคยเจอเรื่องแบบนี้เหมือนกันก็ไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกประหลาดอีกต่อไป
เขียนโดย : Dearmedearyou
ภาพประกอบโดย : https://www.instagram.com/fridatarto/